ไม่ว่าจะด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกตามธรรมชาติหรือวัฏจักร หรือว่าการรุกล้ำของมนุษย์ แต่สภาพบริเวณชายฝั่งปัจจุบันในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก พบว่าบางพื้นที่สิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือพื้นที่ที่มนุษย์เคยจับจอง กำลังถูกทำลายหรือยึดคืนพื้นที่ด้วยกระแสน้ำริมฝั่งทะเล อย่างที่เราเรียกกันว่า ภัยพิบัติการกัดเซาะชายฝั่ง (coastal erosion) ซึ่งจากความหวงแหนของมนุษย์เอง ทำให้มีการคิดหาวิธีป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นในหลากหลารูปแบบ ตามปัญหาหรือลีลาการกัดเซาะของโลกในแต่ละพื้นที่

ถนนริมทะเลถูกน้ำทะเลกัดเซาะ
การป้องกันชายฝั่งรูปแบบต่างๆ ที่มนุษย์พยายามออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อยื้อแย่งพื้นที่คืนจากธรรมชาติ

1) กำแพงกันคลื่น

กำแพงกันคลื่น (seawall) กำแพงมีทั้งเป็นหินและเป็นคอนกรีต แต่ในบ้างพื้นที่กลับพบว่าการทำกำแพงจะเร่งอัตราการผุพังให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใต้ผนัง วึ่งวิธีการแก้คือ ใช้ หินกองหน้าคอนกรีต (ต่างชาติเรียก rip rap) เพื่อช่วยลดพลังงานการกระแทกของคลื่น ลดการกัดกร่อน แต่การทำ rip rap ก็เป็นเพียงการทุเลาเท่านั้น สุดท้ายคลื่นก็จะกัดลงไปไปใต้ rip rap อีกครั้ง

กำแพงกันคลื่นและกองหินกันคลื่น

2) คันดักทราย (groin)

คันดักทราย (groin) คือ โครงสร้างที่วางตั้งฉากกับชายหาดเพื่อดักทรายไม่ให้ไหลไปตามกระแสคลื่นที่วิ่งเลียดเฉียงหรือนานไปกับชายฝั่ง ซึ่งจะทำให้ทรายถูกพัดไปตามด้านข้าง โดยเมื่อใช้คันดักทรายไปซักระยะจะพบว่าทรายจะทับถมด้านที่คลื่นขนานฝั่งตกกระทบ และหลังคันดับซ้ายจะถูกกัดเซาะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในพื้นที่ที่มีกระแสคลื่นขนานฝั่งที่รุนแรง และเด่นๆ ในทางเดียว แต่ก็ทำให้รูปร่างชายหาดเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะด้านหน้าทรายจะพอก แต่ด้านหลังจะถูกกัด

คันดักทราย (ที่มา : www.wikimedia.org)

3) เขื่อนกันทรายและคลื่น (jetty)

เขื่อนกันทรายและคลื่น (jetty) คล้ายกับคันดักทรายแต่จะยาวและแข็งแรงกว่า และทำไว้บริเวณทางออกของแม่น้ำเพื่อป้องกันตะกอนทรายที่เคลื่อนที่มาตามกระแสคลื่นขนานฝั่ง ซึ่งอาจมาทับถมปากแม่น้ำ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมทางเรือที่เดินทางออกจากแม่น้ำสู่ทะเล

4) เขื่อนกันคลื่น (breakwater)

เขื่อนกันคลื่น (breakwater) คือ โครงสร้างเพื่อชะลอความเร็วของน้ำที่เข้ากระทบฝั่ง ซึ่งจะวางเป็นระยะๆ ขนานไปกับชายฝั่ง ทำให้ตะกอนที่เคยถูกกัดเซาะตลอดทั้งชายฝั่งนั้นมีโอกาสสะสมตัวหลังเขื่อนกันคลื่น แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ในทางปฏิบัติ เพราะหลายพื้นที่ถูกกัดกร่อนมากกว่า ขึ้นอยู่กับระยะห่างและความยาวของเขื่อนกันคลื่น บางครั้งใช้สำหรับจอดเรือไว้ด้านหลัง

เขื่อนกันคลื่น

ในส่วนของวัสดุที่นำมาใช้เป็นเขื่อนกันคลื่น ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ท่อนไม้ฟังเป็นแนว ใช้หินก้อนขนาดใหญ่กองรวมกันเป็นแถว ซึ่งวิธีนี้นิยมมากที่สุดในพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย นอกจากนี้ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีการออกแบบวัสดุให้เหมาะสมเพื่อนำมาใช้กองรวมกันเป็นเขื่อนกันคลื่น ซึ่งผ่านการทดลองทางวิศวกรรมแล้วว่ามีประสิทธิภาพและสามารถสลายพลังคลื่นและการยึดตัวกันของวัสดุได้ดี ไม่ว่าจะเป็นแท่งคอนกรีตรูปทรง  4 แฉก หรือแม้กระทั่งคอนกรีตที่สร้างขึ้นลักษณะคล้ายโอ่งและมีรูพรุนรอบโอ่ง

วัสดุที่ใช้ในการสร้างเขื่อนกันคลื่นและโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะแบบอื่นๆ

5) การสร้างหาดใหม่

การสร้างหาดใหม่ (beach renourishment) โดยการเติมทรายไปให้ชายหาด ซึ่งแหล่งทรายอาจจะมาจากบนฝั่ง เช่นเนินทรายหลังหาดหรืออาจดูดมาจากนอกชายฝั่ง การสร้างหาดใหม่แพงมาก เช่น ชายหาดไมอามีใช้เงิน 17.5 ล้านดอลลาห์ต่อสร้างหาดความยาว 1 ไมล์ แต่ก็ไม่ค่อยถาวรเพราะสุดท้ายก็จะโดนกัดกร่อนเหมือนเดิม เพราะส่วนใหญ่ทรายจากนอกชายหาดที่เอามาเติมจะเป็นทรายขนาดเล็กจนอาจมีขนาดถึงทรายแป้งหรือดิน ซึ่งโดยธรรมชาติ ก็โดนกัดกร่อนไปได้ง่ายอยู่แล้ว เพราะชายหาดไม่ใช่ที่ที่ตะกอนขนาดทรายแป้งหรือดินนั้นควรจะอยู่ ดังนั้นจึงถูกกัดเซาะไปได้เร็วกว่าทรายปกติ

(ซ้าย) การเติมทรายบนชายหาด (กลาง) หาดไมอามี่ก่อนเติมทราย (ข) หาดไมอามี่หลังจากเติมทราย

6) การป้องกันโดยไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง

การป้องกันโดยไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง (nonstructural strategies) เช่น การบังคับใช้กฎหมายการใช้ที่ดิน การให้ความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกะบวนการทางชายฝั่งกับคนในพื้นที่และกันพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดการกัดเซาะ หรืออาจใช้วัสดุป้องกันจากธรรมชาติ เช่น การสร้างแนวป้องกัน หรือแนวสลายคลื่น จากไม้ไผ่ ซึ่งมีข้อดีคือมีน้ำหนักเบาไม่กดทับพื้นที่ หรือแม้กระทั่งการปลูกป่าชายเลน เพื่อให้เป็นแนวสลายคลื่น เป็นต้น

การป้องกันโดยใช้ธรรมชาติ กรณีศึกษาบ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: