เปิดหัวง่ายๆ เลยครับ ศิลาแลง (laterite) เป็นหนึ่งในวัสดุยอดนิยมในอดีต ที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหล่าปราสาท ที่มีอยู่มากมายทั้งในไทยและกัมพูชา ปัจจุบันก็ยังมีการนำศิลาแลงมาใช้ ทั้งบดให้ละเอียดเป็นถนนลูกรัง หรือตัดเป็นก้อนๆ มาปูพื้นแต่งสวน นั่นไง !!! ศิลาแลงถึงได้สำคัญและใกล้ตัว อย่ากระนั้นเลยครับ รู้จักเขาไว้ซักหน่อยก็ดี เผื่อวันดีคืนดี มีโอกาสไปเดินเที่ยวปราสาทกับสาวๆ จะได้มีเรื่องเล่าให้โชว์พาวด์ อวดสาวกับเค้าบ้าง
สมัยโบราณ ศิลาแลง (laterite) นิยมนำมาใช้ก่อสร้างอาคาร ในส่วนที่เป็นโครงสร้างภายใน ด้วยเหตุผลเพราะ 1) น้ำหนักเบากว่าหินทราย 2) เฉาะออกมาเป็นก้อนได้ง่ายกว่าหินทราย 3) แข็งแรง แกร่ง ทนทาน พอๆ กับหินทราย และที่สำคัญ 4) หาได้ทั่วไป พบง่ายกว่าหินทราย
1) อะไรคือ ศิลาแลง
เกริ่นก่อนครับ โลกในมุมวิทยาศาสตร์มองได้ 2 มิติ 1) กระบวนการโลก (earth process) เช่น ลมพัด แผ่นดินไหว อากาศหนาว ฯลฯ และ 2) วัสดุโลก (earth material) ซึ่งในทางกายภาพ ได้แก่ หิน ดิน แร่ (ตะกอน) เล่าซ้ำอีกทีครับ วัสดุทางกายภาพบนโลกมี 3 สปีชีย์ คือ 1) หิน (rock) 2) ตะกอน (sediment) และ 3) ดิน (soil) โดยตะกอนคือเศษหินเศษแร่ล้วนๆ ที่ก็ผุพังมาจากหิน ส่วนดิน เกิดจากตะกอนตกสะสมตัวนิ่งๆ นานๆ นานพอที่จะมีพืชสัตว์มาเกิด-ตาย เกิด-ตาย หลายๆ รอบ มีฝนชะแร่ธาตุจากด้านบน ไหลลงด้านล่าง และมีน้ำใต้ดินหอบสารละลายมาเคลือบตะกอนไว้ เกิดการแยกชั้นดินเป็นชั้นๆ (ชั้น O A B C R ที่เราอดหลับอดนอนท่อง กันตอนประถม)
เพิ่มเติม : ดิน เบื้องต้น
เฉลยเลยครับ !!! ศิลาแลง (laterite) มีสถานะเป็น ดิน (soil) ไม่ใช่ หิน (rock) หรือ ตะกอน (sediment) ในทางธรณีวิทยา ซึ่งดินตามหลักการเกษตรกรรม แบ่งเบื้องต้นได้ 3 ชนิด คือ 1) ดินพีดอลเฟอร์ (pedalfer) เกิดในภูมิอากาศชุ่มชื้นสูงตลอดทั้งปี 2) ดินเพโคดอล (pedocal) เกิดจากภูมิอากาศแห้งแล้ง อัตราการระเหยสูง 3) ศิลาแลง (laterite) เกิดในภูมิอากาศแบบร้อนชื้นหรือมรสุม มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร้อน-หนาว และความชื้นแห้ง-เปียก สลับกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีอัตราการผุพังทางเคมีสูง ดินมีลักษณะเป็นสีแดงเนื่องจาก เหล็กออกไซด์ (FeO) และ อะลูมิเนียมออกไซด์ (Al2O3)
2) เคลือบเหล็ก 2 ลีลา
อย่างที่บอกว่าศิลาแลงคือดิน ดินที่เกิดและพัฒนามาจากตะกอนเดิม พัฒนาการที่ว่าคือการมีสารละลายของ เหล็กออกไซด์ (FeO) ส่วนใหญ่ และ อะลูมิเนียมออกไซด์ (Al2O3) บางส่วน เข้ามาเคลือบเม็ดตะกอน ซึ่งต้นกำเนิดของเหล็กและอลูมิเนียมที่ว่า ก็แล้วแต่แหล่งแร่เฉพาะถิ่นในละแวก ส่วนการเคลือบเม็ดตะกอน ผ่านการมากับน้ำ ทำได้ 2 ลีลา คือ 1) มากับ น้ำใต้ดิน (ground water) ชั้นศิลาแลงจะมีขอบนชัดเจน ซึ่งก็คือระดับสูงสุดที่น้ำใต้ดินเอื้อมไปถึง และ 2) มากับ น้ำผิวดิน (surface water) ชะล้างสารละลายเหล็ก จากพื้นผิวด้านบนลงมาด้านล่าง ชั้นศิลาแลงจะเข้มมากที่ผิวดิน และค่อยเกลี่ยความเข้มข้นของเหล็ก (ความเข้มสีแดง) ลงมาด้านล่าง ส่วนการเคลือบ ก็เป็นลักษณะคล้าย การพอก (concretion) ทีละบางๆ เป็นชั้นๆ ไปเรื่อยๆ (ก็คงเหมือนกำเนิด นิ่วในถุงน้ำดี อะไรประมาณนั้น)
3) ศิลาแลง ทำไมถึงแข็ง + มีรูพรุน
เดาว่าหลายท่านคงจะมีขัดใจ ว่าทำไมผู้เขียนถึงมีหน้ามาบอกว่า ศิลาแลงเป็นดิน ทั้งที่จับสัมผัสดูแล้ว แข็งโป๊ก ขออนุญาตลูบหลังเบาๆ แล้วเล่าต่อว่า ศิลาแลง เดิมที่อยู่ใต้ดิน เขาจะนิ่ม ไม่แข็ง เพราะเขาเป็นดินจริงๆ แต่ด้วยความที่ดินศิลาแลงถูกเคลือบด้วยเหล็กไว้มาก พอขุดหรือตัดขึ้นมา ผิวหน้าสัมผัสกับอากาศ (ออกซิเจน) เหล็กจับตัวเพิ่มกับออกซิเจน หรือเรียกหล่อๆ ในทางวิชาการว่า ถูกออกซิไดซ์ ผ่าน กระบวนการออกซิเดชัน (oxidation) ทำให้เหล็กจาก Ferrous Oxide กลายเป็น Ferric Oxide เชื่อมประสานเม็ดตะกอนจนแข็ง ซึ่งความแข็ง ไม่ใช่เพราะตากแดด แต่แข็งเพราะผึ่งลม (สัมผัสออกซิเจน) ชื่อก็บอกเป็นนัยๆ อยู่แล้วไง ศิลาแลง > ศิลาจำแลง > ศิลาเก๊ > หินเทียม 😊
อีกข้อชวนสังเกตสนุกๆ บางครั้งที่เราขับรถผ่านถนนลูกรัง ลูกรัง แต่ละเม็ดนั่นแหละคือดินศิลาแลง ที่ผู้รับเหมาขุดมาจาก บ่อแม่รัง หรือ บ่อรัง แล้วรีบมาเทถมทาง รีบเอารถมาบดไปๆ มาๆ ถามว่าทำไมต้องรีบ ก็เพราะขืนชักช้า เหล็กแข็งตัว มันจะกลายเป็นเหมือนหินแข็งก้อนใหญ่ที่ใช้ไม่ได้ ค่าใช้จ่ายก็จะเข้าเนื้อผู้รับเหมา แต่ถ้าบดทันเวลา เม็ดตะกอนเคลือบเหล็กแยกกันเป็นเม็ดๆ พอเเหล็กแข็งตัว เราก็ได้ถนนลูกรังหรือถนนที่ปูด้วยเม็ดเหล็กแข็งๆ ที่รองรับน้ำหนักยานพาหนะได้อย่างดี ผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนคิดคนแรก กับการทำถนนลูกรัง แต่ถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่แจ่มว้าว ควรค่าแก่การได้รับรางวี่รางวัล กันเลยทีเดียว กับนวัตกรรม … ถนนเหล็ก – เดอะ ฟายเย่อร์ โร๊ดดด
อีกประเด็นคือ ความเห็นเป็นเหมือนรูพรุน ของก้อนศิลาแลง ต้องบอกว่า เดิมๆ ศิลาแลงเป็นดินเนื้อแน่นตึ๊บ ที่เกิดจาก ตะกอนขนาดดิน (clay size) เดิม โดยหลายที่เป็น แร่ดินเกาลิน (Kaolin) + แร่ควอซ์ต (quartz) ซึ่งตอนที่เหล็กมาเคลือบ มักเคลือบควอซ์ต ที่ชั้นดินศิลาแลงเดิมๆ เราจึงเห็นเป็น ดินแดงปนขาว หรือ ควอซ์ตเคลือบเหล็กปนเกาลิน
คราวนี้ ไอ้ตอนตัดมาใช้ใหม่ๆ ก็เป็นก้อนสี่เหลี่ยมเนื้อแน่น สีขาวสลับแดง พอได้สัมผัสกับอากาศ มวลดินส่วนสีแดงแข็งตัวและเชื่อมติดกัน แทรกด้วยดินสีขาว ไร้ช่องว่าง จนเมื่อเวลาผ่านไป ดินขาวถูกน้ำ ถูกฝนชะล้างไหลไปที่อื่น โครงข่ายที่แข็งตัวของควอซ์ตเคลือบเหล็ก จึงคือสิ่งที่ยังคงเหลืออยู่ รูพรุน ที่เหมือนกับเป็น รูพรุนแต่แรกเริ่ม เดิมคือดินที่อุดอยู่ เคลียร์นะครับ 🤘
เพิ่มเติม : วัสดุภูเขาไฟ
4) แถวไหนมีศิลาแลง
ถ้าสังเกตศิลาแลง ตามปราสาทต่างๆ ดูดีๆ จะเห็นว่าศิลาแลงแต่ละก้อนเนื้อไม่เหมือนกัน บางก้อนเป็นเม็ดใหญ่หยาบส่วนบางก้อน เป็นเม็ดเล็กๆ เหมือนไข่ปลา สิ่งนี้แหล่ะครับที่บ่งชี้ว่า ศิลาแลงถูกตัดมาจากคนละแหล่งคนละที และเม็ดเหล็กที่ใหญ่-เล็กต่างกัน ก็เพราะตะกอนเดิมขนาดต่างกัน และก็เพราะสภาพแวดล้อมการสะสมตัวของตะกอน ก็ต่างเช่นกัน
แน่นอนว่าศิลาแลงตีถัวๆ เหมือนจะเกิดได้หลากหลายสภาพแวดล้อม แต่เท่าที่สังเกตและจับนิสัยเขาดู ผู้เขียนว่าบ่อแม่รัง หรือบ่อรัง มักจะเกิดบริเวณ 1) เนินตะกอนรูปพัด (alluvial fan) และ 2) เนินลูกฟูก (undulating area) และไม่ค่อยหรือไม่พบศิลาแลงในพื้นที่ ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) แปลเป็นภาษาชาวบ้าน ศิลาแลงมักเกิดตาม ไร่ (พื้นที่มีความชัน) แต่จะไม่เกิดตาม นา (พื้นที่ราบเรียบ)
ขยี้รายละเอียดเข้าไปอีก ความเป็นเนินตะกอนรูปพัดหรือเนินลูกฟูก บ่งชี้ว่าตะกอนนั้นมีขนาดเหมาะสมให้เหล็กมาเคลือบ และที่บอกไปในตอนต้น เหล็กมากับน้ำผิวดินหรือน้ำใต้ดิน ซึ่งกรณีพื้นที่มีความชัน น้ำผิวดินจะไหลหลาก ไม่แช่นาน เหล็กเคลือบตะกอนได้ยาก ส่วนกรณีน้ำใต้ดิน น้ำแช่นานได้ แต่ก็ยกระดับน้ำขึ้นไปไม่ได้ทั่วถึงทั้งเนิน หวยก็เลยมาลงเอยที่ พื้นที่บริเวณ ปลายเนินตะกอนรูปพัด หรือ ริมเนินติดที่ราบ ที่มักเกิดศิลาแลง เพราะตะกอนเหมาะสมให้เหล็กเกาะ และน้ำใต้ดินก็มีโอกาสเอื้อมถึง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ศิลาแลงที่พบมากในแถบจังหวัด กำแพงเพชร-สุโขทัย ที่นำมาใช้ก่อสร้างเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งในทางธรณีวิทยา พื้นที่ที่ว่าคือส่วนปลายของเนินตะกอนรูปพัดขนาดมหึมา ที่ชื่อว่า เนินตะกอนรูปพัดกำแพงเพชร (Kamphaeng Phet Fan)
เพิ่มเติม : “ถนนพระร่วง” สุโขทัย คืออะไรกันแน่ ?
ส่วนกรณี เนินลูกฟูก (undulating area) จริงๆ มีอยู่หลายที่ทั่วประเทศ เพราะเป็นภูมิประเทศทั่วไป ไม่ได้หายากนัก ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างพื้นที่ ทางตอนใต้ของจังหวัดบุรีรัมย์ ภาคอีสานของไทย โดยผลจากกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ทำให้พื้นที่ยกตัวขึ้นเป็น แนวเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่างไทย-กัมพูชา ตลอดแนวเชิงเขาพนมดงรักพบว่า มีลักษณะของเนินลูกฟูก (โซนสีเขียวและสีเขียวอมฟ้าในแผนที่) และเป็นแหล่งสะสมตัวของศิลาแลงจำนวนมาก ที่ส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้สร้างปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทเล็กๆ น้อยๆ ในละแวกนั้น ฉะนั้น หากท่านใดสนใจ จะไปไล่หาแหล่งศิลาแลง อย่าลืมนะครับ !!! ห่าตามไร่ ไม่ใช่หาตามนา
เพิ่มเติม : ภูมิศาสตร์โบราณคดี พนมรุ้ง บุรีรัมย์
5) โบราณคดีศิลาแลง
อีกเกร็ดความรู้ศิลาแลงที่ผู้เขียนอยากนำเสนอคือ รู้กันมั้ยว่า คนโบราณในหลายพื้นที่ นิยมใช้เม็ดลูกรังหรือศิลาแลงมาถลุงเพื่อสกัดเอาเหล็ก เพราะไม่ใช่ทุกที่จะมีภูเขาแร่เหล็ก และการสำรวจทางธรณีวิทยาก็ยังไม่เจริญถึงขนาดนี้ เอาไงดี จำเป็นต้องใช้เหล็ก ก็เลยเอาลูกรังมาถลุงกันซะเลย แล้วก็ไม่ใช่ทำกันแบบกระจิ๊บกระจ่อย แต่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในอดีต
หนึ่งในบรรดากลุ่มกองตะกรัน หรือกลุ่มอุตสาหกรรมถลุงเหล็กในอดีตที่สำคัญ คือพื้นที่ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เช่น กลุ่มกองตะกรันที่ บ้านสายโท 7 เหนือ ซึ่งในพื้นที่ประมาณ 300 × 400 ตารางเมตร พบกองตะกรันมากกว่า 11 กอง กระจายตัวอยู่เป็นรูปวงกลมอย่างเห็นได้ชัด หากมองจากภาพมุมสูงหรือจากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งแต่ละกอง มีขนาดประมาณ 30 × 50 เมตร และโดยส่วนใหญ่มีความสูง 2-3 เมตร เรียกได้ว่าสูงท่วมหัวคนกันเลยทีเดียว
เพิ่มเติม : มีนิคมอุตสาหกรรมเหล็กร้าง แอบอยู่กลางป่าชายขอบบุรีรัมย์
การค้นพบกองตระกันขนาดมหึมาจำนวนมากบริเวณบ้านสายโท 7 ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับข่าวสารการค้นพบแหล่งถลุงเหล็กในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก แทบจะพูดได้ว่า กองตะกรันที่มีอยู่ในอำเภอบ้านกรวดนั้น มีนัยสำคัญว่าจะเป็น อุตสาหกรรมถลุงเหล็กในอดีตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เลยนะนั่นน่ะ
6) ศิลาแลง ทำไมถึงดำ
อีกประเด็นที่ผู้เขียนก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะเป็นประเด็นได้คือ ความดำเมื่อมของศิลาแลง จากการไปท่องยุทธจักรดงประสาทแถวเกาะแกร์ กัมพูชา พบว่าหนึ่งในปราสาทหลังไม่ใหญ่นัก แต่มีจุดขายให้นักท่องเที่ยวได้ตามรอย ปราสาทเนียงเขมา หรือ ปราสาทนางดำ ชูประเด็นว่าเป็นปราสาทที่สร้างจากศิลาแลงสีดำเมื่อม ซึ่งก็สันนิษฐานกันไปต่างๆ นาๆ ว่าความดำได้มาจากไหน ถูกเผาบ้าง ยางไม้บ้าง ทาสีบ้าง ก็แล้วแต่การแปลความ แต่ในทางธรณีวิทยา ความดำที่ว่าอธิบายได้ ว่างๆ แวะไปอ่านกันต่อกันในบทความด้านล่างนี้นะครับ
เพิ่มเติม : ปราสาทเมืองเก่า เนียงเขมาเมืองไทย
7) ภาพสลักปราสาทหิน
ประเด็นเบาๆ ตบท้าย ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำการทงาน คือภาพแกะสลัก ภายในปราสาทในเวิ้งนครวัด กัมพูชา จากกิริยาที่ถูกสลักบันทึกไว้ในหิน ผู้เขียนแปลความว่านี่น่าจะเป็นกิจกรรมการผลิตก้อน ศิลาแลง วัสดุก่อสร้างยอดนิยมในอดีต โดยมี 3 ข้อสังเกต ประกอบการแปลความ คือ (1) ใบมีดในภาพสลักมีรูปร่างเหมือนกับที่คนปัจจุบันใช้เฉาะศิลาแลง (2) มีลักษณะการนำแผ่นรองมารองก้อนวัสดุที่เพิ่งเฉาะออกมาได้ เดาว่าช่วงแรกน่าจะนิ่ม และ (3) อุปกรณ์ในภาพคล้ายกับเป็นพัด ซึ่งอาจจะใช้ในการช่วยพัดเพื่อพึ่งลม ให้ก้อนศิลาแลงแห้งและแข็งเร็วขึ้น ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นหลักฐานที่ทำให้ผู้เขียนเชื่อและสรุปว่า ภาพสลักดังกล่าว น่าจะเป็นการบอกเล่า กิจกรรมการตัดศิลาแลง เพื่อมาใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในสมัยนั้น
เอวัง ก็เป็นด้วยประการฉะนี้ ครับผม
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth