เมื่อน้องๆ เลือกที่จะเดินเข้าสู่ดินแดน อุดมศึกษา ภารกิจด่านสุดท้ายก่อนที่จะได้มาซึ่ง ใบปริญญา ไม่ว่าจะเป็นคุณวุฒิ ตรี โท หรือ เอก น้องๆ จะต้องผ่านการทำ วิจัย (research) ในหัวข้อที่ตัวเองถนัดหรือสนใจ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการประมวลองค์ความรู้ และฝึกใช้ความรู้ที่น้องได้ร่ำเรียนมาตลอดระยะเวลา 3-4 ปี คำถามคือแล้ว วิจัย (research) คืออะไร ? ทำไมมันถึงดูศักดิ์สิทธิ์ ดูมีคุณค่า พอที่จะแลกกับใบปริญญา มากกว่ากิริยาแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา (study) การเรียนรู้ (learn) การสำรวจ (exploration) หรือแม้กระทั่ง การค้นพบสิ่งใหม่ (discovery) แล้วคำว่า วิทยานิพนธ์ (thesis) มันเลอค่ากว่า รายงานผลการทดลอง (experiment report) หรือ รายงานผลการสำรวจ (exploration report) ยังไง แบบไหนถึงจะเรียกได้ว่าเป็น วิทยานิพนธ์ (thesis) เพราะเท่าที่ตาเห็น มันก็เป็นแค่ปึกกระดาษห่อปกเหมือนๆ กัน

ในฐานะที่พี่เป็น นักวิจัยสายอร่อย + ย่อยง่าย และพี่ก็คิดว่าพี่น่าจะจัดจ้านในย่านนี้ เมื่อมีโอกาส ก็เลยอยากมาแชร์ประสบการณ์การทำวิจัยให้กับน้องๆ ผ่านตัวหนังสือ มันคงไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด (หวังว่า) แนะนำให้น้องทำใจร่มๆ อ่านไปเรื่อยๆ เพลินๆ เดี๋ยวพี่จะค่อยๆ คายตะขาบ ถ่ายทอด ออสโมซิสสู่กัน ?

  • การศึกษา (study) คือ การเพิ่มพูนความรู้จากบทเรียนที่มีการนำเสนอไว้ สิ่งที่ได้คือ องค์ความรู้ (knowledge)
  • เรียนรู้ (learn) คือ การฝึกหัดฝึกฝน ทั้งกระบวนการทางความคิดและการลงมือทำ ตามแนวทางที่มีการไกด์เอาไว้ สิ่งที่ได้คือ ทักษะ (skill) และ ประสบการณ์ (experience)
  • การทดลอง (experiment) คือ การลองผิดลองถูกตามชุด สมมุติฐาน (assumption) หรือชุด ตัวแปร (parameter) หรือชุด ปัจจัย (factor) ที่ตั้งวางไว้ เพื่อให้ได้มาซึ่ง ผลที่คาดว่าจะได้รับ (expected result)
  • สำรวจ (explore) คือ การค้นหาตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อพิสูจน์ทราบว่า เป้าหมายนั้นคืออะไร เช่น ไปสำรวจหินที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นหินอะไร สิ่งที่ได้คือ ผลการสำรวจ (exploration result) หรือ ความจริง (fact) ที่ปรากฏ
  • ค้นพบ (discover) คือ การค้นพบสิ่งใหม่ ข้อมูลใหม่ หรือองค์ความรู้ใหม่ มาโดยไม่คาดคิดมาก่อน สิ่งที่ได้คือ สิ่งใหม่หรือเรื่องราวใหม่ของโลก
ตัวอย่างกิริยา เรียนรู้ (learn) สิ่งที่ได้คือผลจาก ประสบการณ์ (experience) : 5 ลางสังหรณ์ ก่อนเกิดแผ่นดินไหว

1) วิจัยคืออะไร

วิจัย (research) คือ การค้นหาข้อเท็จจริง (มี ที่มาและความสำคัญของปัญหา) ที่มีเป้าหมาย (มี สมมุติฐาน และวัตถุประสงค์) ด้วยวิธีการที่น่าเชื่อถือ (มี ทฤษฏี ทบทวนงานวิจัยก่อนๆ) อย่างเป็นระบบ (มี วิธีการดำเนินงาน ผลที่คาดว่าจะได้รับ) เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและโลก ซึ่งประโยชน์หรือผลของงานวิจัยมีออกมาได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น 1) องค์ความรู้ใหม่ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ รู้ความจริงของธรรมชาติมากขึ้น 2) พิสูจน์ทราบความถูกต้องของกฎเกณฑ์ หลักการและทฤษฎีต่างๆ ที่เคยมีอยู่ 3) สนับสนุนการตัดสินใจด้านต่างๆ ให้เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น 4) คาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ทำให้ย้อนดูอดีตหรือมองอนาคตได้ชัดขึ้น หรือ 5) ปรับปรุงและพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น มนุษย์สามารถปรับตัวให้ดำรงอยู่ได้ง่ายขึ้น

2) วิจัยมีกี่แบบ

1) แบ่งตามศาสตร์การวิจัย ได้แก่

  • วิจัยทางวิทยาศาสตร์ วิจัยเชิงวัตถุ ทั้งที่มีและไม่มีชีวิต ซึ่งมีความเที่ยงตรง เพราะตรวจวัดจากเครื่องมือมาตรฐาน เช่น การวิจัยคุณสมบัติน้ำใต้ดินในเหมืองแร่ดีบุก
  • วิจัยทางสังคมศาสตร์ เน้นวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยใช้แนวคิดทางสังคมที่เป็นที่ยอมรับมาช่วยอธิบายเหตุผลในการสรุปผลการวิจัย เช่น การวิจัยพฤติกรรมการสร้างครอบครัวของชุมชนชายขอบ

2) แบ่งตามจุดหมายการวิจัย ได้แก่

  • วิจัยพื้นฐาน วิจัยเชิงทฤษฎี เพื่อสร้างรากฐานด้านแนวคิดหรือทฤษฎี วางไว้ให้ศึกษาต่อยอดต่อไปในอนาคต ไม่เน้นการประยุกต์ใช้ เช่น การวิจัยกำหนดค่าคงที่สำหรับสมการการผุพังของหิน
  • วิจัยประยุกต์ วิจัยที่เน้นนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิจัยประสิทธิภาพของผงซักฟอกจากสารเคมีประเภทต่างๆ

3) แบ่งตามรูปแบบข้อมูลการวิจัย ได้แก่

  • วิจัยเชิงปริมาณ วิจัยที่เก็บข้อมูลเป็นตัวเลข และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อสรุปผล เช่น การวิจัยการขยายตัวของประชากรในจังหวัดบุรีรัมย์
  • วิจัยเชิงคุณภาพ วิจัยที่เก็บข้อมูลเป็นข้อความ และนำมาวิเคราะห์สรุปผลการวิจัย โดยใช้การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาจากเหตุผลของนักวิจัย
นวัตกรรม (innovation) คือ การผลิตหรือประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบใหม่ (new product หรือ prototype) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และสร้างความสะดวกสบายให้กับมนุษย์โลก คนที่คิดค้นและทำขึ้นมา เรียกว่า นักประดิษฐ์ (inventor) โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว สามารถนำไปจด สิทธิบัตร (patent) ก็ถือว่าปิดเกมส์หรือโครงงานนั้นๆ ได้สมบูรณ์

วิจัย (research) คือ การค้นคว้า องค์ความรู้ใหม่ (new knowledge) ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ คนที่คิดค้น เรียกว่า นักวิจัย (researcher) และผลงานวิจัยส่วนใหญ่ ถ้าต้องการไปให้สุด ปิดเกมงานวิจัย มักจะต้องจบด้วย บทความวิจัย (research publication)

3) ตัวอย่างแหล่งทุนสนับสนุนการวิจัย

ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก เสนอตัวที่จะให้ทุนวิจัยด้านต่างๆ แทบทุกรูปแบบและสาขาวิชา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น

  • สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ www.nrct.net
  • สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา www.mua.go.th
  • สำนักงบประมาณ www.bb.go.th
  • ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ www.nectec.or.th
  • ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ www.mtec.or.th
  • ศูนย์พันธุวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ www.biotec.or.th

นอกจากนี้ นักวิจัยยังสามารถสืบค้นแหล่งทุนอื่นๆ ที่เป็นหน่วยงานภาคเอกชนได้เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ภาคเอกชนมักจะให้ทุนการทำวิจัย ในหัวข้อที่เอกชนนั้นสนใจ และเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อองค์กรหรือบริษัทนั้นๆ

4) จริยธรรมการทำวิจัย

นอกเหนือจากการทำและบริหารงานวิจัยให้ประสบผลสำเร็จ สิ่งสำคัญที่นักวิจัยควรตระหนักในการทำงานวิจัย คือ จริยธรรมการทำงานวิจัย ซึ่งหลักใหญ่ๆ ที่ควรทราบและปฏิบัติตามให้เป็นนิสัย ได้แก่ 1) งานวิจัยต้องเป็นประโยชน์ สร้างสรรค์และไม่ทำลายความสงบสุขของคนในสังคม 2) ผู้ทำวิจัยจะต้องซื่อสัตย์และเป็นกลาง ตลอดระยะเวลาการทำวิจัย 3) ไม่ขโมยความคิดหรือข้อมูลการทำงานของผู้อื่นๆ เพื่อมาเป็นผลการวิจัยของตนเอง (plagiarism) 4) รับผิดชอบกลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิจัย ทั้งเรื่องการเก็บความลับ และการป้องกันความเสียหาย และ 5) หากกลุ่มตัวอย่างเป็นมนุษย์ ต้องอธิบายถึงผลกระทบที่อาจได้รับอย่างครบถ้วน และต้องได้รับอนุญาตจากกลุ่มตัวอย่างก่อนทำวิจัย โดยกลุ่มตัวอย่างสามารถถอนตัวเมื่อไหร่ก็ได้

5) วิจัยเริ่มยังไง จบตรงไหน

เมื่อคิดจะทำวิจัย มีหลายสิ่งที่นักวิจัยควรตระหนัก คือ ควรเป็นงานวิจัยที่นักวิจัยนั้นรัก สนใจ และมีพื้นฐานความรู้อย่างแท้จริงอยู่แล้ว เพราะหากนักวิจัยไม่มีความเชี่ยวชาญหรือความชอบในงานวิจัยนั้น การวิจัยอาจล้มเหลวระหว่างทางได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ ข้อแนะนำที่ควรนึกถึงทั้งก่อนและระหว่างที่ทำวิจัย เพื่อให้งานวิจัยมีคุณค่าและสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เช่น 1) เป็นเรื่องใหม่ มีคุณค่า ทันต่อเหตุการณ์ 2) ไม่เกินไปทั้งในด้าน ความยากของงาน งบประมาณ การได้มาซึ่งข้อมูลศึกษา และเวลาที่ใช้ในการทำงาน เป็นต้น

งานวิจัย ไม่ใช่สนามฝึกหัดใช้เครื่องมือ หรือฝึกการใช้โปรแกรม นี่คือหน้าที่ที่นักวิจัยควรเป็นอยู่แล้ว ก่อนที่จะเริ่มงานวิจัย

ในการทำวิจัย องค์ประกอบสำคัญที่นักวิจัยต้องผ่าน เพื่อให้โครงการหรืองานวิจัยนั้นๆ สำเร็จเสร็จสิ้นและลุล่วงไปได้ด้วยดี ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ

  1. การเขียนและเสนอโครงร่างงานวิจัย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำวิจัย
  2. การศึกษาวิจัย ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการ วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งสมมุติฐานการวิจัย การทดลอง การวิเคราะห์ การอภิปรายและสรุปผล ตลอดจนอาจมีคำแนะนำเพื่อให้นักวิจัยท่านอื่นสามารถนำไปต่อยอดได้
  3. การเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งถือเป็นส่วนสุดท้ายที่สำคัญ ที่จะแสดงว่างานวิจัยนั้นประสบผลสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณะ รูปแบบของการเผยแพร่ ได้แก่ การเขียนรายงาน การผลิตสื่อต่างๆ หรือการตีพิมพ์บทความทางวิชาการทั้งในหรือต่างประเทศ

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: