วิจัย

EP. 2 : การเขียน โครงร่างงานวิจัย

โครงร่างการวิจัย (research proposal) หมายถึง แผนการดำเนินงานวิจัย ที่ปลุกปั้นขึ้นมาก่อนที่น้องจะทำวิจัย ซึ่งการเขียนโครงร่างการวิจัยมีประโยชน์อะไร ไม่เขียนได้ไหม น้องๆ ลองดู …

  • ใช้ยื่นขอทุนวิจัย เพราะเป็นสื่อที่จะส่งให้คนอนุมัติทุนเข้าใจและเห็นภาพว่างานวิจัยนั้นมีประโยชน์ ตอบโจทย์ปัญหา ถูกต้องตามหลักวิชาการ และทำได้จริงตามงบประมาณและห้วงเวลาที่กำหนด
  • ใช้เป็นกระจกสะท้อนคุณภาพงานวิจัย หลายคนอาจจะคิดว่า รวย !!! ฉันรวยใช้เงินวิจัยทำเองได้ไหม ความจริงก็ได้ แต่เป้าหมายของการส่งโครงร่างงานวิจัย ไม่ได้มีแค่ตังค์ เพราะส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ แนวคิดวิจัยของเราจะได้ผ่านมือผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review) ซึ่งเราก็จะได้คำสอนดีๆ ได้ข้อคิดเห็นและคำสะท้อน มาปรับใช้ในงานวิจัยของเราด้วย
  • ใช้เป็น check point ระหว่างการทำวิจัย หลายโครงการวิจัยมีกระบวนการทำงานที่สลับซับซ้อน การเขียนโครงร่างงานวิจัยก็เหมือนเราได้ พิมพ์เขียว (แผนการดำเนินงาน และตารางเวลาการดำเนินงาน) เอาไว้เช็คว่าสถานการณ์ของงานวิจัยไปถึงไหนแล้ว ทั้งในมิติงบประมาณ เวลาที่เหลือ หรือแม้กระทั่งผลที่ได้รับ ว่ายังโอเคอยู่ไหม โดยเฉพาะโครงงานวิจัยที่ทำงานกันเป็นทีม การมีพิมพ์เขียวร่วมกัน จะช่วยให้ทุกคนในทีม เดินทางไปในจุดหมายเดียวกัน
  • ใช้เป็นหลักประกันหรือข้อผูกมัดสัญญา ระหว่างนักวิจัยผู้รับทุนและหน่วยงานผู้ให้ทุน ซึ่งข้อนี้น้องๆ ควรต้องให้ความสำคัญ เพราะสุดท้ายเมื่อได้รับทุนวิจัย โครงร่างงานวิจัยก็จะกลายเป็น เหมือนสัญญาผูกมัด ดังนั้นการสัญญาไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ 1) วัตถุประสงค์ หลายๆ ข้อ 2) ผลที่คาดว่าจะได้รับ มากมาย 3) ขอบเขตงานวิจัย ที่เปิดกว้าง หรือแม้กระทั่ง 4) ห้วงเวลาที่คิดว่างานจะเสร็จ ทุกอย่างต้องเขียนด้วยสติ
เมื่อน้องไม่เข้าใจงานวิจัยที่จะทำอย่างแท้จริง เชื่อเหอะ !!! ยังไงน้องก็เขียนโครงร่างงานวิจัยได้ไม่ดี แต่เมื่อไหร่ที่น้องเขียนโครงร่างงานวิจัยได้ดี นั่นหมายความว่า วันนั้นน้องเข้าใจงานวิจัยที่จะทำอย่างถ่องแท้แล้ว ภาพทุกอย่างมีอยู่ในหัว ทุกขั้นตอน เหลือแค่ได้รับการอนุมัติทุน และเริ่มทำ ดังนั้นเขียนให้ดี สร้างงานวิจัยในอากาศให้ชัดที่สุด แล้วน้องจะปลอดภัยในการทำวิจัย

แล้วจะเริ่มเขียนยังไง แบ่งหัวข้อแบบไหน แล้วต้องบอกอะไรบ้าง ถึงจะเรียกว่าดี ก็ถ้าพูดกันตรงๆ จะเขียนยังไงก็ได้ ที่เล่าเรื่องแล้ว ทำให้คนให้ทุนเห็นภาพว่างานนี้จะทำได้ดีและสำเร็จ แต่ก็นั่นแหละ จากงานวิจัยเป็นหมื่นเป็นแสนเรื่อง ที่รุ่นพี่ๆ เขาเคยทำไว้ พอขมวดดีๆ สุดท้ายมันก็จะมีหัวข้อที่ควรจะเล่าตามลำดับอยู่ประมาณนี้ ที่พี่อยากแนะนำ

  1. ชื่อเรื่อง
  2. ที่มาและความสำคัญ
  3. วัตถุประสงค์
  4. ทฤษฎี
  5. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  6. ระเบียบวิธีวิจัย
  7. ระยะเวลาการดำเนินงาน
  8. ขอบเขตการวิจัย
  9. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
  10. งบประมาณ
  11. เครื่องมือวิจัย
  12. บรรณานุกรม
  13. ประวัติผู้วิจัย
เขียนโครงร่างการวิจัยให้ดีต้องเขียนยังไง ?
ก็เขียนให้อ่านแล้ว หลับตานึกได้ว่า แค่ทำตามโครงร่างงานวิจัย ยังไงก็สำเร็จ ยังไงก็เสร็จ ก็แค่นั้น !!!

1) ชื่อเรื่อง

ชื่อเรื่อง (title) น้องควรเขียนให้กระชับและน่าสนใจ สื่อถึงวิธีการ กลุ่มตัวอย่างและพื้นที่ศึกษา หรืออาจใช้ คำสำคัญ (key word) มาประกอบกันเป็นชื่อเรื่องก็ได้ เช่น การประเมินระดับอันตรายจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย หรืออาจเพิ่มเติมแนวทางการประยุกต์ใช้ในชื่อเรื่อง เพื่อให้คนพิจารณาเห็นความสำคัญของงานวิจัยมากขึ้น เช่น “การประเมินระดับอันตรายจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย เพื่อการประยุกต์ใช้ในการออกแบบก่อสร้างอาคารสูง”

2) ที่มาและความสำคัญ

ที่มาและความสำคัญ (background and rationale) หัวข้อนี้น้องต้องเขียนเหนี่ยวนำให้คนอ่านตระหนักว่าเกิดปัญหาขึ้น และปัญหาต้องการคำตอบ จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งในส่วนของพี่ มุกที่พี่ชอบใช้คือ พี่จะแบ่งเป็น 3 ย่อหน้า ดังนี้

  • ความสำคัญในมิติพื้นที่ศึกษา เป็นส่วนเริ่มต้นที่จะบอกว่าพื้นที่ศึกษาเกิดปัญหา แล้วดึงดาม่าว่าถ้าไม่มีการศึกษา (อย่างเร่งด่วน) จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เราได้ศึกษาวิจัยในพื้นที่นี้
  • ความสำคัญในมิติของวิธีการศึกษา พี่จะเปิดด้วย มีวิธีอะไรบ้างที่เคยมีการใช้ศึกษาประเด็นวิจัยที่เรากำลังจะทำ ลิสต์มาเลย 1-2-3-4 พร้อมทั้งใส่ อ้างอิง กำกับไว้เป็นยันต์เพิ่มความขลัง และเพื่อโชว์พาวฯ ว่าเราไปรีวิวมาครอบคลุม แล้วก็ตบท้ายด้วยว่าวิธีการที่เราเลือกใช้ดีที่สุด ด้วยเหตุผลอย่างโน้นอย่างนี้
  • ขมวดจบ ว่าจะใช้วิธีการที่เลือกแล้วว่าดีกับพื้นที่ศึกษา และบอกผลที่ได้ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เช่น แผนที่ชุดข้อมูล และ ผลที่ได้มาเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

ทั้ง 3 ย่อหน้านี้ พี่จะเขียนไม่เกิน 3 ใน 4 ของกระดาษ A4 ต่อสุดๆ เลยก็อย่าให้เกินหนึ่งหน้ากระดาษ A4 ไม่งั้นมันจะบานปลายกลายเป็นเวิ่น เดี๋ยวคนอ่านเค้าจะเซ็งเอา เลิกอ่านงานน้องเอาง่ายๆ

3) วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ของการวิจัย (objective) สไตล์พี่ มีหลักควรรู้ ประมาณนี้

  • วัตถุประสงค์ต้องเขียนเป็นข้อๆ ไม่พรรณนาเป็นแบบย่อหน้า บางแหล่งทุน ตีตารางมาให้เราเลย เป็นข้อๆ แนวนอน และมี 2 คอลัมน์ ฝั่งซ้ายใส่ วัตถุประสงค์ ส่วนฝั่งขวาใส่ ผลที่คาดว่าจะได้รับ ชัดเจนมั๊ยหละที่นี้
  • วัตถุประสงค์แต่ละข้อ ต้องหลับตาแล้วนึกออกว่า ผลผลิตจะออกมาเป็นอะไร อย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ เช่น ชุดข้อมูล สมการความสัมพันธ์ แผนที่ สูตร ฯลฯ
  • วัตถุประสงค์ไม่ควรมีเยอะ เดี๋ยวจะทำไม่ทัน งานวิจัยหนึ่งชิ้นมีวัตถุประสงค์แค่ 1-2 ข้อก็ไม่แปลก และส่วนใหญ่ ข้อ 2 จะเป็นวัตถุประสงค์จริงๆ เมื่อทำวิจัยเสร็จก็จะได้ตามวัตถุประสงค์ ส่วนข้อแรกก็เป็นวัตถุประสงค์น้ำจิ้มระหว่างทางที่กว่าจะได้งานตามข้อ 2 ยังไงก็จะต้องผ่านข้อแรกอยู่ดี
  • นักวิจัยบางคนกลัวไม่ได้ทุนวิจัย เขียนวัตถุประสงค์ไป 7-8 ข้อ พอเขาให้ตังค์มาทำวิจัย คราวนี้เค้าก็ล็อคคอเลย เพราะการที่จะประเมินว่าโครงการนี้สำเร็จ ก็คือต้องเช็คตามวัตถุประสงค์ ว่าทำวิจัยตอบวัตถุประสงค์ครบหรือไม่ หน้าเหลืองไหมล่ะทีนี้
  • ตัวอย่างวัตถุประสงค์ 1) ได้เรียนรู้การใช้งานเครื่องมือ ก. 2) ได้หัดใช้โปรแกรม ข. สุดล้ำ และ 3) ได้ประสบการณ์ในด้านการทำงานแบบ ค. พวกนี้ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ทั้งสิ้น เพราะคนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่สังคม แต่เป็นตัวผู้วิจัยล้วนๆ ลองคิดดูดีๆ มันจะมีทุนไหนในโลกที่จ่ายตังค์ให้ไปทำวิจัย เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนักวิจัย
งานวิจัยไม่ใช่สนามฝึกวิชา ให้น้องมาหัดโน่นฝึกนี่ ทักษะคุณน้องต้องมั่นแล้ว น้องถึงจะควรค่าแก่การมาเอาตังค์ไปทำวิจัย

4) ทฤษฎี

ทฤษฎี (theory) น้องต้องเขียนให้เข้าใจถึงหลักการของทฤษฎี 1) ทฤษฎีว่ายังไง 2) สมการหรือหลักความสัมพันธ์มีไหม 3) มีตัวแปรอะไรที่ต้องใช้บ้าง (ถ้าต้องยึดหลักทฤษฎีนี้) และ 4) ผลจะออกมายังไง ในรูปแบบไหน 5) อาจอธิบายเพิ่มเติมว่า หากผลที่ได้มีค่าน้อย หมายถึงอะไร และค่ามากหมายถึงอะไร

อีกหนึ่งหลักคิดที่พี่อยากฝากน้องๆ ไว้ในเรื่องทฤษฎี คือ งานวิจัยของน้อง 1) ต้องการปรับแก้ตัวแปรหรือทฤษฎี หรือ 2) ต้องการใช้ทฤษฎีเป็นแค่เครื่องมือวิจัย ซึ่งถ้าใช้แค่เป็นเครื่องมือวิจัย น้องอาจจะอธิบายหลักการแค่คร่าวๆ แต่เน้นหนักเรื่องตัวแปรนำเข้า และผลที่ออกมา แต่หากน้องต้องการจะปรับแก้ตัวแปรหรือทฤษฎี น้องควรอธิบายทฤษฎีอย่างละเอียด

5) งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ในการรีวิวงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หรืองานวิจัยที่เคยมีคนทำไว้แล้วในอดีต จริงๆ มีอยู่ 2 วัตถุประสงค์ คือ

1) รีวิวเชิงพัฒนาการของพื้นที่ว่ามีการทำวิจัย (ที่เกี่ยวข้อง) อะไรไปแล้วบ้าง (จริงๆ พี่มักจะเขียนส่วนนี้ในหัวข้อ 1) ที่มาและความสำคัญ) ซึ่งการเล่าเรื่องควรจะเป็นไปตามลำดับเวลาของการทำงานวิจัยนั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นพัฒนาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญหา และควรมีการสรุป เพื่อให้ผู้อ่านเห็นส่วนที่ยังขาดการศึกษา และจำเป็นต้องศึกษา ซึ่งการเขียนส่วนนี้ในตอนต้น 1) ที่มาและความสำคัญ ยังช่วยให้เราตั้ง ประเด็นปัญหาการวิจัย และสมมติฐานงานวิจัยได้ชัดขึ้นด้วย

2) รีวิวเชิงทฤษฎี เทคนิคและวิธีการทำวิจัย (ซึ่งพี่มักจะเขียนไว้ในหัวข้อนี้) ว่าเขาทำกันยังไง และชาวบ้านชาวเมืองเค้าทำกันบ้างไหม แล้วเค้าประสบความสำเร็จกันใช่ไหมที่ใช้ทฤษฎีนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าทฤษฎีที่เราเลือกมานั้นน่าเชื่อถือ โดยพี่จะเขียนเป็นข้อๆ ข้อละ 6-7 บรรทัด และมีรูปประกอบของงานวิจัยในแต่ละเรื่อง

เกร็ดความรู้ : การรีวิวงานวิจัยในอดีต

  • ในมุมมองของพี่ บทความวิชาการ หรือ เปเปอร์ (publication) เป็นแค่ คู่มือ (tutorial) ที่มีไว้สกัดเอาส่วนที่เราจะใช้ ไม่ใช่ ตำรา-หนังสือ (book) ที่เราต้องอ่านให้จบ ตลอดชีวิตการทำงานวิจัยของพี่ พี่ไม่เคยอ่านเปเปอร์จบเลยแม้แต่เรื่องเดียว พี่จะสแกนผ่านๆ แล้วอ่านเฉพาะสิ่งที่จะใช้ แล้วก็จะกลับมาอ่านใหม่ ถ้าอยากรู้อะไรเพิ่มเติม ลองดูๆ เวิร์กๆ
  • หนักกว่านั้นคือ ถ้าไม่จำเป็นพี่จะไม่อ่านตัวหนังสือ แต่จะฝึกดูรูปและตารางในเปเปอร์ แล้วเดาว่าเค้าจะสื่อว่าอะไร จากนั้นคิดในใจว่า ถ้าเราจะทำรูปหรือตารางแบบนี้ เราจะทำได้ไหม ทำยังไง ถ้าคิดแล้วว่าทำได้ ก็จบ
  • อันนี้จำเป็น สุดท้ายพี่จะอ่านส่วน วิพากษ์และสรุป (discussion and conclusion) เพื่อดูว่าจากผลที่ได้ (ทั้งรูปและตาราง) คนเขียนเค้าโม้ไปในแนวทางไหน ยังไง เพื่อเอาลีลานั้นมาปรับใช้กับการโม้ผลวิจัยของเรา

อยากให้น้องๆ ลองดูนะ !!! มั่นใจในตัวเอง ลองฝึกเดาความหมายรูปและตาราง ถ้าเดาไม่ออกจริงๆ ค่อยอ่านคำอธิบายใต้รูปและใต้ตาราง ก็น่าจะเดาออกแล้ว หรือถ้าสุดจริงๆ การอ่านตัวหนังสือเหนือรูปและตาราง ค่อยทำเป็นคำตอบสุดท้าย ไม่ต้องกลัวว่าจะเดาผิด พี่ลองแล้วเดาไม่ค่อยผิด

แล้วถ้าน้องทำได้ น้องจะประหยัดเวลาในการรีวิวงานวิจัย แล้วในเวลาที่เท่ากัน น้องจะได้เห็นงานวิจัยกว้างกว่าคนอื่น เพราะได้ดูเปเปอร์หลายชิ้น จงก้าวข้ามทักษะการสืบค้นข้อมูล แน่นอน ก้าวแรกมันอาจจะสุดแสนทรมาน พยายามอีกไม่นาน เราจะพบอิสรภาพ ในการทำวิจัย ไม่ต้องก้าวตามตูดใคร ฉีกงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิผล เชื่อพี่ !!! พี่เคยทำมา

แล้วต้องทำยังไงถึงจะแตกฉานกับงานวิจัยที่จะทำ ?
ก็อ่านงานวิจัยในอดีตที่เกี่ยวข้องกับเราไง ในเปเปอร์เขาทำยังไง เราทำแบบเขาได้ไหม ถ้าทำได้ ก็จบ
แล้วงานวิจัย ทำแค่ไหนถึงจะพอ ?
ก็ดูตามเปเปอร์ไง 1 เปเปอร์ เขาทำแค่ไหน แล้วเขาตีพิมพ์ได้ ถ้าเราทำแค่นั้น สุดท้ายงานเราก็มีปริมาณพอตีพิมพ์ได้ เมื่อตีพิมพ์ได้ ก็จบ แล้วแต่กฏของมหาวิทยาลัย บางที่ ป. โท จบได้ด้วย 1 เปเปอร์ ป. เอก จบ 2 เปเปอร์ ถ้าเราทำได้ตามนั้น แล้วมันจะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่จบ 🙂

6) ระเบียบวิธีวิจัย

ระเบียบวิธีวิจัย (research methodology) น้องๆ หลายคนอาจจะสับสนว่า มันเหมือนหรือต่างกันยังไงกับหัวข้อ ทฤษฎี (theory) ที่เพิ่งผ่านมาเมื่อกี้ พี่ยกตัวอย่างง่ายๆ โครงการวิจัยไข่เจียวแห่งชาติ ในส่วนของทฤษฎี พี่จะเขียนว่าการที่ ไข่สดจะกลายเป็นไข่เจียวได้ ตามหลักการต้องได้อุณหภูมิอย่างน้อย 70-80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 นาที โดยต้องมีน้ำมันพืชเป็นตัวหล่อลื่นในการช่วยเจียว … อะไรประมาณนี้

ส่วนในหัวข้อระเบียบวิธีวิจัย พี่จะทำ แผนผังขั้นตอนการทำงาน (flow chart) โดยแต่ละข้อก็จะประมาณว่า ขั้นตอนที่ 1) ตั้งกระทะแล้วใส่น้ำมันรอจนน้ำมันร้อน ผลที่ได้รับในขั้นตอนนี้คือ น้ำมันร้อน 2) ตอกไข่ใส่ลงไปในกระทะ 3) พลิกด้านไข่ เพื่อกันไข่ไหม้ด้านเดียว 4) ยกมาสะเด็ดน้ำมันและซับด้วยกระดาษทิชชู ผลที่ได้คือ ไข่เจียว ถึงตรงนี้ถ้าน้องยังไม่เข้าใจว่าทฤษฎีและระเบียบวิธีวิจัยต่างกันยังไงรบกวนอ่านอันนี้อีกรอบนะครับ

คราวนี้สิ่งที่พี่จะแนะนำในการเขียนระเบียบวิธีวิจัยคือ 1) น้องๆ ควรมี แผนผังขั้นตอนการทำงาน (flow chart) เพื่อสรุปภาพรวมขั้นตอนการทำงานทั้งโครงการวิจัย 2) แต่ละหัวข้อนำมาเขียนเป็นตัวหนังสือซักสองสามบรรทัดเพื่ออธิบายรายละเอียดการทำงาน และผลที่จะได้ในแต่ละขั้นตอนย่อย แค่นี้ก็จบแล้ว

ส่วนในการคิดสเต๊ปขั้นตอนการวิจัยว่าควรมีกี่ข้อดี สำหรับพี่ท้ายที่สุดแล้ว หัวข้อในแต่ละขั้นตอนจะกลายไปเป็น สารบัญ (content) หรือ บทที่ (chapter) ในช่วงตอนเขียนเล่มวิทยานิพนธ์ ดังนั้นน้องควรเขียนให้ชัด และนึกให้ออกว่าในเล่มของน้องจะมีกี่บท และแต่ละบทจะมีขั้นตอนอะไรบ้าง

แล้วเราจะแน่ใจได้ไงว่า เราจะทำวิจัยได้ ก็ยังไม่ได้ทำ ?
ในเปเปอร์ นอกจากตัวหนังสือยึกๆ ยือๆ ดูดีๆ มันจะมีอยู่แค่นี้ 1) ตาราง 2) รูปภาพ น้องลองหลับตานึกดูว่าน้องสร้างตารางและรูปภาพพวกนั้นได้ไหม แล้วถ้าจะสร้างต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้าง และถ้าใช้ข้อมูลอะไรบ้าง น้องต้องไปตรวจวัดหรือวิเคราะห์สังเคราะห์ยังไง ถ้านึกภาพออกก็แสดงว่าน้องทำได้ เชื่อพี่พี่เรียนมา

7) ระยะเวลาการดำเนินงาน

ระยะเวลาการดำเนินงาน (research schedule) น้องต้องระบุถึงระยะเวลาที่จะใช้ในการดำเนินงานวิจัยทั้งหมดว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนในแต่ละขั้นตอน ซึ่งรูปแบบในการนำเสนอส่วนใหญ่ก็จะเป็นตารางปฏิบัติงาน ในรูปแบบของ แผนภูมิแกนต์ (Gantt chart) ตามรูปด้านล่าง โดยหลักการเขียนส่วนนี้ที่พี่ใช้ คือ 1) จำนวนหัวข้อการทำงานวิจัยจะต้อง = จำนวนหัวข้อของระเบียบวิธีวิจัย ในหัวข้อก่อนหน้านี้ 2) การกำหนดหรือขีดช่วงเวลาการทำงาน ถ้าจะเอาแบบถัวๆ ก็แค่ขีดกระเถิบๆ เลี้ยงไปให้ถึงวันสุดท้ายตอนจบโครงการ แต่อยากให้น้องแอบคิดไว้หน่อยว่า เรื่องฤดูกาลอาจมีผล ถ้าน้องต้องออกสนามนอกพื้นที่ ให้ดูดีดีว่างานน้องถูกฝนได้ โดนแดดร้อนได้หรือไม่ แล้วจะเลี้ยงระยะเวลายังไง ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการทำวิจัย

อีกประเด็นสุดท้ายคือ ในหลายๆ โครงการวิจัย มักจะกำหนดให้นักวิจัยนำเสนอ รายงานความก้าวหน้า (progress report) 1-3 ครั้ง ตามแต่ละแหล่งทุน ซึ่งการกำหนดเวลาในแต่ละขั้นตอนการดำเนินงาน ควรสอดคล้องกับระยะเวลาการนำเสนอความก้าวหน้า พูดง่ายๆ คือในแต่ละการนำเสนอรายงานความก้าวหน้า ควรมีผลงานตามทาง ออกมาอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

8) ขอบเขตการวิจัย

ขอบเขตการวิจัย (scope of study) สืบเนื่องจากธรรมชาติของบางงานวิจัยไม่จบในตัว นักวิจัยไม่สามารถศึกษาให้ครบทุกประเด็นปัญหาได้ ภายใต้ระยะเวลาและงบประมาณที่จำกัด ดังนั้นจึงต้องกำหนดขอบเขตของการศึกษาให้แน่นอน ว่าจะครอบคลุมอะไรบ้าง ที่เพียงพอต่อการขมวดและสรุปประเด็นวิจัยได้อย่างมีประสิทธิผล

ซึ่งในส่วนนี้ พี่อยากให้น้องเขียนอย่างระมัดระวัง เพราะมันจะเหมือนเป็นคำสัญญากับผู้ให้ทุนว่า เราต้องทำอะไรบ้าง เก็บตัวอย่างจำนวนเท่าไหร่ ต้องไปพื้นที่กี่ครั้ง มีการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคอะไร วิเคราะห์กลับตัวอย่างทุกตัวไหม รายละเอียดพวกนี้เราต้องใส่ให้ชัดเจน เพราะสุดท้ายทำเกินได้ แต่ทำขาดอาจไม่ค่อยโอเค

9) ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ (expected output outcome) ให้น้องเขียนอธิบายถึงประโยชน์ที่จะนำไปใช้ได้จริง ทั้งในด้านวิชาการ เช่น จะเป็นการค้นพบทฤษฎีใหม่ซึ่งสนับสนุนหรือ คัดค้านทฤษฎีเดิม และประโยชน์ในเชิงประยุกต์ เช่น นำไปวางแผนและกำหนดนโยบายต่างๆ หรือประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อหาแนวทางพัฒนาให้ดีขึ้น เป็นต้น โดยครอบคลุมทั้ง ผลในระยะสั้น และระยะยาว ทั้งผลทางตรง และทางอ้อม และน้องควรระบุในรายละเอียดว่า ผลดังกล่าว จะตกกับใครเป็นสำคัญ ซึ่งถ้าเป็นในกรณีแหล่งทุนจากเอกชน หากเขียนผลการวิจัยให้ออกมา แล้วเป็นประโยชน์กับแหล่งทุนก็จะเป็นการดี

11) งบประมาณ

งบประมาณ (budget) น้องควรเขียนแบ่งเป็นหมวดๆ ว่าแต่ละหมวดจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งในส่วนนี้พี่ว่าน้องล้อไปกับแหล่งทุนจะง่ายกว่า เพราะในแต่ละแหล่งทุนจะแบ่งหมวดมาให้อยู่แล้ว น้องแค่เติมตัวเลขที่น้องคิดว่าต้องใช้ในการทำวิจัยก็พอ หมวดทั่วๆ ไป ที่เขามีให้เกือบทุกแหล่งทุน ได้แก่ หมวดค่าตอบแทน หมวดค่าใช้สอย (วัสดุ) หมวดดำเนินการหรือบางแหล่งทุนอาจจะมี หมวดครุภัณฑ์ เป็นต้น

อีกเรื่องคือ น้องควรรู้ยอดเงินงบประมาณสูงสุดต่อโครงการที่แหล่งทุนนั้นๆ จะให้การสนับสนุนด้วย เนื่องจากถ้าน้องตั้งงบประมาณไว้สูงเกินไป ก็จะลดหรืออาจหมดโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุน

11) เครื่องมือวิจัย

เครื่องมือวิจัย (tool and equipment) ในบางแหล่งทุนเค้าอาจจะถามถึง ซึ่งที่ต้องใส่เครื่องมือ เพราะเขาอยากรู้ว่า เราใช้เครื่องมืออะไร น่าเชื่อถือไหม แล้วมีที่ไหนบ้างที่มีเครื่องมือเหล่านี้ เพราะถ้ามันเสียมีทางหนีทีไล่หรือไม่ อันนี้คือจุดประสงค์หลักของการใส่รายละเอียดเครื่องมือ

12) บรรณานุกรม

บรรณานุกรม (references) หรือ เอกสารอ้างอิง ตอนสุดท้ายของโครงร่างการวิจัย จะต้องมีรายการอ้างอิง ซึ่งประกอบไปด้วยรายละเอียดของ บทความวิชาการ หนังสือ ตำรา หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่น้องเคยกล่าวอ้าง หรืออ้างอิงในเนื้อหาโครงร่างงานวิจัย โดยรูปแบบที่ใช้ควรเป็นไปตามสากลนิยม เช่น

  • กรมชลประทาน 2548. งานศึกษาแก้ไขและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโครงการท่าแซะ จังหวัดชุมพร ในส่วนการศึกษาค่าสำรวจคาบอุบัติซ้ำ (รอยเลื่อนระนอง). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, กรมชลประทาน, กรุงเทพมหานคร: 113 หน้า.
  • กรมทรัพยากรธรณี 2551. แผ่นดินไหวโบราณของกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม, กรมทรัพยากรธรณี, กรุงเทพมหานคร: 139 หน้า.
  • Pailoplee, S. 2009. Seismic Hazard Assessment in Thailand using Probabilistic and Deterministic Methods. Ph.D. Thesis, Department of Geology, Faculty of Science, Chulalongkorn University: 163p.
  • Pailoplee, S. 2013. Mapping Asperities along the Sagaing Fault Zone, Myanmar using b-value Anomalies. Journal of Earthquake and Tsunami, 7(5): 1371001-1-12.
  • Kobayashi, S., Takahashi, T., Matsuzaki, S., Mori, M., Fukushima, Y., Zhao, J.X. and Somerville, P.G. 2000. A Spectral Attenuation Model for Japan Using Digital Strong Motion Records of JMA87 Type. The 12th World Conference on Earthquake Engineering, 30 January – 4 February, Auckland, New Zealand: 146-150.
  • Krabbenhoeft, A., Weinrebe, R., W., Kopp, H., Flueh, E.R., Ladage, S., Papenberg, C., Planert, L. and Djajadihardja, Y. 2010. Bathymetry of the Indonesian Sunda Margin-relating Morphological Features of the Upper Plate Slopes to the Location and Extent of the Seismogenic Zone, Natural Hazards and Earth System Science, 10: 1899-1911.

13) ประวัติผู้วิจัย

ประวัติของผู้ดำเนินการวิจัย (biography) เป็นข้อมูลที่ผู้ให้ทุนวิจัยมักจะใช้ประกอบการพิจารณาให้ทุนวิจัย ประวัติผู้วิจัย ควรประกอบด้วยประวัติส่วนตัว (เช่น อายุ เพศ การศึกษา) ประวัติการทำงาน และผลงานทางวิชาการต่างๆ เกี่ยวข้องกับหัวข้องานวิจัย ที่อยู่ในโครงร่างงานวิจัย

ดังนั้น น้องๆ ครับ โปรดเล่าเนื้อหาการเดินทางของชีวิตคุณเฉพาะในด้านวิชาการ ผลงานวิจัยที่ผ่านมาว่าได้ทำอะไรไปบ้าง มีการเผยแพร่ผลงานอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ “ฉันชอบกินข้าวกระเพาไก่” ไม่เอา !!! ซึ่งประวัติผู้วิจัยแต่ละคนขอ 1-2 หน้า ก็คงพอ และถ้ามีนักวิจัยหลายคน ก็ต้องมีประวัติของนักวิจัยทุกคนซึ่งต้องระบุว่า ใครเป็นหัวหน้าโครงการ ใครเป็นผู้ร่วมโครงการในตำแหน่งใด และใครเป็นที่ปรึกษาโครงการ เป็นต้น

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: