สำรวจ

หมุดหมายการเดินทาง คนโบราณ (Ancient Viewshed)

คิดผ่านๆ เพลินๆ คนเดินทางสมัยโบราณ น่าจะอาศัยดูดาวหรือจับทิศลม แต่พอตั้งสติคิดดูดีๆ อ้าวเฮ้ย !!! ต้องเป็นคนแบบไหนถึงชอบเดินทางกันตอนกลางคืน ถ้าเลือกได้ ซึ่งก็เลือกได้ ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน คนเราก็ชอบเดินทางตอนกลางวันกันทั้งนั้น เพราะสว่างชัด วิสัยทัศเยี่ยม ซึ่งหากไม่ชินทาง คนสมัยนี้ก็คงพึ่งพา google map ในโทรศัพท์ แล้วถ้าในสมัยก่อน ที่ยังไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ผู้อ่านคิดว่าพวกเขาใช้อะไร เป็นหมุดหมายในการเดินทาง

ในบรรดาโบราณสถานทั่วบ้านเรา ถ้าสกรีนความอลังกาลกันอีกที จะพบว่ามีหลายที่ ที่มีขนาดในระดับมหึมา แน่นอนว่าการแปลความในทางโบราณคดี ส่วนใหญ่ก็เล็งไปที่ อยู่ดีกินดีมั๊ง เจริญแหละ รวยเนาะ ประมาณนี้ แต่อีกหนึ่งผลพวงหรือผลพลอยได้ใช้ ประโยชน์จากความยิ่งใหญ่ของโบราณสถานเหล่านี้ ผู้เขียนคิดว่า น่าจะมีเอาไว้ใช้กำหนดตำแหน่งของคนเดินทาง

  • B1 : ถึงไหนแล้วเพื่อน ?
  • B2 : เราใกล้ถึงแล้ว เห็นยอดองค์พระปฐมเจดีอยู่ลิบๆ
  • B1 : โอเค เรารออยู่องค์พระฯ หน้าพระร่วงโรจนฤทธิ์

จากความเชื่อตั้งต้นนี้ จะจริงไม่จริงไม่รู้ แต่ก็นำมาสู่ความอยากรู้อยากลอง ว่าโบราณสถานใหญ่ๆ ในบ้านเรา ถ้าจะเอามาใช้เล็งหลักมอง จะมองได้จากระยะไกลซักแค่ไหน ขอออกตัวกันก่อนตั้งแต่ต้นเรื่องเลยว่า ผลที่ได้เกิดจากการวิเคราะห์ 1) ความสูงของตัวโบราณสถาน และ 2) ลักษณะภูมิประเทศ (digital elevation model, DEM) ด้วยคอมพิวเตอร์ ในสถานการณ์ที่สมมุติว่าฟ้าเปิดเต็มร้อย ผู้เขียนวิเคราะห์ที่ไหนไว้บ้าง ลองไปดูกันครับ

1) ภูเขาทอง . พระปรางค์วัดอรุณฯ . พระปฐมเจดีย์

ประเดิมกรณีศึกษาแรก ด้วยโบราณสถาณที่ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางกรุง ด้วยความที่สูงสง่า โดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้เขียนเชื่อว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ คือหนึ่งในแลนด์มาร์ก ที่คนโบราณใช้จับหลักในการสัญจร ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำหรือทางบก ซึ่งด้วยความสูงสุทธิ 82 เมตร ผลการวิเคราะห์ ทัศนวิสัย (viewshed) หรือพื้นที่การมองเห็น บ่งชี้ว่าทางทิศตะวันตก คนบางแคก็มีโอกาสมองเห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ หากฟ้าเปิด ในขณะที่ทางทิศตะวันออกมองได้ไกลถึงมีนบุรีและลาดกระบัง ส่วนทิศเหนือ ความสามารถในการมองเห็นเริ่มตั้งแต่อยู่ปทุมธานี-นนทบุรี และทิศใต้มีรัศมีทำการกวาดไปถึงอ่าวไทย และด้วยความสูงไล่เลี่ยกันและพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นที่ราบ ศักยภาพการมองเห็น ภูเขาทอง หรือ พระบรมบรรพต (สูง 77 เมตร) แห่งวัดสระเกศ ก็ไม่ต่างอะไรจากพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่กล่าวมาในข้างต้น

ผลการวิเคราะห์ทัศนวิสัยการมองเห็น (viewshed) (ก) ภูเขาทอง (ข) พระปรางค์วัดอรุณฯ (ค) พระปฐมเจดีย์

ในพื้นที่ปริมณฑล พระปฐมเจดีย์ จ. นครปฐม ถึงแม้จะมีความสูงถึง 121 เมตร แต่ด้วยภูมิประเทศที่เริ่มเป็นที่ลาดชันทางภาคตะวันตก ทำให้ศักยภาพการมองเห็นองค์พระปฐมเจดีย์ ไม่ได้ดีไปกว่าพระปรางค์วัดอรุณฯ และภูเขาทอง พื้นที่การมองเห็นครอบคลุมจังหวัดนครปฐมและจังหวัดสมุรสาคร รวมทั้งทางตอนเหนือของจังหวัดสมุทรสงครามและราชบุรี ในขณะที่ทิศตะวันออกมองได้ไกลที่สุด ก็ประมาณเขตบางแคของกรุงเทฯ

2) เจดีย์หลวง . พระธาตุดอยสุเทพ

ย้ายขึ้นเหนือมาที่เชียงใหม่ โบราณสถานหรือภูมิประเทศที่โดดเด่นติดตาในพื้นที่ คือ เจดีย์หลวง และ พระธาตุดอยสุเทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองในแถบนี้ ผลจากการวิเคราะห์เผยให้เห็นว่า หากฟ้าเปิด ทั้งเจดีย์หลวง ซึ่งเดิมมีความสูงถึง 80 เมตร สามารถมองเห็นได้ทั่วทั้งแอ่งเชียงใหม่ และถึงแม้พระธาตุดอยสุเทพจะอยู่สูงกว่า 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่ระยะการมองเห็นก็ครอบคลุมแค่แอ่งเชียงใหม่เช่นกัน ทั้งนี้ก็เพราะด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งลึกล้อมรอบด้วยภูเขาสูง ทำให้การมองเห็นจำกัดอยู่เพียงในแอ่งเท่านั้น

เพิ่มเติม : ซากโบราณสถาน กับการแปลความ แผ่นดินไหว

เจดีย์หลวง จ. เชียงใหม่ เดิมมีความสูง 80 เมตร แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2088 ทำให้ส่วนยอดพังทลายลง (Kazmer และคณะ, 2011)

ผลการวิเคราะห์ทัศนวิสัยการมองเห็น (viewshed) (ก) เจดีย์หลวง (ที่มา : www.expedia.co.th) (ข) พระธาตุดอยสุเทพ (ที่มา : https://th.wikipedia.org/) จ. เชียงใหม่

3) ศรีเทพ . เขาคลังนอก . เขาถมอรัตน์

ด้วยความที่เดิมเคยถูกปกคลุมด้วยดินจนคล้ายเป็นภูเขา เมื่อ เขาคลังนอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ อุทยานประวัติศาสศรีเทพ ถูกขุดแต่งและบูรณะ จึงเผยโฉมความงามและความยิ่งใหญ่อลังการขึ้นมาทันที ซึ่งจากความสูง 20 เมตร สูงกว่าโบราณสถาณใดๆ ในละแวก ก็คงไม่แปลกถ้าเขาคลังนอกจะเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของคนศรีเทพโบราณ

ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 15 กิโลเมตร จากคูเมืองศรีเทพ เขาถมอรัตน์ เขาลูกโดดกลางที่ราบ คือภูมิประเทศที่โดดเด่นที่สุดในย่านนี้ จากการที่ 1) พบภาพสลักนูนต่ำภายในถ้ำบนยอดเขาถมอรัตน์ รวมถึง 2) แกนการวางตัวของเมืองศรีเทพ ชี้ไปตรงกับเขาถมอรัตน์พอดิบพอดี นักโบราณคดีจึงเชื่อว่าคนศรีเทพและเขาถมอรัตน์ ผูกพันกัน ซึ่งจากรูปทรงที่โดดเด่นและความสูง 525 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เชื้อเชิญให้คิดได้ว่านอกจากคุณค่าความศักดิ์สิทธิ์ เขาถมอรัตน์น่าจะเป็นหมุดหมายในยามเดินทางได้อย่างดี

ผลการวิเคราะห์ทัศนวิสัยการมองเห็น (viewshed) พื้นที่สีแดง มองเห็นเขาคลังนอก เขาคลังนอก (ที่มา : www.matichonacademy.com) และ พื้นที่สีเหลือง มองเห็นเขาถมอรัตน์ (ที่มา : www.matichon.co.th)

นอกจากคำยืนยันของคนในพื้นที่ ผลการวิเคราะห์ทัศนวิสัยการมองเห็น ยังช่วยยืนยันอีกทีว่า คนศรีเทพและเขาคลังนอก มองเห็นเขาถมอรัตน์ได้อย่างชัดเจน (พื้นที่สีแดง) และตัวเขาถมอรัตน์เอง ก็สามารถถูกมองเห็นได้ไกลไปถึง พิจิตร-นครสวรรค์-สิงห์บุรี (พื้นที่สีเหลือง) เรียกได้ว่าเป็นแลนด์มาร์กที่โดดเด่นจัดจ้านในย่านนี้เลยทีเดียว

4) เมืองโบราณอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี

จากความสำคัญในทางโบราณคดี ที่มีสตอรี่การเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญในสมัยทวารวดี สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) จึงบินสำรวจภูมิประเทศโดยรอบ เมืองโบราณอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า ไลดาร์ (Lidar : Light Detection and Ranging) ซึ่งนอกจากสภาพภูมิประเทศระดับรายละเอียดในพื้นที่ ผลจากการสำรวจไลดาร์ยังเผยให้เห็นโบราณสถานพบใหม่จำนวนมาก ทั้งในที่ราบรอบเมืองโบราณอู่ทองและบนภูเขาทางทิศตะวันตก

เพิ่มเติม : ธรณีวิทยาโบราณคดี เมืองโบราณอู่ทอง

หนึ่งในหลายๆ โครงสร้างทางโบราณคดีที่ตรวจพบและน่าสนใจ คือ โครงสร้างทรงกลม ที่มักจะตั้งอยู่บนฐานบริเวณปลายสุดของสันเขา ที่หันหน้าไปทางที่ราบลุ่มเมืองอู่ทอง จากตำแหน่งทางภูมิประเทศที่พบ (ชัดเจน 3 สันเขา) อนุมานว่าเป็นโบราณสถาณ ที่สามารถมองเห็นได้จากที่ราบด้านล่าง จึงน่าจะใช้ประโยชน์ในการเป็นหมุดหมายหรือกำหนดตำแหน่ง ของคนที่อยู่ในที่ราบทางทิศตะวันออกได้

(บน) โครงสร้างคล้ายโบราณสถาณที่ตรวจพบจากภาพไลดาร์ บริเวณปลายสันเขาทางฝั่งตะวันออกติดกับที่ราบเมืองโบราณอู่ทอง (ข) ผลการวิเคราะห์ทัศนวิสัยการมองเห็น (viewshed) จากตำแหน่งโครงสร้างที่คาดว่าน่าจะเป็นหมุดหมายของการเดินทางที่สร้างขึ้นริมสันเขา

ผลจากการวิเคราะห์วิสัยทัศน์การมองเห็นจากหมุดหมายทั้ง 3 จุด พบว่าแต่ละจุดสามารถมองเห็นเป็นภาพกว้างไปทางที่ราบฝั่งตะวันออก กินพื้นที่เกือบครึ่งวงกลม และหากรวมวิสัยทัศน์ทั้งหมด พบว่าทุกพื้นที่ราบในบริเวณอู่ทอง จะต้องมองเห็นจุดใดจุดหนึ่งเป็นอย่างน้อย อีกข้อน่าสังเกตของการวิเคราะห์วิสัยทัศน์ คือรัศมีการมองเห็นกวาดลงไปถึงพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่า ระดับที่เชื่อว่าเคยเป็นแนวชายฝั่งทวารวดี (ระดับความสูง 4 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปัจจุบัน) ก็อาจเป็นไปได้เหมือนกันว่า คนที่มาทางทะเลก็จะมองเห็นโบราณสถาณหนึ่งในสามนี้ ก่อนที่จะเทียบเรือประชิดฝั่งเช่นกัน

เพิ่มเติม : แนวชายฝั่ง ทวารวดี : มองมุมธรณีวิทยา

5) กลุ่มเมือง ทวารวดี

ทวารวดี (Dvaravati) หมายถึง กลุ่มวัฒนธรรมหรืออาณาจักรที่เคยอยู่ในประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-16 ประกอบไปด้วยเมืองโบราณจำนวนมาก กระจายแทบจะทั่วภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ราบลุ่มภาคกลาง ได้แก่ เมืองคูบัว ขีดขิน พงตึก โคกไม้เดน ศรีเทพ ศรีมโหสถ ดงละคร และเมืองสุพรรณบุรี ฯลฯ

ประเด็นที่แอดน่าสนใจอยู่นิดๆ คือชายฝั่งทวารวดีกินพื้นที่เข้ามาในที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของไทย ซึ่งจากรูปด้านล่าง แต่ละเมืองสามารถมองเห็นถึงกันหรือไม่ และมีความเป็นไปได้ไหม ที่เมืองทางฝั่งตะวันออกจะสามารถมองไกลไปถึงเมืองฝั่งตะวันตก

แผนที่ที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย แสดงการกระจายตัวของเมืองโบราณสำคัญสมัยทวารวดี (วงกลมสีขาว) ขอบสีแดง คือ ระดับความสูง 4 เมตร โดยประมาณ จากระดับน้ำทะเลปัจจุบัน I-IV คือ การแบ่งสภาพแวดล้อมโบราณหรือภูมิศาสตร์พืชพันธุ์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-15 ศึกษาและนำเสนอโดย Hutangkura (2014) ซึ่ง I = ที่ราบน้ำท่วมตามฤดูกาล II = พื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างนิเวศน้ำเค็ม-น้ำจืด III = หาดเลนและผืนป่าชายเลน และ IV = ส่วนทะเลตื้นของอ่าวทวาราวดี

ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าหลายคู่เมืองที่ตั้งใกล้กัน สามารถมองเห็นถึงกันได้ แต่ไม่สามารถมองข้ามฟากฝั่งทวารวดี ไปยังเมืองฝั่งตรงข้าม คนศรีมโหสถ ดงละคร ฯลฯ ทางฝั่งตะวันออก จึงไม่เคยเห็นคนอู่ทอง คูบัว ฯลฯ จากฝั่งของตัวเอง อีกประเด็นที่น่าสังเกตคือ ในบรรดาเมืองทวาราวดีทั้งหมด มีเพียงเมืองศรีพระโล ริมชายฝั่งทางทิศตะวันออกเท่านั้น ที่สามารถมองเห็นจากทะเลในปัจจุบัน

ผลการวิเคราะห์ทัศนวิสัยการมองเห็น (viewshed) กลุ่มเมืองต่างๆ ที่เคยตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย สมัยทวารวดี

6) ราชมรรคา เส้นทางโบราณ

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-18 ที่อาณาจักรเขมรโบราณเจริญถึงขีดสุด มีปราสาทผุดขึ้นมากมาย กระจายทั่วกัมพูชาและภาคอีสานของไทย และมีการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลักๆ อย่างน้อย 5 เส้นทาง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เส้นทาง นครวัด-พิมาย หรือที่รู้จักกันในนาม ราชมรรคา (The Royal Road) โดยจะมีการสร้างที่พักคนเดินทางหรือ ธรรมศาลา หรือ บ้านมีไฟ วางไว้เป็นระยะๆ 17 แห่ง ตลอดเส้นทาง อยู่ในกัมพูชา 8 แห่ง และอยู่ในประเทศไทย 9 แห่ง เริ่มต้นจาก ปราสาทตาเมือน จ. สุรินทร์ ไปสู่ ปราสาทหินพิมาย จ. นครราชสีมา

เพิ่มเติม : ตามรอยหนุ่ม-สาว อังกอร์ เลาะบ้านมีไฟ

(ซ้าย) แผนที่จังหวัดบุรีรัมย์-นครราชสีมา แสดง 1) ตำแหน่งบ้านมีไฟ (สามเหลี่ยมขาว) 2) แนวเส้นตรงหรือระยะขจัดระหว่างบ้านมีไฟ (เส้นตรงสีขาว) และ 3) แนวเส้นทางวิเคราะห์ด้วยเทคนิคภูมิสารสนเทศ LCP (ขวา) สภาพปัจจุบันของบ้านมีไฟ ทั้ง 9 แห่ง ที่มีการพบในพื้นที่ประเทศไทย

ผลการวิเคราะห์ทัศนวิสัยการมองเห็น จากจุดเริ่มเดินของบ้านมีไฟในแต่ละวัน ไปสู่บ้านมีไฟหลังต่อไป บ่งชี้ว่าเมื่อเริ่มออกเดินทางจากบ้านมีไฟตั้งต้น จะไม่สามารถมองเห็นบ้านมีไฟหลังต่อไปได้เลย หมายความว่าคนโบราณแถบนั้น คงไม่มุ่งมั่นวางแนวในการเดินตรงไปสู่บ้านมีไฟหลังต่อไปได้อย่างชัดเจน แต่น่าจะเป็นการเดินลัดเลาะไปตามภูมิประเทศที่เดินง่ายมากกว่า โดยมีบ้านมีไฟหลังต่อไปทำหน้าที่ เป็นเป้าหมายหลักยามเย็น ว่าจะต้องควานหาให้เจอหรือไปให้ถึงก่อนจะโพล้เพล้ พลบค่ำ เพื่อยืนยันว่าพวกเขายังอยู่ในวิถีสู่พิมาย และช่วยประมาณได้ว่า ยังเหลือระยะทางอีกเท่าไหร่ กว่าจะถึงจุดหมาย อะไรประมาณนั้น

ผลการวิเคราะห์ทัศนวิสัยการมองเห็น (viewshed) บ้านมีไฟทั้ง 9 แห่ง ที่อยู่ในประเทศไทย

7) เขาพนมรุ้ง จ. บุรีรัมย์

จากข้อสรุปที่ว่าบ้านมีไฟ เป็นที่พึ่งไม่ได้ในการเล็งแนวการเดินทาง ตลอดเส้นทางราชมรรคาฝั่งไทยดูจะหาหลักจับทางภูมิประเทศแทบไม่ได้เลย เพราะส่วนใหญ่เป็นเพียงทิวเนินเตี้ยๆ เท่านั้น ยกเว้นตัวละครเดียว คือ เขาพนมรุ้ง ซึ่งสูง 380 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

โดยจากการวิเคราะห์ทัศนวิสัยจากยอดเขาพนมรุ้งเพื่อประเมินว่าสามารถมองเห็นไปได้กว้างไกลแค่ไหน พบว่าหากฟ้าเปิด คนเดินทางจะสามารถมองเห็นเขาพนมรุ้งได้เกือบตลอดเส้นทาง ยกเว้นช่วงปลายการเดินทาง ซึ่งก็ใกล้เกือบจะถึงพิมายเต็มที ดังนั้นหากจะหาที่พึ่งหรือหลักจับทางภูมิประเทศสักที่ ในการเดินตามทางแถบนี้ คนโบราณน่าจะใช้เขาพนมรุ้งเป็นสรณะ

พนมรุ้ง มาจากภาษาเขมรคำว่า วนัมรุง
วนัม = พนม = ภูเขา ส่วน รุง = กว้างใหญ่
วนัมรุง หรือ พนมรุ้ง = ภูเขาอันยิ่งใหญ่
สมแล้วที่ผลการวิเคราะห์ทัศนวิสัยบอกเป็นนัยว่า เขาลูกนี้พึ่งได้ในการเดินทาง

ผลการวิเคราะห์มัศนวิสัย (viewshed) แสดง (ก) สรุปรวมพื้นที่ ที่คนเดินทางสามารถมองเห็นได้ตลอดเส้นทาง (ข) พื้นที่ที่สามารถมองเห็นเขาพนมรุ้ง

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: