สำรวจ

มีนิคมอุตสาหกรรมเหล็กร้าง แอบอยู่กลางป่าชายขอบบุรีรัมย์

โบราณคดี – วิเคราะห์และเรียบเรียงโดย : สุทธิกานต์ คำศิริ, สุรพล เทวัญรัมย์ และ สันติ ภัยหลบลี้

แร่เหล็กถือ (iron) เป็นหนึ่งในวัสดุที่สำคัญในการผลิตเครื่องมือเครื่องไม้ข้างกายมนุษย์มาอย่างยาวนาน แน่นอนว่าปัจจุบันแหล่งผลิตแร่เหล็กที่สำคัญมีกระจายอยู่ทั่วทุกเห็นโลก ได้แก่ ประเทศจีน ออสเตรเลีย บราซิล อินเดีย และประเทศรัสเซีย ฯลฯ แต่ใครจะรู้บ้างว่า ในอดีตโบราณนานพอสมควร ประเทศไทย (ปัจจุบัน) ของเรา เป็นหนึ่งในแหล่งถลุงเหล็กที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้

ยุคเหล็ก (iron age) คือหนึ่งในยุคสมัยหลักๆ ทางโบราณคดี ที่มนุษย์ทั่วโลกใช้เหล็กเป็นวัสดุในการดำรงชีวิต หมายถึงอายุในช่วง 1,200–550 ก่อนคริสตกาล

การถลุงเหล็กโบราณ

ปัจจุบันการทำเหมืองเหล็กส่วนใหญ่มักจะใช้ความรู้ทางธรณีวิทยาเพื่อเสาะหา ชั้นแร่เหล็ก ที่กินภูเขาเป็นลูกๆ ดังนั้นการถลุงเหล็กส่วนใหญ่จึงได้แร่เหล็กกันเป็นล่ำเป็นสัน แต่ในอดีตพบว่ากว่าจะได้มาซึ่งเหล็กซักแท่ง คนโบราณจะต้องเสาะหาแหล่ง ศิลาแลง (latterite) แล้วนำศิลาแลงนั้นมาถลุงด้วยความร้อน สกัดเอาเหล็กออกมา ซึ่งด้วยกระบวนการดังกล่าว เหล็กก็ได้ แต่ที่ได้มากกว่าก็คือส่วนของขี้แร่ที่ไร้ประโยชน์ หรือที่เรียกว่า ตะกรันเหล็ก (iron slag)

(บน) ภาพจำลองการถลุงเหล็กในอดีตจากศิลาแลง (1) ชิ้นส่วนของเตาถลุงเหล็กบริเวณที่เชื่อมต่อกับท่อลม (2) ตะกรันเหล็ก และ (3) ผนังเตาหรือส่วนที่ปั๊มลม

เพิ่มเติม : ราชมรรคา : อีกเหตุผลความเป็นไปได้ ทำไมเส้นทางโบราณนี้ถึงเป็นที่นิยม

อุตสาหกรรมเหล็กชายขอบเขาพนมดงรัก

จากการศึกษาและสำรวจทางโบราณคดีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (เช่น Chuenpee และคณะ, 2014; Venunan, 2016) พบว่าในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีเศษตะกรันกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ จำนวนมาก บางแห่งเป็นกองกระเปาะเล็กๆ บางแห่งพบเป็นลานพื้นราบที่เต็มไปด้วยตะกรัน และบางแห่งเป็น กองตะกรัน (slag heap) ขนาดมหึมาสูงท่วมหัวคน ซึ่งจากการสำรวนในรายละเอียด นักโบราณคดีพบว่ามีกองตระกันจำนวนกว่า 67 กอง การกระจายตัวภายในอำเภอบ้านกรวด ของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ติดกับขอบเทือกเขาพนมดงรัก หรือชายแดนระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาในปัจจุบัน

ภูมิประเทศ 3 มิติ บริเวณจังหวัดบุรีรัมย์ ภาคอีสาน (ตอนใต้) ของประเทศไทย แสดงตำแหน่งของเตาเผาโบราณและแหล่งถลุงเหล็ก (จุดสีม่วง) ที่กระจุกตัวอยู่ในบริเวณอำเภอบ้านกรวด ริมชายแดนประเทศไทย-กัมพูชา

หนึ่งในบรรดากลุ่มกองตะกรัน หรือกลุ่มอุตสาหกรรมถลุงเหล็กในอดีตที่สำคัญในอำเภอบ้านกรวด คือกลุ่มกองตะกรันที่ บ้านสายโท 7 เหนือ ซึ่งในพื้นที่ประมาณ 300 × 400 ตารางเมตร พบกองตะกรันมากกว่า 11 กอง กระจายตัวอยู่เป็นรูปวงกลมอย่างเห็นได้ชัด หากมองจากภาพมุมสูงหรือจากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งในแต่ละกองมีขนาดประมาณ 30 × 50 เมตร และโดยส่วนใหญ่มีความสูง 2-3 เมตร เรียกได้ว่าสูงท่วมหัวคนกันเลยทีเดียว

การค้นพบกองตระกันขนาดมหึมาจำนวนมากบริเวณบ้านสายโท 7 ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาเพราะเมื่อเปรียบเทียบกับข่าวสารการค้นพบแหล่งถลุงเหล็กในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก แทบจะพูดได้เต็มปากว่า กองตะกรันที่มีอยู่ในอำเภอบ้านกรวดนั้น มีนัยสำคัญว่าจะเป็นอุตสาหกรรมถลุงเหล็กในอดีตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เลยนะนั่นน่ะ

(บน) ภาพถ่ายดาวเทียมจาก google earth แสดงการกระจายตัวของกองตะกรันที่วางกองเรียงกันเป็นวงกลมในพื้นที่ 300 × 400 ตารางเมตร (กลาง-ล่าง) ภาพถ่ายจริงของเนินตะกรันต่างๆ ที่ของจริงนั้นสูงท่วมหัวคน

เมื่อเดินเข้าไปสำรวจในระยะใกล้ๆ พบว่าบริเวณพื้นผิวของกองตะกรันประกอบไปด้วยเศษตะกรันจำนวนมาก และในบางพื้นที่ยังพบเศษก้อนดินเผาที่อนุมานได้ว่า น่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของเตาถลุงเหล็กที่แตกกระจัดกระจายให้เห็นอยู่บนพื้นผิว และโดยภาพรวมจากการสังเกตด้วยตาคร่าวๆ พบว่าเศษตะกรันนั้น มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันอยู่ 3 ประเภท คือ 1) ตะกรันที่มีพื้นผิวเหมือนเหล็กหลอมไหลและแข็งตัว 2) ตะกรันที่มีรูพรุนจำนวนมาก แสดงถึงการฟูฟ่องของตะกรันในระหว่างการถลุง และ 3) ตะกรันที่มีเนื้อแน่นหนามีเลื่อมมันวาวสีคล้ายปีกแมงทับ

ภาพถ่ายบนเนินตะกรัน แสดงการปะปนผสมกันของทั้งเศษตะกรันและเศษดินเผา ที่เชื่อว่าเป็นสวนของเตาถลุงเหล็ก

ถึงแม้จะมีลักษณะที่เห็นด้วยตาที่แตกต่างกัน แต่จากการศึกษาองค์ประกอบแร่โดยละเอียด พบว่าตะกรันแทบทั้งหมดมีองค์ประกอบของแร่ที่คล้ายกันอย่างมาก โดยประกอบไปด้วย แร่เฮอร์ไซในต์ (hercynite) แร่คริสโตบาไลท์ (cristobalite) แร่ฟายาไลต์(fayalite) และแร่ควอตซ์ (quartz) ซึ่งจากงานวิจัยในอดีต การมีอยู่ของแร่ฟายาไลต์(fayalite) บ่งชี้ว่าการถลุงเหล็กในย่านนี้ไม่ได้ใช้ตัวช่วยในการถลุงเหล็ก แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่มีรายงานว่ามีการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตหรือหินปูน (Paynter, 2006; Chuenpee และคณะ, 2014; Kramer และคณะ, 2015; Tsaimou และคณะ, 2015) เข้าไปผสมในระหว่างการถลุงเพื่อเป็นตัวช่วยในการลดอุณหภูมิการล้อมเหลว ทำให้ศิลาแลงนั้นมีอุณหภูมิการหลอมเหลวต่ำ และหลอมได้ง่ายขึ้น

ห้วงเวลาของการถลุง

แน่นอนว่าการค้นพบกองตะกรันขนาดใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่ในการแปลความทางโบราณคดีก็สามารถแปลไปได้ 2 แนวทาง คือ 1) การถลุงน่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ถลุงกันแบบเอาเป็นเอาตาย เป็นล่ำเป็นสัน หรือ 2) การถลุงเหล็กนั้นดำเนินเดินทางมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งทั้ง 2 ความเป็นไปได้นี้ มีให้เห็นเป็นไอเดียแล้วว่าในพื้นที่ข้างเคียง การถลุงเหล็กไม่ใช่ทำกันแค่ปีสองปี เช่น มี การกำหนดอายุจากการเทียบเคียง เศษโบราณวัตถุที่พบ จากหลุมขุดค้นบริเวณบ้านเขาดินใต้ พบว่ามีอายุอยู่ในช่วง 720-1,160 ปี (Prommanot และ Phichaichumphon, 1989) ส่วนผล การหาอายุด้วยวิธีคาร์บอน-14 ก็มีอายุที่กว้าง 260-1,100 ปีก่อน (Lertlum และคณะ, 2008) และ ค.ศ. 416-222 (Venunan, 2016).

เพื่อที่จะกำหนดอายุช่วงท้ายๆ ก่อนที่จะเลิกกิจกรรมการถลุงเหล็กในพื้นที่แถบนี้ สุทธิกานต์ คำศิริ และ สันติ ภัยหลบลี้ (2021) จึงเลือกที่จะเก็บตัวอย่างตะกรันที่อยู่บนพื้นผิวของกองตะกรันหมายเลข 1 และและ 11 เพื่อนำไป หาอายุด้วยวิธีเปล่งแสง (luminescence dating) ซึ่งผลจากการหาอายุตัวอย่างตะกรัน 3 ตัวอย่าง พบว่ามีอายุเพียงแค่ 140 ± 10 ปี 470 ± 7 ปี และ 710 ± 9 ปี เท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการหาอายุกองตะกรันที่มีอยู่ทางฝั่งประเทศกัมพูชาที่ Uchida และคณะ (2019) รายงานว่าถ่านที่นำไปหาอายุด้วยวิธีคาร์บอน-14 ก็ได้ผลอายุ 140 ± 20 ปี เช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าเทียบในรัชสมัยก็น่าจะเป็นช่วงต้นๆ รัชสมัยของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2424) เท่านั้นเอง

ดังนั้นกล่าวโดยสรุป กองตะกรันขนาดใหญ่ที่พบบริเวณบ้านสายโท 7 รวมทั้งกองตะกรันอื่นๆ ที่มีอยู่ในอำเภอบ้านกรวด เกิดจากการถลุงเหล็กของคนโบราณ วันแล้ววันเล่ารุ่นแล้วรุ่นเล่าผ่านห้วงเวลามากกว่า 1,100 ปี จบวบจนเมื่อประมาณ 140 ปีที่ผ่าน (ประมาณ พ.ศ. 2424) จากอายุที่หาได้อ่อนที่สุด จึงมีการหยุดกิจกรรมดังกล่าวและปล่อยให้เศษซากอารยธรรมนี้ถูกทิ้งร้างอยู่กลางป่ายางพารา มาจนถึงปัจจุบัน

เพิ่มเติม : การหาอายุด้วยวิธีเปล่งแสง : ตอน 1 ทฤษฏีและการประยุกต์เพื่อหาอายุ

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: