ถ้าลองเปรียบเทียบกันระหว่างพื้นผิวของโลกและดวงจันทร์ มันก็เหมือนการเอาหน้าลุงแก่ๆ คนหนึ่งมาเทียบกับหน้าของเด็กวัยขบเผาะอายุซัก 14-15 ผิวหน้าโลกดูราบเรียบชุ่มชื้นและดูมีน้ำมีนวล ในขณะที่หนังหน้าของดวงจันทร์ดูแห้งกร้าน หยาบกระด้าง เพราะเต็มไปด้วยหลุม หรือริ้วรอยการตกกระทบของอุกกาบาต ตลอดช่วงอายุของดวงจันทร์ที่เกิดขึ้นมา
จะว่าไปความเชื่อที่นักวิทยาศาสตร์เค้าเหลาๆ กันมา ก็บอกว่าโลกเกิดก่อนดวงจันทร์มาซักพัก ดังนั้นโลกก็ควรจะผ่านร้อนผ่านหนาวและควรจะมีร่องรอยของหลุมอุกกาบาตที่มากกว่านี้ อย่างน้อยๆ ก็ควรจะยุบยับพอๆ หรือเท่าๆ กับที่เราเห็นบนดวงจันทร์ ทำไมถึงคิดอย่างนั้นนะเหรอ ก็เพราะดวงจันทร์ถือเป็น เทหวัตถุ (space object) ที่อยู่ใกล้กับโลกมากที่สุดแล้ว ซึ่งก็จะดูลำเอียงมากเกินไปหากอุกกาบาตส่วนใหญ่จะรุมจ้อง จองกฐินเฉพาะดวงจันทร์ จะว่าดวงจันทร์อยู่ใกล้ แถบดาวเคราะห์น้อย (asteroid belt) มากกว่าโลกก็ไม่น่าจะใช่ เพราะดวงจันทร์นั้นโคจร พันแข้งพันขา โลกของเรามาตั้งแต่เกิด ดังนั้นก็พอจะถัวๆ ได้ว่า ดวงจันทร์โดนยังไง โลกก็ควรจะโดนยังงั้น ซึ่งความจริงดูเหมือนจะไม่ใช่
หลายคนอาจจะบอกว่า ก็เพราะว่าโลกมีบรรยากาศห่อหุ้มอยู่ตั้งหลายชั้น กว่าที่อุกกาบาตซักเม็ดจะร่วงลงมาถึงพื้นก็ถูกแรงเสียดทานเผาไหม้ไปกลางอากาศหมดแล้ว ที่เราเห็นหลุมอุกกาบาตอยู่บนโลก ก็เป็นแค่บางส่วนน้อยๆ ของอุกกาบาตที่คงจะใหญ่น่าดู จึงยังหลงเหลือตกกระทบมายังพื้นโลกได้ ซึ่งมันก็คงจะจริงบางส่วน แต่มุมมองของผม บรรยากาศก็ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพขนาดนั้น และก็คงเป็นแค่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังหน้าโลกยังใสกิ๊งได้
หรือบางคนก็อาจจะบอกว่าก็เพราะว่าโลกมี กระบวนการผุพังและกัดกร่อน (weathering and erosion) ทำให้พื้นผิวของโลกมีการเกลี่ยให้ราบเรียบ ซึ่งผมว่ามันก็มีส่วนถูก แต่ผมก็ยังนึกภาพตามไม่ออกว่าจะมีครีมยี่ห้อไหน ที่ดีถึงขนาดสมานให้รอยแผลเป็นบนหน้าเราเรียบเนียนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันก็ต้องหลงเหลือซากบ้างแหละน่า ว่าไหม
ซึ่งถ้าเหตุผลทั้งสองข้างต้นนี้ดูจะเป็นแค่การมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้เป็นเหตุผลหลักอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถามว่า แล้วโลกมีดีอะไร ทำไมหนังหน้าโลกถึงอยู่ยงคงกระพัน สดใสได้จนถึงทุกวันนี้
จากการศึกษาในปัจจุบัน ทำให้นักธรณีวิทยารู้ว่าเปลือกโลกแตกออกเป็นแผ่นๆ และมีการเคลื่อนที่กระทบกระทั่งกันได้ และเมื่อพิจารณาแผ่นเปลือกโลกใดๆ ในขณะที่ขอบด้านหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกถูกผลักให้ เคลื่อนที่ออกจากกัน (divergent movement) และสร้างแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรใหม่แทนที่ ขอบอีกด้านหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกก็จะเคลื่อนที่เข้าหาแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ด้านตรงกันข้าม ทำให้เกิดรูปแบบ การเคลื่อนที่เข้าหากัน (convergent movement) ซึ่งเพื่อเป็นการรักษาปริมาณพื้นที่พื้นผิวโลกให้คงเดิม ในกระบวนการเคลื่อนที่เข้าหากันโดยส่วนใหญ่จึงจะต้องมีแผ่นใดแผ่นหนึ่งมุดตัวลงไปใต้อีกแผ่นเปลือกโลกหนึ่งเสมอ เรียกโซนการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกว่า เขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก (subduction zone) โดยธรณีวิทยาจำแนกชนิดการเคลื่อนที่เข้าหากันเป็น 3 กรณี ตามชนิดของแผ่นเปลือกโลก
แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรชนทวีป
ในกรณีของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรชนแผ่นเปลือกโลกทวีป (oceanic-continent collision) เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรบางกว่าและมีความหนาแน่นมากกว่าแผ่นเปลือกโลกทวีป ทำให้ในกระบวนการชนกัน แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรจะมุดตัวลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกทวีปเสมอ
หากไม่มีการมุดตัว พื้นผิวโลกจะโป่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรที่ถูกสร้างขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลาในโซนการแยกตัวของแผ่นเปลือกโลก
ลักษณะทางธรณีวิทยาที่สำคัญที่พบได้ในบริเวณนี้ ได้แก่ ร่องลึกก้นสมุทร (trench) และแนวภูเขาไฟรูปโค้งบนทวีป (continental arc) ซึ่งจะขนานไปกับเขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก กรณีศึกษาของการเคลื่อนที่เข้าหากันแบบนี้ ได้แก่ การเคลื่อนที่เข้าหากันของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรนัซกาและแผ่นเปลือกโลกทวีปอเมริกาใต้ ผลจากการชนกันทำให้แผ่นนัซกามุดตัวลงไปใต้แผ่นอเมริกาใต้ เกิดเป็น ร่องลึกก้นสมุทรเปรู-ประเทศชิลี (Peru-Chile Trench) และเกิด แนวภูเขาไฟรูปโค้งเป็นเทือกเขาแอนดีส
นอกจากนี้ ผลจากการชนและมุดกันของแผ่นเปลือกโลกทั่วโลก ทำให้เกิดร่องลึกก้นสมุทรมากมาย ได้แก่ ร่องลึกก้นสมุทรตองกา ร่องลึกก้นสมุทรเอลูเทียน ร่องลึกก้นสมุทรแคสเคเดีย ร่องลึกก้นสมุทรอเมริกากลาง ร่องลึกก้นสมุทรเปรู-ชิลี ร่องลึกก้นสมุทรเปอร์โตริโก และร่องลึกก้นสมุทรชวา เป็นต้น
แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรชนมหาสมุทร
กลไกการชนกันของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรชนกัน คล้ายกับการชนกันระหว่างแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรชนแผ่นเปลือกโลกทวีป คือจะมีแผ่นหนึ่งที่มุดตัวลงไปใต้อีกแผ่นหนึ่ง แต่แนวภูเขาไฟที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นกลางทะเล เรียก หมู่เกาะภูเขาไฟรูปโค้ง (volcanic island arc) ซึ่งตัวอย่างที่แสดงสภาพแวดล้อมทางธรณีแปรสัณฐานแบบนี้ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และหมู่เกาะเอลูเทียน (Aleutian Islands) ในรัฐอลาสก้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปัจจุบันพบว่ายังมีกิจกรรมทางภูเขาไฟและแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แผ่นเปลือกโลกทวีปชนทวีป
เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกทวีปมีความหนามากว่าแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทร ดังนั้นกรณีของแผ่นเปลือกโลกทวีปชนแผ่นเปลือกโลกทวีป จึงทำให้เกิดการบีบอัดกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้แผ่นเปลือกโลกในแนวการชนกันนั้นมีความหนามากขึ้น เกิดเป็นเทือกเขาสูงตามแนวการชนกัน เรียกว่า ตะเข็บธรณี (suture) กรณีศึกษาของแผ่นเปลือกโลกทวีปชนแผ่นเปลือกโลกทวีป ได้แก่ การชนกันของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกแผ่นอินเดีย-ออสเตรเลียและชนกับทวีปเอเชียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย
โดยอินเดียเริ่มเคลื่อนที่จากใต้ขึ้นเหนือเมื่อประมาณ 71ล้านปี ที่ผ่านมา และเริ่มชนกับแผ่นยูเรเซียโดยในช่วงแรกเป็นการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรที่เชื่อมต่อกับส่วนที่เป็นแผ่นเปลือกโลกทวีปของอินเดีย ทำให้ในช่วงแรกเมื่อประมาณ 10-38 ล้านปี ที่ผ่านมาเป็นการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกทวีปยูเรเซีย ทำให้เกิดแนวภูเขาไฟรูปโค้ง และสภาพแวดล้อมทางธรณีแปรสัณฐานอื่นๆ เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรชนแผ่นเปลือกโลกทวีป หลังจากนั้นเมื่อแผ่นอินเดียซึ่งเป็นแผ่นเปลือกโลกทวีปเริ่มชนกับแผ่นเปลือกโลกทวีปของยูเรเซีย ผลจากการชนกันระหว่างแผ่นเปลือกโลกทวีปและแผ่นเปลือกโลกทวีปทำให้เกิดการยกตัวขึ้นอย่างรุนแรงในบริเวณการชนกัน เกิดเป็น ที่ราบสูงทิเบต (Tibetan Plateau) และเทือกเขาหิมาลัยในปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุป การที่เราเห็นว่าหนังหน้าโลกปัจจุบันยังคงใสกิ๊ง ต่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ที่หยาบกระด้าง ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจาก 1) การถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศของอุกกาบาต และ 2) กระบวนการผุพังและกัดกร่อนจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำ ลมหรือแม้กระทั่งธารน้ำแข็ง ทั้ง 2 สาเหตุนี้เป็นตัวช่วยให้พื้นผิวโลกปรับสภาพได้บ้างพอประมาณ แต่สาเหตุหลักที่ทำให้โลกสามารถรีบอร์นหนังหน้า ให้ดูเหมือนกับว่ากลับไป 14 อีกครั้ง ก็น่าจะเป็นการดึงหนังหน้าเก่าลงไปหลอมใหม่ในเนื้อโลก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เกิดจากการที่โลกมี กระบวนการธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ซึ่งดวงจันทร์นั้นไม่มี
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth