ในทางภูมิศาสตร์ เขาพนมรุ้ง-ปลายบัด เป็นภูเขาลูกโดดอยู่กลางที่ราบลุ่ม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-6 กิโลเมตร สูง ประมาณ 100-180 เมตร จากพื้นราบ บนยอดมี ปล่องภูเขาไฟ (crater) ซึ่งในทางโบราณคดีมี ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเขาปลายบัด ๑ และ ปราสาทเขาปลายบัด ๒ ตั้งอยู่ขอบของปล่องภูเขาไฟ
ในทางธรณีวิทยา เขาพนมรุ้ง-ปลายบัด มีศักดิ์ศรีเป็น ภูเขาไฟยุคใหม่ ในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) ที่เกิดจากลาวาประทุ เมื่อประมาณ 1,000,000 ปีก่อน ทะลุผ่านชุดหินตะกอน ชั้นหินทรายดั้งเดิมอย่าง กลุ่มหินโคราช (Khorat Group) ที่เกิดมาก่อนในมหายุคกลางทางธรณีวิทยาอย่าง มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era)
เพิ่มเติม : ธรณีกาล : กาลเวลาทางธรณีวิทยา
1) ลีลาการปะทุ
ในแง่ของลีลาการปะทุซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ ชนิดของแมกมา และ วัสดุภูเขาไฟ ที่พวยพุ่งผุดขึ้นมา โดยนักธรณีวิทยาจำแนกเป็น 6 แบบ แต่ถ้าจะเหมาถัวๆ ภูเขาไฟปะทุทั้ง 6 ลีลา แยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ให้ลาวาแดงฉาน เอ่อล้นจากปากปล่องไหลเอื่อยๆ และ 2) แก๊งที่ปะทุแบบตุ้มต้าม ระเบิดออกมาเป็นขี้เถ้าพุ่งพรวดขึ้นบนฟ้า
เพิ่มเติม : 6 ลีลาการ ถ่ม-ถุย-ผุย-พ่น ของภูเขาไฟ
จากรูปทรงของภูเขาไฟพนมรุ้ง + ปลายบัด ประกอบกับการสำรวจชนิดหินของนักธรณีวิทยา ได้ข้อสรุปว่าทั้งเขาพนมรุ้งและปลายบัดเกิดเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้ ก็เนื่องมาจากการไหลหลาก ทับถมกันของลาวาสีแดงฉาน ที่มาจาก แมกมาสีเข้ม (mafic magma) และประเมินว่าการปะทุในวันนั้นน่าจะเป็นแบบ ฮาวาเอียน (Hawaiin) ซึ่งให้เห็นเนื้อแน่น (massive rock) หรือไม่ก็เป็นแบบ สตอมโบเลียน (Strombolian) ซึ่งให้หินที่มีรูปพรุน (vesicular rock)
และด้วยความที่เป็น แมกมาสีเข้ม (mafic magma) เมื่อลาวาเย็นตัวลง จะกลายเป็น หินบะซอบต์ (basalt) ซึ่งมีทั้งแบบ 1) บะซอลต์เนื้อแน่น (massive basalt) 2) บะซอลต์มีรูพูน (vesicular basalt) หรือรูพรุนมากจนไปถึงระดับที่เรียกชื่อเป็นหินใหม่ว่า 3) สคอเรีย (scoria) โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ เกิดจากความแตกต่างในลีลาการประทุ ของแต่ละเหตุการณ์ของภูเขาไฟในแต่ละลูก
เพิ่มเติม : วัสดุภูเขาไฟ
จากการลงพื้นที่สำรวจ พบหลักฐานที่สอดคล้องกัน คือโดยส่วนใหญ่พบหินบะซอบต์ที่เกิดจากลาวาไหลหลาก โดยพบกระจัดกระจายแบบสุ่มอยู่เต็มพื้นที่ มีความหลากหลายทั้งขนาดที่บางก้อนใหญ่เท่าตู้เย็น บางก้อนเล็กเข้าลูกเทนนิส
แต่จากการสังเกตในหลายๆ พื้นที่ทั้งบนเขาพนมรุ้งและปลายบัด พบว่าหินบะซอลต์ที่พบมีความ เอ๊ะ !!! โอ๊ะ !!! อ๊ะ !!! อยู่ และดูเหมือนไม่ค่อยจะเป็นธรรมชาติเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ โดยทั่วไป
1) กองกันเกิ๊นนน
แน่นอน หากมองแค่ผิวเผิน เราก็จะเพลินไปกับหินบะซอลต์ แต่หากสังเกตุให้ดีจะพบว่า ในบางพื้นที่มีก้อนบะซอลต์กองรวมกันอยู่อย่างหนาแน่นเป็นชั้นๆ 2-3 ชั้นบ้าง กองเป็นเนินบ้าง หรือบางครั้งก็กองสูงท่วมหัว ซึ่งในทางธรณีวิทยาแน่นอนว่าภูเขา 2 ลูกนี้ควรมีอยู่แค่หินบะซอลต์ แต่ธรรมชาติก็ไม่ควรจะเอาก้อนบะซอลต์มาทับถมกันเป็นชั้น เพราะเป็นบะซอลต์ ไม่ใช่กรวดภูเขาไฟที่ปะทุออกมากองทับถมกัน แถมในหลายหลายที่ยังพบคล้ายกับว่ามีการจัดวางและเรียงก้อนบะซอลต์เอาให้เป็นแนวยาว หรือเป็นรูปทรงคร่าวๆที่ช่วยยืนยันว่าน่าจะเป็นสิ่งที่คนทำ
2) คัดขนาดเกิ๊นนน
นอกจากการกองรวมกันเป็นเนินเป็นแนวเป็นแถว อีกหนึ่งเหตุผลสนับสนุนการแปลความไม่เป็นธรรมชาติของหินบะซอลต์ในละแวกนี้คือแถวหรือแนวมักจะเกิดจากการกองรวมกันของ หินบะซอลต์ขนาดพอๆ กัน ขนาดพอที่มนุษย์เพศชายพอจะยกย้ายได้ หรือก้อนหินบะซอลต์พวกนี้ ผ่านการคัดขนาดเป็นอย่างดี เหมาะที่จะทำมาใช้หรือนำมากอง
3) หลายลวดลายเกิ๊นนน
ประเด็นชวนคิดข้อสุดท้าย ในการแปลความความไม่เป็นธรรมชาติของกองหินบะซอลต์พวกนี้ คือ ในบรรดาหินบะซอลต์ที่กองรวมกันอยู่ ประกอบไปด้วยหินบะซอลต์หลากหลายสปีชี่ส์ ทั้ง 1) บะซอลต์เนื้อแน่น (massive basalt) 2) บะซอลต์มีรูพูน (vesicular basalt) และ 3) สคอเรีย (scoria) รวมกันอยู่ในกอง อยู่ในแนว หรืออยู่ในแถวเดียวกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในทางธรรมชาติในมิติของ ธรณีวิทยา (geology) และกระบวนการทางภูเขาไฟ
หรือว่า…หินบะซอลต์ เขาพนมรุ้ง-ปลายบัด จะเคยผ่านมือชาย หรือว่าจะเคยมีการถูกเคลื่อนย้าย เคยถูกลูบ ถูกคลำ เคยถูกคัดเลือก ด้วยน้ำมือมนุษย์ หรือว่าสิ่งที่เห็นจะเป็นกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่างของมนุษย์
ทีมสำรวจ : สันติ ภัยหลบลี้, นพมาศ ฤทธานนท์, กังวล คัชชิมา, สมบัติ มั่งมีสุขศิริ, อุเทน วงศ์สถิตย์, ปัญญา นากระโทก, จักรกริช อุดรพิมพ์, ตามศักดิ์ วงศ์มุนีวร, และ สิทธิโชค โตวิริยะกุล
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth