วิจัย

ตามรอยหนุ่ม-สาว อังกอร์ เลาะบ้านมีไฟ

ในช่วงที่อาณาจักร อังกอร์ (พุทธศตวรรษที่ 14-18) เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด นอกจากปราสาทนครวัด-นครธม หรือ เมืองพระนคร ยังมีการก่อสร้างปราสาทสำคัญๆ อีกมากมายกระจายตัวอยู่โดยรอบของประเทศกัมพูชาปัจจุบัน รวมทั้งภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และเพื่อให้การเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างเมืองหลักและเมืองรองต่างๆ กษัตริย์หรือผู้นำอาณาจักร จึงได้มีแนวคิดที่จะสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมือง ซึ่งจากการสำรวจทางโบราณคดี พบว่าปัจจุบันมีเส้นทางสายหลักอย่างน้อย 5 เส้นทางได้แก่

  1. เส้นทางที่วิ่งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ จากเมืองพระนครสู่ ปราสาทดอนแก้ว (Don Kaw) และ ปราสาทวัดภู (Vat Phu)
  2. เส้นทางตะวันออก มุ่งหน้าไปสู่ ปราสาทพระขันธ์ กำปงสวาย (Preah Khan of Kampong Svay)
  3. เส้นทางตะวันออกเฉียงใต้ มีจุดหมายอยู่ที่ ปราสาทสมโบร์ไพรกุก (Sambor Prei Kuk)
  4. เส้นทางตะวันตก มุ่งสู่ ปราสาทสด๊กก๊อกธม (Sdok Kok Thom) และสุดท้าย
  5. เส้นทางตะวันตกเฉียงเหนือ วิ่งขึ้นที่ราบสูงโคราชของไทย โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ ปราสาทหินพิมาย (Phimai) จังหวัดนครราชสีมา

โดยตลอดเส้นทางในแต่ละสาย จะพบสิ่งปลูกสร้างวางอยู่เป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็น สะพานที่สร้างจากศิลาแลง เพื่อใช้ข้ามคลองหรือทางน้ำธรรมชาติ และอาคารศิลาแลงรูปลักษณ์เฉพาะตัว ที่เรียกว่า บ้านมีไฟ (Fire Shine) หรือ ธรรมศาลา (Dharmasala) หรือ วหนิคฤหะ ซึ่งในมิติของการใช้งาน บ้านมีไฟมีไว้สำหรับเป็นจุดแวะพักของคนเดินทาง หรือถ้าพูดแบบบ้านๆ ก็กึ่งจะเป็น โรงแรม ดีๆ นี่เอง

(ซ้าย) แผนที่แนวเส้นทางเดินทางจากเมืองพระนครสู่เมืองสำคัญต่างๆ ของอาณาจักรอังกอร์ (ขวาบน) บ้านมีไฟ หรือ ที่พักริมทาง (ขวาล่าง) สะพานโบราณฝั่งกัมพูชา สร้างจากศิลาแลง

ในบรรดาเส้นทางทั้ง 5 สาย เส้นทางสายพิมาย ดูจะยาวและสำคัญที่สุดในปัจจุบัน จากจารึกปราสาทพระขรรค์ บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของบ้านมีไฟ 17 แห่ง ตลอดแนวเส้นทางจากพระนครสู่เมืองพิมาย และมีการตั้งชื่อแนวเส้นทางนี้ว่า ราชมรรคา (The Royal Road) ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจทางโบราณคดี ไม่พบสะพานศิลาแลงทางฝั่งไทย แต่พบบ้านมีไฟ 9 หลัง ตลอดแนวเส้น เริ่มต้นจาก ปราสาทตาเมือน ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณ จ. สุรินทร์ ไปสู่ กู่ศิลาขันธ์ จ. นครราชสีมา ก่อนจะเข้าสู่ ปราสาทหินพิมาย

เพิ่มเติม : ราชมรรคา : อีกเหตุผลความเป็นไปได้ ทำไมเส้นทางโบราณนี้ถึงเป็นที่นิยม

ลำดับละติจูดลองจิจูดปราสาทหมู่บ้านตำบลอำเภอจังหวัด
1103.2614.35ตาเมือนบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ 18ตาเมียงพนมดงรักสุรินทร์
2103.1314.47ทมอบ้านละหารทรายเก่า หมู่ 2หินลาดบ้านกรวดบุรีรัมย์
3102.9814.53บ้านบุบ้านบุ หมู่ 17จระเข้มากประโคนชัยบุรีรัมย์
4102.8914.68หนองกง-โคกปราสาทบ้านหนองกง หมู่ 1หนองกงนางรองบุรีรัมย์
5102.8314.70หนองปล่องบ้านหนองยาง หมู่ 5หนองยายพิมพ์นางรองบุรีรัมย์
6102.8014.81หนองตาเปล่งบ้านปราสาทเทพสถิตย์ หมู่ 13ช่อผกาชำนิบุรีรัมย์
7102.7614.94บ้านสำโรงบ้านสำโรง หมู่ 2ผไทรินทร์ลำปลายมาศบุรีรัมย์
8102.7114.98ห้วยแคนบ้านห้วยแคน หมู่ 1ห้วยแคนห้วยแถลงนครราชสีมา
9102.6015.08กู่ศิลาขันธ์บ้านกู่ศิลาขันธ์ หมู่ 4หลุ่งประดู่ห้วยแถลงนครราชสีมา
รายชื่อและตำแหน่งบ้านมีไฟทั้ง 9 แห่ง ที่มีการสำรวจพบในพื้นที่ประเทศไทย

เดินดิ่งตรงๆ หรือ ลัดเลาะเลียบร่อง

หลังจากมีการสำรวจตรวจพบบ้านมีไฟทั้ง 9 หลัง ในฟังไทยนักวิจัยบางส่วนเชื่อว่า การเดินทางของคนโบราณมักมุ่งหน้าเป็นเส้นตรง จากบ้านมีไฟที่สร้างมาร์คไว้ในแต่ละหลัง (แนวเส้นขาวในแผนที่) มีความพยายามค้นหาซากโครงสร้าง หรือถนนตามแนวเส้นตรงที่ว่า ซึ่งหากพบถนนดังกล่าว นั่นจะหมายถึงความตั้งใจที่จะสร้างไฮเวย์โบราณกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และสื่อถึงการขยายอำนาจจากเมืองพระนครสู่เมืองชายขอบอย่างพิมาย

เพิ่มเติม : ราชมรรคา : อีกเหตุผลความเป็นไปได้ ทำไมเส้นทางโบราณนี้ถึงเป็นที่นิยม

จนถึงปัจจุบันก็ยังพบหลักฐานไม่มากนัก เกี่ยวกับแนวเส้นตรงจากจุดสู่จุดของบ้านมีไฟ มีเพียงร่องทางเกวียนสั้นๆ ที่กล่าวอ้างว่าน่าจะเป็นเส้นทางโบราณ แต่การขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ ก็ไม่ได้สื่อถึงสิ่งปลูกสร้างที่แสดงความเป็นถนนแต่อย่างใด อีกทั้งหากพิจารณาลักษณะภูมิประเทศในเบื้องต้น จะพบว่าหากเดินเป็นเส้นตรง ชาวอังกอร์ก็จะต้องเดินขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา งานวิจัยนี้จึงลองจำลองเส้นทางการเดินทางของคนโบราณขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยปัจจัยทางภูมิประเทศเป็นหลัก

ทางเกวียน บางพื้นที่อีสาน เรียก โสกทางเกวียน โสกทางไปนา ภาคใต้เรียก ทางพลี ซึ่งปัจจุบันยังมีหลงเหลือและพบกระจายอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในแถบภาคอีสาน มีลักษณะเป็นร่องคล้ายคลองที่เกิดจากการเหยียบซ้ำแล้วซ้ำเล่าของล้อเกวียน โดยสองข้างทางจะเป็นคล้ายขอบเนินดินที่ผุดขึ้นมาจากการเหยียบตรงทางเกวียน

จากข้อมูล แบบจำลองความสูงเชิงเลข (digital elevation model : DEM) และตำแหน่งของบ้านมีไฟที่ค้นพบ ผนวกกับเทคนิคทาง ภูมิสารสนเทศ (GIS) ที่เรียกว่า Least Cost Path (LCP) ผู้วิจัยสามารถจำลองเส้นทางการเดินทางขึ้นมาใหม่ ตามแนวเส้นทางราชมรรคา (แนวเส้นเหลืองในแผนที่)

(ซ้าย) แผนที่จังหวัดบุรีรัมย์-นครราชสีมา แสดง 1) ตำแหน่งบ้านมีไฟ (สามเหลี่ยมขาว) 2) แนวเส้นตรงหรือระยะขจัดระหว่างบ้านมีไฟ (เส้นตรงสีขาว) และ 3) แนวเส้นทางวิเคราะห์ด้วยเทคนิคภูมิสารสนเทศ LCP (ขวา) สภาพปัจจุบันของบ้านมีไฟ ทั้ง 9 แห่ง ที่มีการพบในพื้นที่ประเทศไทย

หากเปรียบเทียบแนวเส้นทางเดินที่ได้จากการประมวลผล LCP (เส้นสีเหลือง) กับแนวเส้นตรงจากจุดสู่จุด (เส้นสีขาว) จะพบว่ามีความใกล้เคียงกันพอประมาณ โดยเส้นสีเหลืองจะเบี่ยงเบนออกนอกเส้นทางตรงบ้างเล็กน้อย โดยภาพรวมจากปราสาทตาเมือนไปจนถึงปราสาทหินพิมาย หากเดินเป็นเส้นตรงจะมีระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร ในขณะที่หากเดินตามวิธี LCP จะใช้ระยะทาง 150 กิโลเมตร ต่างกันประมาณ 20 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบความชันตลอดการเดินทางพบว่า หากเดินเป็นเส้นตรง หนุ่มสาวชาวอังกอร์จะพบกับเนินและร่องชันตลอดเส้นทาง มากกว่าการเดินด้วยวิธี LCP พอสมควร ดังนั้นถึงแม้ว่าระยะทางจะเพิ่มขึ้นกว่า 20 กิโลเมตรหรืถ้าถัวเฉลี่ยแล้วในการเดินแต่ละครั้งในแต่ละวัน จากบ้านมีไฟสู่บ้านมีไฟ ระยะทางจะเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 2 กิโลเมตร แต่ความชันเป็นมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงท้ายๆ ก่อนจะเข้าสู่พิมาย หากเดินเป็นเส้นตรงความชันจะสูงมาก ผู้วิจัยจึงอนุมานในเบื้องต้นว่าคนโบราณน่าจะเลือกเดินลัดเลาะตามร่อง มากกว่าที่จะเดินเป็นเส้นตรงดังกล่าว และทางลัดเลาะนี้ก็อาจจะเป็นแค่ ทางเท้า หรือ เส้นทาง (route) สำหรับเดินไปมาหาสู่กันระหว่างชุมชน มากกว่าจะเป็น ถนน (road) เส้นตรงแบบเป็นการเป็นงาน ที่จะเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการขยายหรือแผ่อำนาจของอาณาจักรอังกอร์ ขึ้นมาสู่ภาคอีสานของไทยในอดีต

(ก) ความสูงตลอดระยะการเดินทาง (ข) ความชันในการเดินทางในแต่ละช่วง

ทัศนวิสัยในการเดินทาง

นอกจากนี้เพื่อที่จะดูความเป็นไปได้ในการเดินเป็นเส้นตรงหรือเดินลัดเลาะ ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ ทัศนวิสัย (viewshed) หรือความสามารถในการการมองเห็น จากจุดเริ่มเดินของบ้านมีไฟในแต่ละวัน ไปสู่บ้านมีไฟหลังต่อไป ว่าสามารถมองเห็นถึงกันหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าเกือบทั้งหมด เมื่อเริ่มออกสตาร์ทในตอนเช้า จากบ้านมีไฟตั้งต้น จะไม่สามารถมองเห็นบ้านมีไฟหลังต่อไปได้เลย มีแค่บางช่วงปลายๆ ตอนใกล้จะถึงเท่านั้น ที่สามารถมองเห็นบ้านมีไฟได้ นั่นหมายความว่าชาวอังกอร์บ้านๆ คงไม่มุ่งมั่นวางแนวในการเดินตรงไปสู่บ้านมีไฟหลังต่อไปได้อย่างชัดเจน แต่น่าจะเป็นการเดินลัดเลาะไปตามภูมิประเทศที่เอื้อ เดินง่ายอย่างเส้นสีเหลืองเสียมากกว่า โดยมีบ้านมีไฟหลังต่อไปทำหน้าที่เป็นเป้าหมายหลักยามเย็น ว่าจะต้องควานหาให้เห็นหรือไปให้ถึงก่อนจะโพล้เพล้ พลบค่ำ และหากแปลความตามผลการวิเคราะห์เรื่องทัศนวิสัยที่ได้เป็นหลัก น่าจะสรุปได้ว่า บ้านมีไฟไม่ใช่แลนด์มาร์คที่ให้คนเดินทางคอยส่องแนวไปเรื่อยๆ แต่คงจะเป็นจุดหมายปลายทางที่จะบอกเป็นนัยว่า หากตกเย็นเขายังพบบ้านมีไฟหลังต่อไปได้ แสดงว่าพวกเขายังอยู่ในเส้นทางสู่พิาย และก็กะประมาณได้ว่า ยังเหลือระยะทางอีกเท่าไหร่ กว่าจะถึงจุดหมาย

ผลการวิเคราะห์ ทัศนวิสัย (viewshed) หรือ พื้นที่ที่สามารถมองเห็นบ้านมีไหในแต่ละแห่ง

เขาพนมรุ้ง แลนด์มาร์คอันอุ่นใจ

นอกจากนี้ จากการสรุปรวมวิสัยทัศน์ของบ้านมีไฟทั้ง 9 แห่งตลอดเส้นทางจากปราสาทตาเหมือนสู่ปราสาทพิมาย (รูป ก) จะพบว่าตลอดเส้นทางสามารถมองเห็นพื้นที่โดยรอบได้เพียงพอประมาณเท่านั้น แต่ดูจะหาหลักจับทางภูมิประเทศแทบไม่ได้เลย เพราะตลอดเส้นทางที่สามารถมองเห็น นั้นเป็นเหมือนทิวเนินเตี้ยๆ เท่านั้น ยกเว้นตัวละครเดียว คือ เขาพนมรุ้ง

ผลการวิเคราะห์มัศนวิสัย (viewshed) แสดง (ก) สรุปรวมพื้นที่ ที่คนเดินทางสามารถมองเห็นได้ตลอดเส้นทาง (ข) พื้นที่ที่สามารถมองเห็นเขาพนมรุ้ง

จากการวิเคราะห์ทัศนวิสัยจากยอดเขาพนมรุ้งเพื่อประเมินว่าสามารถมองเห็นไปได้กว้างไกลแค่ไหน (รูป ข) พบว่าหากฟ้าเปิด คนเดินทางจะสามารถมองเห็นเขาพนมรุ้งได้เกือบตลอดเส้นทาง ยกเว้นช่วงปลายการเดินทาง ซึ่งก็ใกล้เกือบจะถึงพิมายเต็มที ดังนั้นหากจะหาที่พึ่งหรือหลักจับทางภูมิประเทศสักที่ ในการเดินตามทางนี้ เชื่อว่าชาวอังกอร์ ก็น่าจะใช้เขาพนมรุ้งเป็นสรณะ หรือที่พึ่ง

จะเกี่ยวกันหรือไม่ไม่ทราบ แต่ความน่าจะพึ่งพาได้ของเขาพนมรุ้ง สอดคล้องกับสมญาของภูเขาไฟลูกนี้ ที่คนโบราณเคยให้เอาไว้ ซึ่งครั้งหนึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงศึกษาวิจัย และถอดความนาม พนมรุ้ง ว่าพัฒนามาจากคำว่า วนัมรุง ซึ่งคำว่า วนัม เป็นภาษาเขมร คือ พนม แปลว่าภูเขา ส่วนคำว่า รุง ในภาษาเขมรแปลว่า กว้างใหญ่ ดังนั้นคำว่า วนัมรุง ในอดีต หรือ พนมรุ้ง ปัจจุบัน จึงมีความหมายว่า ภูเขาอันยิ่งใหญ่ ซึ่งก็สมแล้วที่ผลการวิเคราะห์ทัศนวิสัย บอกเป็นนัยว่า เขาลูกนี้พึ่งได้ และก็คงอบอุ่นใจในการเดินทาง หากยังคงมองเห็น

Share: