เรียนรู้

6 ลีลาการ ถ่ม-ถุย-ผุย-พ่น ของภูเขาไฟ

ว่าด้วยเรื่องการแทรกดันหรือผุดขึ้นมาของแมกมากลายเป็นลาวาบนพื้นผิวโลก กองเป็นภูเขาไฟนั้น รูปแบบของการปะทุแบ่งคร่าวๆ ตามความรุนแรงได้ 2 แบบคือ 1) การเอ่อล้น (effusive) เหมือนกับการผุดการผุยเอ่อขึ้นมาบนปากปล่องแมกมา และ 2) การระเบิด (explosive) เหมือนกับการพ่นพรุ่งขึ้นสู่อากาศ ซึ่งทั้ง 2 แบบคร่าวๆ นี้ แตกต่างกันในแง่ของแรงดันแมกมาที่อัดฉีดขึ้นมา หรือถ้าจะประเมินระดับความรุนแรงของการปะทุในแต่ละเหตุการณ์ก็สามารถจำแนกได้ด้วย ดัชนีการปะทุของภูเขาไฟ (Volcanic Explosive Index, VEI) (Newhall และ Self, 1982) ซึ่งเป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงระดับความรุนแรงที่วัดจาก 1) ปริมาณลาวาหรือกรวดภูเขาไฟที่ปะทุออกมา 2) ความสูงของการปะทุ และ 3) ความยาวนานของการปะทุ โดยนักวิทยาศาสตร์แบ่งค่า VEI แบ่งออกเป็น 8 ระดับ

VEI กรณีตัวอย่างการปะทุ
0 ทะเลสาบนีออส (Nios) ประเทศคาเมรูน พ.ศ. 2529
1 ภูเขาไฟอันเซน (Unzen) ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2534
2 ภูเขาไฟสตรอมโบลี (Stromboli) ประเทศอิตาลี พ.ศ. 2546
3 ภูเขาไฟไฮแม (Heimaey) ประเทศไอซ์แลนด์ พ.ศ. 2516
4 ภูเขาไฟปาลิคุติน (Paricutin) ประเทศเม็กซิโก พ.ศ. 2486
5 ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ (St. Helens) ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2523
6 ภูเขาไฟกรากะตัว (Krakatoa) ประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ. 2426; ภูเขาไฟพินาตูโบ (Pinatubo) ประเทศฟิลิปปินส์ พ.ศ. 2534
7 ภูเขาไฟแทมโบร่า (Tambora) ประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ. 2358
8 อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellow Stone Nation Park) ประเทศสหรัฐอเมริกา 650,000 ก่อนคริสตกาล

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในรายละเอียดถึงชนิดของแมกมา รวมทั้งเศษวัสดุที่ผุดพุ่งขึ้ันมา นักวิทยาศาสตร์จำแนกรูปแบบการปะทุของภูเขาไฟออกเป็น 6 แบบด้วยกัน

รูปแบบการปะทุของภูเขาไฟ

1) แบบไอซ์แลนด์ (Icelandic)

การปะทุแบบประเทศไอซ์แลนด์ (Icelandic eruption) (VEI = 0-1) เป็นการปะทุตามรอยแยก (fissure eruption) ของแมกมาบะซอลต์ความหนืดต่ำ และไม่มีปากปล่องแน่ชัด ลาวาไหลหลากเหมือนกับน้ำท่วม

การปะทุแบบม่านลาวา (curtain Lava) บนเกาะไอซ์แลนด์

ค.ศ. 1783 ภูเขา Laki ไอซ์แลนด์ ประทุตามแนวแตกใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ลาวาไหลหลาก 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ตลอด 50 วัน เกิดก๊าซก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มหาศาล ทำให้พืชตายปศุสัตว์เสียชีวิตมากกว่า 20%

2) แบบฮาวาย (Hawaiian)

การปะทุแบบฮาวาย (Hawaiian eruption) (VEI = 0-1) เป็นการปะทุของแมกมาบะซอลต์ความหนืดต่ำจากปล่องภูเขาไฟ มีก๊าซระเบิดเล็กน้อย แมกมาไหลเอ่อล้นครอบคลุมพื้นที่กว้าง สร้างภูเขาไฟขนาดใหญ่ เช่น ภูเขาไฟเมานาโลอา บนหมู่เกาะฮาวาย

การปะทุแบบฮาวาย ภูเขาไฟคิลาเว (Kilauea) อุทยานาแห่งชาติภูเขาไฟฮาวาย พ.ศ. 2526 (ที่มา : USGS)

3) แบบวัลเคเนียน (Vulcanian)

การปะทุแบบวัลเคเนียนหรือวิสุเวียน (Vulcanian หรือ Vesuvian eruption) (VEI = 2-5) เกิดจากก๊าซในแมกมามีความดันสูง แทรกดันหินแข็งที่ปิดทับด้านบน ได้วัสดุสลับชั้นกันระหว่างเศษหินสลับแมกมาบะซอลต์หรือแอนดีไซต์ที่ไหลเอื่อย เช่น การปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียส (Vesuvius) ในประเทศอิตาลี

4) แบบสตรอมโบเลียน (Strombolian)

การปะทุแบบสตรอมโบเลียน (Strombolian eruption) (VEI = 1-3) ตั้งชื่อตามภูเขาไฟสตรอมโบลีในประเทศอิตาลี เกิดจากแมกมาไรโอไรท์หรือแอนดีไซต์ซึ่งมีความหนืดสูง ปะทุคล้ายกับน้ำพุพุ่งสูง 10-100 เมตร โดยจะปะทุเป็นช่วงๆ ช่วงละ 10-20 นาที เช่น ภูเขาไฟเอตนา (Etna) ในประเทศอิตาลี

การปะทุแบบสตรอมโบเลียน (Strombolian eruption) ในอินโดนีเซีย (ที่มา : www.volcanoes.de)

5) แบบพลิเนียน (Plinian)

การปะทุแบบพลิเนียน (Plinian eruption) (VEI = 3-8) เป็นการปะทุอย่างรุนแรงของก๊าซและเศษหินพุ่งสูง 5-60 กิโลเมตร เช่น ภูเขาไฟเตาโป (Taupo) ในนิวซีแลนด์ บางครั้งความรุนแรงมากเพียงพอที่จะทำลายโครงสร้างของภูเขาไฟ และระเบิดผนังด้านข้างออก เรียกว่า การปะทุแบบพีเลียน (Pelean eruption)

การปะทุแบบพลิเนียน ภูเขาไฟเซนต์ เฮเลน พ.ศ. 2523 (ที่มา : www.oregonlive.com)
ซากหลังปากปล่องภูเขาไฟแตกและต้นไม้ที่เกิดจากแรกระเบิดในด้านข้าง (การปะทุแบบพีเลียน) ของภูเขาไฟเซนต์ เฮเลน (ที่มา : www.wikipedia.org)

6) แบบพรีโตพลิเนียน (Phreatoplinian)

ในกรณีของภูเขาใต้ทะเลหรือใต้ธารน้ำแข็ง หากมีน้ำไหลซึมเข้าไปในปล่องภูเขาไฟ อาจทำให้เกิดการปะทุที่มีน้ำร้อนร่วมด้วย นักวิทยาศาสตร์จึงแบ่งย่อยการปะทุแบบนี้ว่า การปะทุแบบพรีโตพลิเนียน (Phreatoplinian eruption) เช่น การปะทุของภูเขาไฟพินาตูโบ ในประเทศฟิลิปปินส์ และภูเขาไฟอาส์กจา (Askja) ในประเทศไอซ์แลนด์

ภูเขาไฟอาส์กจา ในประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งมีรูปแบบการปะทุแบบพรีโตพลิเนียน (ที่มา : www.wikipedia.org)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: