สำรวจ

ทำไม ศรีเทพ ถึงยิ่งใหญ่นัก ?

ภาพปก : โบราณสถาณเขาคลังนอก เมืองโบราณศรีเทพ (ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com)

ในบรรดาแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีของไทย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือ เมืองโบราณศรีเทพ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดได้ว่าเป็นท็อปเท็น-ท็อปไฟว์ เมืองโบราณสำคัญที่ควรค่าแก่การกดติดตาม และกดกระดิ่ง ยิ่งในปี พ.ศ. 2566 มงเพิ่งจะลงศรีเทพมาหมาดๆ ขึ้นแท่นเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม การันตีจากค่ายยูเนสโก ทำให้ชื่อ ศรีเทพ ยิ่งเป็นที่สนใจของคนไทยคนเทศ ควรค่าน่าจะไปให้ได้เห็นกับตาซักครั้ง ซึ่งด้วยความที่ศรีเทพ …

  1. มีผังเมืองขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 เมือง ซ้อนทับกัน (เมืองใน-เมืองนอก) กินพื้นที่รวมกว่า 2,900 ไร่
  2. มีระบบการบริหารจัดการน้ำโบราณที่สุดเท่ห์ อย่างกับว่า คนศรีเทพปราดเปรื่องเรื่องภูมิศาสตร์ (เพิ่มเติม : 8 ลีลา คนโบราณ บริหารจัดการน้ำ)
  3. มีหลักฐานทางโบราณคดี ที่บ่งชี้ว่าเคยมีคนอยู่ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 700-800 ปี นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (1,700-1,500 ปีก่อน) ก่อนจะย้ายเข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรโบราณ ตามลำดับ
  4. มีสตอรี่ที่ชวนให้เชื่อว่า ศรีเทพแห่งลุ่มน้ำป่าสัก คือ รากเหง้าของชาวสุโขทัยและอยุธยา แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา
  5. มีศาสนาที่สลับกันมาให้นับถืออย่างหลากหลาย ทั้งพราหมณ์ ทั้งพุทธ ทั้งพุทธเถรวาทและพุทธมหายาน
  6. มีงานศิลปกรรมที่มิกซ์เอาสไตล์อินเดียเหนือ-ใต้ และศิลปะชวาของอินโดนีเซีย มาผสมผสานกันอย่างกลมกล่อม จนเกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวในแบรนด์ สกุลช่างศรีเทพ
  7. มีความมหึมาของโบราณสถาน เขาคลังนอก บวกกับโบราณอื่นๆ อีกกว่า 112 แห่ง (เมืองใน 48 แห่ง ส่วน เมืองนอก 64 แห่ง และนอกเมืองทางตอนเหนืออีกเพียบ)
  8. มี เขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์คู่บารมีศรีเทพ ซึ่งพบร่องรอยภาพสลักพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์สมัยทวารวดี ในถ้ำบนยอดเขา หนึ่งเดียวในอาเซียน

ทั้งหมดนี้จึงเป็นภาพฉายชี้ชัดว่า เมื่อพันกว่าปีก่อน ลุ่มน้ำป่าสักและศรีเทพนั้นรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ขนาดไหน

โบราณสถาณเขาคลังนอก ตั้งอยู่นอกคูเมือง ทางตอนเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ ชื่อ เขาคลัง ได้มาจากที่ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่า น่าจะมีสมบัติและอาวุธเก็บซ่อนอยู่ข้างในเขา เพราะเป็น (เหมือน) เขาลูกโดดอยู่ในละแวกเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเขาคลัง ที่อยู่ในพื้นที่คูเมืองจะเรียกว่า เขาคลังใน ส่วนที่อยู่นอกคูเมือง ชาวบ้านก็จะเรียกว่า เขาคลังนอก (ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com)
เขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์คู่บารมีศรีเทพ ตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกของตัวเมืองศรีเทพราว 15 กิโลเมตร ซึ่งหากฟ้าเปิด คนที่อาศัยอยู่ในแถบศรีเทพ จะสามารถมองเห็นเขาถมอรัตน์ได้อย่างชัดเจน

หากมองเผินๆ ที่ตั้งของเมืองศรีเทพในมุมภูมิศาสตร์ ถือได้ว่าอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับเมืองร่วมสมัยทวาราวดีอื่นๆ จะพบว่าเมืองใหญ่ๆ เจริญๆ แทบทั้งหมด มักจะอยู่ไม่ไกลจากแนวชายฝั่งทวาราวดีเดิม เช่น เมืองคูบัว อู่ทอง ดงละคร ศรีมโหสถ พงตึก โคกไม้เดน ฯลฯ ซึ่งก็ให้เหตุให้ผลได้ไม่ยาก ว่าเป็นเพราะการเข้าถึงได้ง่าย จากอาคันตุกะต่างแดน ผ่านเส้นทางเดินสมุทรและการคมนาคมทางน้ำ การติดต่อค้าขายในสเกลอิมพอร์ต-เอ็กพอร์ตจึงทำได้ง่าย การซึมซับรับวัฒนธรรมจากต่างถิ่น จึงกลมกลืนลื่นไหล

เพิ่มเติม : แนวชายฝั่ง ทวารวดี : มองมุมธรณีวิทยา

แผนที่ที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย แสดงการกระจายตัวของเมืองโบราณสำคัญสมัยทวารวดี (วงกลมสีขาว) ขอบสีแดง คือ ระดับความสูง 4 เมตร โดยประมาณ จากระดับน้ำทะเลปัจจุบัน I-IV คือ การแบ่งสภาพแวดล้อมโบราณหรือภูมิศาสตร์พืชพันธุ์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-15 ศึกษาและนำเสนอโดย Hutangkura (2014) ซึ่ง I = ที่ราบน้ำท่วมตามฤดูกาล II = พื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างนิเวศน้ำเค็ม-น้ำจืด III = หาดเลนและผืนป่าชายเลน และ IV = ส่วนทะเลตื้นของอ่าวทวาราวดี

ในขณะที่จากตำแหน่งที่ตั้งของศรีเทพ เดาว่าเพื่อนต่างถิ่นก็ไม่น่าจะเข้าไปสุงสิงด้วยบ่อยนัก เพราะหากยึดต้นทางทางทะเลเป็นหลัก ศรีเทพเรียกได้ว่าเป็น เด็กท้ายซอย เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองร่วมสมัยทวาราวดีอื่นๆในที่ราบลุ่มภาคกลาง แต่จากความว๊าวว๊าวทั้ง 7-8 ข้อ ที่เล่ามาข้างต้น ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า เด็กท้ายซอยอย่างศรีเทพ กลับอุดมสมบูรณ์และมีโลกกว้างไม่แพ้เพื่อนรุ่นเดียวกัน ออกจะดูตัวใหญ่และมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าเมืองร่วมสมัยทวารวดีเสียด้วยซ้ำ นั่นจึงเป็นข้อน่าสงสัย น่าทำความเข้าใจว่า ทำไมเด็กท้ายซอยอย่างศรีเทพ ถึงตัวใหญ่นัก ถึงโลกกว้างนัก

เพลย์เมกเกอร์แห่งสุวรรณภูมิ

จากมุมมองแบบท้องถิ่น เมืองโบราณศรีเทพก็ตั้งอยู่ใน ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ถ้าหากซูมเอาท์ออกมาในระดับภูมิภาค จะพบว่าชัยภูมิที่ตั้งของเมืองศรีเทพ ตั้งอยู่ตรงกลางของภูมิภาคอินโดจีนพอดิบพอดี จะไปมาหาสู่กับเมืองร่วมสมัยทวารวดีอื่นๆ อย่างเมืองคูบัว อู่ทอง ดงละคร ศรีมโหสถ พงตึก โคกไม้เดน ฯลฯ ก็ถือได้ว่ายังอยู่ในรัศมีทำการ ไม่เกิน 300 กิโลเมตร และไม่ว่าจะมาจากเมืองท่าริมทะเลเมืองไหน ก็เดินทางมาหาศรีเทพได้ ในระยะไม่เกิน 500-700 กิโลเมตร พอๆ กัน

แผนที่ภูมิภาคอินโดจีนแสดงการกระจายตัวของเมืองท่าการค้าโบราณ (จุดสีแดง) และ แนวเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร (เส้นสีเหลือง) ที่วิเคราะห์ได้จากงานวิจัยนี้ เส้นวงกลมสีดำ คือรัศมีทำการ ที่ตีออกจากเมืองโบราณศรีเทพ โดยทุกๆ เส้นมีระยะทางห่างกัน 100 กิโลเมตร

จึงมีความเป็นไปได้ในทางภูมิศาสตร์ว่า ศรีเทพอาจจะเป็นฮับแห่งภูมิภาค ที่คอยขับเคลื่อนการติดต่อค้าขาย เปลี่ยนถ่ายศิลปะและวัฒนธรรมในย่านนี้ เพราะไม่ว่าเพื่อนต่างแดน จะมาจากทางมหาสมุทรอินเดีย หรือทะเลจีนใต้ ก็สามารถเอื้อมมาถึงศรีเทพได้พอๆ กัน เรียกได้ว่าเป็น เพลย์เมกเกอร์แห่งคาบสมุทรอินโดจีน หรือกองกลางห้องเครื่องตัวทีเด็ดแห่งสุวรรณภูมิ เลยก็ว่าได้

เดวิด เบ็คแฮม เพลย์เมกเกอร์ เบอร์ 7 ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในยุค The Class of ’92

สุวรรณภูมิ หรือ แผ่นดินทอง หมายถึง ดินแดนที่มีการบันทึกไว้ในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา ว่ามีความอุดมสมบูรณ์เปรียบดังดินแดนแห่งทอง และเนื่องจากในหลายบันทึกกล่าวว่า สุวรรณภูมิ อยู่ทางทิศตะวันออกของอินเดีย ซึ่งเมื่อดูจากแผนที่โลก จึงน่าจะเป็นไปได้ว่า สุวรรณภูมิ คือ ภูมิภาคอินโดจีน อันได้แก่ ประเทศไทย ลาว พม่า และประเทศกัมพูชา

แลนด์บริดจ์โบราณ

จากตำแหน่ง เมืองท่าการค้าโบราณในภูมิภาคอินโดจีนนี้ (ชวลิต ขาวเขียว, 2021) ผู้เขียนได้ลองใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลและวิเคราะห์ เส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร จากเมืองท่าการค้าริมทะเลต่างๆ ทั่วภูมิภาค โดยจำลองเส้นทางด้วยเทคนิค ภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System หรือ GIS) ประกอบกับข้อมูล ภูมิประเทศในรูปแบบดิจิตอล (Digital Elevation Model หรือ DEM) เพื่อเลือกเส้นทางที่เหมาะสม ง่ายและเปลืองแรงน้อยที่สุดในการเดินทาง ผลการจำลองแสดงให้เห็นแนวเส้นทางการค้าโบราณข้ามคาบสมุทรดังรูป ซึ่งจะเห็นได้ว่าเส้นทางส่วนใหญ่ จะมะรุมมะตุ้มอยู่ในแถบที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง ซึ่งมีเมืองท่าสำคัญสมัยทวารวดีอยู่หลายเมือง เช่น เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองศรีพโลและเมืองศรีมโหสถ ในแถบชลบุรีและนครนายก นอกจากนี้ยังมีเส้นทางข้ามคาบสมุทรในภาคใต้ของไทยอีกหลากหลายเส้น เช่น จากเมืองท่าการค้า ทุ่งตึก บนเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ฝั่งอันดามันของไทย ข้ามไปยัง อ่าวบ้านดอน ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ฝั่งอ่าวไทย เป็นต้น

แผนที่ภูมิภาคอินโดจีนแสดงการกระจายตัวของเมืองท่าการค้าโบราณ (จุดสีแดง) และ แนวเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร (เส้นสีเหลือง) ที่วิเคราะห์ได้จากงานวิจัยนี้ เส้นวงกลมสีดำ คือรัศมีทำการ ที่ตีออกจากเมืองโบราณศรีเทพ โดยทุกๆ เส้นมีระยะทางห่างกัน 100 กิโลเมตร

ในบรรดาเส้นทางที่คาดว่าจะเป็นเส้นทางการค้าโบราณ ตั้งแต่ภาคใต้ของไทยไล่ขึ้นมาจนถึงภาคเหนือ เส้นทางเส้นบนสุดที่วิเคราะห์ได้ในงานวิจัยนี้ คือ เส้นทางที่วิ่งจาก เมืองพะโค และ เมืองเมาะลำเลิง ของพม่า เดินทางข้ามฟากไปยัง เมืองเว้ ของเวียดนาม ซึ่งจะด้วยความบังเอิญหรือความเป็นเหตุเป็นผลทางภูมิศาสตร์อันนี้ไม่ทราบได้ แต่ ศรีเทพ ก็ตั้งอยู่บน เส้นทางการค้าโบราณสาย พะโค-เว้ อย่างพอดิบพอดี จึงมีโอกาสอยู่ไม่น้อยที่ ศรีเทพ จะอยู่ในแนว แลนด์บริดจ์โบราณ คอยเป็นสะพานเชื่อมโยงโครงข่ายการค้า และผสมผสานศิลปะวัฒนธรรม ทั้งจากภาคกลางสู่ภาคอีสานของไทย และจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกของภูมิภาค สู่ฝั่งทะเลจีนใต้ทางตะวันออก มาตั้งแต่โบร่ำโบราณ

แขกไปใครมาก็ต้องผ่านศรีเทพ

นอกจากนี้ จากข้อมูลการกระจายตัวของเมืองและชุมชนโบราณในอดีต (ฐานข้อมูลชุมชนโบราณ : ชวลิต ขาวเขียว, 2021) พบว่าตลอดแนวเส้นทางสายพะโค-เว้ มีเมืองหรือชุมชนโบราณจำนวนมาก ตั้งอยู่รองรับตลอดเส้นทาง เช่นกลุ่มชุมชนโบราณในพื้นที่ราบภาคกลางตอนบน นับตั้งแต่เส้นทางข้ามพม่าออกมาสู่พื้นที่อำเภอแม่สอด ของจังหวัดตาก ได้แก่ ชุมชนโบราณคลองสักตีเหล็ก บ้านไหม่ไพศาลี สำโรงชัย หนองไผ่ไพศาลี คลองตักน้ำ โคกเดื่อ จำคานคร เมืองสระแก้ว หนองเนิน ดงแม่นางเมือง แม่ลาด เมืองนครชุม เมืองกำแพงเพชร เมืองบางพาน บ้านคลองเมือง หนองบัวใต้ และดอยข่อยเขาแก้ว เป็นต้น โดยมี ศรีเทพ เป็นเมืองปักหลักปิดท้ายในภาคกลาง ก่อนที่เส้นทางจะขีดขึ้นสู่ที่ราบสูงโคราชหรือภาคอีสานของไทย ผ่านทาง ช่องสำราญ-ลำสนธิ อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี

แผนที่รอยต่อภาคกลางตอนบนและภาคอีสานของไทย แสดงเส้นทางการค้าโบราณสายพะโค-เว้ (เส้นสีเหลือง) และตำแหน่งชุมชนโบราณที่มีการสำรวจพบและรายงานไว้ในอดีต (จุดสีแดง)

และเมื่อขึ้นไปสู่ที่ราบสูงโคราช จะเห็นได้ว่าแนวเส้นทางที่วิเคราะห์ได้ ก็ยังถูกรองรับด้วยชุมชนโบราณจำนวนมาก ในภาคอีสาน (Reilly และ Scott, 2015) รวมถึง เมืองสำคัญอย่าง เสมา ในจังหวัดนครราชสีมา ก็อยู่ไม่ห่างจากเส้นทาง แลนด์บริดจ์โบราณ นี้เช่นกัน และอีกประเด็นที่ชวนแปลกใจคือ เมื่อผู้เขียนได้ลองวิเคราะห์ความหนาแน่นของชุมชนโบราณในภาคอีสาน พบว่าชุมชนโบราณในภาคอีสานมีความหนาแน่นและมักจะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ทางตอนเหนือของลำน้ำ สอดคล้องอย่างสุดๆ กับเส้นทางโบราณสาย พะโค-เว้ ที่วิเคราะห์ได้ แปลความได้ว่าเส้นทางโบราณสายพะโค-เว้นี้ น่าจะมีการใช้งานอยู่จริงมากพอสมควร โดยมีจุดกึ่งกลางหรือฮับของเส้นทางก็คือ ศรีเทพ นั่นเอง

ภาพภูมิประเทศมุมสูง พื้นที่ภาคอีสานของไทย แสดงการกระจายตัวของชุมชนโบราณแบบคูน้ำล้อมรอบเนินดิน (Reilly และ Scott, 2015) ซึ่งทั่วทั้งพื้นที่ของภาคอีสาน พบว่าชุมชนโบราณส่วนใหญ่ มักอยู่ทางตอนเหนือล้อไปตลอดทางของลำน้ำมูล ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงภาคอีสานของไทย
ภาพถ่ายดาวเทียมของโปรแกรมกูเกิ้ลเอิร์ธ (Google Earth) แสดงตัวอย่างคูเมืองที่ขุดขึ้นเพื่อล้อมรอบเนินดิน หรือชุมชนโบราณจำนวนกว่า 300 ชุมชน ในภาคอีสาน

เพิ่มเติม : มองชุมชนโบราณ ผ่านกูเกิ้ลเอิร์ธ

ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนจึงขอสรุปว่า เหตุที่ศรีเทพยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ ส่วนนึงก็น่าจะมาจาก ศรีเทพ คือ ชุมทางเส้นทางการค้าที่สำคัญในอดีต เด็กท้ายซอยเค้าไม่ได้ถึงกับง้อทะเลเสียทีเดียว เพราะด้วยต้นทุนเรื่องตำแหน่งที่ตั้งเมือง แขกไปใครมาก็ต้องผ่านศรีเทพ


ท่านใดสนใจข้อมูลผลการวิเคราะห์เพิ่มเติม ในรูปแบบไฟล์ Google Earth (.kmz) โหลดได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้เลยนะครับ : เส้นทางการค้าโบราณ
https://drive.google.com/drive/folders/1-L6-j7O6wPcqfXA-l_3z_v4aKVsW2u4Z

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: