เรียนรู้

13 เขตมุดตัวของเปลือกโลกในอาเซียน ตัวการที่ทำให้เกิดสึนามิ

ปัจจุบัน จากการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลด้านธรณีวิทยา ธรณีแปรสัณฐานและวิทยาคลื่นไหวสะเทือนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) หรือ อาเซียน (ASEAN) พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่และกระทบกระทั่งกันระหว่างแผ่นเปลือกโลก 3 แผ่น คือ แผ่นยูเรเซีย (Eurasian Plate) อินโด-ออสเตรเลีย (Indo-Australian Plate) และแผ่นทะเลฟิลิปปินส์ (Philippine Sea Plate) ซึ่งผลจากการชนและมุดกันระหว่างแผ่นเปลือกโลกดังกล่าวทำให้เกิด เขตมุดตัวของเปลือกโลก (subduction zone) ที่เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวสำคัญ 13 เขตมุดตัว

  • [1] เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) 4,145 กิโลเมตร
  • [2] ร่องลึกก้นสมุทรซุนดา (Sunda Trench) 5,154 กิโลเมตร
  • [3] ร่องลึกก้นสมุทรลูซอนตะวันออก (East Luzon Trench) 379 กิโลเมตร
  • [4] เขตมุดตัวของเปลือกโลกฮัลมาฮีรา (Halmahera Subduction Zone) 452 กิโลเมตร
  • [5] ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา (Manila Trench) 1,256 กิโลเมตร
  • [6] ร่องลึกก้นสมุทรมินาฮาสสา (Minahassa Trench) 1,372 กิโลเมตร
  • [7] ร่องลึกก้นสมุทรเนกรอส (Negros Trench) 446 กิโลเมตร
  • [8] ร่องลึกก้นสมุทรปาลาวัน (Palawan Trench) 1,141 กิโลเมตร
  • [9] เขตมุดตัวของเปลือกโลกฟิลิปปินส์ (Philippine Subduction Zone) 1,617 กิโลเมตร
  • [10] ร่องลึกก้นสมุทรริวกิว (Ryukyu Trench) 1,416 กิโลเมตร
  • [11] เขตมุดตัวของเปลือกโลกซันกิลดับเบิ้ล (Sangihe Double Subduction Zone) 620 กิโลเมตร
  • [12] ร่องลึกก้นสมุทรซูลูอาชิเพลาโก (Sulu Archipelago Trench) 686 กิโลเมตร
  • [13] ร่องลึกก้นสมุทรซูลู (Sulu Trench) 527 กิโลเมตร
แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแสดงการวางตัวของเขตมุดตัวของเปลือกโลก (เส้นสีเทา) ที่อาจเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวและสึนามิในอนาคต สามเหลี่ยมสีแดง คือ ภูเขาไฟมีพลัง วงกลมสีเขียว คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดสึนามิและ สามเหลี่ยมสีน้ำเงิน คือ พื้นที่ซึ่งเคยได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ (Charusiri และ Pailoplee, 2015a)

จากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1960-2015 (55 ปี) ที่บันทึกโดยหน่วยงาน International Seismological Centre (ISC) ประเทศสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวจำนวนมากตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกดังกล่าว นอกจากนี้จากบันทึกของหน่วยงาน National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่าแผ่นดินไหวส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสึนามิ (; Charusiri และ Pailoplee, 2015a) เช่น เหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.0 ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) ทำให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรอินเดียได้รับความเสียหาย ซึ่งประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตและสูญหายจากภัยพิบัติสึนามิดังกล่าวประมาณ 230,000-280,000 คน จาก 14 ประเทศ (สำนักข่าว BBC, 2004) โดยประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ ประเทศอินโดนีเซียซึ่งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากที่สุด ประเทศศรีลังกา อินเดีย และประเทศไทย ตามลำดับ ถือว่าเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

จากสภาพแวดล้อมการเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐาน พฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวโดยรวม รวมทั้งรูปร่างและการวางตัวของเขตมุดตัวของเปลือกโลกในภูมิภาคอาเซียน ผู้วิจัย (ผู้เขียน) ได้จัดกลุ่มเขตมุดตัวของเปลือกโลกดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่ม

แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแสดงการวางตัวของเขตมุดตัวของเปลือกโลก (เส้นสีเขียว) ที่อาจเป็นแหล่งกำเนิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ สามเหลี่ยมสีแดง คือ ตำแหน่งของภูเขาไฟมีพลัง วงกลมสีเขียว คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดภัยพิบัติสึนามิ สามเหลี่ยมสีฟ้า คือ พื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ

เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน

เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) มีความยาวประมาณ 4,145 กิโลเมตร วางตัวในแนวเหนือ-ใต้พาดผ่านทางตะวันตกของประเทศพม่า หมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar Islands) ในทะเลอันดามัน (Andaman Sea) ต่อเนื่องลงไปถึงตอนใต้ของเกาะสุมาตรา (พื้นที่ศึกษาที่ 1) (Charusiri และ Pailoplee, 2005b)

ภาพดาวเทียมจาก google earth แสดงแนวการวางตัวของเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (เส้นสีฟ้า)

เพื่อที่จะประเมินรูปร่างและการวางตัวของเขตมุดตัวของเปลือกโลก Charusiri และ Pailoplee (2015a) ได้สร้างแบบจำลองการกระจายตัวของแผ่นดินไหวในรูปแบบของภาคตัดขวาง โดยพิจารณาตามแนวการวางตัว 6 แนว พาดผ่านเขตมุดตัวของเปลือกโลกต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งผลการศึกษาเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันแสดงในภาคตัดขวางที่ 1-2

แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแสดงการกระจายตัวของแผ่นดินไหว (จุดสีแดง) ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1960-2015 ตรวจวัดและบันทึกโดยหน่วยงาน ISC (Charusiri และ Pailoplee, 2015a) เส้นตรงสีดำ คือ แนวการวิเคราะห์การกระจายตัวของแผ่นดินไหวตามภาคตัดขวางดังแสดงในรูปด้านล่าง
ภาคตัดขวางแสดงการกระจายตัวของแผ่นดินไหว (จุดสีเทา) ที่เกิดขึ้นตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน (Charusiri และ Pailoplee, 2015a) แนวการวางตัวของภาคตัดขวางแสดงในรูปด้านบน

ภาคตัดขวางที่ 1 ตัดขวางเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ แสดงลักษณะการมุดตัวของเปลือกโลกไปทางตะวันออก โดยเริ่มมุดตัวในช่วงกิโลเมตรที่ 300 ของภาคตัดขวาง ทำมุมการมุดตัวประมาณ 45o และมุดลงไปถึงความลึก 180 กิโลเมตร ใต้พื้นโลกบริเวณกิโลเมตรที่ 500 ส่วนบริเวณกิโลเมตรที่ 600 พบแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ความลึก < 40 กิโลเมตร วิเคราะห์ว่าอาจเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault; Dain และคณะ, 1984) ซึ่งต่อเนื่องมาจากประเทศพม่าลงสู่ทะเลอันดามัน

ภาคตัดขวางที่ 2 ตัดขวางเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา โดยแสดงการมุดตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงกิโลเมตรที่ 450 ของภาคตัดขวาง และมุดลงไปถึงความลึก 250 กิโลเมตร ใต้พื้นโลก โดยทำมุมการมุดตัวประมาณ 30o ซึ่งมีความชันของการมุดตัวต่ำกว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลกในพื้นที่ข้างเคียง

ลักษณะทางธรณีแปรสัณฐานของเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน เกิดจากแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 5.5-7.0 เซนติเมตร/ปี (Charusiri และ Pailoplee, 2005b) เข้าชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จำนวนมากในช่วงเวลา 35 ปี ที่ผ่านมา (ค.ศ. 1980-2015) เช่น แผ่นดินไหวขนาด 9.0 เมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 รวมทั้งแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 จำนวน 9 เหตุการณ์ (Sukrungsri และ Pailoplee, 2015; 2017a)

นอกจากนี้จากการสำรวจและศึกษาหลักฐานทางธรณีวิทยาแผ่นดินไหว บ่งชี้ว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่เป็นภัยพิบัติ เช่น หลักฐานการตกทับถมของตะกอนทรายที่ถูกพัดพามากับสึนามิในอดีต บริเวณเกาะพระทอง (Phra Thong Island) นอกชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย (; Tuttle และคณะ, 2007; Jankaew และคณะ, 2007; 2008) และชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา (Monecke และคณะ, 2008) ซึ่งบ่งชี้ว่านอกจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2004 เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และทำให้เกิดสึนามิ 3 เหตุการณ์ ในช่วงเวลา 380±50 ปี 990±130 ปี 1,410±190 ปี และ 2,100±260 ปี ที่ผ่านมา (Prendergast และคณะ, 2012)

หลักฐานทางธรณีวิทยารูปแบบต่างๆ ซึ่งบ่งชี้การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีตจากเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (ก) ชั้นตะกอนทรายสึนามิ บริเวณเกาะพระทอง นอกชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย (Jankaew และคณะ, 2008) (ข) ตะพักทะเล และ (ค) เว้าทะเล (Wang และคณะ, 2013) บริเวณชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศพม่าและ (ง) ปะการังโขดหัวตาย บริเวณชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา (Natawidjaja และคณะ, 2006)

Aung และคณะ (2008) และ Wang และคณะ (2013) สำรวจและศึกษาตะพักทะเล (marine terrace) และเว้าทะเล (sea notch) บริเวณชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศพม่า ซึ่งสัมพันธ์กับการยกตัวหรือทรุดตัวของแผ่นดินเนื่องจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (ดูรายละเอียดในบทความเรื่อง การปรับระดับพื้นโลก-ภัยพิบัติระยะยาวจากแผ่นดินไหว) ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 8.0 หลายครั้ง เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงเวลา 1,395-740 ปี ก่อนคริสตกาล แผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 805-1220 ค.ศ. 1585-1810 และ ค.ศ. 1762 ตามลำดับ (Aung และคณะ, 2008; Wang และคณะ, 2013)

Zachariase และคณะ (1999) และ Natawidjaja และคณะ (2006) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเจริญเติบโตของปะการังโขดหัวตาย (microatoll) ที่สัมพันธ์กับการยกตัวหรือทรุดตัวของแผ่นดินเนื่องจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ผลการศึกษาสรุปว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน โดยเฉพาะบริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.8-9.2 ในปี ค.ศ. 1833 และ ค.ศ. 1797

จากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน บ่งชี้ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และมีการเลื่อนตัวในแนวดิ่งของแผ่นเปลือกโลกใต้ทะเล อาจเกิดสึนามิและส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น ประเทศไทย พม่าและประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศต่างๆ โดยรอบมหาสมุทรอินเดีย ดังนั้นเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันจึงเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวสำคัญในภูมิภาคอาเซียน

เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย

เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย (Indonesian Island Chain) (พื้นที่ศึกษาที่ 2) วางตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออกขนานไปกับแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย เกิดจากการชนกันในแนวเหนือ-ใต้ของแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียและแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Krabbenhoeft และคณะ, 2010) ทำให้แนวหมู่เกาะอินโดนีเซียยังคงมีภูเขาไฟมีพลังและกิจกรรมแผ่นดินไหวและสึนามิเกิดขึ้นตลอดแนวอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

ภาพดาวเทียมจาก google earth แสดงแนวการวางตัวของเขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย (เส้นสีฟ้า)

ในส่วนของรูปร่างและการวางตัวของเขตมุดตัวของเปลือกโลก แสดงภาคตัดขวางทางตะวันออกและตะวันตกของเขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย เช่น ภาคตัดขวางที่ 3 ตัดขวางเขตมุดตัวของเปลือกโลกทางตอนใต้ของเกาะสุมาตราแสดงลักษณะการมุดตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทำมุมการมุดตัวประมาณ 30oส่วนภาคตัดขวางที่ 4 ตัดขวางทางตะวันออกของเขตมุดตัวของเปลือกโลกแสดงลักษณะการมุดตัวไปทางตะวันตกอย่างชัดเจน โดยทำมุมการมุดตัวประมาณ 45o และมุดลงไปถึงความลึก 300 กิโลเมตร ใต้พื้นโลก

ในทางวิทยาคลื่นไหวสะเทือน เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซียมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวโดยรวมต่ำกว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน ซึ่งจากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ดังกล่าว บ่งชี้ว่าไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด > 8.6 นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 (Newcomb และ McCann, 1987) อย่างไรก็ตาม Ammon และคณะ (2006) ศึกษาและสรุปว่าแผ่นดินไหวส่วนใหญ่ที่เกิดจากเขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซียมักจะก่อให้เกิดสึนามิ โดยหน่วยงาน NOAA รายงานว่าในช่วงปี ค.ศ. 1629-2010 (380 ปี) มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ > 150 เหตุการณ์ ที่ทำให้เกิดสึนามิ สร้างความเสียหายต่อประเทศอินโดนีเซีย

เขตมุดตัวของเปลือกโลกรอบหมู่เกาะฟิลิปปินส์

เขตมุดตัวของเปลือกโลกรอบหมู่เกาะฟิลิปปินส์ (Philippine Islands) (พื้นที่ศึกษาที่ 3) สืบเนื่องจากการชนและมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียและแผ่นทะเลฟิลิปปินส์ ทำให้หมู่เกาะฟิลิปปินส์และพื้นที่ข้างเคียงมีความซับซ้อนในทางธรณีแปรสัณฐาน โดยจากการสำรวจและประมวลผลข้อมูลระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก หรือ จีพีเอส (Global Positioning System, GPS) พบว่าแผ่นเปลือกโลกดังกล่าวมีอัตราเลื่อนตัวของรอยเลื่อน (slip rate) ประมาณ 5-40 มิลลิเมตร/ปี (Galgana และคณะ, 2007) โดยทางตอนเหนือของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ แผ่นยูเรเชียชนและมุดลงไปทางตะวันออก ใต้แผ่นทะเลฟิลิปปินส์ด้วยมุมการมุดตัวสูงชัน ในขณะที่ทางตอนใต้ แผ่นทะเลฟิลิปปินส์มุดตัวไปทางตะวันตกใต้แผ่นยูเรซียด้วยมุมการมุดตัวต่ำ

ภาพดาวเทียมจาก google earth แสดงแนวการวางตัวของเขตมุดตัวของเปลือกโลกรอบหมู่เกาะฟิลิปปินส์ (เส้นสีฟ้า)

ภาคตัดขวางที่ 5 ซึ่งตัดขวางเขตมุดตัวของเปลือกโลก 3 เขตมุดตัว เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา ได้แก่ 1) ร่องลึกก้นสมุทรมินาฮาสสา 2) เขตมุดตัวของเปลือกโลกซันกิลดับเบิ้ลและ 3) เขตมุดตัวของเปลือกโลกฮัลมาฮีรา ตามลำดับ ซึ่งการกระจายตัวของแผ่นดินไหวตามภาคตัดขวางดังกล่าว บ่งชี้ว่ามีการมุดตัวของเปลือกโลกซ้อนทับกัน โดย Charusiri และ Pailoplee (2015a) วิเคราะห์ว่าร่องลึกก้นสมุทรมินาฮาสสาแสดงทิศทางการมุดตัวไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ทำมุมการมุดตัวประมาณ 30o และมุดลงไปถึงความลึก 300 กิโลเมตร ใต้พื้นโลก ในขณะที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกฮัลมาฮีราแสดงทิศทางการมุดตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ โดยเริ่มมุดตัวในช่วงกิโลเมตรที่ 300 ของภาคตัดขวาง ทำมุมประมาณ 45o และมุดลงไปถึงความลึก 600 กิโลเมตร ใต้พื้นโลกแต่เนื่องจากบริเวณกิโลเมตรที่ 600 ไม่พบแนวการมุดตัวของเปลือกโลกอย่างชัดเจน จึงวิเคราะห์ว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลกฮัลมาฮีรา ไม่แสดงแนวการมุดตัวในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะสามารถตรวจพบร่องลึกก้นสมุทรได้จากการแปลความหมายภาพถ่ายดาวเทียม

ภาคตัดขวางที่ 6 ตัดขวางทางตอนเหนือของเขตมุดตัวของเปลือกโลกฟิลิปปินส์ ซึ่งจากการกระจายตัวของแผ่นดินไหวพบว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลกดังกล่าวมีการมุดตัวไปทางตะวันตก แต่เนื่องจากข้อมูลแผ่นดินไหวที่มีจำนวนมากกระจายตัวอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์มุมการมุดตัวและประเมินความหนาของแผ่นเปลือกโลกในช่วงกิโลเมตรที่ 150-400 ของภาคตัดขวางได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาห่างออกไปจากเขตมุดตัวของเปลือกโลก พบว่าแผ่นดินไหวส่วนใหญ่เกิดที่ความลึก ≤ 40 กิโลเมตร Charusiri และ Pailoplee (2015a) จึงประเมินในเบื้องต้นว่าแผ่นเปลือกโลกในพื้นที่ดังกล่าวมีความหนาประมาณ 40 กิโลเมตร

ในทางวิทยาคลื่นไหวสะเทือน ผลจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกในบริเวณหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดลักษณะทางธรณีแปรสัณฐานที่สัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหว 2 รูปแบบ คือ 1) เขตมุดตัวของเปลือกโลก และ 2) รอยเลื่อนภายในแผ่นเปลือกโลก โดยกลุ่มรอยเลื่อนส่วนใหญ่วางตัวอยู่ตามหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ในขณะที่บริเวณนอกชายฝั่งโดยรอบหมู่เกาะฟิลิปปินส์จะพบเขตมุดตัวของเปลือกโลก 11 เขตมุดตัว (เขตมุดตัวหมายเลข 3-13) ซึ่งจากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในช่วงเวลา 55 ปี (ค.ศ. 1960-2015) บ่งชี้ว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 จำนวน 95 เหตุการณ์ และหน่วยงาน NOAA รายงานว่าในช่วงปี ค.ศ. 1509-2016 หมู่เกาะฟิลิปปินส์เคยได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ 280 พื้นที่

นอกจากนี้ Ha และคณะ (2009) และ Ruangrassamee และ Saelem (2009) ประเมินสถานการณ์ที่รุนแรงที่สุดของการเกิดสึนามิในทะเลจีนใต้ (South China Sea) รวมทั้งอ่าวไทย (Gulf of Thailand) โดยตั้งสมมุติฐานว่าหากแผ่นดินไหวขนาด 8.0-9.0 บริเวณร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา (เขตมุดตัวหมายเลข 3) จะส่งผลกระทบด้านภัยพิบัติสึนามิรุนแรงที่สุดต่อประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนามและชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศจีน ส่วนในกรณีของอ่าวไทย สึนามิใช้เวลาในการเดินทางจากร่องลึกก้นสมุทรมะนิลาถึงแนวชายฝั่งทางภาคใต้ของประเทศไทยและกรุงเทพมหานครประมาณ 13 และ 19 ชั่วโมง หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและมีความสูงของคลื่นสูงที่สุดประมาณ 65 เซนติเมตร บริเวณชายฝั่งของจังหวัดนราธิวาส (Ruangrassamee และ Saelem, 2009) ดังนั้นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวในแถบหมู่เกาะฟิลิปปินส์จึงมีโอกาสส่งผลกระทบด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิต่อภูมิภาคอาเซียน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: