สำรวจ

แนวชายฝั่ง ทวารวดี : มองมุมธรณีวิทยา

ภาพจากปก : ตราประทับดินเผาลายนูนต่ำรูปเรือใบ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 พบที่เมืองนครปฐมโบราณและพื้นที่ใกล้เคียง แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าในการเดินเรือและการค้าขายของเมืองนครปฐมโบราณสมัย ทวารวดี [ที่มา : มิวเซียมสยาม – Museum Siam]

ทวาราวดีเบื้องต้น

ทวารวดี (Dvaravati) หมายถึง กลุ่มวัฒนธรรม หรืออาจรวมถึงกลุ่มบ้านเมือง อาณาจักร ที่เคยเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในประเทศไทยเมื่อ 1,450-950 ปี ที่ผ่านมา (พุทธศตวรรษที่ 11-16) ซึ่งด้วยความที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทางศิลปะวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป ธรรมจักร หรือรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ทำให้ชื่อ ทวารวดี จึงเป็นที่รู้จักของคนไทย และน่าหลงใหลในทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีที่กระจายตัวตามที่ต่างๆ แทบทั่วทั้งประเทศ (ก) ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ (ข) ดงละคร จ. นครนายก (ค) คูบัว จ. ราชบุรี และ (ง) พงตึก จ. กาญจนบุรี

จากการสำรวจ ขุดค้นทางโบราณคดีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้นักโบราณคดีไทยระบุได้ว่า แหล่งโบราณคดีบางส่วนในภาคเหนือ ตะวันตก ตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นเมืองสมัยทวารวดี และที่สำคัญ บริเวณโดยรอบพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางของไทยยังพบแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมาก (ตาราง) ได้แก่ เมืองคูบัว ขีดขิน พงตึก โคกไม้เดน ศรีเทพ ศรีมโหสถ ดงละคร และเมืองสุพรรณบุรี ฯลฯ ซึ่งในหลายๆ เมืองที่กล่าวมานี้ ยังพบร่องรอยหรือโบราณวัตถุ ที่ยืนยันว่าทวารวดีนั้นอุดมสมบูรณ์ ติดต่อค้าขายกับคนต่างถิ่นกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ผ่านทางเรือ

หากพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ จะพบว่าเมืองโบราณต่างๆ ในสมัยทวารวดี ส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่บนพื้นที่ดอนหรือเนินสูง ซึ่งก็เป็นรูปแบบโดยทั่วไปของการสร้างบ้านแปงเมืองของคนในอดีต สอดคล้องกับชุมชนโบราณในภาคอีสานกว่า 300 แห่ง ที่เกือบทั้งหมดเลือกตั้งอยู่บนเนินสูงเช่นกัน

ตัวอย่างภาพตัดขวางภูมิประเทศบริเวณเมืองโบราณสมัยทวารวดี 29 แห่ง ที่กระจายตัวอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย ชื่อเมืองสัมพันธ์กับตำแหน่งของเมืองที่แสดงในแผนที่
ลำดับเมืองโบราณลองจิจูดละติจูดความสูงเนินตั้งเมือง (เมตร)ความสูงโดยรอบ (เมตร)
1ศรีพโล100.9913.42166
2พระรถ101.1613.4796
3บ้านคูเมือง101.3613.7211.58
4ศรีมโหสถ101.4113.89115
5ศรีมหาโพธิ์101.5013.95156
6ดงละคร101.1714.16266
7อู่ตะเพา100.8414.449.58.5
8ขีดขิน100.7414.62117.5
9ลพบุรี100.6214.792012
10สิงห์บุรี100.4014.8916.512.5
11พรหมทิน100.6315.001715
12ดงมะรุม100.8615.135146
13ซับจำปา101.2415.05175130
14ศรีเทพ101.1515.476863
15จันเสน100.4515.122215
16บ้านคูเมือง100.2814.992314
17ดงคอน100.1615.022015
18อู่ตะเภา100.1915.283121
19โคกไม้เดน100.1515.416025
20บ้านคูเมือง99.9115.324136
21บึงคอกช้าง99.7115.638072
22สุพรรณบุรี100.1214.4712.57.5
23อู่ทอง99.8914.37107.5
24ดอนตาเพชร99.6714.194535
25กำแพงแสน99.9613.9916.58.5
26พงตึก99.7913.892117
27นครปฐม100.0913.845.54.5
28คูบัว99.8413.4996
29โคกเศรษฐี99.9512.8584.5
รายชื่อเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่อยู่ในละแวกที่ราบลุ่มภาคกลาง

อีกหนึ่งข้อสังเกตที่พบ คือ เมืองที่อยู่ริมชายฝั่ง (เส้นขอบแดงในแผนที่) มักไม่อยู่ที่จุดสูงสุดของเนิน แต่จะอยู่ข้างๆ เนิน ที่สูงกว่าระดับ 4 เมตร ขึ้นมาหน่อย โดยจะอยู่ด้านที่หันหน้าเข้าทางชายฝั่งเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายความว่า ริมชายฝั่งต้องมีอะไรดีๆ ต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าตอนนั้นจะเป็นน้ำ เป็นดินเลนเฉอะแฉะ หรือเป็นบกก็ตาม

สุดขอบขัณฑสีมา ทวารวดี

ในมุมการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของเมืองโบราณสมัยทวารวดีแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง มองเผินๆ ก็ดูเหมือนจะกระจายคล้ายจะปกติ แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะจับสังเกตได้คือ เมืองโบราณต่างๆ พร้อมใจกันที่จะไม่ตั้งเมืองอยู่ใต้ระดับความสูง 4 เมตร (เส้นขอบแดง) จากระดับน้ำทะเลปัจจุบัน ซึ่งในทางธรณีวิทยาถือว่ามีนัย เพราะแนวเส้นชั้นความสูง 4 เมตร ที่ว่า เป็นแนวควบคุมทางธรรมชาติที่ชัดเจน ว่ามนุษย์นั้นไม่ควรลงมาอยู่ใต้ระดับนี้ หากอยากอยู่ดีมีสุข เรียกแบบบ้านๆ ก็คือ สุดขอบบก หรือ สุดขอบขัณธสีมา ในฟิวด์ออเจ้า จักรๆ วงศ์ๆ

จากหลักฐานเชิงประจักษ์ของแนวเส้น 4 เมตรนี้ ทำให้นักวิจัยรุ่นบุกเบิกอย่าง ผ่องศรี วนาสิน และ ทิวา ศุภจรรยา (2524) ได้นำเสนอแนวคิด แนวชายฝั่งโบราณสมัยทวารวดี ซึ่งก็คือแนวขอบแดงในแผนที่ และด้วยพลังของคำ “ชายฝั่งทวาราวดี” ทำให้ผู้รับสารส่วนใหญ่ในตอนนั้นจึงหลับตานึกไปว่า น่าจะมีสำเภาลำใหญ่ โล้เข้ามาประชิดติดขอบเมืองต่างๆ ที่อยู่ริมชายฝั่ง

จะว่าไป ภาพจำสำเภาริมเมืองก็ดูเหมือนจะไกลความจริงไปมาก เพราะระดับน้ำทะเลปัจจุบันอยู่ห่างจากชายฝั่งทวาราวดีที่ว่า กว่า 100 กิโลเมตร ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์กันอย่างเมามันส์ในวงวิชาการผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ มีการศึกษาและประติดประต่อแปลความใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่มีการกล่าวถึงในวงกว้าง คือ การศึกษาสภาพภูมิศาสตร์โบราณผ่านพืชพันธุ์ หรือ การศึกษา ละอองเรณู (pollen) เพื่อจำแนกสภาพแวดล้อมโบราณ โดย ดร. ตรงใจ หุตางกูร (Hutangkura, 2014) ซึ่งเมื่อผนวกกับข้อมูล การกำหนดอายุชั้นตะกอนด้วย วิธีคาร์บอน-14 (radiocarbon dating) ดร. ตรงใจ สามารถจำแนกที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง (พื้นที่ใต้ขอบแดง) ออกเป็น 4 สภาพแวดล้อม ได้แก่ เขต I คือ ที่ราบน้ำท่วมตามฤดูกาล เขต II คือ พื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างนิเวศน้ำเค็ม-น้ำจืด เขต III คือ หาดเลนและผืนป่าชายเลน และ เขต IV คือ ส่วนทะเลตื้นของอ่าวทวาราวดี

แผนที่ที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย แสดงการกระจายตัวของเมืองโบราณสำคัญสมัยทวารวดี (วงกลมสีขาว) ขอบสีแดง คือ ระดับความสูง 4 เมตร โดยประมาณ จากระดับน้ำทะเลปัจจุบัน I-IV คือ การแบ่งสภาพแวดล้อมโบราณหรือภูมิศาสตร์พืชพันธุ์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-15 ศึกษาและนำเสนอโดย Hutangkura (2014) ซึ่ง I = ที่ราบน้ำท่วมตามฤดูกาล II = พื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างนิเวศน้ำเค็ม-น้ำจืด III = หาดเลนและผืนป่าชายเลน และ IV = ส่วนทะเลตื้นของอ่าวทวาราวดี

ผลจากงานวิจัยของ ดร. ตรงใจ ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ทำให้นักวิชาการสมัยใหม่มีความเห็นคล้อยไปในทางที่ว่า 1) ขอบทะเลที่ถูกต้องและทันสมัยต้องเป็นงาน ดร. ตรงใจ ซึ่งทุกท่านก็คิดถูกแล้ว ในมุมของผู้เขียนก็ร่วมด้วย +1 แต่หากจะต้องเหมารวมว่า 2) ขอบทะเลอยู่ที่เส้นขั้น III-IV แล้ว ขอบสีแดง ที่เคยถูกนำเสนอก่อนหน้าว่าเป็นแนวชายฝั่ง นั้นแค่ไอเดียเก่า ล้าสมัย ไม่ถูกต้อง ทรงนี้ผู้เขียนคงขอคิดต่าง เพราะว่ากันตามจริง งานวิชาการทั้ง 2 ชิ้นนี้ ถูกทั้งคู่ 🙂

ทวารวดีในมุมธรณีวิทยาชายฝั่ง

ในทางวิชาการ ธรณีวิทยาชายฝั่ง (coastal geology) คำว่า ฝั่ง . ชายฝั่ง . หาด . ชายหาด นั้นมีความหมายต่างกัน ภาษาอังกฤษก็ใช้ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญ แต่ละคำล้วนมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกันอย่างมีนัยสำคัญ ในทางธรณีวิทยา

  • ฝั่ง (coast) (หมายเลข 7) หมายถึง ส่วนของพื้นดินที่ติดกับทะเล แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการกระทำของทะเล โดยมีขอบเขตตั้งแต่ ชายฝั่ง (coast line) (หมายเลข 6) เข้าไปทางแผ่นดิน ส่วน
  • หาด (shore) (หมายเลข 1) คือ บริเวณพื้นที่ที่ปกคลุมระหว่าง ระดับน้ำลงต่ำสุด ไปจนถึงบริเวณที่คลื่นน้ำทะเลสามารถเคลื่อนที่ไปถึง (หรือ ชายฝั่ง) ซึ่งบริเวณหาดจะได้รับผลกระทบจากคลื่นจากน้ำทะเลที่พัดเข้ามาในรูปแบบต่างกัน ส่วน ชายหาด (shoreline) (ช่วงเวลาในภาพ คือ หมายเลข 3) คือ แนวหรือขอบที่มีการกระเพื่อมของคลื่นน้ำในช่วงเวลาใดๆ
การเรียกชื่อส่วนต่างๆ บริเวณริมทะเล
การ์ตูนแสดงการแบ่งเขตแถวๆ ทะเล

เพิ่มเติม : ฝั่ง . หาด . ชายฝั่ง . ชายหาด ต่างกันยังไง

ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับแผนที่ในบทความนี้ แนวขอบแดง จึงหมายถึง ชายฝั่ง (coast line) ส่วนแนวเส้นขั้นระหว่างเขต III-IV ก็คือ ชายหาด (shoreline) ซึ่งพื้นที่ระหว่างขอบแดงและแนวเส้นขั้น III-IV คือส่วนของ หาด (shore) โดยที่หาดที่มีอยู่บนโลกก็แบ่งย่อยในทางธรณีวิทยาได้ 3 ประเภท คือ 1) หาดหิน 2) หาดทราย และ 3) หาดเลน โดย หาดเลน หรือ ที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึง (tidal flat) ซึ่งเป็นหาดที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง เกิดการสะสมตัวของตะกอนละเอียดที่ถูกพัดพาแขวนลอยมากับน้ำจนเป็นลานแบนราบ มักพบตามปากแม่น้ำที่ต่อเชื่อมกับทะเล บางครั้งก็ก่อตัวเป็นแบบ ชะวากทะเล (estuary) และ ป่าโกงกาง (mangroves)

หาดเลนและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
สภาพแวดล้อมแบบปาชายเลน

เพิ่มเติม : ผู้เขียนได้แอบไปส่องดูแว๊บๆ แล้ว พบว่าที่เส้นชั้นความสูง 4 เมตร ปราสาทต่างๆ ของ อาณาจักรอังกอร์ (อายุล้อๆ กับทวาฯ) ทางฝั่งกัมพูชา ก็ไม่มีที่ไหนที่สร้างต่ำกว่าเส้นนี้เหมือนกัน ดูท่าจะมัดแน่นแล้วมั๊งว่า เส้น 4 เมตร = แนวชายฝั่งสมัยทวารวดีและอังกอร์

ลบภาพจำ โล้สำเภาใหญ่จอดริมเมือง

โดยสรุปแล้ว แนวเส้นสีแดงนั้นคือ แนวชายฝั่ง ส่วนเส้นขั้น III และ IV คือ แนวชายหาด ในสมัยทวารวดี ซึ่งยังยืนยันว่าบทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อมาโชว์สำบัดสำนวน หรือเล่นคำริมทะเล แต่ทั้ง 2 แนว 2 ตัวละคร นั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ การที่คนโบราณร่วมใจกันไม่ลงไปอยู่ในระดับเส้นชั้นความสูง 4 เมตรนั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะนั่นคือสุดขอบบกที่มนุษย์จะอยู่ได้อย่างปกติสุขตลอดทั้งปี ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าน้ำทะเลต้องมาชิดขอบนี้ โดยเฉพาะในกรณีของหาดเลน หรือดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่ชายหาด ริมหาด ริมทะเล ริมน้ำ อาจจะอยู่ไกลจากฝั่งได้อย่างที่เห็น

ดังนั้นจากหลักฐานทางโบราณคดีต้างๆ ที่ว่าชุมชนชาวทวารวดีมีการติดต่อค้าขายกันทางเรือกับคนต่างถิ่น ถึงตรงนี้ ผู้เขียนอยากให้ลืมภาพจำ น้ำทะเลท่วมไปถึงขอบเมือง สำเภาเทียบท่าติดเมือง เพราะถ้าชาวเลต่างถิ่นคิดจะไปจีบสาวทวาฯ คงต้องจอดเรือใหญ่เทียบท่าแถวๆ เส้นขั้น III และ IV ของ ดร. ตรงใจ (Hutangkura, 2014) แล้วค่อยจับเรือเล็กขนของขึ้น เลาะคลองยิ๊บๆ ย่อยๆ เข้าไปข้างในแผ่นดิน เรือพนมสุรินทร์ ก็คงเช่นกัน 🙂

อ้างอิง

  • ผ่องศรี วนาสิน และ ทิวา ศุภจรรยา 2524. รายงานผลการวิจัยทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภช เรื่องเมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลางประเทศไทย: การศึกษา ตําาแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์. งานวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลําดับท่ี 1. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • Hutangkura, T. 2014. A New Interpretation of the Boundary of Dvdravati Shoreline on the Lower Central Plain. Damrong Journal 13(1): 12-44.
Share: