สำรวจ

ถมอรัตน์ ภูเขาคู่บารมี เมืองศรีเทพ

นอกเหนือจาก โบราณสถาน เขาคลังนอก และโบราณสถานอื่นๆ ทั้งในและนอกเมืองอีกกว่า 100 แห่ง เขาถมอรัตน์ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญ ที่ช่วยแต่งเติมเสริมสีสันอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้มีความยิ่งใหญ่อลังการมากยิ่งขึ้น เพราะจากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมาพบว่า ถมอรัตน์ไม่ใช่แค่ภูมิประเทศรอบตัวทั่วไป แต่บนเขาถมอรัตน์ มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ทรงคุณค่า และช่วยเชื่อมต่อเรื่องราวว่า ในอดีตคนศรีเทพและเขาถมอรัตน์ผูกพันธ์กัน

ถมอรัตน์ เขาสูงลูกโดดกลางที่ราบ ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศตะวันตกประมาณ 15 กิโลเมตร

ทำไม ถมอรัตน์ ถึงน่ารู้จัก

ในทางภูมิศาสตร์ละแวกศรีเทพ เขาถมอรัตน์ตั้งตระหง่านอย่างโดดเด่นอยู่กลางที่ราบ ห่างออกไปจากเมืองศรีเทพทางทิศตะวันตกประมาณ 15 กิโลเมตร ซึ่งหากฟ้าเปิด คนศรีเทพจะสามารถมองเห็นเขาถมอรัตน์ได้อย่างชัดเจน และถึงแม้รูปทรงจริงๆ จะไม่ใช่ทรงกรวยสวยรอบด้าน แต่หากมองจากมุมศรีเทพ เขาถมอรัตน์จะมีรูปทรงสวยงามตามแบบ ภูเขาไฟฟูจิ ของประเทศญี่ปุ่น หรือ ภูหอ ในจังหวัดเลย ที่ได้ฉายาว่าเป็น ฟูจิเมืองเลย หรือ ฟูจิเมืองไทย

แผนที่ภูมิประเทศ 3 มิติ แสดงที่ตั้งเมืองโบราณศรีเทพ (เส้นสีเหลือง) และพื้นที่ข้างเคียง ภูเขาสูงลูกโดดที่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 15 กิโลเมตร คือ เขาถมอรัตน์ ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของเมืองศรีเทพ เป็นการสะสมตัวของเศษตะกอนที่ไหลหลากลงมาจากแนวเทือกเขารวก-เขาแผงม้า รอยต่อระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์-ลพบุรี ความจริงเขาถมอรัตน์ ไม่ได้มีรูปทรงกรวยที่สมบูรณ์แบบ จะมีเพียงมุมมองจากเมืองศรีเทพเท่านั้น ที่จะมองเห็นถมอรัตน์เป็นกรวยที่สวยงาม เหมือนกับ ภูเขาไฟฟูจิ ของประเทศญี่ปุ่น
(ก) ภูเขาไฟฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น (ข) เขาถมอรัตน์ (ค) ภูหอ ฟูจิเมืองเลย

จากการขึ้นเขาสำรวจในพื้นที่ นักโบราณคดีพบว่าบนยอดเขาถมอรัตน์มีถ้ำหินปูนอยู่บนยอดเขา หันปากถ้ำไปทางทิศเหนือ ซึ่งภายในถ้ำพบภาพสลักนูนต่ำรูป 1) พระพุทธรูป 2) พระโพธิสัตว์ 3) สถูปเจดีย์ และ 4) ธรรมจักร นับรวมกันแล้วกว่า 11 รูป ตีความได้ว่าเป็นศิลปะแบบทวารวดี ตามคติความเชื่อในพุทธศาสนา นิกายมหายาน นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า เขาถมอรัตน์ ไม่ใช่เพียงภูเขาไม้ประดับ แต่เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ คู่บารมีเมืองศรีเทพ มาช้านาน

ประติมากรรมสลักนูนต่ำ รูปพระพุทธรูปยืนอยู่บนฐานดอกบัว ภายในถ้ำ บนยอดเขาถมอรัตน์ (ที่มา : www.thairath.co.th)

ถมอรัตน์ หมุดหมายการเดินทาง

นอกเหนือจาก การพบกลุ่มภาพสลักทางพระพุทธศาสนาภายในถ้ำบนยอดเขา ที่ทำให้เขาถมอรัตน์มีสภาวะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยคุณสมบัติการเป็น 1) ภูเขาสูงโดดเด่นกลางที่ราบ (สูง 525 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) รวมถึง 2) แกนการวางตัวของเขาคลังนอก นอกเมืองศรีเทพ ชี้ไปตรงกับเขาถมอรัตน์พอดิบพอดี จึงอดที่จะคิดไปไม่ได้ว่า นอกจากคุณค่าความศักดิ์สิทธิ์ เขาถมอรัตน์น่าจะถูกใช้เป็นแลนด์มาร์คในยามเดินทางในละแวกนั้นได้อย่างดี

“อีกไม่ไกลแล้วลูก โน่น !!! เห็นเขาถมอรัตน์นั่นไหม จากเขาถมอรัตน์ไปอีก 15 กิโล เราก็จะถึงศรีเทพแล้ว”

ผลการวิเคราะห์ ทัศนวิสัยการมองเห็น (viewshed) พื้นที่สีแดง คือ พื้นที่การมองเห็นเขาคลังนอก และพื้นที่สีเหลือง คือ พื้นที่ที่ผู้คนสามารถมองเห็นเขาถมอรัตน์ได้

นอกจากคำยืนยันของคนในพื้นที่ ผลการวิเคราะห์ ทัศนวิสัยการมองเห็น (viewshed) ยังช่วยยืนยันอีกเสียงว่า หากฟ้าเปิด คนศรีเทพและเขาคลังนอก จะมองเห็นเขาถมอรัตน์ได้อย่างชัดเจน (พื้นที่สีแดง) และตัวเขาถมอรัตน์เอง ก็สามารถถูกมองเห็นได้ไกลไปถึง พิจิตร-นครสวรรค์-สิงห์บุรี (พื้นที่สีเหลือง) เรียกได้ว่าแขกไปใครมา ก็จะมองเห็นเขาถมอรัตน์ เป็นหมุดหมายที่โดดเด่นมาแต่ไกลกันเลยทีเดียว

เพิ่มเติม : หมุดหมายการเดินทาง คนโบราณ (Ancient Viewshed)

ทำไมถึงได้ชื่อ ถมอรัตน์

ในมิติของ ภูมินามวิทยา (toponymy) หรือ การศึกษาที่ไปที่มาของชื่อบ้านนามเมือง คำว่า ถมอรัตน์ ดูจะเป็นชื่อที่แอบจะแปลกบวกขลัง เมื่อเทียบกับชื่อบ้านนามเมืองที่ใช้เรียกขานบ้าน วัด โรงเรียนในพื้นที่ เพราะจากการสืบค้นเชิงเอกสารพบว่าชื่อ ถมอรัตน์ เกิดจากคำ 2 คำ รวมกัน โดยคำว่า ถมอ มีรากมาจากภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า หิน ส่วนคำว่า รัตน์ หรือ รัตนะ ที่เราคุ้นชิน หมายถึง แร่รัตนชาติ-อัญมณี (gemstone) หรือ หินมีค่า (precious stone) ซึ่งแก้ว แหวน เงิน ทอง เพขร พลอย ก็ถัวรวมเรียกว่า รัตน์หรือรัตนะได้เช่นกัน ดังนั้น เขาถมอรัตน์ ในมุมของผู้เขียนจึงแปลว่า ภูเขาหินมีค่า และก็ตีความต่อว่าชื่อ ถมอรัตน์ น่าจะได้มาในช่วงปลายสังคมศรีเทพ เพราะคำว่า ถมอ นั้นส่งกลิ่นอายของ วัฒนธรรมเขมรโบราณ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสุดท้าย ต่อมาจาก 1) ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และ 2) สมัยทวาราวดี

ตัวอย่างกลิ่นอายวัฒนธรรมเขมรโบราณ ที่ยังติดอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย ผ่านชื่อเสียงเรียงนาม (ก) ปราสาทถมอ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ เป็นภาษาเขมรแปลว่า ปราสาทหิน (ข) โรงแรมกบาลถมอ อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า หัวหิน (กบาล-หัว, ถมอ-หิน) ว่ากันว่าเกิดจากในอดีต คนเขมรเดินทางมาที่หัวหิน และพบว่ามีโขดหินริมทะเลจำนวนมาก (ค) จึงได้ตั้งชื่อพื้นที่แถบหัวหินว่า กบาลถมอ และมีการใช้คำนี้แบบทีเล่นมีจริงมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนในมิติ ธรณีวิทยา (geology) ก็แอบเข้าอกเข้าใจ ว่าทำไมคนศรีเทพในวันนั้น ถึงได้ให้ราคา มองภูเขาลูกนี้เป็น ภูเขาหินที่มีค่าดั่งอัญมณี เพราะหากใครได้เคยขึ้นไปเที่ยวชมบนเขาถมอรัตน์สักครั้ง ตามเส้นทางจะพบหินที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมมนขนาดไข่เป็ด-ไข่ห่าน ที่เชื่อมประสานกันอยู่ และภายในเนื้อกรวดบางก้อน ยังมีลวดลายที่มาจากซากฟอสซิลปะการัง และสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ขนาดเล็กจำนวนมาก จึงไม่ถึงกับน่าแปลกใจ หากจะเรียกขานเขาลูกนี้แบบสุนทรีย์ๆ ว่า ภูเขากรวดหินมีค่า ภูเขาอัญมณีหิน หรือ เขาถมอรัตน์ แต่ๆๆๆ ก็หาได้มีหินมีค่า ในทางธรณีวิทยาไม่ บอกๆ กันเอาไว้ เผื่อจะได้ไม่ต้องขึ้นไปขุด ขึ้นไปทุบกันให้เมื่อยตุ้ม 🙂

ตัวอย่าง หินกรวดมน (conglomerate) ที่เกิดจากกรวดก้อนกลมมนคล้ายไข่เป็ด-ไข่ห่าน เชื่อมประสานกันเป็นหิน ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตลอดทางขึ้นเขาถมอรัตน์ แต่จะต่างจากรูปตัวอย่าง ตรงที่ หินที่พบบนเขาถมอรัตน์ ทั้งตัวกรวดมนและตัวเชื่อมประสาน ล้วนแต่เป็นเนื้อหินปูนเช่นเดียวกัน ซึ่งมีนัยสำคัญในการแปลความ สภาพแวดล้อมการสะสมตัวในอดีต ในทางธรณีวิทยา

ถมอรัตน์ เกิดมาได้ยังไง

เขาถมอรัตน์ ภูเขาหินมีค่า ชื่อนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย เพราะการที่จะเกิดหินกรวดมนในทางธรณีวิทยา ก็ใช่ว่าจะหากันได้ง่ายๆ ยิ่งด้วยความที่หินกรวดมนบนเขาถมอรัตน์ ทั้งตัวกรวดมนและตัวเชื่อมประสาน ล้วนแต่เป็นเนื้อปูนเหมือนกัน หรือที่เรียกในวงวิชาการธรณีว่า หินปูนกรวดมน (conglomeratic limestone) ยิ่งทำให้การแปลความสภาพแวดล้อมการสะสมตัวในอดีตยุ่งยากยิ่งขึ้น ถือเป็นหนึ่งในภูเขาปราบเซียนในทางการแปลความทางธรณีวิทยาเลยทีเดียว

แบบจำลองการเกิด หินปูนกรวดมน (conglomeratic limestone) ที่พบบนเขาถมอรัตน์

จากการสำรวจและแปลความในรายละเอียดของท่าน ดร. สมบูรณ์ โฆษิตานนท์ นักธรณีวิทยารุ่นใหญ่ของกรมทรัพยากรธรณี และทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ขมวดเส้นทางการเกิด หินปูนกรวดมน ในละแวกเพชรบูรณ์รวมถึง เขาถมอรัตน์ ไว้คร่าวๆ 3 เรื่องราว ดังนี้

ฉากที่ 1 : แนวชายฝั่งปะการัง

ในช่วง 250-300 ล้านปีก่อน หรือ ยุคเพอร์เมียน (Permian Period) ดินแดนแถบนี้มีสถานะเป็น แนวชายฝั่งปะการัง (barrier reef) ที่อุดมไปด้วยบรรพชีวินขนาดเล็กจำพวก ฟิวซูลินิด (fusulinid) ไครนอยด์ (crinoid) และปะการัง (coral) จำนวนมาก ซึ่งเมื่อบรรพชีวินตายลง ก็ตกสะสมตัวอยู่ร่วมกับมวล หินปูน (limestone) ที่ก็กำลังก่อร่างสร้างตัวอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน ตามแนวชายฝั่งปะการัง และสุดท้ายก็ได้เป็น หินปูนที่มีซากดึกดำบรรพ์ (fossilliferous limestone) โดยพบหินชุดนี้ในพื้นที่เขาถ้ำใหญ อ. น้ำหนาว จ. เพชรบูรณ์ ห่างออกไปทางตอนเหนือของเมืองศรีเทพ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีกำหนดให้เป็น หมวดหินเขาถ้ำใหญ่ (Khao Tham Yai Formation)

เพิ่มเติม : ฝั่ง . หาด . ชายฝั่ง . ชายหาด ต่างกันยังไง

(ซ้าย) เกาะปะการัง ฮาวาย สหรัฐอเมริกา (ขวา) แบบจำลองแนวปะการังนอกฝั่ง
(ซ้าย) หินปูนถูกย่อยให้มีขนาดเล็กเพื่อใช้ในการก่อสร้าง (ขวา) ภาพใต้กล้องจุลทรรศน์แสดงฟอสซิลขนาดเล็กที่สะสมตัวอยู่ในหินปูน (ที่มา : Bucur และคณะ, 2014)

ฉากที่ 2 : กำเนิดไข่ปูน

หมวดหินเขาถ้ำใหญ่ (Khao Tham Yai Formation) ถูกกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ยกตัวขึ้นกลายเป็นภูเขาริมทะเล เมื่อมวลหินปูนผุพังลงมาที่ริมฝั่ง คลื่นทะเลซัดมวลหินปูนให้กลิ้งไปกลิ้งมา ลบเหลี่ยมลบมุมกลายเป็น กรวดมนเนื้อปูน (limestone gravel) และริมทะเลบริเวณนั้นในวันนั้นก็กลายเป็น หาดหิน (rocky beach) หรือ หาดกรวด (shingle beach) ตัวอย่างในประเทศไทยที่เทียบเคียงได้ชัดที่สุด ได้แก่ หาดห้าสี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และ เกาะตะรุเตา อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ. สตูล เป็นต้น

ตัวอย่าง (ก) หาดหิน (rocky beach) พบตามชายฝั่งที่เป็นภูเขาสูง ลักษณะสัณฐานที่พบร่วม ได้แก่ หน้าผาทะเล (sea cliff) ถ้ำทะเล (sea cave) เว้าทะเล (sea notch) (ข) หินปูนกรวดมน (conglomeratic limestone) ที่สามารถพบได้ทั่วไปบนเขาถมอรัตน์

ฉากที่ 3 : เศษหินไหลหลาก

ในเวลาต่อมา กรวดมน (gravel) และ กรวดขนาดใหญ่ (boulder) ที่เคยซัดไปซัดมาอยู่ริมทะเล เกิดการไหลหลากลงไปในทะเลด้วยกระบวนการ เศษหินไหลหลากใต้ทะเล (sub-marine debris flow) ทำให้ตะกอนเคลื่อนย้ายไปยังสภาพแวดล้อมในมหาสมุทรที่เรียกว่า ไหล่ทวีป (continental shelf) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของสารละลาย แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เหมาะสำหรับการตกตะกอนเคมีเพื่อสร้างหินปูน กรวดมนเนื้อปูน (limestone gravel) และ กรวดขนาดใหญ่เนื้อปูน (limestone boulder) ที่ตกสะสมตัวบริเวณนั้น จึงถูกเชื่อมประสานด้วยสารละลายแคลเซียมคาร์บอเนต กลายเป็น หินปูนกรวดมน (conglomeratic limestone) บน เขาถมอรัตน์ วางตัวอยู่ชั้นบนสุดของ หมวดหินหัวนาคำ (Hua Na Kham Formation) ในทางธรณีวิทยา ซึ่งเมื่อกระบวนการธรณีแปรสัณฐานยกพื้นที่แถบนี้ขึ้นมา เกิดการผุพังบางส่วน ที่เหลืออยู่ก็กลายเป็น เขาถมอรัตน์ อย่างที่เราและคนศรีเทพเห็นอยู่ทุกวันนี้

เอวัง ก็มีด้วยประกาลฉะนี้ และนี่ก็คือการฟิเจอริ่งข้อมูลเขาถมอรัตน์ทั้งในมิติ โบราณคดี (archaeology) x ภูมินามวิทยา (toponymy) x ธรณีวิทยา (geology) เพียงเพื่อหวังว่า จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้าง ไม่มากก็น้อย

การไหล (flow) คือ การย้ายมวลที่มีน้ำเข้ามาปนร่วมกับมวล โดยน้ำที่พอขลุกขลิกจะเป็นตัวช่วยพยุงให้มวลเลื่อนไหลได้ดียิ่งขึ้น แบ่งตามขนาดตะกอนและปริมาณของน้ำได้ 3 ชนิด คือ 1) เศษหินไหลหลาก (debris flow) 2) ดินไหลหลาก (earth flow) และ 3) โคลนไหลหลาก (mud flow)

เพิ่มเติม : 6 รูปแบบภัยพิบัติจากการย้ายมวล กับความเข้าใจเรื่องดินถล่ม
ตัวอย่าง เศษหินไหลหลาก (debris flow) ที่เกิดขึ้นบนบกบริเวณใกล้เชิงเขา ถือเป็นภัยพิบัติทางธรณีวิทยาประเภทหนึ่ง

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: