สำรวจ

ธรณีวิทยา สะพานพระราม

สะพานพระราม (Rama’s Bridge) หรือที่เรียกอีกชื่อว่า สะพานอดัม (Adam’s Bridge) เป็น ภูมิลักษณ์ (landform) ทางทะเล ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นเหมือนแนวสันทรายที่ทอดยาว เชื่อมระหว่าง 1) ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย แผ่นดินใหญ่ และเกาะยักษ์ที่ห่างออกไปอย่าง 2) ประเทศศรีลังกา หากมองมุมสูงจากภาพถ่ายดาวเทียม จะดูเหมือนเป็นแนวถนนแคบๆ ยาวประมาณ 30 กิโลเมตร และก้ำๆ กึ่งๆ เหมือนจะสามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรไป-มาได้ ระหว่างศรีลังกา-อินเดีย

(ก) ตำแหน่งสะพานพระราม จากภาพถ่ายดาวเทียม (ข) ภาพมุมสูง สะพานพระราม ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศอินเดียและศรีลังกา

หากมองใกล้ๆ ในพื้นที่ จะพบว่าสะพานพระรามมีฐานเป็นเศษปะการังก้อนเล็กๆ ใหญ่ๆ ทับถมและปะปนอยู่กับแนวสันทรายที่ทอดตัวยาวปริ่มน้ำ โดยตามตำนานหรือคติความเชื่อของคนในพื้นที่เชื่อว่า ถนนหรือสะพานพระรามแห่งนี้ เกิดจากการที่ พระราม สั่งให้ หนุมานและเหล่ากองทัพวานร ช่วยกันขนหินขนทราย มาถมทะเลให้เป็นสะพาน เพราะท่านอยากจะข้ามจากอินเดียแผ่นดินใหญ่ ไปกรุงลงกา (ศรีลังกา) เพื่อที่จะชิงตัวนางสีดา ภรรยาสุดที่รัก คืนมาจากทศกันต์

ตำนานเค้าว่างั้น

เรื่องราวของตำนานการสร้างสะพานพระราม คนในพื้นที่จะเชื่อจริงหรือไม่ อันนี้ไม่แน่ใจ แต่แค่มองภาพจากระยะไกล นักธรณีวิทยาก็รู้ว่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเมื่อนำหลักการทางธรณีวิทยาเข้ามาอธิบาย สะพานพระรามเกิดเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้ก็เนื่องมาจาก 3 ลำดับเหตุการณ์ ทางธรณี

1) หินฐานเดิม กอนด์วานา

ในทาง ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) จริงๆ แล้วทั้งอินเดียและศรีลังกาเป็น แผ่นเปลือกโลกทวีป (continental plate) เดียวกันมาตั้งแต่ มหายุคพรีแคมเบียน (Precambrian) และอยู่เป็นแผ่นเดียวกันเรื่อยมาจนกระทั่ง มหาทวีปแพนเจีย (Pangaea Supercontinent) เริ่มแตกออกจากกันเมื่อประมาณ 200 ล้านปีก่อน ซึ่งในตอนนั้นแผ่นเปลือกโลกส่วน อินเดีย-ศรีลังกา เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเปลือกโลกทางตอนใต้ของมหาทวีปแพนเจีย ที่เรียกว่า กอนด์วานาแลนด์ (Gondwanaland)

ด้วยกระบวนการเคลื่อนที่และกิจกรรมต่างๆ ทางธรณีแปรสัณฐานตลอดระยะเวลา 200 ล้านปีที่ผ่านมา ทั้งการที่แผ่นเปลือกโลกอินเดียวิ่งไปชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย หรือการเกิดและเปิดออกของมหาสมุทรอินเดีย แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้ทำให้อินเดียและศรีลังกาเคยแยกออกจากกัน แม้จะมีการบิดการเบี้ยวของแผ่นเปลือกโลกไปบ้าง (รูปด้านล่าง) แต่การที่เห็นในทางภูมิศาสตร์ว่าเป็นคนละเกาะกัน อันนี้ก็เนื่องมาจากการขึ้น-ลง ของระดับน้ำทะเลในช่วงสมัย ไพลสโตซีน (Pleistocene) ทำให้เราเห็นว่ามีน้ำทะเลท่วมทวีป กั้นขวางระหว่างศรีลังกาและอินเดีย

เพิ่มเติม : 4 หลักฐานชวนเชื่อ “ทวีปเคลื่อนที่ได้” กับความชอกช้ำของเวเกเนอร์

อินเดีย-ศรีลังกา คือ ทวีปเดียวกัน ที่มีส่วนของแผ่นทวีป ที่จมน้ำบางส่วน ขวางกั้นระหว่างทวีปที่สูง (กว่า) สองฝั่งของอินเดียและศรีลังกา

(ก) วิวัฒนาการการบิดตัวของศรีลังกาเมื่อเทียบกับอินเดีย (ข) สภาพภูมิประเทศแถบศรีลังกาอินเดีย แสดงให้เห็นว่า หากไม่พิจารณาเรื่องน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วม ทั้งอินเดียและศรีลังกาคือแผ่นเปลือกโลกทวีปเดียวกัน (ที่มา : Ratheesh-Kumar และคณะ, 2020)

2) ประการังนอกฝั่ง

ด้วยสภาพการณ์หรือความบังเอิญ ที่หินฐานธรณีใต้ทะเลระหว่างอินเดียและศรีลังกา มีความตื้นเขินเป็นแนว มีแสงแดดส่องถึงพื้นทะเล และมีความเข้มข้นของแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เพียงพอ เหมาะให้ประการังเติบโต พอปะการังเกิด-ตายๆ ก็กลายเป็นเศษหินโสโครก หรือเศษปะการัง ทับถมอยู่บนฐานหินเก่า กลายเป็นฐานรากให้กับสะพานพระรามได้อย่างดี

(ซ้าย) การ์ตูน แสดงแนวปะการังที่ไม่ได้เกิดล้อชายฝั่ง แต่เกิดตามความลึกที่พอเหมาะ แต่ความลึกที่พอเหมาะใดๆ ก็มักจะล้อกับขอบฝั่ง เลยดูเหมือนประการังเกิดล้อกับชายฝั่ง (ขวา) ตัวอย่างนะครับ ซากก้อนปะการัง ที่เกิดขึ้นได้ตามแนวหินเดิมที่ตื้นเขินของสะพานพระราม

3) สันทราย ชายหาด

กระบวนการสุดท้ายและท้ายที่สุด เพราะแนวตื้นเขินของหินเก่า บวกกับเศษปะการังที่เกิด-ตาย ทับถมกัน ทำให้แนวเศษหินโสโครกทางธรณีวิทยาหรือ ฐานสะพานพระรามตามความเชื่อ จึงอยู่หมิ่นเหม่ ปริ่มน้ำสุดๆ มีศักดิ์ศรีเหมือนกับพื้นที่ริมทะเล กระบวนการที่เกิดตามมาจึงเป็นหน้าที่ของกระแสคลื่นทะเลริมฝั่ง ที่เรียกว่า กระแสคลื่นขนานฝั่ง (longshore current) ซึ่งก็คือ คลื่นน้ำที่เคลื่อนที่เป็นมุมกับชายฝั่ง (หรือแนวสะพานพระรามในเรื่องนี้) ทำให้คลื่นซัดหาดขึ้น-ลงในแนวเฉียงไปด้านข้างเป็นระรอก และด้วยการกลับไป-มาของคลื่น ทำให้คลื่นหอบเม็ดทรายเลื่อนออกไปด้านข้าง ขนานไปกับชายฝั่งเป็นระยะ (longshore drift หรือ littoral drift) ค่อยๆ กระดืบตะกอนทรายมาแปะแล้วปั้นไว้เป็นแนวๆ ทับถมอยู่บนแนวปะการัง กลายเป็นสะพานพระรามหรือในทาง ธรณีวิทยาชายฝั่ง (coastal geology) เรียกว่า สันทรายเชื่อมเกาะ (tombolo)

กระแสคลื่นขนานฝั่ง รัฐควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย
การ์ตูนแสดงตัวอย่างวิวัฒนาการการสร้าง สันทรายเชื่อมเกาะ (tombolo) อันเนื่องมาจาก กระแสคลื่นขนานฝั่ง (longshore current) ขนาดย่อมๆ ในพื้นที่ ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับที่สร้างสะพานพระราม
สันทรายเชื่อมเกาะ (tombolo)

4) สรุป

  • ฐานสะพาน = หินเก่าเดิมๆ ได้มาเป็นแนวเพราะ ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic process)
  • เศษหินบนฐานสะพาน = แนวปะการัง (coral reef) ที่เกิดตรงนั้นแหละ ลิงไม่ได้ขนมา
  • ทรายชั้นบนสุด = กระแสคลื่นขนานฝั่ง (longshore current) ค่อยๆ เขี่ยมาแปะ ลิงก็ไม่ได้ขนมา เหมือนกัน
  • เป็นอันว่าจบพิธี จบกระบวนการ

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: