เรียนรู้

สิ่งที่ภูเขาไฟผุยออกมา ไม่ได้มีลาวาแค่อย่างเดียว

กรวดภูเขาไฟ

กรวดภูเขาไฟ (pyroclastic) คือ เศษหินเดิมของปากปล่องภูเขาไฟที่ระเบิดออกมาจากการปะทุของภูเขาไฟอย่างรุนแรงของลาวาที่มีความหนืดสูง ทำให้ได้ชิ้นส่วนที่มีขนาด รูปร่าง และเนื้อหินที่แตกต่างกัน ซึ่งนักธรณีวิทยาจำแนกกรวดภูเขาไฟตามขนาด ดังแสดงในตารางด้านล่าง

ชนิด ขนาด (มม.) ลักษณะเฉพาะ
ฝุ่นภูเขาไฟ (dust)  < 0.2 ฟุ้งได้ไกลและอยู่ในอากาศได้นาน
เถ้าภูเขาไฟ (tuff) 0.2-0.4 เนื้อแก้ว เมือสะสมตัวจะหลอมเป็นหิน
มูลภูเขาไฟ (cinder) 4-32 ขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา
ลาพิลลี (lapilli) 2-64 ขนาดเท่ากับลูกวอลนัท
บอมบ์ (bomb)  > 32 คล้ายกับลูกรักบี้ เกิดจากการเสียดสีกับอากาศขณะปะทุ
บล็อก (block)  > 64 อาจเป็นเศษหินเดิมที่อยู่ในปล่องภูเขาไฟ

นอกจากวัสดุขนาดต่างๆ ที่ได้จากการปะทุของภูเขาไฟ ในส่วนของแมกมาที่อยู่ใต้พื้นผิวโลกหรือลาวาที่ไหลหลากขึ้นมาบนผิวโลก เมื่อเย็นและแข็งตัวกลายเป็นหิน เรียกว่า หินอัคนี (igneous rock) ซึ่งแบ่งตามสภาพแวดล้อมการเกิดหินอัคนีดังกล่าวได้ 2 ชนิด คือ 1) หินอัคนีภูเขาไฟ และ 2) หินอัคนีบาดาล

หินอัคนีภูเขาไฟ

หินอัคนีภูเขาไฟ (volcanic rock) หรือ หินอัคนีปะทุ (extrusive rock) หมายถึง หินอัคนีที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวาอย่างรวดเร็วบนพื้นผิวโลก ทำให้แร่องค์ประกอบมีเวลาน้อยในการตกผลึก จึงเป็นหินที่มี เนื้อละเอียด (aphanitic texture) ซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า หินอัคนีภูเขาไฟ แบ่งย่อยตามแร่องค์ประกอบหรือชนิดของแมกมาได้ 3 ชนิด

1) หินไรโอไรท์ (rhyolite) เกิดจากการปะทุของแมกมาไรโอไรท์ มีสีขาว เทา น้ำตาลอ่อนหรือสีชมพู บางครั้งแมกมาไรโอไรท์เย็นตัวอย่างรวดเร็วมากจะได้หินที่มี เนื้อแก้ว (glasseous texture) เรียกว่า หินออปซิเดียน (obsidian) หรือหากแมกมาไรโอไรท์มีปริมาณก๊าซสูง เมื่อแข็งตัว หินจะมีรูพรุนมากคล้ายกับฟองน้ำ เนื้อฟอง (vesicular texture) เรียกว่า หินพัมมิซ (pumice) ซึ่งมีเนื้อสีขาว น้ำหนักเบาและลอยน้ำได้

หินไรโอไรท์และเพื่อนๆ ของเขา

2) หินแอนดิไซท์ (andesite) เกิดจากการปะทุของแมกมาแอนดิไซท์ โดยส่วนใหญ่มีสีเขียวแก่หรือสีเทา โดยชื่อหินแอนดิไซท์ มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาแอนดีส (Andes) ในพื้นที่ประเทศเปรูและชิลี

3) หินบะซอลต์ (basalt) เกิดจากการปะทุของแมกมาบะซอลต์ มีสีดำคล้ำเป็นส่วนใหญ่ เป็นส่วนประกอบสำคัญของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทร บางครั้งอาจพบหินที่มีองค์ประกอบคล้ายกับหินบะซอลต์แต่มีรูพรุนคล้ายกับฟองน้ำเหมือนกับหินพัมมิช เรียกหินชนิดนี้ว่า หินสคอเรีย (scoria)

หินแอนดิไซท์ หินบะซอลต์ และเพื่อน

หินอัคนีบาดาล

หินอัคนีบาดาล (plutonic rock) หรือ หินอัคนีแทรกดัน (intrusive rock) หมายถึง หินอัคนีที่เกิดจากการเย็นตัวของแมกมาภายในเปลือกโลก ซึ่งเนื่องจากอุณหภูมิของมวลแมกมาและหินข้างเคียงไม่แตกต่างกันมากนัก แมกมาจึงตกผลึกอย่างช้าๆ ทำให้แร่องค์ประกอบชนิดเดียวกันรวมกันเป็นผลึกชัดเจน ทำให้หินมี เนื้อหยาบ (phaneritic texture) โดยแบ่งย่อยตามแร่องค์ประกอบหรือชนิดของแมกมาได้ 3 ชนิด

1) หินแกรนิต (granite) เกิดจากการแทรกดันและเย็นตัวของแมกมาไรโอไรท์ มีสีขาวเทาประจุดดำ เนื้อผลึกหยาบ ประกอบด้วยแร่หลัก คือ แร่ควอตซ์ เฟลด์สปาร์ ไบโอไทท์และแร่ฮอนเบลนด์ เป็นต้น หินแกรนิตเป็นหินอัคนีที่พบมากที่สุดและเป็นส่วนประกอบสำคัญของแผ่นเปลือกโลกทวีป

หินอัคนีบาดาล

2) หินไดโอไรท์ (diorite) เกิดจากการแทรกดันและเย็นตัวของแมกมาแอนดิไซท์ มีสีคล้ำเข้มกว่าหินแกรนิต อาจเป็นสีเทาหรือเขียวเนื่องจากมีปริมาณแร่ควอตซ์และแร่เฟลด์สปาร์ลดลง

3) หินแกบโบร (gabbro) เกิดจากการแทรกดันและเย็นตัวของแมกมาบะซอลต์ มีสีเข้มถึงดำ ประกอบด้วยแร่ไพรอคซีน (pyroxene) แร่เฟลด์สปาร์ชนิดพลาจิโอเคลส (plagioclase) เป็นส่วนใหญ่และอาจมีแร่โอลิวีน (olivine) บางส่วน โดยส่วนใหญ่พบอยู่ชั้นล่างของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรเนื่องจากเกิดการตกผลึกก่อนหินอื่นๆ ในระหว่างการแทรกดันของแมกมาขึ้นมาบนพื้นผิวโลก

นอกจากนี้บางพื้นที่ยังสามารถพบ หินอัคนีสีเข้มจัด (ultramafic igneous rock) ซึ่งประกอบด้วยแร่สีคล้ำ (ferromagnesian) เป็นองค์ประกอบสำคัญ และโดยส่วนใหญ่เป็นหินอัคนีบาดาลเป็นหลัก เช่น 1) หินดันไนต์ (dunite) ประกอบด้วยแร่โอลิวีนเป็นหลัก 2) หินไพรอคซีไนต์ (pyroxenite) ประกอบด้วยแร่ไพรอคซีนป็นหลัก และ 3) หินเพอริโดไตต์ (peridotite) มีองค์ประกอบรวมกันทั้งแร่โอลิวีนและไพรอคซีน

ตัวอย่างหินอัคนีสีเข้มจัด

ในส่วนของหินอัคนีสีเข้มที่เป็นหินอัคนีภูเขาไฟมีเพียง 4) หินโคมาทิไอท์ (komatiite) เท่านั้น แต่มีโอกาสเกิดน้อยและพบได้ยาก ทั้งนี้เนื่องจากแมกมาที่เป็นต้นกำเนิดของหินสีเข้มจัดนั้น ต้องมาจากระดับที่ลึกมาก ซึ่งการเกิดหินโคมาทิไอท์ นั้นนักธรณีวิทยาคาดว่าน่าจะเป็นหินที่แก่มาก เกิดในช่วงเริ่มต้นของการเกิดโลก และแผ่นเปลือกโลกยังบางมาก จึงทำให้แมกมาสีเข้มจัดที่มาจากระดับลึกนี้สามารถปะทุขึ้นมาสู่พื้นผิวโลกได้

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: