วิจัย

คนโบราณแถวพังงา ใช้อิฐแบบ medium rare มาสร้างเมือง

ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2547 ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ตรงหัวเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และสึนามิซัดขึ้นฝั่งอันดามันของไทย ผู้เขียนได้รับโอกาสจาก สำนักงานศิลปากรที่ 15 จังหวัดภูเก็ต ให้ไปเก็บตัวอย่างจาก แหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เพื่อมากำหนดอายุแหล่งโบราณคดีดังกล่าว ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่มาที่ไปคือก่อนหน้านี้ กรมศิลปากรได้มีการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึก ที่ตั้งอยู่บนเกาะคอเขา ติดกับแผ่นดินใหญ่ฝั่งอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ผลการศึกษาพบฐานรากของโบราณสถานที่ก่อสร้างด้วยอิฐจำนวน 7 แห่ง กระจายตัวอยู่ไม่ห่างกันมากนัก (เดินถึงกันพอเหนื่อย) ทางฝั่งด้านในของเกาะติดกับแผ่นดินใหญ่ 

แผนที่และภาพมุมสูงของเกาะคอเขาแสดงตำแหน่งของเมืองโบราณบ้านทุ่งตึก และบ้านน้ำเค็มจุดที่ใช้ข้ามฝากจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ไปที่เกาะ

ความสำคัญของเมืองโบราณบ้านทุ่งตึกนี้อยู่ตรงที่ นักโบราณคดีพบโบราณวัตถุมากมาย และหลากหลาย กระจายตัวอยู่ในแถบนั้น โดยโบราณวัตถุที่สำรวจพบ ได้แก่ เศษเครื่องปั้นดินเผาที่น่าจะผลิตใช้กันเองในท้องถิ่น เครื่องแก้วที่นักโบราณคดีจำแนกว่าน่าจะเป็นเครื่องแก้วที่มาจากเปอร์เซีย ถ้วยชามของจีนที่มีลวดลายเด่นชัดว่าผลิตในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1248-1450) หรือราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 รวมทั้งเศษเม็ดลูกปัดหลากสีลวดลายสวยงาม ที่คลุกปนอยู่กับทรายกระจายตัวไปทั่วพื้นที่ นักโบราณคดีจึงเชื่อว่านี่คงไม่ใช่แหล่งโบราณคดีธรรมดาๆ แต่น่าจะเป็นเมืองท่าสำคัญนามว่า “ตะโกลา” ที่เคยมีคนกล่าวขาน เป็นตำนานในอดีต

(1) ฐานโบราณสถานก่อด้วยอิฐ (2) เครื่องปั้นดินเผาท้องถิ่น (3) เศษจานจากจีน (4) ถ้วยเปอร์เซีย (5) เครื่องถ้วยชามสมัยราชวงศ์ถึง (6) ลูกปัด (ที่มา : สำนักงานศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต)

ว่ากันว่าท่าเรือโบราณที่บ้านทุ่งตึกนี้น่าจะสำคัญไม่หยอก เพราะจากความหลากหลายของโบราณวัตถุที่เห็นและสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้ง เชื่อว่าน่าจะสำคัญพอๆ กับท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน แน่นอนว่าทุกวันนี้เรือจากมหาสมุทรอินเดียที่จะข้ามห้วยไปทำมาค้าขายกับทางฝั่งทะเลจีนใต้และอ่าวไทย จะต้องผ่านและเสียค่าต๋งให้กับท่าเรือที่สิงคโปร์กันทั้งนั้น แต่ในอดีตเรือที่จะข้ามไปฝั่งอ่าวไทยน่าจะผ่านมาทางบ้านทุ่งตึกนี้ โดยเทียบเรือใหญ่ที่เกาะคอเขา ขนของลงเรือเล็กลัดเลาะไปตามลำคลอง เดินเท้าอีกนิดหน่อยก็สามารถข้ามไปฝั่งอ่าวไทยแถวๆ อ่าวบ้านดอน ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ปัจจุบัน) ได้แล้ว นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเมืองโบราณบ้านทุ่งตึกจึงสำคัญ

ย้อนกลับไปคุยกันที่ทุ่งตึกอีกครั้ง ด้วยภารกิจที่ต้องกำหนดอายุให้กับแหล่งโบราณณคดีแห่งนี้ ผู้เขียนจึงล่องใต้มุ่งสู่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และข้ามฟากไปยังเกาะคอเขาที่ท่าเรือบ้านน้ำเค็ม จากการเดินสำรวจคร่าวๆ บริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึก ผู้เขียนและรุ่นพี่นักวิจัย รวมทั้งนักโบราณคดีรุ่นใหญ่เจ้าของพื้นที่ ได้ตัดสินใจเก็บตัวอย่างอิฐ จากฐานโบราณสถานต่างๆ มาจำนวน 6 ก้อน เพื่อนำมากำหนดอายุด้วยวิธีเปล่งแสง (luminescence dating) ซึ่งถือเป็นวิธีการกำหนดอายุวิธีใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยในขณะนั้น โดยรายละเอียดทางทฤษฎีของการกำหนดอายุโดยวิธีเปล่งแสง มีดังนี้

ด้วยคอนเซ็ปต์ของการกำหนดอายุด้วยวิธีเปล่งแสง เราสามารถกำหนดอายุของวัตถุนับตั้งแต่วัตถุชิ้นนั้นได้รับความร้อนที่เพียงพอครั้งล่าสุดได้ ซึ่งถ้าก้อนอิฐจากฐานโบราณสถานที่บ้านทุ่งตึกถูกเผาอย่างสมบูรณ์จริงๆ เราก็น่าจะสามารถหาอายุวันที่อิฐนั้นถูกเผา หรือเทียบเคียงได้กับช่วงเวลาที่ก่อสร้างโบราณสถาน หรืออายุของแหล่งโบราณคดีนั้นได้เช่นกัน แต่ถ้าอิฐบางส่วนถูกเผาไม่สมบูรณ์ สัญญาณการเปล่งแสงที่ตรวจวัดได้ก็จะเป็นสัญญาณเดิมของดินก่อนที่จะถูกปั้นเป็นอิฐ บวกกับสัญญาณที่สะสมมาใหม่นับตั้งแต่วันที่นำอิฐไปก่อสร้างฐานโบราณสถานจนถึงปัจจุบัน

หน้าตาและสีผิวภายในของอิฐทั้ง 6 ก้อน ที่เก็บมาจากแหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึก

จากอิฐทั้ง 6 ก้อน ที่เก็บมาจากแหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึก ผู้เขียนได้ทำการผ่าครึ่งอิฐเพื่อดูไส้ในและถ่ายรูปเอาไว้ สิ่งที่สังเกตได้ในเบื้องต้นจากสองตาที่เห็น คือสีขอบข้างนอกและข้างในของอิฐดูจะไม่เหมือนกัน จึงตัดสินใจเจาะเอาตัวอย่างและตรวจวัดหาสัญญาณการเปล่งแสงจากทั้งข้างในและข้างนอกของมวลอิฐ จากนั้นก็ประมวลผลไปตามทฤษฏีและได้ผลการกำหนดอายุด้วยวิธีเปล่งแสงดังแสดงในตาราง

อิฐยูเรเนียม (ppm)ทอเรียม (ppm)โปแตสเซียม (%)ความชื้น (%)AD (Gy/Ka)ED (Gy)อายุ (ปี ที่ผ่านมา)
TT1-19.43±0.2361.85±2.22.95±0.13.529.99±7.6819.84±0.611,980±140
TT1-29.43±0.2361.85±2.22.95±0.13.529.99±7.6820.35±0.632,030±140
TT2-111.66±0.2264.41±1.993±0.094.5710.71±7.247.56±1.65700±50
TT2-211.66±0.2264.41±1.993±0.094.5710.71±7.2410.46±1.15970±60
TT3-119.3±0.2777.2±2.164.07±0.10.6214.85±10.030.13±0.008±0
TT3-219.3±0.2777.2±2.164.07±0.10.6214.85±10.030.77±0.0151±2
TT4-14.94±0.1929.96±1.52.14±0.095.385.70±2.577.77±2.231,360±170
TT4-24.94±0.1929.96±1.52.14±0.095.385.70±2.5710.91±1.701,910±230
TT5-19.98±0.1859.37±1.933.07±0.089.389.78±6.1616.41±0.911,670±110
TT5-29.98±0.1859.37±1.933.07±0.089.389.78±6.1616.42±1.331,670±110
TT6-26.27±0.1633.32±1.262.39±0.084.706.54±2.447.21±1.961,100±120
TT6-16.27±0.1633.32±1.262.39±0.084.706.54±2.448.28±1.161,260±130
ผลการกำหนดอายุอิฐทั้ง 6 ก้อน ที่เก็บมาจากแหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ด้วยวิธีเปล่งแสงความร้อน (thermoluminescence dating, TL dating) (Pailoplee และคณะ, 2016)

ผลจากการกำหนดอายุอิฐทั้ง 6 ก้อน พบว่าอายุที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างบริเวณข้างในก้อนอิฐมักจะให้อายุที่แก่กว่าผลการกำหนดอายุจากเนื้ออิฐที่ตำแหน่งด้านนอก นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบอายุที่ได้กับช่วงอายุคร่าวๆ ที่ประเมินจากเครื่องถ้วยชามราชวงศ์ถังของจีนหรือเครื่องแก้วเปอร์เซีย พบว่าผลการกำหนดอายุอิฐส่วนนอกจากตัวอย่างอิฐทั้ง 4 ก้อน (TT2, TT4, TT5 และ TT6) มีอายุที่สอดคล้องกัน ในขณะที่อายุที่ได้จากมวลอิฐข้างในมักจะแก่กว่าอย่างเป็นระบบ

และถ้านำข้อมูลการวัดสัญญาณการเปล่งแสงซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง ในตัวอย่างเดียวกันมาวิเคราะห์การกระจายตัวของค่าที่ได้ดู ก็จะพบว่าสัญญาณการเปล่งแสงของอิฐด้านในกระเจิงและกระจายตัวกันมาก หมายความว่าสัญญาณการเปล่งแสงมีส่วนของสัญญาณของดินเดิมก่อนที่จะมีการปั้นและเผาอิฐร่วมอยู่ด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากผลการหาสัญญาณการเปล่งแสงด้านนอกของอิฐที่ให้สัญญาณเกาะกลุ่มกันมากกว่า จึงแปลความได้ว่าอิฐส่วนนอกน่าจะถูกเผาและลบล้างสัญญาณได้สมบูรณ์ดีกว่าเนื้ออิฐส่วนใน

การกระจายตัวของสัญญาณการเปล่งแสง ที่วัดในแต่ละตัวอย่างซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง จะเห็นได้ว่าอิฐส่วนในวัดได้ค่าที่แกว่งกระเจิง ใหนขณะที่อิฐส่วนนอกวัดได้ค่าข้อนข้างใกล้เคียงกัน

จากผลการตรวจวัดอย่างที่เห็น ผู้เขียนจึงแปลความว่าในอดีตคนโบราณที่อาศัยอยู่บนเกาะคอเขา จังหวัดพังงา น่าจะใช้อิฐแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ (medium rae) มาใช้ในการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาเฉพาะอายุที่ตรวจวัดได้จากส่วนนอกของอิฐ พบว่ามีอิฐ 2 ใน 6 ก้อน (TT1 และ TT3) ที่แสดงอายุข้อนไปทางแปลกประหลาด เมื่อเปรียบเทียบกับอายุโบราณวัตถุที่คาดการณ์ไว้ โดยอิฐก้อนแรก TT1 ตรวจวัดอายุได้เกือบ 2,000 ปี ซึ่งแก่กว่าความเป็นจริง และถ้าลองกลับไปดูไส้ในอิฐก้อนนั้นจะเห็นว่าสีของอิฐดูเหมือนว่าจะผ่านการเผาน้อยมาก (แปลความเท่าที่ตาเห็นว่าขอบด้านนอกบางมาก) ถ้าเป็นสเต็กก็คงระดับ แรร์ (rare) : ย่างแบบเนื้อด้านนอกสุกพอประมาณ (เป็นสีน้ำตาลอมเทา) ส่วนด้านในยังเป็นเนื้อแดงอมชมพูอยู่ ส่วนมากจะใช้เวลาย่างประมาณ 1 นาที ดั้งนั้นอาจเป็นไปได้ว่า แม้จะพยายามเก็บตัวอย่างจากส่วนด้านนอกของอิฐดีแล้ว แต่ก็อาจจะมีส่วนที่ลบล้างสัญญาณการเปล่งแสงไม่สมบูรณ์อันเนื่องจากเผาไม่สุกอย่างแรงหรือเผาแบบลวกๆ ปนอยู่

ส่วนกรณีของอิฐอีกก้อน (TT3) ว่ากันจริงๆ ผู้เขียนก็สังเกตเห็นในแว็บแรกตั้งแต่ตอนเก็บตัวอย่างแล้วว่าอิฐก้อนนี้มีความแกร่งและแก่นมากกว่าอิฐก้อนอื่นๆ รวมทั้งสีของอิฐก็เห็นเป็นเนื้อเดียวกันทั่วทั้งก้อน ซึ่งเมื่อผลการหาอายุออกมาได้ 8±0 ที่ผ่านมา ก็พอจะแปลความแบบโป๊ะเชะได้ว่านี่น่าจะเป็นอิฐปัจจุบัน ที่คงจะที่การนำมาเสริมเติมแต่งในช่วงที่มีการขุดคุ้นหรือปรับแต่งโบราณสถานนั่นเอง

โดยสรุปข้อคิดที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากงานวิจัยชิ้นนี้ คือ อิฐจากโบราณสถานเป็นวัสดุทางโบราณคดีที่มีศักยภาพในการนำมากำหนดอายุแหล่งโบราณคดีได้อย่างดี แต่ก็มีข้อควรระวังในการเลือกตรวจวัดตัวอย่าง อย่างที่เล่าไปทั้งหมดในตอนต้น

“…การสร้างอาคารสมัยนี้คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย…”

พระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับโบราณคดีไทย พ.ศ. 2506

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: