สำรวจ

ภูมิสารสนเทศ (GIS) เส้นทางทัพสุดท้าย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ตลอดระยะเวลา 14 ปี ในรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133 – พ.ศ. 2148) พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการรบ จากบันทึกพงศาวดารกล่าวว่า พระองค์ทรงทำศึกสงครามหลายต่อหลายครั้งภายในห้วงเวลาสั้นๆ 14 ปี ไม่ว่าจะเป็น 1) ศึกแรกกับพระมหาอุปราชา 2) สงครามยุทธหัตถี 3) สงครามตีเมืองทะวาย-ตะนาวศรี 4) ศึกตีเมืองมอญ และ 5-6) สงครามหงสาวดีครั้งที่ 1-2 จวบจน 7) ศึกสุดท้าย ที่พระองค์ทรงหมายจะยกทัพไปตีเมืองอังวะ

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 หรือ พระนเรศ หรือ พระองค์ดำ

แรม 8 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2148 สมเด็จพระนเรศวร (พระองค์ดำ) และ สมเด็จพระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว) เสด็จยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งหน้าสู่เมืองกำแพงเพชร และแวะพักทัพที่เมืองเชียงใหม่ จากนั้นพระนเรศวรทรงรับสั่งให้ สมเด็จพระเอกาทศรถยกทัพล่วงหน้าไปทางเมืองฝาง ส่วนพระองค์ทรงมุ่งหน้าสู่อังวะ โดยมีหมุดหมายระหว่างทางคือการเข้าตี เมืองนาย แต่การเดินทัพในครั้งนั้นก็ไม่ถึงจุดหมาย เนื่องจากพระนเรศทรงพระประชวรและสวรรคตระหว่างทาง

ในระหว่างการเดินทัพจากเชียงใหม่มุ่งสู่เมืองนาย สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี) ขึ้นที่พระพักตร์ พระอาการหนักขึ้นและเสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 สิริพระชนมพรรษา 49 พรรษา

มีประเด็นให้ถกกันพอสมควรเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทัพในช่วงนั้น เพราะปัจจุบันก็มีหลายคุ้มหลายบ้านที่เคลมว่า สมเด็จพระนเรศเดินทัพผ่านท้องถิ่นของตน จะเห็นได้จากมีการสร้างพระราชานุเสาวรีย์ หรือสถานที่เชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระนเรศวร กระจายตัวอยู่ไปทั่วรัศมีที่เป็นไปได้ของทิศทางการเดินทัพดังกล่าว (จุดสีแดงในแผนที่ด้านล่าง)

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ของ เมืองเชียงใหม่ เมืองนาย และกรุงอังวะ จุดแดง คือตำแหน่งอนุสาวรีย์พระนเรศวรที่มีการสร้างขึ้นในปัจจุบัน กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ เพราะเชื่อว่าสถานที่ของตนเกี่ยวเนื่องกับเส้นทางเดินทัพของพระนเรศวร
อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองพลทหารราบที่ ๗ จังหวัดเชียงใหม่

1) ข้อเสนอเวียงแหง สถานที่สวรรคต

หนึ่งในสมมุติฐานที่มีหลายคนคล้อยตาม คือการเดินทัพตัดฝ่าไปทางเทือกเขาสูง จากแอ่งเชียงใหม่มุ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่าน 1) เมืองกื๊ด 2) เมืองคอง 3) อำเภอเวียงแหง เข้าสู่ 4) เมืองทา ในประเทศพม่า ตามด้วย 5) เมืองปั่น และ 6) เมืองนาย ตามลำดับ ซึ่งหากวิเคราะห์ในเบื้องต้น ก็คงมีเหตุผลในทางภูมิศาสตร์เพียงข้อเดียวที่จะสนับสนุนเส้นทางนี้คือ ดิ่งตรงและสั้นที่สุด

เส้นทางเดินทัพพระนเรศวร ในทิศดิ่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ต้องผ่านหุบเขาที่แคบและสูงชัน รวมทั้งผืนป่าขนาดใหญ่ตลอดเส้นทาง

และในกรณีสถานที่สวรรคต ณ อำเภอเวียงแหง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ มีอีกหนึ่งชุดความคิดที่เชื่อว่าพระนเรศวรสวรรค ณ ที่แห่งนี้ และ วัดพระธาตุแสนไห = ทุ่งดอนแก้ว สถานที่สวรรคตตามบันทึกในพงษาวดาร โดยอิงหลักฐาน 1) อิฐติดแกลบ ที่อ้างว่าน่าจะเป็นลีลาการผลิตอิฐ ในสมัยอยุธยา หรือ 2) ชื่อ พระธาตุแสนไห ที่เรียกขานคล้อยๆ มากับการมี คนนับแสนร้องไห้ จากการจากไปของพระนเรศ 3) มีการปักป้าย บ่อน้ำช้างศึก หน้าบ่อน้ำเล็กๆ ข้างวัดพระธาตุแสนไห เอาไว้ให้ช้างพระนเรศวรได้พักกินน้ำกินท่า และ 4) มี ข่วงอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างขึ้นในพื้นที่

สถานที่เชิงสัญลักษณ์ใน อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ที่แสดงความเกี่ยวพันกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ก) พระบรมธาตุแสนไห (www.wianghaeng.com) (ข) บ่อน้ำช้างศึก (https://m.pantip.com/topic/36594060?) และ (ค) ข่วงอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (www.wianghaeng.com)

พระบรมธาตุแสนไห ตามตำนานเล่าว่าใต้เขาที่ประดิษฐานพระบรมธาตุมีถ้ำ ในถ้ำมีทรัพย์สมบัติจำนวนมากถึงแสนไห จึงได้ชื่อว่า พระบรมธาตุแสนไห

www.wianghaeng.com

2) เส้นทางทัพ ในมิติภูมิสารสนเทศ

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูล ภูมิประเทศ (Digital Elevation Model : DEM) โดยศาสตร์ที่เรียกว่า ภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System : GIS) เพื่อจำลองเส้นทางที่เป็นมิตร และเหมาะสมที่สุดในการเดินทาง จากเมืองเชียงใหม่ไปสู่เมืองนาย ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าเส้นทางที่เหมาะที่สุดคือ การเดินขึ้นเหนือไปทาง ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จนถึง เมืองหาง ในพม่า และค่อยเลี้ยวซ้าย ตัดเข้าหุบเขา เพื่อมุ่งหน้าสู่ เมืองปั่น และ เมืองนาย ตามลำดับ

ซึ่งสาเหตุหลักที่คอมพิวเตอร์เลือกเส้นทางเดินทัพให้พระนเรศวรได้แบบนี้ ก็เนื่องมาจากตลอดเส้นทางยกทัพขึ้นเหนือที่ว่า ส่วนใหญ่มักผ่านที่ราบ ผ่านทุ่ง ซึ่งเอื้อต่อการเดินทาง เคลื่อนทัพ และระดับความสูงก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นแบบเบาๆ ไม่กระโชกโฮกฮากเหมือนกับเส้นทางพี่หันหัวดิ่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือสู่เวียงแหง อย่างที่มีการตั้งสมมุติฐานกันไว้

เส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วิเคราะห์จากเทคนิคภูมิสารสนเทศ (GIS) ที่พยายามหาเส้นทางที่เรียบง่ายที่สุด โดยพิจารณาจากข้อมูลถูมิประเทศเป็นหลัก

และหากลองวิเคราะห์จุดตั้งต้นจาก เมืองเชียงใหม่ ไปยังเมืองต่างๆ ที่มีการอ้างว่าสมเด็จพระนเรศวรเคลื่อนทัพผ่าน (เมืองกื๊ด เมืองคอง เวียงแหง เมืองทา และ เมืองปั่น) ก็จะพบว่า เส้นทางที่น่าเดินมักจะขึ้นเหนือไปก่อน แล้วค่อยเลี้ยวซ้ายในช่วงหลังอยู่เสมอ จะไม่เฉียงขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออย่างที่บางท่านเชื่อและเสนอกัน ทั้งนี้ก็เพราะข้อมูลภูมิประเทศสามมิติ แสดงให้เห็นว่าการเดินทางดิ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนั้น ต้องฟันฝ่าหุบเขาที่แคบและสูงชัน นั่นจึงเป็นคำตอบว่า ระบบภูมิสารสนเทศจึงตัดสินใจเลือกเส้นทางขึ้นเหนือที่เป็นมิตรและดีกว่า

ความพยายามจากสมองของคอมพิวเตอร์ ที่จะเลือกเส้นทางเดินเข้าสู่เมืองต่างๆ ที่มีการกล่าวถึง แสดงให้เห็นว่าหากจะเดินให้ง่าย ต้องดิ่งขึ้นเหนือก่อน แล้วค่อยเลี้ยวซ้าย ไปบุกป่าฝ่าเขาในช่วงหลัง

3) กรณีสถานที่สวรรคต

นอกเหนือจาก อำเภอเวียงแหง ของจังหวัดเชียงใหม่ ในห้วงเวลาเดียวกันก็ยังมีอีกหนึ่งสถานที่ ที่ถูกยกขึ้นมากล่าวอ้างว่า น่าจะเป็นสถานที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวร เมืองหาง ในประเทศพม่าปัจจุบัน มีการกล่าวอ้างว่ามีเจดีย์เก่าที่ชาวไทยใหญ่ล้วนแต่เคารพนับถือ เรียกว่า สถูปกองมูขุนหอคำไต ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้ กับการจากไปของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งหากเชื่อว่าเส้นทางเดินทัพที่ได้จากการวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศ ที่แนะนำให้ดิ่งขึ้นเหนือมา ก็เป็นไปได้ว่า สถูปกองมูขุนหอคำไต ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพ และมีความใช่มากกว่า สถูปพระธาตุที่วัดแสนไห

(ซ้าย) เส้นทางขึ้นเหนือสู่เมืองหาง (ขวา) สถูปกองมูขุนหอคำไต เมืองหาง

สถูปกองมูขุนหอคำไต เมืองหาง ศูนย์รวมจิตใจของเหล่าทหารไทใหญ่ ปัจจุบันถูกทหารพม่าทำลายทิ้ง แต่ทหารชาวไทใหญ่ ช่วยกันเก็บรักษาเศษอิฐนั้นไว้ และขนย้ายให้ข้ามฝั่งมาอยู่ ณ พื้นแผ่นดินไทย ซึ่งปัจจุบันได้มีการรวบรวมอิฐเก่ามาสร้างเจดีย์แห่งใหม่ ที่ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งยังคงเป็นสถานที่บนเส้นทางเดินทัพ และในเวลาต่อมา ณ เมืองหาง ในประเทศพม่า ก็มีการก่อสร้างสถูปพระนเรศวรขึ้นมาใหม่ ณ ที่เดิม แทนสถูปกองมูขุนหอคำไต ที่เคยถูกทำลายไป

4) เกร็ดความรู้ สถานที่สวรรคต

จะบอกว่าพื้นที่ในละแวกเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรนี้ เป็นที่ตั้งของรอยเลื่อนแผ่นดินไหวตัวใหญ่ 3 ตัวคือ 1) รอยเลื่อนแม่จัน (เส้นเขียว) 2) เลื่อนน้ำมา (เส้นเหลือง) และ 3) รอยเลื่อนเม็งซิง (เส้นแดง) ซึ่งหากวางตำแหน่ง แนวรอยเลื่อนเหล่านี้ ลงในพื้นที่ที่เรากำลังคุยกัน จะพบว่า เมืองหางและสถูปกองมูขุนหอคำไต ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนเม็งซิง พอดิบพอดี ดังนั้นหากสถานที่นี้เป็นที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรจริง ก็กล่าวได้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสิ้นพระชนม์ อยู่บนรอยเลื่อนแผ่นดินไหว

แผนที่ชายแดนไทย-ลาว-พม่า แสดงแนวการวางตัวของรอยเลื่อนที่น่าจับตา 4 ตัว และการกระจายตัวของแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในอดีต (จุดสีขาว) (ที่มา : ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา) เส้นแดง คือ 1) รอยเลื่อนเม็งซิง (Mengxing Fault) เส้นเหลือง คือ 2) รอยเลื่อนน้ำมา (Nam Ma Fault) เส้นเขียว คือ 3) รอยเลื่อนแม่จัน (Mae Chan Fault) เส้นฟ้า คือ 4) รอยเลื่อนแม่อิง (Mae Ing Fault) เส้นหนาฟ้า คือ แม่น้ำโขง วงกลมเหลือง คือ แผ่นดินไหวขนาด 5.0 ขึ้นไป วงกลมแดง คือ แผ่นดินไหวขนาด 6.0 ขึ้นไป สี่เหลี่ยมขาว คือ เขื่อนในแม่น้ำโขง

เพิ่มเติม : 4 รอยเลื่อน แห่งลุ่มน้ำโขง ที่ไทยควรเฝ้าระวัง

ตำแหน่งของเมืองหาง เมื่อเปรียบเทียบกับแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่สำคัญในพื้นที่

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: