สำรวจ

เขามีดอีโต้ – ธรณีวิทยาพาเที่ยว

ภูเขารูปมีดอีโต้ หรือที่ทางวิชาการ เรียกว่า ภูมิประเทศเควสตา (cuesta topography) คือ ภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นแนวภูเขาที่มีสันเขาแหลมคม ด้านหนึ่งของฝั่งเขามีความชันสูง ส่วนอีกด้านหนึ่งของฝั่งเขามีความชันต่ำราดลงไป โดยปกติ หากเราพบเห็นภูเขารูปมีดอีโต้ หรือลักษณะภูมิประเทศแบบเควสตา โดยส่วนใหญ่หินในแถบนี้มักจะเป็น หินตะกอน (sedimentary rock) วางตัวเป็นชั้นๆ ตามแนวของฝั่งเขาที่มีความชันสูง และชั้นหินทุกชั้นจะวางตัวเอียงเทไปทางฝั่งที่มีความชันต่ำของแนวเขา

ภูเขารูปมีดอีโต้ ทิวเขาพังเหย รอยต่อระหว่างจังหวัดชัยภูมิ-ลพบุรี-เพชรบูรณ์

ธรณีวิทยาน่าเล่า

ในทางธรณีวิทยา หลังจากตะกอนสะสมตัวและแข็งตัวกลายเป็นชั้นหินตะกอน ทับกันเป็นชั้นๆ เหมือนขนมชั้น ในเวลาต่อมา ด้วยปัจจัยทางกายภาพของหินประกอบกับระยะเวลา แรงทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) สามารถทำให้หินมีการคดโค้งโก่งงอของชั้นหินได้ ทำให้ชั้นหินแอ่นตัวเหมือนเรือ หรือชามก๋วยเตี๋ยวซ้อนกัน (หินซ้อนกัน)

เพิ่มเติม : การคดโค้งโก่งงอของหิน

การ์ตูนแสดงการเกิดชั้นหินคดโค้ง
(ซ้าย) ชั้นหินคดโค้งปะทุนคว่ำ (ขวา) ชั้นหินคดโค้งปะทุนหงาย (ที่มา : www.usgs.gov; www.lumenlearning.com)

อย่างที่บอกหินบนภูเขารูปมีดอีโต้มักจะเป็นหินตะกอน หรือหินชั้น ถ้าดูจากฝั่งเขาที่ชัน หินด้านล่างตรงตีนเขาจะมีอายุแก่ที่สุด และไล่ลำดับความอ่อนขึ้นไปจนถึงยอดเขา ในการสำรวจหิน เช่นเมื่อเราเดินขึ้นจากฝั่งที่ชันขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะพบการเปลี่ยนแปลงของหินทีละชนิดแตกต่างกัน ตามลำดับชั้นหิน แต่หากว่าเราต้องการพบหินชนิดเดิมเพิ่มเติม เราควรเดินขนานไปกับแนวเขาที่ระดับความสูงใกล้เคียงกัน เช่น หากเราเดินขึ้นเขาพบหินเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และมีหินอยู่หนึ่งชั้นที่พบกระดูกไดโนเสาร์ ซึ่งหากเราต้องการหาหลักฐานของไดโนเสาร์เพิ่มเติม เราก็ควรเดินขนานตามแนวชั้นหินนี้ไปตามแนวสันเขา เพราะถ้าหากเดินขึ้นไปบนยอดเขาจะเป็นชั้นหินชนิดใหม่คนละยุค คนละเวลา

การ์ตูนแสดงลักษณะการวางตัวของชั้นหิน บริเวณ ภูเขารูปมีดอีโต้ หรือ ภูมิประเทศแบบเควสตา สีแต่ละสีแสดงหินตะกอนที่แตกต่างกันแต่ละชนิด โดยในมิติภูมิประเทศ บริเวณหัวมีดอีโต้จะมีความชันมาก เรียกทางวิชาการว่า ความชันด้านหน้าผา (scarp slope) ส่วนสันมีดอีโต้มีความชันต่ำกว่า เรียก ความชันด้านมุมเอียงเท (dip slope) หากเราเดินขึ้นเขาทางฝั่งหัวมีดอีโต้ เราจะได้พบหินหลากหลายชนิด แต่หากเดินขึ้นเขาทางฝั่งสันมีดอีโต้เราจะพบหินชนิดเดียว

ในกรณีภาคอีสานของไทย กระบวนการทาง ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) บีบอัดและยกตัวกลุ่มหินโคราชเหล่านี้ จนกลายเป็นเหมือนขอบแอ่งกระทะ ตลอดแนวตะวันตกและใต้ของขอบที่ราบสูงภาคอีสาน ขอบแอ่งกระทะทางตอนใต้ คือ เทือกเขาพนมดงรัก ส่วนขอบแอ่งกระทะทางตะวันตก คือ เทือกเขาดงพยาเย็น

แบบจำลองแสดงชั้นหินคดโค้งแบบโดมและแอ่ง

ลำดับชั้นหิน

ในแง่ของ การลำดับชั้นหิน (stratigraphy) หินบนเทือกเขาดงพยาเย็น รวมทั้งเขาทุกลูกที่ไล่ยาวมาทางทิศตะวันออก ในเขต จ. ชัยภูมิ และ จ. นครราชสีมา จะมีการเอียงเทของชั้นหินไปในทางทิศตะวันออก ส่วนหินบนเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา หินจะเอียงเทจากทางใต้ไล่ไปทางเหนือ ดังนั้นหากไล่ลำดับชั้นหินตะกอนจากฝั่งตะวันตกไปทางทิศตะวันออกของแนวเทือกเขาดงพญาเย็น หรือจากใต้ไปเหนือของพนมดงรัก ชั้นตะกอนอายุแก่กว่าจะอยู่ทางตะวันตก และไล่อายุอ่อนขึ้นไปเรื่อยๆ โดยมี การลำดับชั้นหิน (stratigraphy) ในทางธรณีวิทยาของไทย จากหินอายุแก่ไปอายุอ่อน ดังนี้ (Meesook et al. 2002)

(บน) ภูมิประเทศ 3 มิติ พื้นที่รอยต่อขอบที่ราบสูงโคราช แสดงการกระจายตัวของเขาสำคัญต่างๆ ที่แสดงลักษณะภูมิประเทศเควสตา (ล่าง) ภาพตัดขวางการวางตัวของชั้นหินในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ ไล่จากซ้าย – เทือกขายเที่ยง ไปจนถึง ขวา – ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล (ที่มา : www.khoratcuesta.net)
  • ยุคไทรแอสสิก
    • หมวดหินห้วยหินลาด (Huai Hin Lat Formation) หินกรวดมนเนื้อปูน หินกรวดมน หินทราย หินโคลนหินตะกอนภูเขาไฟ หนา 100-400 เมตร
  • ยุคจูแรสสิก
    • หมวดหินน้ำพอง (Nam Phong Formation) หินทราย หินดินดาน หินกรวดมน หนา 100-1,500 เมตร
  • ยุคจูแรสสิก-ครีเทเชียส
    • หมวดหินภูกระดึง (Phu Kradung Formation) หินดินดาน หินทรายแป้งเนื้อปานกลางสีน้ำตาลแดง หินทรายสีเขียว หนา 800-1,200 เมตร
  • ยุคครีเทเชียส
    • หมวดหินพระวิหาร (Phra Wihan Formation) หินทรายสีขาวเนื้อปานกลาง-หยาบ หินดินดาน หนา 100-250 เมตร
    • หมวดหินเสาขัว (Sao Khua Formation) หินดินดาน หินทรายแป้งสีน้ำตาลแดง หินทรายเนื้อละเอียดสีน้ำตาลแดง หนา 200-760 เมตร
    • หมวดหินภูพาน (Phu Phan Formation) หินทรายหินกรวดมน หนา80-140 เมตร
    • หมวดหินโคกกรวด (Khok Kruat Formation) หินทรายแป้ง หินดินดานสีแดง หินทรายสีน้ำตาลแดง หนา 430-700 เมตร
  • ยุคครีเทเชียสตอนปลาย
    • หมวดหินมหาสารคาม(Maha Sarakham Formation) หินดินดาน ชั้นเกลือหิน หนา 610-1,000 เมตร
    • หมวดหินภูทอก (Phu Tok Formation) หินทรายเนื้อละเอียด หินทรายแป้ง หินดินดานสีน้ำตาลแดงสด หนา 200-730 เมตร

แหล่ง เขามีดอีโต้ ในประเทศไทย

ภาพสามมิติแสดงภูมิประเทศโดยรวม บริเวณขอบที่ราบสูงโคราช เขื่อนลำตะคอง และเขายายเที่ยง จุดชมวิวเขื่อนลำตะคอง ต. หนองสาหร่าย อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา
https://goo.gl/maps/gNuBiNpTqmQ6sTf16
ผามออีแดง ต. เสาธงชัย อ. กันทรลักษ์ จ. ศรีสะเกษ
https://goo.gl/maps/nsaiTTaRhLLuyxBe7 (ที่มา : https://travel.trueid.net)
ผาตารุ่ง ต. ปราสาท อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์
https://goo.gl/maps/r1uhormvZ6NrQ8j97 (ที่มา : http://u2t.bru.ac.th)
ผาหำหด ต. เจาทอง อ. เทพสถิต จ. ชัยภูมิ
https://goo.gl/maps/52abFfNxzbCRPVQA8 (ที่มา : www.painaidii.com)
วนอุทยานภูชี้ฟ้า ต. ตับเต่า อ. เทิง จ. เชียงราย
https://goo.gl/maps/Zxq33EmshqvSuvCi7 (ที่มา : www.dplusguide.com)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: