เรียนรู้

ฝั่ง . หาด . ชายฝั่ง . ชายหาด ต่างกันยังไง

ถ้าจะเรียกแบบเหมาๆ ริมทะเล ถือเป็นพื้นที่สำคัญพื้นที่หนึ่งของมนุษย์ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ หรือแม้กระทั่งภัยพิบัติที่น้ำทะเลทำกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น สึนามิ คลื่นพายุซัดฝั่ง การกัดเซาะชาายฝั่ง ทั้งหมดทั้งมวลก็ล้วนแต่เกิดขึ้นบริเวณริมทะเลนี้ทั้งนั้น และในทางปฏิบัติเวลาเราจะนัดหรือชวนใครไปที่ริมทะเล เราก็จะเรียกริมทะเลนั้นแตกต่างกัน ตามความคุ้นชินของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น ฝั่ง ชายฝั่ง หาด ชายหาด ซึ่งในมุมมองของคนชอบเที่ยวทะเลอย่างผม ก็ไม่ได้ผิดแผกอะไร เพราะถึงเราจะนัดกันไป ฝั่ง ชายฝั่ง หาด ชายหาด ยังไงเราก็ไปถึงที่เดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองในมุมของนักวิชาการ ที่จะศึกษาบริเวณริมทะเลอย่างเป็นหลักเป็นการ คำว่า ฝั่ง ชายฝั่ง หาด ชายหาด นั้นมีความหมายแตกต่างกัน (ภาษาอังกฤษก็ใช้ไม่เหมือนกัน) และที่สำคัญ ฝั่ง ชายฝั่ง หาด ชายหาด ล้วนแต่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน

การเรียกชื่อส่วนต่างๆ บริเวณริมทะเล

1) ฝั่ง (coast) (หมายเลข 7) หมายถึง ส่วนของพื้นดินที่ติดกับทะเล แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการกระทำของทะเล โดยมีขอบเขตตั้งแต่ ชายฝั่ง (coast line) (หมายเลข 6) เข้าไปทางแผ่นดิน โดยปกติบริเวณชายฝั่งมักพบเป็น เนินทราย (sand dune) (หมายเลข 5) ที่เกิดจากกระบวนการพัดพาตะกอนทรายบริเวณหาดขึ้นมาตกทับถมกันโดยลม

2) หาด (shore) (หมายเลข 1) คือ บริเวณพื้นที่ที่ปกคลุมระหว่าง ระดับน้ำลงต่ำสุด ไปจนถึงบริเวณที่คลื่นน้ำทะเลสามารถเคลื่อนที่ไปถึง (หรือ ชายฝั่ง) ซึ่งบริเวณหาดจะได้รับผลกระทบจากคลื่นจากน้ำทะเลที่พัดเข้ามาในรูปแบบต่างกัน ส่วน ชายหาด (shoreline) (ช่วงเวลาในภาพ คือ หมายเลข 3) คือ แนวหรือขอบที่มีการกระเพื่อมของคลื่นน้ำในช่วงเวลาใดๆ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามกระแสน้ำขึ้น-น้ำลง โดยระดับต่ำสุดเรียกว่า ชายหาดต่ำสุด (low-tide shoreline) (หมายเลข 3) และระดับน้ำสูงสุดที่คลื่นเคลื่อนที่ขึ้นไปถึง เรียกว่า ชายหาดสูงสุด (high-tide shoreline) (หมายเลข 4)

นอกจากนี้ ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่เรามักจะใช้กันติดปาก คือ หน้าหาด (beach หรือ beach face) (หมายเลข 2) ซึ่งในทางธรณีวิทยานั้นหมายถึง โซนแคบๆ บริเวณที่น้ำทะเลมีการขึ้น-ลง ในช่วงนั้น โดยปกติ ถ้าสังเกตง่ายๆ คือ พื้นที่ริมทะเลที่ยังเปียกอยู่ให้เห็นในแต่ละช่วงเวลา ประมาณนั้น

การ์ตูนแสดงการแบ่งเขตชายฝั่งทะเล

ชนิดของฝั่ง

ก็อย่างที่อธิบายไป ชายฝั่ง (coast line) คือ แนวชายทะเลขึ้นไปบนบกจนถึงบริเวณที่มีลักษณะภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด มักมีลักษณะโค้งและเว้าแตกต่างกันออกไป บางพื้นที่ชายฝั่งก็เป็นหน้าผาหินสูงชัน และบางแห่งก็เป็นชายฝั่งระดับต่ำที่แทรกสลับอยู่ระหว่างภูเขาและโขดหิน นักธรณีวิทยาจำแนกชายฝั่งตามรูปลักษณ์ได้ 4 ประเภท คือ

1) ฝั่งยกตัว (emerged coast) คือ ฝั่งทะเลที่เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลก หรือน้ำทะเลลดระดับลง ทำให้บริเวณที่เคยจมอยู่ใต้น้ำโผล่ผิวน้ำขึ้นมา รูปร่างของแนวชายฝั่งมักเรียบตรง ไม่ค่อยเว้าแหว่งมากนัก สัณฐานที่พบในแถบฝั่งยกตัว ได้แก่ หน้าผาที่เกิดจากการกัดกร่อนของคลื่น (wave-cut cliffs) และ ตะพักทะเล (marine terraces)

แบบจำลองของฝั่งยกตัวแสดงภูมิลักษณ์แบบหน้าผาและตะพักทะเล
ฝั่งยกตัว รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

2) ฝั่งยุบตัว (submerged coast) คือ ฝั่งทะเลที่เกิดจากการยุบระดับต่ำลงของเปลือกโลก ทำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาท่วมบริเวณผืนดินชายฝั่ง เกิดเป็นแนวฝั่งใหม่ที่ถอยร่นจากแนวฝั่งเดิมเข้ามาในแผ่นดิน ฝั่งทะเลประเภทนี้ส่วนใหญ่มักเป็นหน้าผาชันมีสัณฐานที่พบได้แก่ ชายหาดขรุขระมากและชวากทะเลที่ลึกลงไปที่ปากแม่น้ำ

ซากต้นไม้ตาย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นชายฝั่ง เนื่องจากการทรุดตัวของแผ่นเปลือกโลก รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา

3) ฝั่งคงตัว (neutral coast) เป็นลักษณะฝั่งทะเลที่เปลือกโลกไม่มีการเคลื่อนไหวมาเป็นเวลานาน ทำให้แนวฝั่งคงที่ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพของแนวฝั่งตามปกติ

ฝั่งคงตัว ที่มีหาดเป็นทรายโดยส่วนใหญ่

4) ชายแนวปะการัง (coral reef) หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็น ฝั่งแบบอินทรีย์ (organic coast) เกิดบริเวณชายหาดน้ำตื้น 0-100 เมตร เกิดได้หลายแบบ

  • เกาะปะการัง (atoll) เป็นแนวปะการังที่เกิดรอบภูเขาไฟกลางมหาสมุทร เมื่อเกาะภูเขาไฟหยุดประทุ เย็นและยุบตัว แต่แนวปะการังก็ยังคงสร้างเพิ่มขึ้นสุดท้ายกลายเป็นวงแหวน พบมากในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และมหาสมุทรอินเดีย เช่น มัลดีฟส์, หมู่เกาะสิมิลัน และเกาะสีปาดัน ของมาเลเซีย
(ซ้าย) เกาะปะการัง ฮาวาย สหรัฐอเมริกา (ขวา) แบบจำลองแนวปะการังนอกฝั่ง
  • แนวปะการังนอกฝั่ง (barrier reef) เป็นแนวปะการังขนาดใหญ่โต มีความกว้างยาวนับเป็นร้อยกิโลเมตร ถูกแยกจากที่เกิดตามชายฝั่งทั่วไปโดยลากูน เช่น เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ในออสเตรเลีย เป็นแนวปะการังนอกฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • แนวปะการังชายฝั่ง (fringing reef) เป็นแนวปะการังที่เกิดรอบแผ่นดินปกติและโตไปทางทะเล มักเกิดในเขตน้ำค่อนข้างตื้น

ชนิดของหาด

หาด (beach) คือ บริเวณรอยต่อระหว่างพื้นทวีปและทะเล ส่วนใหญ่มักมีรูปร่างคล้ายพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ที่ควบคุมด้วยหัวหาด (head land) ทั้งบนและล่างของหาด โดยนักวิทยาศาสตร์แบ่งชายหาดเป็น 3 ประเภท คือ

1) หาดหิน (rocky beach) หรือ หาดกรวด (shingle beach) เป็นหาดที่มีหินหรือกรวดเป็นหลัก พบตามชายฝั่งที่เป็นภูเขาสูง ลักษณะสัณฐานพบร่วม ได้แก่แก่ หน้าผาทะเล (sea cliff) ถ้ำทะเล (sea cave) เว้าทะเล (wave-cut notch) เป็นต้น

2) หาดทราย (sand beach) เกิดจากการสะสมตัวของทรายและเศษเปลือกหอย แบ่งย่อยได้ 3 แบบ คือ 1) หาดยาว (long beach) ยาวหลายกิโลเมตรขนานไปกับแผ่นดินใหญ่ 2) หาดก้นอ่าว (pocket beach) เป็นอ่าวขนาดเล็กพบตามหัวหาดใกล้หลืบหน้าผา 3) หาดสันดอน (barrier beach) เป็นแนวสันทรายนอกชายฝั่ง

หาดทรายชนิดต่างๆ

ในทางธรรมชาติ หาดหินและหาดกรวดสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างอยู่เสมอ เช่น ในฤดูหนาวเกิดพายุบ่อยครั้ง คลื่นน้ำมีความยาวคลื่นสั้น พลังงานสูง ทรายบริเวณชายหาดถูกกัดเซาะและไปสะสมที่นอกหาด ทำให้ชายหาดสั้นและชันสูงและเปลี่ยนเป็นหาดกรวด ส่วนฤดูร้อนฝม พายุน้อยและคลื่นความยาวคลื่นสั้นพลังงานคลื่นต่ำ ทรายจากนอกหาดถูกพัดกลับมาที่ฝั่ง กลายเป็นหาดทราย วนกลับไปกลับมาเป็นวัฏจักร

แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงระหว่างหาดหินและหาดทราย
(ซ้าย) หาดหินในฤดูหนาว และ (ขวา) หาดทรายในฤดูร้อน

3) หาดเลน หรือ ที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึง (tidal flat) เป็นหาดที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง เกิดการสะสมตัวของตะกอนละเอียดที่ถูกพัดพาแขวนลอยมากับน้ำจนเป็นลานแบนราบ มักพบตามปากแม่น้ำที่ต่อเชื่อมกับทะเล ชะวากทะเล (estuary) พบบริเวณหาดเลนสองฝั่งปากแม่น้ำมีลักษณะคล้ายอ่าว แต่ตอนบนของปากแม่น้ำสอบเข้าคล้ายรูปกรวย เป็นแหล่งสะสมของตะกอนน้ำกร่อยจากแม่น้ำลำคลองผสมกับตะกอนน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำบางครั้งอาจพบ แนวชายฝั่งแบบป่าโกงกาง (mangroves) เกิดในโซนน้ำขึ้น-น้ำลง ในพื้นที่เขตร้อน

หาดเลนและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
สภาพแวดล้อมแบบปาชายเลน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: