ภาพจากปก : ตราประทับดินเผาลายนูนต่ำรูปเรือใบ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 พบที่เมืองนครปฐมโบราณและพื้นที่ใกล้เคียง แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าในการเดินเรือและการค้าขายของเมืองนครปฐมโบราณสมัย ทวารวดี [ที่มา : มิวเซียมสยาม – Museum Siam]
ทวาราวดีเบื้องต้น
ทวารวดี (Dvaravati) หมายถึง กลุ่มวัฒนธรรม หรืออาจรวมถึงกลุ่มบ้านเมือง อาณาจักร ที่เคยเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในประเทศไทยเมื่อ 1,450-950 ปี ที่ผ่านมา (พุทธศตวรรษที่ 11-16) ซึ่งด้วยความที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทางศิลปะวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป ธรรมจักร หรือรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ทำให้ชื่อ ทวารวดี จึงเป็นที่รู้จักของคนไทย และน่าหลงใหลในทางโบราณคดี
จากการสำรวจ ขุดค้นทางโบราณคดีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้นักโบราณคดีไทยระบุได้ว่า แหล่งโบราณคดีบางส่วนในภาคเหนือ ตะวันตก ตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นเมืองสมัยทวารวดี และที่สำคัญ บริเวณโดยรอบพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางของไทยยังพบแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมาก (ตาราง) ได้แก่ เมืองคูบัว ขีดขิน พงตึก โคกไม้เดน ศรีเทพ ศรีมโหสถ ดงละคร และเมืองสุพรรณบุรี ฯลฯ ซึ่งในหลายๆ เมืองที่กล่าวมานี้ ยังพบร่องรอยหรือโบราณวัตถุ ที่ยืนยันว่าทวารวดีนั้นอุดมสมบูรณ์ ติดต่อค้าขายกับคนต่างถิ่นกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ผ่านทางเรือ
หากพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ จะพบว่าเมืองโบราณต่างๆ ในสมัยทวารวดี ส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่บนพื้นที่ดอนหรือเนินสูง ซึ่งก็เป็นรูปแบบโดยทั่วไปของการสร้างบ้านแปงเมืองของคนในอดีต สอดคล้องกับชุมชนโบราณในภาคอีสานกว่า 300 แห่ง ที่เกือบทั้งหมดเลือกตั้งอยู่บนเนินสูงเช่นกัน
ลำดับ | เมืองโบราณ | ลองจิจูด | ละติจูด | ความสูงเนินตั้งเมือง (เมตร) | ความสูงโดยรอบ (เมตร) |
1 | ศรีพโล | 100.99 | 13.42 | 16 | 6 |
2 | พระรถ | 101.16 | 13.47 | 9 | 6 |
3 | บ้านคูเมือง | 101.36 | 13.72 | 11.5 | 8 |
4 | ศรีมโหสถ | 101.41 | 13.89 | 11 | 5 |
5 | ศรีมหาโพธิ์ | 101.50 | 13.95 | 15 | 6 |
6 | ดงละคร | 101.17 | 14.16 | 26 | 6 |
7 | อู่ตะเพา | 100.84 | 14.44 | 9.5 | 8.5 |
8 | ขีดขิน | 100.74 | 14.62 | 11 | 7.5 |
9 | ลพบุรี | 100.62 | 14.79 | 20 | 12 |
10 | สิงห์บุรี | 100.40 | 14.89 | 16.5 | 12.5 |
11 | พรหมทิน | 100.63 | 15.00 | 17 | 15 |
12 | ดงมะรุม | 100.86 | 15.13 | 51 | 46 |
13 | ซับจำปา | 101.24 | 15.05 | 175 | 130 |
14 | ศรีเทพ | 101.15 | 15.47 | 68 | 63 |
15 | จันเสน | 100.45 | 15.12 | 22 | 15 |
16 | บ้านคูเมือง | 100.28 | 14.99 | 23 | 14 |
17 | ดงคอน | 100.16 | 15.02 | 20 | 15 |
18 | อู่ตะเภา | 100.19 | 15.28 | 31 | 21 |
19 | โคกไม้เดน | 100.15 | 15.41 | 60 | 25 |
20 | บ้านคูเมือง | 99.91 | 15.32 | 41 | 36 |
21 | บึงคอกช้าง | 99.71 | 15.63 | 80 | 72 |
22 | สุพรรณบุรี | 100.12 | 14.47 | 12.5 | 7.5 |
23 | อู่ทอง | 99.89 | 14.37 | 10 | 7.5 |
24 | ดอนตาเพชร | 99.67 | 14.19 | 45 | 35 |
25 | กำแพงแสน | 99.96 | 13.99 | 16.5 | 8.5 |
26 | พงตึก | 99.79 | 13.89 | 21 | 17 |
27 | นครปฐม | 100.09 | 13.84 | 5.5 | 4.5 |
28 | คูบัว | 99.84 | 13.49 | 9 | 6 |
29 | โคกเศรษฐี | 99.95 | 12.85 | 8 | 4.5 |
อีกหนึ่งข้อสังเกตที่พบ คือ เมืองที่อยู่ริมชายฝั่ง (เส้นขอบแดงในแผนที่) มักไม่อยู่ที่จุดสูงสุดของเนิน แต่จะอยู่ข้างๆ เนิน ที่สูงกว่าระดับ 4 เมตร ขึ้นมาหน่อย โดยจะอยู่ด้านที่หันหน้าเข้าทางชายฝั่งเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายความว่า ริมชายฝั่งต้องมีอะไรดีๆ ต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าตอนนั้นจะเป็นน้ำ เป็นดินเลนเฉอะแฉะ หรือเป็นบกก็ตาม
สุดขอบขัณฑสีมา ทวารวดี
ในมุมการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของเมืองโบราณสมัยทวารวดีแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง มองเผินๆ ก็ดูเหมือนจะกระจายคล้ายจะปกติ แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะจับสังเกตได้คือ เมืองโบราณต่างๆ พร้อมใจกันที่จะไม่ตั้งเมืองอยู่ใต้ระดับความสูง 4 เมตร (เส้นขอบแดง) จากระดับน้ำทะเลปัจจุบัน ซึ่งในทางธรณีวิทยาถือว่ามีนัย เพราะแนวเส้นชั้นความสูง 4 เมตร ที่ว่า เป็นแนวควบคุมทางธรรมชาติที่ชัดเจน ว่ามนุษย์นั้นไม่ควรลงมาอยู่ใต้ระดับนี้ หากอยากอยู่ดีมีสุข เรียกแบบบ้านๆ ก็คือ สุดขอบบก หรือ สุดขอบขัณธสีมา ในฟิวด์ออเจ้า จักรๆ วงศ์ๆ
จากหลักฐานเชิงประจักษ์ของแนวเส้น 4 เมตรนี้ ทำให้นักวิจัยรุ่นบุกเบิกอย่าง ผ่องศรี วนาสิน และ ทิวา ศุภจรรยา (2524) ได้นำเสนอแนวคิด แนวชายฝั่งโบราณสมัยทวารวดี ซึ่งก็คือแนวขอบแดงในแผนที่ และด้วยพลังของคำ “ชายฝั่งทวาราวดี” ทำให้ผู้รับสารส่วนใหญ่ในตอนนั้นจึงหลับตานึกไปว่า น่าจะมีสำเภาลำใหญ่ โล้เข้ามาประชิดติดขอบเมืองต่างๆ ที่อยู่ริมชายฝั่ง
จะว่าไป ภาพจำสำเภาริมเมืองก็ดูเหมือนจะไกลความจริงไปมาก เพราะระดับน้ำทะเลปัจจุบันอยู่ห่างจากชายฝั่งทวาราวดีที่ว่า กว่า 100 กิโลเมตร ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์กันอย่างเมามันส์ในวงวิชาการผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ มีการศึกษาและประติดประต่อแปลความใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่มีการกล่าวถึงในวงกว้าง คือ การศึกษาสภาพภูมิศาสตร์โบราณผ่านพืชพันธุ์ หรือ การศึกษา ละอองเรณู (pollen) เพื่อจำแนกสภาพแวดล้อมโบราณ โดย ดร. ตรงใจ หุตางกูร (Hutangkura, 2014) ซึ่งเมื่อผนวกกับข้อมูล การกำหนดอายุชั้นตะกอนด้วย วิธีคาร์บอน-14 (radiocarbon dating) ดร. ตรงใจ สามารถจำแนกที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง (พื้นที่ใต้ขอบแดง) ออกเป็น 4 สภาพแวดล้อม ได้แก่ เขต I คือ ที่ราบน้ำท่วมตามฤดูกาล เขต II คือ พื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างนิเวศน้ำเค็ม-น้ำจืด เขต III คือ หาดเลนและผืนป่าชายเลน และ เขต IV คือ ส่วนทะเลตื้นของอ่าวทวาราวดี
ผลจากงานวิจัยของ ดร. ตรงใจ ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ทำให้นักวิชาการสมัยใหม่มีความเห็นคล้อยไปในทางที่ว่า 1) ขอบทะเลที่ถูกต้องและทันสมัยต้องเป็นงาน ดร. ตรงใจ ซึ่งทุกท่านก็คิดถูกแล้ว ในมุมของผู้เขียนก็ร่วมด้วย +1 แต่หากจะต้องเหมารวมว่า 2) ขอบทะเลอยู่ที่เส้นขั้น III-IV แล้ว ขอบสีแดง ที่เคยถูกนำเสนอก่อนหน้าว่าเป็นแนวชายฝั่ง นั้นแค่ไอเดียเก่า ล้าสมัย ไม่ถูกต้อง ทรงนี้ผู้เขียนคงขอคิดต่าง เพราะว่ากันตามจริง งานวิชาการทั้ง 2 ชิ้นนี้ ถูกทั้งคู่ 🙂
ทวารวดีในมุมธรณีวิทยาชายฝั่ง
ในทางวิชาการ ธรณีวิทยาชายฝั่ง (coastal geology) คำว่า ฝั่ง . ชายฝั่ง . หาด . ชายหาด นั้นมีความหมายต่างกัน ภาษาอังกฤษก็ใช้ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญ แต่ละคำล้วนมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกันอย่างมีนัยสำคัญ ในทางธรณีวิทยา
- ฝั่ง (coast) (หมายเลข 7) หมายถึง ส่วนของพื้นดินที่ติดกับทะเล แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการกระทำของทะเล โดยมีขอบเขตตั้งแต่ ชายฝั่ง (coast line) (หมายเลข 6) เข้าไปทางแผ่นดิน ส่วน
- หาด (shore) (หมายเลข 1) คือ บริเวณพื้นที่ที่ปกคลุมระหว่าง ระดับน้ำลงต่ำสุด ไปจนถึงบริเวณที่คลื่นน้ำทะเลสามารถเคลื่อนที่ไปถึง (หรือ ชายฝั่ง) ซึ่งบริเวณหาดจะได้รับผลกระทบจากคลื่นจากน้ำทะเลที่พัดเข้ามาในรูปแบบต่างกัน ส่วน ชายหาด (shoreline) (ช่วงเวลาในภาพ คือ หมายเลข 3) คือ แนวหรือขอบที่มีการกระเพื่อมของคลื่นน้ำในช่วงเวลาใดๆ
เพิ่มเติม : ฝั่ง . หาด . ชายฝั่ง . ชายหาด ต่างกันยังไง
ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับแผนที่ในบทความนี้ แนวขอบแดง จึงหมายถึง ชายฝั่ง (coast line) ส่วนแนวเส้นขั้นระหว่างเขต III-IV ก็คือ ชายหาด (shoreline) ซึ่งพื้นที่ระหว่างขอบแดงและแนวเส้นขั้น III-IV คือส่วนของ หาด (shore) โดยที่หาดที่มีอยู่บนโลกก็แบ่งย่อยในทางธรณีวิทยาได้ 3 ประเภท คือ 1) หาดหิน 2) หาดทราย และ 3) หาดเลน โดย หาดเลน หรือ ที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึง (tidal flat) ซึ่งเป็นหาดที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง เกิดการสะสมตัวของตะกอนละเอียดที่ถูกพัดพาแขวนลอยมากับน้ำจนเป็นลานแบนราบ มักพบตามปากแม่น้ำที่ต่อเชื่อมกับทะเล บางครั้งก็ก่อตัวเป็นแบบ ชะวากทะเล (estuary) และ ป่าโกงกาง (mangroves)
เพิ่มเติม : ผู้เขียนได้แอบไปส่องดูแว๊บๆ แล้ว พบว่าที่เส้นชั้นความสูง 4 เมตร ปราสาทต่างๆ ของ อาณาจักรอังกอร์ (อายุล้อๆ กับทวาฯ) ทางฝั่งกัมพูชา ก็ไม่มีที่ไหนที่สร้างต่ำกว่าเส้นนี้เหมือนกัน ดูท่าจะมัดแน่นแล้วมั๊งว่า เส้น 4 เมตร = แนวชายฝั่งสมัยทวารวดีและอังกอร์
ลบภาพจำ โล้สำเภาใหญ่จอดริมเมือง
โดยสรุปแล้ว แนวเส้นสีแดงนั้นคือ แนวชายฝั่ง ส่วนเส้นขั้น III และ IV คือ แนวชายหาด ในสมัยทวารวดี ซึ่งยังยืนยันว่าบทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อมาโชว์สำบัดสำนวน หรือเล่นคำริมทะเล แต่ทั้ง 2 แนว 2 ตัวละคร นั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ การที่คนโบราณร่วมใจกันไม่ลงไปอยู่ในระดับเส้นชั้นความสูง 4 เมตรนั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะนั่นคือสุดขอบบกที่มนุษย์จะอยู่ได้อย่างปกติสุขตลอดทั้งปี ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าน้ำทะเลต้องมาชิดขอบนี้ โดยเฉพาะในกรณีของหาดเลน หรือดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่ชายหาด ริมหาด ริมทะเล ริมน้ำ อาจจะอยู่ไกลจากฝั่งได้อย่างที่เห็น
ดังนั้นจากหลักฐานทางโบราณคดีต้างๆ ที่ว่าชุมชนชาวทวารวดีมีการติดต่อค้าขายกันทางเรือกับคนต่างถิ่น ถึงตรงนี้ ผู้เขียนอยากให้ลืมภาพจำ น้ำทะเลท่วมไปถึงขอบเมือง สำเภาเทียบท่าติดเมือง เพราะถ้าชาวเลต่างถิ่นคิดจะไปจีบสาวทวาฯ คงต้องจอดเรือใหญ่เทียบท่าแถวๆ เส้นขั้น III และ IV ของ ดร. ตรงใจ (Hutangkura, 2014) แล้วค่อยจับเรือเล็กขนของขึ้น เลาะคลองยิ๊บๆ ย่อยๆ เข้าไปข้างในแผ่นดิน เรือพนมสุรินทร์ ก็คงเช่นกัน 🙂
อ้างอิง
- ผ่องศรี วนาสิน และ ทิวา ศุภจรรยา 2524. รายงานผลการวิจัยทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภช เรื่องเมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลางประเทศไทย: การศึกษา ตําาแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์. งานวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลําดับท่ี 1. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- Hutangkura, T. 2014. A New Interpretation of the Boundary of Dvdravati Shoreline on the Lower Central Plain. Damrong Journal 13(1): 12-44.