ในส่วนของการทำวิจัย แน่นอนว่าน้องแต่ละคนมีหัวข้อวิจัยในดวงใจที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งแต่ละงานวิจัยก็มีธรรมชาติของการทำวิจัยที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับตามวัตถุประสงค์ ดังนั้นพี่คงไม่ขอก้าวล่วงในธรรมชาติการทำงานของแต่ละหัวข้อวิจัยเฉพาะ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พี่ว่าเราน่าจะมีอะไรหลายอย่างที่ไม่ต่างกัน เราถูกสมมติให้เป็นนักวิจัยเหมือนกัน เรากำลังเดินทางด้วยเหตุและผลเหมือนกัน และพี่ก็เชื่อว่าบนเส้นทางสายนี้ น้องกับพี่ก็น่าจะพบกับสิ่งแวดล้อมหรือสภาวะการทำงานที่คล้ายๆ กัน ทั้งใน มิติการทำงานและสภาพจิตใจ เอาเป็นว่า อะไรที่พี่เคยผ่านมา และพี่คิดว่ามันพอจะเป็นประโยชน์กับน้องๆ พี่ขอแชร์ไว้ให้ตรงนี้

1) ปริญญา ตรี . โท . เอก ต่างกันยังไง

ก่อนที่จะเริ่มทำวิจัย พี่อยากให้น้องลองสำรวจตัวเองเสียก่อน ว่าเราเป็นนักวิจัยระดับไหน (ตรี โท หรือ เอก) และเราควรปฏิบัติและวางตัวยังไง เพื่อยกระดับความเป็นนักวิจัยให้สมรุ่น เพราะถ้าน้องเรียนระดับปริญญาตรี โท เอก ต่อเนื่องกัน และน้องก็ทำวิจัยในหัวเรื่องเดิม เพียงแต่ทำในประเด็นที่ต่างกันไป อาจจะใช้เครื่องมือทันสมัยขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ที่ว่า น้องเป็นนักวิจัยที่โตขึ้นและเก่งขึ้น แล้วอะไรที่เป็นคุณสมบัติของนักวิจัยในแต่ละระดับการศึกษา เอาเป็นว่าน้องลองมาดู เผื่อจะวางตัวได้ถูก ตั้งตัวได้เป็น

ประถมฯ มัธยมฯ มหาวิทยาลัย ปี 1-3 น้องเป็นนักเรียน-นักศึกษา มีหน้าทีรับ (ความรู้) อย่างเดียว ไม่ค่อยได้คิดประเด็นค้นหาสิ่งใหม่ อย่างที่นักวิจัยเขาทำกัน

1) ปริญญาตรี พี่จะนิยามว่าน้องคือ นักวิจัยเตาะแตะ นี่คงเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่น้องได้รู้จักและทำวิจัย น้องอาจจะยังมองไม่เห็นภาพกว้าง หรือคิดประเด็นวิจัยเองไม่ได้ ขอแค่น้องได้รู้ว่ากำลังทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร ในแต่ละขั้นตอนวิจัย พี่ว่าโอเคแล้ว เพราะงานวิจัยในระดับนี้ เป็นแค่การฝึกฝนการทำการทดลอง การตรวจวัด และฝึกที่จะ วิพากษณ์ (discussion) และ สรุปผล (conclusion) ในมุมของพี่ สำหรับ นักวิจัยระดับปริญญาตรี แม้การทดลองจะเฟล ผลไม่ออกอย่างที่คาดว่าจะได้รับ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะพี่ถือว่าน้องได้เรียนรู้กระบวนการการทำวิจัย อย่างครบถ้วนกระบวนความ

2) ปริญญาโท นักวิจัยหน่อใต้ต้น เมื่อน้องมีประสบการณ์จากการทำวิจัยในระดับปริญญาตรีมาแล้ว ในระดับนี้น้องควรรู้จักค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะมีอาจารย์ที่ปรึกษา (advisor) คอยให้คำแนะนำว่าควรจะไปค้นคว้าที่ไหน และมีประเด็นอะไรเกี่ยวกับงานวิจัยที่น่าสนใจบ้าง แต่สุดท้ายน้องควรจะไปศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองให้ได้ ตัวอย่างเช่น ในป่ามีผลไม้มากมาย และน้องอาจจะไม่รู้ว่าควรกินผลไม้ไหนดี ที่จะตอบโจทย์ แต่น้องจะมีอาจารย์ปรึกษา คอยแนะนำว่าไปกินมะม่วงสิ มีประโยชน์ที่สุด แล้วน้องก็จะต้องหาวิธี เพื่อที่จะเก็บและกินมะม่วงให้ได้ เราจะเป็นบัดดี้กัน ที่ปรึกษาทำได้แค่บอกแค่สอน แต่น้องจะต้องเป็นคนทำเองทั้งหมด นี่คือนักวิจัยระดับปริญญาโท ในมุมมองของพี่

3) ปริญญาเอก ต้นไม้ต้นใหม่ น้องจะต้องทำตัวให้เป็นที่พึ่งพาของนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อไป น้องรู้ใช่ไหมว่า วันที่น้องจบปริญญาเอก ถึงแม้เพื่อนๆ จะเรียกน้องว่า ด็อกเตอร์ แต่น้องไม่ใช่หมอ และคำย่อนำหน้าก็ไม่ใช่ Dr. แต่สิ่งที่น้องจะได้ติดตัวมาคือตำแหน่ง ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (Philosophiae doctor, Ph.D.) ซึ่งความหมายที่แฝงเป็นนัย คือน้องเป็น ปราชญ์ ซึ่งหมายถึง ผู้รอบรู้ ผู้พร้อมที่จะรู้ และผู้มีความสามารถที่จะหาความรู้ในประเด็นที่ต้องการได้อย่างยั่งยืน น้องอาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ เรื่อง แต่เมื่อไหร่ที่น้องคิดอยากจะเชี่ยวชาญในเรื่องใด น้องจะสามารถทำได้เพราะน้องคือ ปราชญ์ และสิ่งที่ติดตัวน้องไป ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของเรื่องที่ทำตอนเรียนปริญญาเอก แต่มันคือกระบวนการคิดอย่างความเป็น ปราชญ์

ดังนั้นการเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่สมบูรณ์ น้องควรจะใช้สนามปริญญาเอกนี้ เพื่อฝึกตนให้เป็นปราชญ์ ให้เป็นนักวิจัยจริงๆ ที่สามารถทำงานวิจัยได้ด้วยตัวเอง และเป็นที่พึ่งพาของนักวิจัยรุ่นน้อง ได้โดยแทบไม่ต้องพึ่งใคร และก็พร้อมที่จะให้ผู้อื่นพึ่งได้ แต่ในวันนี้ (วันที่น้องกำลังเรียนปริญญาเอก) น้องจะแอบมีความปลอดภัยเล็กๆ ที่เหน็บกระเป๋าเอาไว้คือ เมื่อเวลาทีเด็ดที่ขาด หลังชนฝาจริงๆ ยังไงน้องก็ยังจะมีเบาะนุ่มๆ คอยรองรับ มีพี่เลี้ยง ที่เรียกว่าอาจารย์ที่ปรึกษา

2) แยกให้ออก คอนเท็นต์วิจัย หรือ ปัญหาวิจัย

เอาตั้งแต่เริ่มต้นคิดหัวข้อวิจัย น้องควรแยกให้ได้ว่าสิ่งที่น้องคิดขึ้นมาเป็นแค่ คอนเท็นต์วิจัย หรือ ปัญหาวิจัย จริงๆ เช่น เครื่องทอดไข่อัฉริยะ (smart ….) เครื่องเกาหลังอัตโนมัติ (automatic ….) ถามเค้าหรือยังว่าเค้าอยากทอดไข่เอง หรืออยากมีเครื่องเกาหลังหรือไม่ หรือมันก็แค่คอนเทนท์ที่น้องอยากสร้างขึ้นมาเพื่อได้ทำงาน ซึ่งจะแตกต่างจากประเด็นปัญหาวิจัย ที่เราได้รีวิวแล้วว่า หากยังไม่ได้ทำองค์ความรู้จะไปต่อไม่ได้ หรือไม่สมบูรณ์เพียงพอ ดังนั้นย้ำอีกที แยกให้ออกระหว่างคอนเทนท์ที่แค่อยากจะทำ หรือประเด็นวิจัยที่เราควรจะต้องทำในฐานะนักวิจัย

ทำวิจัยให้เหมือนรถขายโอ่ง ค่อยๆ ขับไปช้าๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ลนลาน ไม่รีบร้อน แต่….. เราจะไม่มีคำว่า “เดี๋ยวจะ…” ไม่ข้ามผ่าน ไม่เอาไว้ก่อนเดี๋ยวมาทำทีหลัง ทำให้เสร็จเป็นขั้นๆ และเราจะไม่มาเดินซ้ำที่เดิมอีก

3) ไม่เล็งอิฐก้อนเดียว

น้องก็รู้ว่าการทำวิจัยเป็นเหมือนการเดินทางไกล ซึ่งถ้าแบกของหนักเอาไว้ หรือมัวแต่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ข้างทาง น้องคงเดินไปได้ไม่ถึงไหน หนึ่งคุณสมบัติสำคัญที่น้องควรจะมีในการทำวิจัยคือ ทักษะการซูมเข้า-ซูมออก ความรู้จักพอที่จะถูกต้อง ในผลงานวิจัยหรือการตรวจวัด แน่นอนว่างานบางงานต้องการทศนิยมความถูกต้อง 2-3 ตำแหน่ง แต่ในอีกหลายงานก็ต้องการตัวเลขหลักหน่วยหลักสิบ หรือหลักร้อยหลักพัน ดังนั้นน้องควรจะเข้าใจธรรมชาติของการทำงานในแต่ละขั้นตอน และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พี่ก็สปอยล์ให้น้องเลยว่า หลายครั้งที่ได้ข้อมูลละเอียดขึ้น ไม่ได้ทำให้การวิพากย์หรือสรุปงานวิจัยดีขึ้น มิหนำซ้ำยังทำให้ยุ่งยากขึ้นมากกว่าเดิม อยากให้น้องรู้จักคำว่า “เอาแค่พอสมมาพาควร”

ยกตัวอย่าง หากน้องต้องสร้างกำแพงเมืองจีนยาวเป็น 1,000 กิโลเมตร ถ้าน้องมัวแต่มานั่งเล็งอิฐก้อนแรกกับก้อนที่ 2 ให้ตรงกัน และหลอนว่าก้อนที่ 3 จะตรงกับก่อนที่ 1-2 ไหม เป็นอย่างนี้ โอกาสที่น้องจะทำวิจัยเสร็จเป็นไปได้ยาก พี่มักจะบอกกับน้องๆ ที่แวะมาทำวิจัยกับพี่เสมอว่า “เอาให้มันอยู่ใน good shape ก็พอ”

4) อย่าปั้นยักษ์ มาครอบงำจิตใจ

ในช่วงที่น้องกำลังทำวิจัย มีหลายอย่างที่น้องมักจะสร้างมันขึ้นมาในตัวน้อง กำแพง ทางตัน ปัญหา ยักษ์ ฯลฯ มันเลยทำให้น้องๆ ไม่ค่อยสนุกกับวิจัย แต่จากการเดินไปเดินมาบนเส้นทางสายนี้อยู่หลายรอบ พี่อยากจะบอกน้องๆ ว่า ปัญหาหรือยักษ์ ไม่มีอยู่จริง อย่ากลัว ไม่ต้องกังวลเพราะความเป็น เหตุ-ผล จะเป็นยันต์คุ้มครองตัวน้อง ไปตลอดเส้นทางการทำวิจัย หมั่นถามตัวเองบ่อยๆ ว่า ทำไปเพื่อ…. ทำไปเพราะ… เมื่อน้องตอบตัวเองได้ สุดท้ายน้องจะปลอดภัย

ความสมบูรณ์แบบ เป็นกับดักที่น่ากลัวที่สุดของ การทำวิจัย

5) อาจารย์ที่ปรึกษา

อาจารย์ที่ปรึกษา (advisor) ไม่ใช่พ่อไม่ใช่แม่ ไม่ใช่เจ้านาย และก็ไม่ใช่คนมีสิทธิชี้เป็นชี้ตายงานวิจัยของน้อง อย่าไปวิตกกับความชอบไม่ชอบใจของอาจารย์ที่ปรึกษา น้องเคยสังเกตไหม จริงๆ แล้ว ทั้งน้องและพี่ เราเคยตกหลุมพราง การต้องได้รับคำตัดสิน จากการทำข้อสอบตอนประถมและมัธยมมาตลอดทาง นี่เลยทำให้พวกเราติดนิสัย เวลาทำอะไรลงไปก็อยากให้อาจารย์ที่ปรึกษาตัดสิน แต่จริงๆ น้องควรปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาถึงเหตุและผล ชื่อก็บอก อาจารย์ที่ปรึกษามีไว้เพื่อเป็นที่ปรึกษา เป็นกระจกสะท้อนให้น้อง เป็นบัดดี้ของน้อง เป็นเพื่อนแท้ของน้อง ช่วยไขปัญหา ส่วนการตัดสินว่าถูกหรือผิด น้องควรตัดสินตัวเองให้เป็น

อีกหนึ่งเขี้ยวเล็บที่ควรมีระหว่างการทำวิจัย คือ การสะสม กระจกสะท้อนงานวิจัย หรือ คำแนะนำ เอาไว้ให้มากๆ เพราะจะช่วยให้เราปรับรูปทรงของงานวิจัยได้ถูกทางมากที่สุด แน่นอนว่าคำแนะนำนั้นต้องมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ แต่หากน้องสามารถสแกนข้อความหรือเจตนาของคำแนะนำได้ชัด น้องก็จะสามารถคัดเลือกคำแนะนำที่มีประโยชน์มาใช้กับงานวิจัยของน้องได้
“คัดแยกคำแนะนำ ให้เก่งเหมือนที่เราเคยเขี่ยผักออกจากจานตอนเด็กๆ”

6) ไปให้สุด แล้วหยุดให้เป็น

น้องลองนึกภาพตาม ช่วงแรกของการทำวิจัย ที่เรายังทำอะไรไม่ค่อยเป็น จับต้นชนปลายยังไม่ค่อยถูก ผลข้อมูลที่ได้ก็จะน้อยนิด แต่พอเริ่มตั้งลำได้ น้องๆ ที่มีวินัยหน่อย ก็จะเร่งทำงานวิจัยแบบตะบี้ตะบันหามรุ่งหามค่ำ ผลวิจัยจะเริ่มเต็มไม้เต็มมือ การตรวจวัดตัวอย่างโดยวิธีซ้ำๆ ที่เราทำเป็นแล้ว จะเริ่มเยอะขึ้น วัดซ้ำซากขึ้น ซึ่งสภาวะนี้ พี่เคยเห็นว่าเกิดกับน้องหลายๆ คน ที่ไม่มีแผนในการทำวิจัยชัดเจน ตื่นขึ้นมาทุกเช้า พยายามที่จะมาทำงาน และหางานให้ได้ทำ เพียงเพื่อปลอบประโลมจิตใจตัวเองว่า วันนี้น้องทำตัวมีประโยชน์ โดยก็ไม่รู้ว่างานที่ทำนั้นมีประโยชน์ต่องานวิจัยจริงหรือไม่ สุดท้ายน้องๆ ก็จะฟุ้ง จบไม่เป็น แล้วก็พอคิดจะเริ่มจบ ก็งงเพราะข้อมูลดันล้นไม้ล้นมือ

สิ่งสำคัญที่พี่อยากจะเตือนน้องๆ ในการทำวิจัยคือ เราต้องรู้ว่าทำแค่ไหนก็พอแล้ว เราต้องทำอะไรอื่นๆ อีกบ้าง เมื่อตรวจวัดข้อมูลเสร็จ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการวิเคราะห์ วิพากษ์และสรุปผล รวมทั้งเขียนเล่ม ซึ่งในส่วนนี้หลายคนพยามหลีกหนี ไม่อยากจะเริ่ม เริ่มนะครับน้อง ยังไงน้องก็ต้องผ่าน ถ้าอยากจะจบการศึกษา พี่รู้ การเขียนเป็นสิ่งลำบาก แต่เพราะความลำบากนี่แหละ ที่ทำให้เราแตกต่างและเหนือกว่าผู้อื่น จะสอยใบปริญญาทั้งที น้องก็ต้องทำให้เป็นทุกอย่างที่เขาตั้งกฏตั้งเกณฑ์ไว้ ไม่ใช่ทำหรือวัดแค่บางอย่างให้เยอะๆ เข้าไว้ แบบนี้ไม่พอ

สุดท้ายที่พี่อยากจะฝากน้องไว้คือ พอมีข้อมูลล้นไม้เต็มมือ พี่ขอให้น้องหยุดเป็น เลิกออกสนาม ปิดห้องแล๊ป และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ วิพากษ์ให้ได้ข้อสรุป น้องไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลทุกอย่างที่ทำ ให้นำมาเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นในการเล่าเรื่อง ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้ ให้เป็นอนุสรณ์ทิ่มแทงหัวใจตัวเองว่า ตอนนั้น กูทำไปทำไมว่ะ !!!

อย่าหลงง่าย อย่าติดสุข
อย่าติดกับสิ่งที่เราทำได้ อย่าทำเฉพาะสิ่งที่เราทำเป็น

7) วิทยานิพนธ์ vs รายงานวิจัย

นักวิจัย แตกต่างจากนักตรวจวัด หรือ นักสำรวจ หรือ นักทดลอง และ วิทยานิพนธ์ก็แตกต่างจาก รายงานการสำรวจ หรือ รายงานผลการทดลอง เช่นกัน ความแตกต่างนี้คืออะไร มันอยู่ตรงไหน พี่จะบอกให้ว่า แก่นแท้ของการวิจัย หรือความเป็นนักวิจัย คือการคิดเป็น สังเคราะห์ (analyze) วิพากษ์ (discussion) สรุป (conclusion) เป็น เคยมีคำกล่าวจากนักวิจัยอวุโสที่ว่า ต่อให้คุณใช้เครื่องมือตรวจวัดที่ราคาแพงแค่ไหน แต่พอได้ผลออกมาแล้ว คุณก็ยืนให้คนอื่น นั่นหมายความว่าคุณก็แค่คนที่ใช้เครื่องมือเป็นแค่นั้นเอง

ฉะนั้น ความหมายของการที่จะเป็นนักวิจัยมันอยู่ตรงที่ การวิพากย์และสรุปข้อมูลเป็น วิทยานิพนธ์ทั้งเล่มต่อให้หนาแค่ไหน สุดท้ายความสำคัญก็จะอยู่ตรงที่ บทอภิปรายผล และ บทสรุปผล เพียงเท่านั้น ที่ทำให้วิทยานิพนธ์แตกต่างจากรายงานการทดลองทั่วไป

นักวิจัย ไม่ใช่ แวร์วูฟ
ใครสั่งใครสอนให้ทำงานวิจัยตอนกลางคืน สุดท้ายร่างกายก็รับไม่ไหว แล้วมันจะมาออกอาการในตอนหลัง เลิกได้เลิกคับน้องๆ

8) สอบป้องกันวิทยานิพนธ์

การสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ (Thesis Defend) พี่เข้าไปในห้องๆ นั้นไม่รู้กี่รอบ ทุกๆ รอบ ล้วนแต่อบอุ่น ไม่มีวันเชือด ไม่ใช่วันพิพากษา เพราะน้องๆ ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษามาได้ กรรมการทุกคนล้วนรู้ดีว่าน้องๆ พร้อมแล้ว มันเป็นแค่วันนึง ที่พี่ๆ นักวิจัย อยากจะมาเห็นหน้าน้อง “นักวิจัยรุ่นใหม่” ตัวเป็นๆ

พี่มายินดี พี่แค่อยากมารับ อยากเป็นคนพาน้องๆ ก้าวเข้าสู่ดินแดนของ นักวิจัย ด้วยตัวของพี่เอง

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: