สำรวจ

เกาะบาเรน : ภูเขาไฟที่หลอนคนไทยให้ผวา สึนามิ

สึนามิเกิดได้จากหลายสาเหตุ นอกจาก กระบวนการธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ที่เป็นสาเหตุหลักของสึนามิ ดินถล่มหรือ ภูเขาไฟ ใต้ทะเลก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างสึนามิได้ หลังปี พ.ศ. 2547 คนไทยรู้ดีว่า ห่างออกไปนอกชายฝั่งอันดามันของไทย มี เขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sunatra-Andanan Subduction Zone) ทอดตัวอยู่ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดสึนามิสำคัญของบ้านเรา ขณะที่ฝั่งอ่าวไทยไม่ได้มีเขตมุดตัวที่อยู่ในรัศมีทำการ ส่วนกรณีดินถล่ม ภูมิประเทศใต้น้ำฝั่งอ่าวไทยค่อนข้างราบเรียบ โอกาสดินถล่มใต้ทะเลแล้วเกิดสึนามิก็ปิดประตูตายไปได้เลย ส่วนฝั่งอันดามันก็อาจจะมีโอกาสได้บ้างแต่ก็น้อยนิดกับการเกิดดินถล่มใต้ทะเล

สาเหตุการเกิดสึนามิ

นอกจากนี้กรณีของภูเขาไฟ ในภูมิภาคเรามักจะอยู่ตามหมู่เกาะอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นภูเขาไฟที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาแล้ว จะมีแค่บางลูกที่ยังอยู่ปริ่มๆ หรือใต้น้ำ เช่น ภูเขาไฟอานัก กรากาตัว (Anak Krakatua) ที่เคยปะทุและสร้างสึนามิ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 แต่ถ้าจะพูดถึงโอกาสเกิดสึนามิเข้าไทยเพราะกรากาตัวก็หมดสิทธิ์ เพราะถูกล้อมรอบไปด้วยเกาะสุมาตราและเกาะชวา

การปะทุของภูเขาไฟกรากะตัวที่ทำให้เกิดสึนามิเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2561 (ที่มา : www.forbes.com)

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาภูเขาไฟทั้งมวลที่เรียงตัวอยู่ตาม เขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน ถ้าสังเกตดูดีๆ จะมีภูเขาไฟอยู่ 2 ลูก ที่เราอาจจะไม่คุ้นชื่อคุ้นตาสักเท่าไหร่ ได้แก่ 1) ภูเขาไฟนาร์คอนดัม (Narcondam) และ 2) ภูเขาไฟบาเรน (Barren) โดยในส่วนของภูเขาไฟนาร์คอนดัม ดูเหมือนว่าจะไม่มีอันตรายเท่าไหร่นัก เพราะจากภูมิประเทศในปัจจุบัน แทบจะไม่หลงเหลือร่องรอยหรือซากจากการปะทุให้เห็นจากภาพมุมสูง ในขณะที่ ภูเขาไฟบาเรน หากมองจากภาพถ่ายดาวเทียมจะเห็นร่องรอยการไลลาของลาวา ที่เหมือนกับว่าเพิ่งเกิดมาไม่นาน และก็เคยมีประเด็นในโลกโซเชียลว่า ในจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เปิดหน้าเข้าหาชายฝั่งอันดามันของไทย ดังนั้นหากภูเขาไฟลูกนี้ปะทุ ก็มีโอกาสเช่นกันที่จะทำให้เกิดสึนามิขึ้นฝั่งอันดามันของไทยได้

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และสภาพพื้นผิวในปัจจุบันของ 1) ภูเขาไฟนาร์คอนดัม (Narcondam) และ 2) ภูเขาไฟบาเรน (Barren)

เกาะบาเรน (Barren Island) (Siebert และ Simkin, 2002) อยู่ในความดูแลของอินเดีย เป็นภูเขาไฟลูกโดดกึ่งจมกึ่งโผล่อยู่ในน้ำ นอกชายฝั่งทางด้านตะวันออกของ หมู่เกาะนิโคบาร์-อันดามัน (Nicobar-Andaman Islands) ปัจจุบันไม่มีคนอาศัยอยู่ แต่มีสัตว์ (โดยเฉพาะนกนานาชนิด) และพืชที่น่าสนใจมากมาย เกาะภูเขาไฟบาห์เรนมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 กิโลเมตร ปากปล่องภูเขาไฟ (crater) กว้าง 2 กิโลเมตรขอบปากปล่องแตกทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับภูเขาไฟลูกอื่นๆ ถือว่าปากปล่องของบาเรนเล็กมากกว่าเกาะภูเขาไฟบะซอลต์ทั่วไป เช่น ภูเขาไฟทานา (Tanna) กว้าง 4 กิโลเมตร หรือ ภูเขาไฟอัมบรีม (Ambrym) ประเทศวานูอาตู กว้าง 12 กิโลเมตร (Allen, 2005) ซึ่งก็อย่างที่ว่า หากมองในทางภูมิศาสตร์ หากภูเขาไฟลูกนี้ปะทุรุนแรงเหมือนอย่างภูเขาไฟอานัก กรากาตัว ในปี พ.ศ. 2561 และ ภูเขาไฟตองกา (Tonga) ในปี พ.ศ. 2564 โอกาสที่จะเกิดสึนามิและซัดเข้าฝั่งอันดามันของไทยก็เป็นไปได้จริงๆ

ธรณีวิทยา ภูเขาไฟ บาเรน

ในทางธรณีวิทยา ภูเขาไฟบาเรนเป็น ภูเขาไฟมีพลัง (active volcano) เกิดจากการที่ แผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) มุดเข้าไปใต้ แผ่นพม่าตะวันตก (Western Burmar Plate) ทำให้แผ่นอินเดียส่วนที่มุดลงไปหลอมละลายกลายเป็นแมกมาผุดขึ้นมา แนวภูเขาไฟที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นกลางทะเล เรียกกันในทางธรณีแปรสัณฐานว่า หมู่เกาะภูเขาไฟรูปโค้ง (volcanic island arc) ซึ่งกระบวนการเกิดเกาะบาเรนนี้ เกิดขึ้นใน สมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) หรือประมาณ 2,600,000 – 11,700 ปีที่ผ่านมา

เพิ่มเติม : เคล็ดลับการทำเบบี้เฟสหนังหน้าโลก

แบบจำลองการชนและมุดกันของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรและแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทร

ในส่วนประวัติของการปะทุ จากการสำรวจและกำหนดอายุชั้นลาวาบนเกาะบาเรน นักธรณีวิทยายืนยันว่าภูเขาไฟบาเรนมีการปะทุเก่าแก่ที่สุดเมื่อประมาณ 1.6 ล้านปีก่อน ส่วนที่มีบันทึกไว้ในเว็บไซต์ Global Volcanism Program ของสถาบันสมิธโซเนียน (www.volcano.si.edu) ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2330 (ค.ศ. 1789) และมีการปะทุไล่ๆ ตามกันมาอีกมากกว่า 10 ครั้ง เช่น พ.ศ. 2332 พ.ศ. 2338 พ.ศ. 2346 พ.ศ. 2375 และ พ.ศ. 2395 ฯลฯ

(บน) ภาพวาดจำลองเหตุการณ์การปะทุของภูเขาไฟบาเรนใน พ.ศ. 2330 (ล่าง) การปะทุครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2560

หลังจากพักตัวเกือบหนึ่งศตวรรษ ภูเขาไฟบาเรนก็มีการปะทุอีกครั้งในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งกินเวลายาวนานกว่า 6 เดือน ทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมากในทางความอุดมสมบูรณ์ของสายพันธุ์สัตว์และสิ่งมีชีวิตบนเกาะ และครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ซึ่งจากการเข้าพื้นที่สำรวจบนเกาะบาเรน พบว่าการปะทุครั้งล่าสุดนั้นเป็นแบบ ลาวาไหลหลาก (lava flow) และมี กรวดภูเขาไฟ (pyroclastic) ปะปรขึ้นมาเล็กน้อย โดยในกรณีลาวา การปะทุในปี พ.ศ. 2560 ลาวาไหลหลากลงทะเลไปทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเกาะ

เพิ่มเติม : สิ่งที่ภูเขาไฟผุยออกมา ไม่ได้มีลาวาแค่อย่างเดียว

ทำไมคนไทยไม่ควรผวา

ในแง่ของลีลาการปะทุซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ ชนิดของแมกมา และ วัสดุภูเขาไฟ ที่พวยพุ่งผุดขึ้นมา หากพิจารณาในรายละเอียด นักธรณีวิทยาจำแนกรูปแบบการปะทุออกเป็น 6 แบบด้วยกัน แต่ถ้าจะเหมาแบบถัวๆ ให้เห็นภาพว่าจะเกิดหรือไม่เกิดภัยพิบัติสึนามิ ภูเขาไฟปะทุทั้ง 6 ลีลา แยกได้เป็น 2 กลุ่มแก๊ง คือ 1) แก๊งที่ให้ลาวาแดงฉาน เอ่อล้นจากปากปล่องไหลเอื่อยๆ ลงมาตามภูเขาไฟ แบบนี้แทบไม่มีโอกาสเกิดสึนามิ และ 2) แก๊งที่ปะทุแบบตุ้มต้าม ระเบิดออกมาเป็นขี้เถ้าพุ่งพรวดขึ้นบนฟ้า พร้อมกับมีโอกาสที่ภูเขาไฟจะแตกระเบิดถล่มใต้น้ำ เหมือนกับกรณีของภูเขาไฟอานัก กรากาตัว ที่ระเบิดในปี พ.ศ. 2561 แก๊งนี้ของจริง โอกาสสูงที่สึนามิจะมา

รูปแบบการปะทุของภูเขาไฟ

เพิ่มเติม : 6 ลีลาการ ถ่ม-ถุย-ผุย-พ่น ของภูเขาไฟ

ในรายละเอียดผลจากการชนและมุดกันของแผ่นเปลือกโลกทำให้ภูเขาไฟบาเรนเป็น ภูเขาไฟสลับชั้น (composite volcano หรือ stratovolcano) โดยมีองค์ประกอบแมกมาเป็น แมกมาบะซอลต์ (basaltic) หรือเป็นแมกมาสีเข้มเหลวๆ เป็นหลัก และก็เพราะแมกมาเหลวๆ จึงทำให้บาเรนมีลีลาการปะทุเป็นแบบลาวาไหลหลากเป็นส่วนใหญ่ อาจมีเถ้าปนบ้างแต่ก็ถือว่าน้อยนิด ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจ นักธรณีวิทยาก็พบหลักฐานที่สอดคล้องกัน คือโดยส่วนใหญ่พบชั้นหินบะซอบต์ที่เกิดจากลาวาไหลหลาก และมีเพียงบางส่วนที่แสดงลักษณะการสะสมตัวของกรวดภูเขาไฟ นั่นหมายความว่าภูเขาไฟบาเรนมีลักษณะนิสัยการปะทุแบบลาวาไหลลากมากกว่าที่จะเป็นการปะทุแบบตู้มต้ามให้เถ้า

ผลการลงสำรวจพื้นที่ของนักธรณีวิทยา ตีแผ่ให้เห็นชั้นลาวาเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงบางส่วนที่เป็นกรวดภูเขาไฟ (Hetu และคณะ, 2009)

โดยสรุป เมื่อบาห์เรนปะทุหน้าตาก็จะเป็นแบบ การปะทุแบบสตรอมโบเลียน (Strombolian eruption) (VEI = 1-3) คือ ปะทุคล้ายกับน้ำพุพุ่งสูง 10-100 เมตร อาจปะทุเป็นช่วงๆ ช่วงละ 10-20 นาที หลังจากนั้นลาวาก็จะไหลลงมาตามร่องเขา ลงทะเลโดยไม่ก่อให้เกิดสึนามิ แตกต่างกับ การปะทุแบบพลิเนียน (Plinian eruption) (VEI = 3-8) ที่เป็นการปะทุอย่างรุนแรงของก๊าซและเศษหินพุ่งสูง 5-60 กิโลเมตร อย่างที่เคยเกิดกับภูเขาไฟอานัก กรากาตัว ในปี พ.ศ. 2561 และภูเขาไฟตองกา ในปี พ.ศ. 2564

(บน) การปะทุแบบสตรอมโบเลียน (Strombolian eruption) (ล่าง) การปะทุแบบพลิเนียน (Plinian eruption)

ย่อก่อนแยกย้าย

  1. ในทางภูมิศาสตร์ ถ้าบาห์เรนเกิดตู้มต้ามใต้ทะเล โอกาสเกิดสึนามิซัดเข้าฝั่งอันดามันของไทย เป็นไปได้สูงเรียกว่า 10 เต็ม 10 ไม่หัก แต่…
  2. ณ วันนี้ บาเรนเป็นภูเขาไฟที่โผล่พ้นน้ำไปแล้ว
  3. จากประวัติที่ผ่านมา บาเรนปะทุแบบลาวาไหลหลาก มากกว่าปะทุแบบระเบิดให้เถ้า
  4. การไหลหลากที่ผ่านมา ไหลไปทางตะวันตก ตรงข้ามกับไทย ต่อให้เกิดสึนามิ ตัวเกาะบาเรนเองก็ช่วยบังแทบมิด
  5. ต่อให้เกิดสึนามิ สึนามิจากภูเขาไฟก็จะรุนแรงเฉพาะพื้นที่ใกล้ๆ อย่างหมู่เกาะนิโคบาร์ แต่พอห่างออกมา กว่าจะถึงไทย คลื่นก็จะต่ำมาก นี่คือธรรมชาติของสึนามิจากภูเขาไฟ
  6. กว่าภูเขาไฟจะระเบิดซักที สัญญาณบอกเหตุมีเยอะ เรารู้ตัวก่อนแน่ๆ เป็นสัปดาห์หรือเป็นวันๆ เมื่อถึงตอนนั้นเราค่อยมาหลอน ค่อยมาเฝ้าระวังกัน
  7. ต่อให้เกิดสึนามิจากภูเขาไฟลูกนี้ ก็มี ระบบเตือนภัยสึนามิ (Tsunami Warning System) อยู่ใกล้ๆ กว่าคลื่นจะมาถึงไทย เรารู้ตัวก่อนเนิ่นๆ แน่ๆ รับรองไม่แพ้เขาชัวร์

เพิ่มเติม : ทำความรู้จักระบบเตือนภัยสึนามิ ยามเฝ้าฝั่งที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้ให้

สบายใจกันแล้วนะครับ กลับไปหาอยู่หากินแบบยิ้มๆ กันต่อไปครับ 🙂

Share: