เมืองนอกเป็นยังไงไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ เมืองไทยเราชอบอาศัยอยู่กันเป็นชุมชน จะเรียกคุ้มบ้าน หมู่ 8 หรือ นิคม ฯลฯ ก็สุดแล้วแต่ ซึ่งถ้ามองผ่านภาพถ่ายดาวเทียมอย่าง กูเกิ้ลเอิร์ธ (Google Earth) เราก็จะเห็นกลุ่มหลังคาบ้านกระจุกตัวกันเป็นหย่อมๆ ตามที่ราบในประเทศไทย โดยขนาดและรูปร่างของแต่ละชุมชน ก็ต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ บ้างก็กระจุกกันกลมๆ รีๆ หรือบางทีก็กระจายกันไปเรื่อย ไร้ทิศทาง
เข้าเรื่องเลยดีกว่า ย้อนกลับไปในอดีตหลัก 1,000 ปี ความอยากจะอยู่เป็นกลุ่มเป็นชุมชนของไทย ก็เริ่มมีหลักฐานให้เห็นแล้ว เพราะจากบันทึกการสำรวจของ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (Damrong Rajanubhap, HRH Prince, 1995) อธิบายว่า นอกจากภูมิภาคอื่นๆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสานขอไทย มีชุมชนโบราณอยู่หลายแห่ง ซึ่งหลักฐานบ่งชี้คือ คูคลองคนขุดที่เชื่อมต่อกันเป็นวงปิด หรือในทางวิชาการโบราณคดีเราเรียกกันว่า คูน้ำ หรือ คูเมือง (moat)
1) รู้ได้ไงว่าเป็นชุมชนโบราณ
ถามว่าแล้วแน่ใจได้ยังไง ว่าถ้าพบคูน้ำวงปิด จะต้องเป็นเมืองหรือชุมชนโบราณ เพราะเห็นหลายที่ส่องกูเกิ้ลเอิร์ธดูแล้ว ก็มีหลังคาบ้านคนปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ภายในคูเต็มไปหมด ตอบง่ายๆ คือ 1) จากศาสตร์ด้าน ธรณีสัณฐานวิทยา (geomorphology) นักธรณีวิทยาแค่เหล่ๆ มองคูน้ำ ก็ดีดนิ้วเป๊า !!! บอกได้เลยว่า คูน้ำวงปิดแบบนี้ไม่ใช่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ขุดขึ้น 2) นักโบราณคดีก็เคยลงสำรวจในหลายๆ พื้นที่ พบว่าภายในคูน้ำวงปิดแทบทั้งหมด มักจะพบหลักฐานโบราณวัตถุ ที่บ่งชี้ถึงชุมชนโบราณ ฝังอยู่ใต้ชั้นดินปัจจุบัน และ 3) ก็เห็นๆ กันอยู่ว่านิสัยพวกเราในปัจจุบันไม่ได้นิยมขุดคูน้ำรอบชุมชนหรือตัวเมือง แต่จะหนักไปทาง สร้างถนนบายพาสเลี่ยงเมือง ล้อมรอบเมืองเสียมากกว่า ทั้ง 3 ข้อ จึงเป็นเหตุผลว่าเมื่อพบเจอคูน้ำวงปิด หรือ คูเมือง (moat) นักโบราณคดีหรือนักธรณีวิทยาควรอนุมานในเบื้องต้นไปว่า ชุมชนหรือเมืองโบราณ
หากนักโบราณคดีในอนาคต ต้องการจะตามหาเราในยุคนี้ ก็คงส่องแผนที่ ภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อค้นหาว่า ถนนวงแหวนบายพาสเลี่ยงเมือง วนอยู่ตรงไหน เพราะนั่นก็น่าจะเป็นขอบเขตของเมืองหรือชุมชนในยุคนี้
“พบแล้วหลักฐานถนนเลี่ยงเมือง รอบชุมชนโบราณสระบุรี ข้อมูลบ่งชี้ ว่าสระบุรีไม่เล็กนะคร๊าบบบ”
ปัจจุบัน จากการไล่ส่องคลุมพื้นที่อย่างเป็นระบบด้วยภาพถ่ายดาวเทียมของกูเกิ้ลเอิร์ธ Reilly และ Scott (2015) พบและรายงานการมีอยู่จริงของคูเมืองในภาคอีสานทั้งสิ้นกว่า 300 ชุมชน โดยคูเมืองส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำมูล และบางส่วนน้อยที่ตั้งล้อตามแม่น้ำชี และจากการศึกษาวิจัยทางโบราณคดี บ่งชี้ว่าส่วนมาก ชุมชนเหล่านี้เกิดขึ้นและรุ่งเรืองอยู่ในช่วง ยุคเหล็ก (iron age) หรือประมาณ 500 ก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 600
2) เค้าขุดคูกันไปทำไม
ถามซื่อๆ ว่าแล้วจะขุดคูล้อมรอบให้เมื่อยทำไม อยากจะอยู่ตรงไหนก็อยู่กันเลย ตามสะดวก สาเหตุพื้นๆ ที่พอจะเดาเอาไว้ได้ก็คือ น่าจะเพื่อ 1) ปักปันขอบเขตเมือง 2) ป้องปรามสัตว์ร้าย 3) ป้องกันศัตรูต่างถิ่น รวมทั้ง 4) อาจจะเอาไว้กักเก็บน้ำกิน-น้ำใช้ ในยามจำเป็น แต่วัตถุประสงค์หลักๆ ที่มีการพูดถึงกันอย่างแพร่หลายก็คือ น่าจะเป็นการขุดเพื่อการกักเก็บน้ำไว้อุปโภค-บริโภค
ซึ่งจากการรีวิวงานวิจัยในอดีต พบว่ามีอยู่หลายงานวิจัยที่พยายามจะหาเหตุหาผลของการขุดคูล้อมรอบเมือง เช่น O’Reilly (2014) ศึกษาและขมวดความเชื่อที่ว่า ชนชั้นปกครองมักจะสั่งให้มีการขุดคูเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และเพื่อผันแจกจ่ายให้ประชาชนไปทำนา-ทำไร่ ในปีที่ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล เพราะถ้าใครมีหรือเป็นเจ้าของแหล่งน้ำก็จะแอบมีอำนาจเป็นนัยๆ ในการปกครองชุมชน นอกจากนี้ จากการใช้ เครื่องมือทางธรณีฟิสิกส์ (geophysic survey) เข้าสำรวจชั้นดินในเขตชุมชนโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบ 3 แห่งคือ บ้านโนนวัด บ้านโนนกลางน้อง และบ้านหนองหัวแรด จังหวัดนครราชสีมา Duke และคณะ (2016) พบว่ามี โครงสร้างทางวิศวกรรม เพื่อการเติมน้ำเข้าในคูน้ำ นั่นหมายความว่า คนโบราณไม่หน่อมแน้ม เรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะเรื่องการกักเก็บน้ำไว้ใช้
3) รูปร่างหลากหลายของคูน้ำ
ในบรรดากว่า 300 ชุมชนโบราณ ที่ว่า ตัวร่องหรือคูมักจะมีความกว้างอยู่ประมาณ 3-6 เมตร และขนาดพื้นที่ภายในคูน้ำ ที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณ มีหลากหลายขนาด 4 – 1,000 ไร่ แต่โดยเฉลี่ยก็ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่คูน้ำมักมีรูปร่าง วงรี (124 แห่ง) และ วงกลม (93 แห่ง) รองลงมาคือ สี่เหลี่ยมผืนผ้า 6 แห่ง และสี่เหลี่ยมจัตุรัส 1 แห่ง และบางส่วน (74 แห่ง) ไม่เป็นรูปทรงเรขาคณิต คาดว่าน่าจะเพราะต้องขุดล้อกับภูมิประเทศที่เอื้อในแถบนั้น หรือล้อกลับลำน้ำธรรมชาติที่อยู่ใกล้เคียง
4) จำนวนวงของคูน้ำ
จากที่สังเกตชุมชนโบราณส่วนใหญ่ เหมือนจะตั้งใจอยู่ห่างจากแม่น้ำไม่เกิน 500 เมตร และยิ่งอยู่บนพื้นที่ ตะพักธารน้ำ (river terrace) เมืองก็ยิ่งอยู่ใกล้แม่น้ำมากขึ้น แสดงถึงพฤติกรรมการตั้งถิ่นฐานที่ว่า นอกจากเก็บน้ำไว้ใช้ตามคูเมืองแล้ว คนสมัยก่อนก็ยังหวังพึ่งน้ำจากธรรมชาติด้วย
นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมการขุดคูน้ำล้อมรอบ ด้วยจำนวนวงแตกต่างกันที่ 1-5 วง ซึ่งแน่นอนส่วนใหญ่กว่า 80% มีคูน้ำไม่เกิน 1-2 วง แต่ที่น่าสังเกตคือในพื้นที่ที่มีคูน้ำ 3-5 วง (20%) มักตั้งอยู่บริเวณ ตะพักธารน้ำ (river terrace) ซึ่งอยู่ที่ระดับความสูงมากกว่า ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) หรือระดับแม่น้ำปัจจุบัน เหมือนจะบอกใบ้เป็นนัยๆ ว่าบริเวณตะพักธารน้ำ น้ำน่าจะไม่พอในภาวะปกติ แสดงถึงการปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพ เพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
เพิ่มเติม : ชนิดและภูมิลักษณ์ของธารน้ำ
5) ระดับการรุกล้ำของชุมชนปัจจุบัน
1) รุกพื้นที่ชุมชน – โดยในที่นี้หมายถึง การที่มีสิ่งปลูกสร้างหรือพื้นที่เกษตรกรรมปัจจุบัน เข้าไปตั้งอยู่ภายในพื้นที่ที่ล้อมรอบคูน้ำ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ภายในคูน้ำมักถูกรุกล้ำจากที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน คาดว่าอาจจะเนื่องจากพื้นที่เมืองที่มีคูน้ำโบราณเหล่านี้ เป็นพื้นที่ชุมชนอยู่แล้วในอดีต ด้วยภูมิประเทศที่ดี มีคูขุดที่ใช้กักเก็บน้ำที่ดี จึงไม่แปลกที่จะมีการใช้พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยเรื่อยมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความสามารถของบรรพบุรุษ ในการเลือกถิ่นฐานที่ตั้งที่เหมาะสมมาตั้งแต่ในอดีต ทั้งที่ยังไม่มีเครื่องมือสำรวจรังวัดพื้นที่ที่ทันสมัย
2) รุกคูน้ำ – จากข้อมูลที่สำรวจและตรวจสอบระดับการรุกล้ำคูน้ำโบราณกว่า 300 แห่ง พบว่ามีประมาณ 30% ที่คูน้ำถูกรุกเกินครึ่ง และเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เช่น ถูกถมเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทางการเกษตร และพื้นที่เพื่ออยู่อาศัย ประกอบกับการที่ในยุคปัจจุบันเรามีโครงสร้างชลประทานและปะปาที่ทันสมัยขึ้น จึงไม่แปลก ที่โครงสร้างกักเก็บน้ำโบราณเหล่านี้ จะถูกถมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น
และนี่ก็คือหลักฐานที่ยืนยันว่า ภาคอีสานของไทย เป็นที่อยู่อาศัยของคนมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth