โดยปกติถ้าพูดถึงหินตะกอน พวกเราอาจจะคิดว่าถ้าได้มองหินตะกอนไกล้ๆ เราก็จะเห็นเม็ดตะกอนเป็นเม็ดๆ จับตัวกันยู่ ซึ่งนั่นคือ หินตะกอนเนื้อเม็ด (clastic sedimentary rock) ส่วน หินตะกอนเคมี (chemical sedimentary rock) หมายถึง หินตะกอนที่เกิดจากการตกตะกอนและสะสมตัวของตะกอนที่ถูกพัดพามาในรูปของสารละลายในน้ำ ซึ่งโดยส่วนใหญ่หินตะกอนเคมีแทบจะไม่สามรถมองเห็นเม็ดของตะกอนได้เลยด้วยตาเปล่า ทั้งนี้เนื่อจากตะกอนมีขนาดเล็กมาก แต่อาจมองเห็นเม็ดของแร่ได้หากส่องดูภายใต้กล้องจลทรรศน์ ในธรรมชาติ หินตะกอนเคมีมีหลายชนิด และแต่ละชนิดก็เกิดในสภาพแวดล้อมที่เฉพาะแตกต่างกัน

1) หินปูน (limestone)

หินปูน (limestone) เป็นหินตะกอนเคมีที่พบมากที่สุดในโลก ประกอบด้วยแร่แคลไซต์ (CaCO3) เป็นหลัก ทำปฏิกิริยากับกรดไฮโดรคลอริก โดยส่วนใหญ่มีสีเทาหรือสีดำ บางครั้งมีฟอสซิลขนาดเล็กเป็นองค์ประกอบ เช่น ฟิวซูลินิด (fusulinid) ไครนอยด์ (crinoid) และปะการัง (coral) เป็นต้น

(ซ้าย) หินปูนถูกย่อยให้มีขนาดเล็กเพื่อใช้ในการก่อสร้าง (ขวา) ภาพใต้กล้องจุลทรรศน์แสดงฟอสซิลขนาดเล็กที่สะสมตัวอยู่ในหินปูน (ที่มา : Bucur และคณะ, 2014)

2) หินโดโลไมต์ (dolomite)

หินโดโลไมต์ (dolomite) องค์ประกอบหลักเป็นแร่โดโลไมต์ (CaMg (CO3) 2) เกิดจากการแทนที่ธาตุแคลเซียมด้วยธาตุแมกนีเซียม (Mg) ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารละลายแมกนีเซียมสูงกว่าปกติ ทำปฏิกิริยากับกรดไฮโดรคลอริกได้น้อยกว่าหินปูน โดยส่วนใหญ่เมื่อเกิดการกัดกร่อน พื้นผิวของหินจะมีลักษณะคล้ายกับหนังช้าง

หินโดโลไมต์ ซึ่งถูกกัดกร่อนและมีพื้นผิวคล้ายกับหนังช้าง

3) หินอีแวพอไรท์ (evaporite)

หินอีแวพอไรท์ (evaporite) เกิดจากการระเหยของน้ำเค็มเข้มข้นสูง ทำให้เกิดการตกตะกอนของแร่ต่างๆ ได้แก่ หินยิปซั่ม (gypsum : CaSO4 2H2O) หินแอนไฮไดร์ท (Anhydrite : CaSO4) และ หินเฮไลด์หรือหินเกลือ (Halite : NaCl)

(ซ้าย) หินอีแวพอไรท์ที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติในบริเวณที่มีความเค็มหรือสัดส่วนของเกลือสูง (ขวา) การทำเหมืองเกลือจากน้ำทะเล

4) หินเชิร์ต (chert)

หินเชิร์ต (chert) เกิดจากการตกทับถมของซากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีองค์ประกอบเป็นแร่ซิลิกาเป็นหลัก เช่น เรดิโอลาเรีย (radiolarian) และ ไดอะตอม (diatom) เป็นหินเนื้อแน่น แข็ง เปราะ บางครั้งพบมลทินเช่นแร่แคลไซต์ เหล็ก ทำให้มีสีและชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น สีเทาหรือดำเข้ม เรียกว่า หินเหล็กไฟ (flint) สีแดง เรียกว่า แจสเพอร์ (Jasper) เป็นต้น

หินเชิร์ต
ซากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก (เรดิโอลาเรียและไดอะตอม) ที่มักพับอยู่ในหินเชิร์ต
หินเหล็กไฟ และแจสเพอร์

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: