สำรวจ

“ถนนพระร่วง” สุโขทัย คืออะไรกันแน่ ?

นอกจากความเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ตามที่เราเข้าใจสมัยประถมฯ อาณาจักรสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งเมืองโบราณที่ถูกกล่าวขานกันมาตลอด ทั้งในเรื่องความเจริญก้าวหน้าด้านภาษา (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) และลีลาการบริหารจัดการน้ำในอดีต โดยในส่วนของตัวเมืองสุโขทัย กรรมวิธีกักเก็บน้ำไว้กินไว้ใช้ สำแดงไว้อย่างชัดแจ้งผ่านการสร้าง สรีดภงส์ หรือ ทำนบพระร่วง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่กั้นกักน้ำ ที่ไหลลงมาจาก เขาประทักษ์ ทางตะวันตกของตัวเมือง หลังจากนั้นจึงผันน้ำผ่าน คลองเสาหอ ที่ยาวกว่า 2 กิโลเมตร เข้ามาคอยเลี้ยงดู คูเมืองโดยรอบสุโขทัย

เพิ่มเติม : สรีดภงส์ “ทำนบพระร่วง” อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพมุมสูง และภาพจริงในพื้นที่เมืองสุโขทัย แสดง สรีดภงส์ หรือ ทำนบพระร่วง แหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงเมืองสุโขทัยในอดีต (ที่มา : ธวัชชัย รามนัฏ, www.silpa-mag.com, เพจเรื่องเล่าของรอยใบลาน)

เขาประทักษ์ คือ ชื่อเขาทางตอนเหนือของ เทือกเขาหลวง (อุทยานแห่งชาติรามคำแหง) โดยสันเขาหรือหัวเขา 2 ด้าน ที่คนสุโขทัยโบราณสร้างคันดิน หรือ สรีดภงส์ กั้นน้ำ คือ หัวเขาพระบาทใหญ่ ทางตอนใต้ และ หัวเขากิ่วอ้ายมา ทางตอนเหนือ ของคันดิน

นอกจากสุโขทัย ในห้วงเวลาและในละแวกใกล้ๆ กัน (พุทธศตวรรษที่ 18-22) ภาคกลางตอนบนของไทย ยังเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญอีก 4 เมือง ไล่จากเหนือลงใต้ ได้แก่ 1) ศรีสัชนาลัย 2) บางขลัง 3) สุโขทัย 4) บางพาน และ 5) กำแพงเพชร ตามลำดับ ซึ่งในพื้นที่โดยรอบกลุ่มเมืองดังกล่าว ยังมีตัวละครเรื่อง การจัดการน้ำโบราณ ที่โดดเด่นน่าสนใจอีก 1 ตัวละคร นั่นคือ ถนนพระร่วง

จากการสำรวจทางโบราณคดี จากนักวิชาการรุ่นใหญ่หลายๆ ท่าน สรุปตรงกันว่า ถนนพระร่วง คือ แนวคันดินโบราณ ที่มีความกว้าง 8-12 เมตร สูงประมาณ 2-5 เมตร ทอดยาวจากเหนือจรดใต้กว่า 120 กิโลเมตร เชื่อมต่อเมืองหลัก 3 เมือง ศรีสัชนาลัย-สุโขทัยกำแพงเพชร ซึ่งตำแหน่งแนวคันดินโดยประมาณในปัจจุบัน ก็คือแนวเดียวกันกับ 1) ถนนทางหลวงหมายเลข 1113 สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย และ 2) ถนนทางหลวงหมายเลข 1272 สุโขทัย-กำแพงเพชร นอกจากความยาวในระดับอลังกาลของโครงข่ายถนนพระร่วง อีกมูลเหตุที่ทำให้ชื่อของถนนพระร่วง ยังถูกถกถึงกันตลอดมา คือ จุดประสงค์หลักของการสร้าง ว่าแท้ที่จริงแล้ว ถนนพระร่วงใช้ทำประโยชน์อะไรกันแน่ เพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จากการเข้าพื้นที่ไปสัมผัสเยี่ยมชม ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยไปถึงต่างให้ความคิดเห็นไปคนละทิศทาง แตกต่างกัน

แผนที่ภูมิประเทศ แสดงการกระจายตัวของเมืองโบราณ (สามเหลี่ยมสีขาว) ที่อยู่ในห้วงเวลาและในละแวกเดียวกันกับเมืองสุโขทัย เส้นสีแดง คือ แนวถนนพระร่วงช่วง สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย เส้นสีน้ำเงิน คือ ถนนพระร่วงช่วง สุโขทัย-กำแพงเพชร วงกลมสีแดง คือ จุดที่ภูมิประเทศเริ่มเปลี่ยนจากต่ำลงเรื่อยๆ เป็นสูงขึ้น หากน้ำไหลจากกำแพงเพชรหรือศรีสัชนาลัย เข้ามาสู่สุโขทัย
(ก) สุโขทัย (ที่มา : www.thai.tourismthailand.org) (ข) ศรีสัชนาลัย (ที่มา : th.wikipedia.org) และ (ค) กำแพงเพชร (ที่มา : www.matichonacademy.com)
  • เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และจากการศึกษาศิลาจารึกเมืองสุโขทัย หลักที่ 1-2 ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทั้ง 2 พระองค์ ทรงลงความเห็นว่า ทรงถนนพระร่วงมีศักดิ์เป็น ถนน ที่ใช้สัญจรไปมาระหว่างเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย รวมถึง ว่าที่ร้อยตรีพิทยา ดำเด่นงาม นักวิชาการโบราณคดี ที่แปลความจากการลงพื้นที่สำรวจในหลายแง่มุม และสรุปว่าเป็น ถนน เช่นกัน
  • อีกชุดความเห็นที่แตกต่างออกไป คือ สมมุติฐานของ อาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียร และ อาจารย์ทิวา ศุภจรรยา ที่เชื่อว่าถนนพระร่วง คือตัวละครเดียวกันกับ ท่อปู่พระยาร่วง ในจารึกบนฐานเทวรูปพระอิศวร เมืองกำแพงเพชร ซึ่งหมายถึง คลองชลประทาน ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อส่งน้ำจาก เมืองลูกหลวงของสุโขทัย ไปใช้ในเมืองหลวง ประกอบไปด้วยคลองเส้นที่วิ่งจาก 1) ศรีสัชนาลัย > บารายมโนราห์ > เมืองบางขลัง > สุโขทัย และ 2) กำแพงเพชร > บางพาน > ทุ่งเมือง > บารายคีรีมาศ > สุโขทัย
  • อย่างไรก็ตาม คุณจารึก วิไลแก้ว (อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร) ได้นำเสนอข้อมูล การขุดค้นทางโบราณคดี ระหว่าง พ.ศ. 2535-2545 ที่สนับสนุนข้อสรุปที่ว่าถนนพระร่วง เป็น คันกั้นน้ำ ที่ทำหน้าที่เบี่ยงน้ำและจ่ายน้ำไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อการเกษตรกรรม

โดยรายละเอียดเหตุผล ที่นักวิชาการแต่ละท่านนำเสนอประกอบการสรุปความเห็นเรื่องถนนพระร่วง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “ถนนพระร่วง” คืออะไรกันแน่ ถนน คลอง หรือคันดินกั้นน้ำ ?

จากความเห็นที่ต่างกันดังกล่าว (ถนนพระร่วง : ถนน ? คลองชลประทาน ? คันกั้นน้ำ ?) ผู้เขียนจึงมีความสนใจ ที่จะตามรอยถนนพระร่วง ในมิติ ภูมิศาสตร์ (geography) และ ธรณีวิทยา (geology) โดยวาดหวังอยู่ลึกๆ ว่า ภูมิศาสตร์ + ธรณีวิทยา น่าจะช่วยเพิ่มเติมหลักฐานทางเลือกอะไรบางอย่าง หรือช่วยไขข้อสงสัยถึงมูลเหตุการสร้างถนนพระร่วงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

1) ภูมิศาสตร์

หากลองซูมออกมามองภาพกว้างของพื้นที่ ศรีสัชนาลัย-สุโขทัย-กำแพงเพชร ในทางภูมิศาสตร์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ ที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบน ส่วนในทางธรณีวิทยา กล่าวได้ว่าคือดินแดนของ เนินตะกอนรูปพัด (alluvial fan) แหล่งสะสมตัวของตะกอนดินจำนวนมหาศาล ที่ไหลออกมาจากร่องเขา โดยศรีสัชนาลัยและสุโขทัย ตั้งอยู่บนกองตะกอนที่แม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน หอบลงมาจากชุดภูเขาทางภาคเหนือ ขออนุญาตขานชื่อในที่นี้ว่า เนินตะกอนรูปพัดศรีสัชนาลัย (Si Satchanalai Fan) ส่วนกำแพงเพชร ตั้งอยู่บน เนินตะกอนรูปพัดกำแพงเพชร (Kamphaeng Phet Fan) เนินตะกอนรูปพัดขนาดใหญ่ยักษ์ ที่รู้จักกันดีในแวดวงธรณีไทย ซึ่งได้อานิสงส์มาจากแม่น้ำปิง ที่หอบตะกอนจำนวนมาก จากเทือกเขาตะนาวศรีทางฝั่งตะวันตก ลงมากองอยู่บนที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบน

ตัวอย่าง เนินตะกอนรูปพัด ณ หุบเขาแห่งความตาย (Death valley) กลางทะเลทรายทางตะวันตกเฉียงใต้ ของสหรัฐอเมริกา ที่เกิดจากการที่น้ำหอบตะกอนออกมาจากร่องเขา และลดความเร็วน้ำอย่างรวดเร็วเมื่อถึงที่ราบ
แผนที่ภูมิประเทศ พื้นที่ภาคกลางตอนบนของไทย แสดง (บน) เนินตะกอนรูปพัดศรีสัชนาลัย (Si Satchanalai Fan) และ (ซ้าย) เนินตะกอนรูปพัดกำแพงเพชร (Kamphaeng Phet Fan)

ด้วยเหตุนี้ ภูมิศาสตร์ภาพรวมของดินแดนศรีสัชนาลัย-สุโขทัย-กำแพงเพชร จึงเป็นที่ลาดเอียง จากเหนือสู่ใต้ (ศรีสัชนาลัย-สุโขทัย) และจากตะวันตกไปตะวันออก (กำแพงเพชร) ส่งผลให้ ธารน้ำ (stream) และ แม่น้ำ (river) แทบทุกสายที่ไหลอยู่ในพื้นที่ ถูกควบคุมด้วยความลาดชันของภูมิประเทศ ตัวอย่างเช่น แม่น้ำยมที่เบ้ไปทางทิศตะวันออก อันเนื่องมาจากการเบียดบังแม่น้ำยมของเนินตะกอนรูปพัดกำแพงเพชร หรือ ธารน้ำสายย่อยๆ แทบทั้งหมดในละแวกสุโขทัย-กำแพงเพชร จะไหลลาดลงไปทางทิศตะวันออกหรือตะวันออกเฉียงเหนือ ล้อตามรูปทรงของเนินตะกอนรูปพัดกำแพงเพชร อย่างเลี่ยงไม่ได้

2) น้ำปีนเนิน

จากข้อเสนอของอาจารย์วินัยและอาจารย์ทิวาที่ว่า ถนนพระร่วง คือ ท่อปู่พระยาร่วง ที่ใช้เป็นคลองชลประทานเพื่อผันน้ำจากทั้งศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชรเข้าสู่สุโขทัย ผู้เขียนได้ตรวจวัดและสร้าง ภาพตัดขวาง (cross section) เพื่อแสดงระดับความสูงภูมิประเทศตามแนวถนนพระร่วง พบความจริงที่ว่า 1) น้ำจากศรีสัชนาลัยมาสุโขทัยจะมีเนินตะกอนรูปพัดศรีสัชนาลัย เป็นความชันที่ช่วยดันน้ำมาในช่วงแรก และ 2) น้ำจากกำแพงเพชรมาสุโขทัย ก็มีเนินตะกอนรูปพัดกำแพงเพชร ช่วยส่งน้ำไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ มุ่งหน้าไปเฉียดสุโขทัย เช่นกัน

ภาพตัดขวาง (cross section) ตามแนวถนนพระร่วง (ก) ศรีสัชนาลัย > สุโขทัย (ข) กำแพงเพชร > สุโขทัย วงกลมสีแดง คือ ตำแหน่งที่มวลน้ำจะต้องปีนเนิน หากต้องการข้ามไปสู่จุดหมายปลายทางสุโขทัย ตำแหน่งบนแผนที่ (วงกลมวีแดง) ที่มวลน้ำต้องเริ่มขึ้นเนิน แสดงอยู่ในแผนที่ภาพรวมด้านบน

แต่ๆๆๆ ด้วยความที่สุโขทัยตั้งอยู่ชิดกับเชิง เขาประทักษ์ ทำให้ในทางธรณีวิทยา ตัวเมืองสุโขทัยก็ตั้งอยู่บน เนินตะกอนเชิงเขา (conlluvium) ขนาดย่อมของตัวเองเช่นกัน ซึ่งถ้าจะให้น้ำที่ไหลมาตามถนนพระร่วงเข้าประชิดคูเมืองสุโขทัยจริงๆ น้ำจะต้องฝ่าด่าน ปีนเนินสุโขทัย ที่อยู่สูงกว่าระดับตกท้องช้างล่างสุดกว่า 5-10 เมตร และกินระยะทางกว่า 10-20 กิโลเมตร ผู้เขียนจึงขอสรุปว่าคงเป็นไปได้ยาก ที่มวลน้ำจะฝืนแรงโน้มถ่วงโลก ปีนเนินสุโขทัยขึ้นมาได้ ถึงแม้จะมี บาราย (บารายมโนราห์และบารายคีรีมาศ) เข้ามาช่วยพักน้ำและยกระดับน้ำก็ตาม แนวคิด “ถนนพระร่วง = ท่อปู่พระยาร่วง = คลองชลประทาน” จึงขออนุญาตตีตกไป ในความเห็นของผู้เขียน

3) น้ำหลาก

สืบเนื่องจากเมืองในละแวกนี้ โดยเฉพาะสุโขทัยและกำแพงเพชรตั้งอยู่ใกล้เชิงเขา อยู่บนเนินตะกอนขนาดใหญ่ ทำให้ภูมิประเทศไม่ราบเรียบ เหมือนกับที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง ซึ่งจากภาพ หน้าตัดข้างตามธารน้ำ (longitudinal profile) 3 แนว ที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์มาแสดงตามรูปด้านล่าง (ดูแผนที่ภาพรวมด้านบนประกอบ) บ่งชี้ว่าเมืองต่างๆ ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความชันมากเป็นพิเศษ หรือแทบจะเรียกได้ว่าเป็น ต้นน้ำ (upstream) เลยก็ว่าได้ ส่งผลให้เมื่อมีฝนตก มวลน้ำในแถบนี้ จะไหลแรงและเร็วกว่าปกติ

หน้าตัดข้างตามธารน้ำ (longitudinal profile) ที่ตัดในพื้นที่เมืองศรีสัชนาลัย-สุโขทัย-กำแพงเพชร แนวการตัดแสดงอยู่ในแผนที่ภาพรวมด้านบน

และด้วยความที่เป็นช่วงต้นน้ำ ที่เพิ่งออกมาจากร่องเขา บวกกับน้ำไหลแรงและเร็ว พื้นที่แถบนี้จึงมีโอกาสประสบสถานการณ์ มวลน้ำหอบเศษตะกอน ในรูปแบบของ 1) เศษหินไหลหลาก (debris flow) หรือ 2) ดินไหลหลาก (earth flow) หรือ 3) โคลนไหลหลาก (mud flow) ตามแต่วัสดุที่น้ำหอบมา ซึ่งนี่ก็เป็นเค้าลางในทางธรณีวิทยา ที่อาจช่วยเดาใจคนโบราณในแถบนี้ว่า เพราะ น้ำไหลแรง น้ำแทงดิน ดินโคลนทะลักได้ง่าย จึงต้องสร้างคันดินเพื่อชะลอความแรงของน้ำ และกักกั้นดินโคลน เอาเป็นว่าคนทำเจตนาหรือไม่ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ การมีอยู่ของถนนพระร่วง ช่วยบรรเทาภาวะแบบนี้ได้อย่างดีงาม

ตัวอย่างเศษหิน-ดิน-โคลน ไหลหลาก เนื่องมาจากน้ำทะลักออกจากภูเขา

4) น้ำดื้อร่อง

เกริ่นก่อนว่า พื้นที่ใดๆ ที่เรามองด้วยตาว่าราบเรียบ ส่วนใหญ่ในธรรมชาติ สุดท้ายแล้วไม่ได้เรียบอย่างสมบูรณ์ เพราะในแต่ละพื้นที่ย่อยใดๆ จะมีที่ที่ต่ำกว่า และสูงกว่าเสมอ ซึ่งในทางธรณีวิทยาเราเรียกว่า ร่อง (valley) และ เนิน (ridge) และโดยปกติ น้ำจะไหลไปตามร่อง และมีโอกาสพัฒนาต่อไปเป็น ธารน้ำ (stream) หรือ แม่น้ำ (river) ตามลำดับ

การ์ตูนแสดงความเป็น ร่อง (valley) และ เนิน (ridge) ของพื้นผิวโลก ซึ่งบางครั้งอาจสังเกตไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ในพื้นที่ใดๆ จะมีที่สูงกว่าและต่ำกว่าเสมอ

แต่ผลจากการวิเคราะห์แนว ร่องน้ำ (valley) เปรียบเทียบกับ ธารน้ำ (stream) ที่มีอยู่จริงในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เกษตรกรรมทางตอนเหนือของสุโขทัย พบว่าโดยส่วนใหญ่ ธารน้ำไม่ไหลไปตามครรลองร่องธรรมชาติ น้ำดื้อร่อง ธารน้ำปีนร่องน้ำ สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศในแถบนี้ที่ลาดชัน แปลความในทางธรณีวิทยาได้ว่า เวลาฝนตกหนักๆ น้ำจะออกอาการทะลักและ ไหลแบบแผ่ซ่านเป็นแผ่น (sheetwash หรือ sheetflow) อยู่บ่อยๆ ซึ่งจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การมีอยู่ของถนนพระร่วง ก็ยังช่วยระงับอาการแผ่ซ่ายของมวลน้ำ ที่ไหลลงมาจากทางตะวันตกได้อย่างดี

แผนที่ภูมิประเทศแสดงแนวร่องน้ำ (เส้นสีดำ) และแนวธารน้ำจริงในพื้นที่ (เส้นสีขาว) ซึ่งก่อนที่มวลน้ำจะถึงถนนพระร่วง (แนวเส้นสีน้ำเงินและสีแดง) พบว่าส่วนใหญ่เส้นสีดำและเส้นสีขาวมักไม่ทับกัน = ธารน้ำเกิดขึ้นแบบไม่แคร์ร่องน้ำ (หรืออาจแปลความได้อีกแบบว่า อาจเป็นคลองขุดที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน How to ดู : คลองคนขุดโบราณ

5) ทฤษฎีหวี

ผลจากการที่พื้นที่ฝั่งทางตะวันตกหรือทางซ้ายของแนวถนนพระร่วงนั้น มีธารน้ำที่ไม่ค่อยล้อกับร่องน้ำที่ควรจะเป็น ภาพธรรมชาติที่อาจพบเห็นได้บ่อยในวันที่ฝนตกหนัก คือ น้ำไหลหลากแบบแผ่ซ่าน เข้าปะทะถนนพระร่วงตลอดแนว ซึ่งจากการสำรวจและกำหนดพิกัดในภาพถ่ายดาวเทียม ผู้เขียนพบข้อน่าสังเกตที่ว่า

  1. ทั้งร่องน้ำและธารน้ำจริงส่วนทางซ้ายของถนนพระร่วง (จุดสีเหลืองในรูป) ไหลไม่ตรงกับธารน้ำส่วนที่ผ่านถนนพระร่วงลงไปทางขวา (จุดสีเขียวในรูป)
  2. มีธารน้ำทางฝั่งซ้ายจำนวนหนึ่งที่เป็น ธารน้ำหัวขาด (beheaded stream) คือ ไหลมาหยุดที่ถนนพระร่วง และไม่ทะลุต่อไปในพื้นที่ด้านขวา (จุดน้ำไหลเข้าถนน มากกว่าจุดน้ำไหลออกจากถนน) และ
  3. ธารน้ำฝั่งขวาของถนนพระร่วง บางส่วนไม่ตรงกับแนวธารน้ำหรือร่องน้ำที่ไหลมาจากทางด้านซ้ายของถนน
แผนที่ภูมิประเทศในพื้นที่ศรีสัชนาลัย-สุโขทัย แสดงแนวถนนพระร่วง (เส้นสีแดง) จุดสีเหลือง คือ จุดที่น้ำไหลมาจากด้านซ้าย เข้าปะทะถนน จุดสีเขียว คือ จุดที่น้ำไหลออกจากถนนลงสู่พื้นที่ด้านขวา ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าจุดสีเหลือง และบางส่วนไม่ตรงกับจุดสีเหลือง

ผู้เขียนจึงขอสนับสนุนแนวคิดของ คุณจารึก วิไลแก้ว (อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร) ที่ว่า ถนนพระร่วง คือ คันกั้นน้ำ ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับมวลน้ำจากต้นน้ำที่มาแบบแผ่ซ่าน และจัดคิวน้ำเสียใหม่ เลือกปล่อยไปท้ายน้ำ ให้เป็นแนวๆ ห่างกันเป็นระยะๆ คล้ายกับซี่ฟันของ หวี ที่เราใช้สางผม และ ท่อปู่พระยาร่วง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะหมายถึง ซี่ฟันหวี (จุดสีเขียวในภาพ)

นอกจากนี้ เมื่อย้อนกลับไปสืบประวัติของ สรีดภงส์ ที่หลายๆ คนเข้าใจว่าเป็นเขื่อน นักวิชาการหลายท่านก็เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นถึงเขื่อน เพราะมีรายงานว่าช่วงแรกที่ค้นพบ คันดินไม่ได้สูงขนาดนี้ (ที่มา : เพจเรื่องเล่าของรอยใบลาน) เพียงแต่มีการเสริมคันสูงขึ้นมาในภายหลัง จึงแปลความได้ว่าแนว สรีดภงส์ เดิมก็เป็นเพียงคันดิน ที่ทำหน้าที่รวมน้ำที่ไหลหลากลงมาจากจากหุบเขาประทักษ์ และรีดน้ำให้เป็นเส้น ไหลออกรูเดียวผ่าน คลองเสาหอ เข้าสู่คูเมืองสุโขทัย

ขมวดจากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนจึงขออนุญาตแชร์อีก แนวคิดทางเลือก การจัดการน้ำโบราณของพื้นที่สุโขทัยว่า คนโบราณสุโขทัยไม่ได้ตั้งใจจะสร้าง เขื่อน (สรีดภงส์) หรือสร้าง คลอง (ท่อปู่พระยาร่วง) แต่มีความถ่องแท้เรื่องภูมิศาสตร์ (geography) x ธรณีวิทยา (geology) และช่ำชองในการสร้างคันดินเพื่อ 1) ดักตะกอนดิน 2) ชะลอแรงน้ำทะลัก 3) รวบรวมมวลน้ำที่แผ่ซ่าน และ 4) รีดน้ำให้ไหลออกเป็นเส้น ตามแนว ท่อปู่พระยาร่วง สู่พื้นที่เกษตรกรรมใต้คันดิน อย่างเป็นระบบและทั่วถึง จะเห็นได้ว่าคลองด้านขวาหรือด้านตะวันออกของถนนพระร่วง ล้วนแล้วแต่เป็น คลองขุดโบราณ ทั้งสิ้น รู้ได้ยังไง ดูเพิ่มเติมที่ How to ดู : คลองคนขุดโบราณ

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดง ตัวอย่างคันดินโบราณใน อ. พลับพลาชัย จ. บุรีรัมย์ ซึ่งผู้เขียนให้ความเห็นว่า ใช้ประโยชน์แบบเดียวกันกับ ถนนพระร่วง และ ท่อปูพระยาร่วง คือเพื่อ กันน้ำหลาก รวมน้ำที่หลากมา แล้วปล่อยออกรูเดียวให้อยู่ในร่องน้ำ ลงสู่พื้นที่เกษตรกรรมท้ายคันดิน

เกร็ดความรู้ : กำเนิดถนนพระร่วง

ตำนาน 1 : พระร่วงเจ้าทรงชอบเล่นว่าว เลยสั่งให้สร้างถนนขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่เล่นว่าว

ตำนาน 2 : พระร่วงเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ เสด็จไปเยือนเมืองศรีสัชนาลัย ระหว่างเดินทาง ทรงใช้พระบาทข้างซ้าย ข้างขวาเกลี่ยดินเล่น พูนขึ้นเป็นถนน

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ : ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นมาในสมัย พ่อขุนรามคำแหง หรือ พระยาลิไท กันแน่

ที่มา : กาญจนา จันทร์สิงห์ 2557. ประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร ยุคหิน-ปัจจุบัน (เรียบเรียงจากการสัมมนาและทบทวน เมื่อวันที่ 27-28 กันยายน 2557). กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร.

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: