เรียนรู้

บันทึกแผ่นดินไหว : ไดอารี่ที่จดเอาไว้คาดการณ์อนาคต

ในการศึกษาพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว ข้อมูลที่จำเป็นและเป็นตัวบ่งชี้นิสัยของแผ่นดินไหวได้ดีที่สุด คือ บันทึกแผ่นดินไหว (earthquake record) ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งจากแหล่งที่ได้มาของบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่แตกต่างกัน นักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกบันทึกแผ่นดินไหวตามช่วงเวลาและความแม่นยำของการบันทึกข้อมูลได้ 3 ประเภท คือ 1) บันทึกทางธรณีวิทยา (geological record) หรือ ข้อมูลธรณีวิทยาแผ่นดินไหว 2) บันทึกประวัติศาสตร์ (historical record) และ 3) บันทึกจากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว (instrumental record) บันทึกในแต่ละประเภทจะมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันทั้งในเรื่องของความคร่าวๆ ของข้อมูล และโอกาสที่จะได้เห็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ลองมาดูกันครับว่าบันทึกแต่ละประเภทได้มา และมีหน้าตายังไง แล้วแต่ละบันทึกมีข้อดีข้อจำกัดอะไรบ้าง

บันทึกทางธรณีวิทยา (geological record)

ย้อนกลับไปแบบไร้ลิมิต ในยุคที่ไม่รู้ว่าคนอยู่ที่ไหน ภาษาไทยหรือฝรั่งยังไม่ถูกบัญญัติขึ้น ข้อมูลทาง ธรณีวิทยาแผ่นดินไหว (earthquake geology) ถือเป็นข้อมูลหรือบันทึกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญ ทั้งในเรื่องของการนิยามว่าแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวหรือรอยเลื่อนนั้นได้ตายสนิทหรือยัง (มีพลังอยู่ หรือ ไม่มีพลัง) และการบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆ จนทำให้สภาพทางธรณีวิทยาเปลี่ยนไป ซึ่งแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ๆ จำพวกนี้ มักไม่ค่อยมีการกล่าวเอาไว้ในบันทึกประเภทอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่แผ่นดินไหวขนาดใหญ่มักจะนานๆ เกิดที ตัวอย่างเช่น ผลจากการศึกษาธรณีวิทยาแผ่นดินไหวโดย Udchachon (2002) บริเวณ กลุ่มรอยเลื่อนแพร่ พบหลักฐานการเลื่อนตัวของชั้นตะกอนอย่างเห็นได้ชัดบริเวณบ้านทุ่งเจริญ จังหวัดแพร่ นั่นหมายความว่าในบริเวณดังกล่าว เคยมีการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนและเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่พอสมควร (จนทำให้ชั้นตะกอนมีการเลื่อนตัว)

ผลการสำรวจธรณีวิทยาแผ่นดินไหวบริเวณบ้านทุ่งเจริญ จังหวัดแพร่ แสดงให้เห็นการเลื่อนตัวของชั้นตะกอนดินอย่างเด่นชัด ซึ่งน่าจะมาจากแผ่นดินไหว (Udchachon, 2002)

ลักษณะทางธรณีแปรสัณฐานของเกิดจากแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 5.5-7.0 เซนติเมตร/ปี (Charusiri และ Pailoplee, 2005b) เข้าชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จำนวนมากในช่วงเวลา 35 ปี ที่ผ่านมา (ค.ศ. 1980-2015) เช่น แผ่นดินไหวขนาด 9.0 เมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 รวมทั้งแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 จำนวน 9 เหตุการณ์ (Sukrungsri และ Pailoplee, 2015; 2017a)

นอกจากนี้ ในกรณีของ เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) จากการสำรวจและศึกษาหลักฐานทางธรณีวิทยาแผ่นดินไหว บ่งชี้ว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่เป็นภัยพิบัติ เช่น หลักฐานการตกทับถมของตะกอนทรายที่ถูกพัดพามากับสึนามิในอดีต บริเวณเกาะพระทอง นอกชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย (Tuttle และคณะ, 2007; Jankaew และคณะ, 2007; 2008) (รูป ก) และชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา (Monecke และคณะ, 2008) ซึ่งบ่งชี้ว่านอกจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2004 เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน ยังเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และทำให้เกิดสึนามิ 3 เหตุการณ์ ในช่วงเวลา 380±50 ปี 990±130 ปี 1,410±190 ปี และ 2,100±260 ปี ที่ผ่านมา (Prendergast และคณะ, 2012)

Aung และคณะ (2008) และ Wang และคณะ (2013) สำรวจและศึกษา ตะพักทะเล (marine terrace) และ เว้าทะเล (sea notch) (รูป ข-ค)บริเวณชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศพม่า ซึ่งสัมพันธ์กับการยกตัวหรือทรุดตัวของแผ่นดินเนื่องจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (ดูรายละเอียดในบทความเรื่อง การปรับระดับพื้นโลก-ภัยพิบัติระยะยาวจากแผ่นดินไหว) ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 8.0 หลายครั้ง เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงเวลา 1,395-740 ปี ก่อนคริสตกาล แผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 805-1220 ค.ศ. 1585-1810 และ ค.ศ. 1762 ตามลำดับ (Aung และคณะ, 2008; Wang และคณะ, 2013)

หลักฐานทางธรณีวิทยารูปแบบต่างๆ ซึ่งบ่งชี้การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีตจากเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (ก) ชั้นตะกอนทรายสึนามิ บริเวณเกาะพระทอง นอกชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย (Jankaew และคณะ, 2008) (ข) ตะพักทะเล และ (ค) เว้าทะเล (Wang และคณะ, 2013) บริเวณชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศพม่าและ (ง) ปะการังโขดหัวตาย บริเวณชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา (Natawidjaja และคณะ, 2006)

Zachariase และคณะ (1999) และ Natawidjaja และคณะ (2006) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเจริญเติบโตของ ปะการังโขดหัวตาย (microatoll) ที่สัมพันธ์กับการยกตัวหรือทรุดตัวของแผ่นดินเนื่องจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ผลการศึกษาสรุปว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (รูป ง) โดยเฉพาะบริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.8-9.2 ในปี ค.ศ. 1833 และ ค.ศ. 1797

เหล่านี้ คือตัวอย่างของแนวทางการศึกษาและเสาะหาหลักฐานทางธรณีวิทยา ของการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอดีตที่ไม่เคยมีบันทึกเอาไว้ทั้งในบันทึกประวัติศาสตร์และบันทึกจากเครื่องมือตรวจวัด

แล้วถามว่าทำไมเราต้องลำบากลำบนไปหาหลักฐานทางธรณีวิทยาด้วย ในเมื่อปัจจุบันก็มีเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว เรื่องของเรื่องคือแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ส่วนมาก นานๆ จะเกิดขึ้นที ซึ่งหลายเหตุการณ์ที่บันทึกประวัติศาสตร์หรือบันทึกจากเครื่องมือตรวจวัดก็ไม่เคยตรวจวัดเอาไว้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์อาจประเมินศักยภาพของแหล่งกำเนิดแผ่นไหวนั้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะไม่เคยเห็นประวัติเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ๆ เลยในอดีต หลักฐานทางธรณีวิทยาเหล่านี้จึงเป็นตัวช่วยยืนยันว่า ถึงแม้ว่าช่วงอายุของเราที่เกิดมายังไม่เคยพบเจอ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะในอดีตก่อนที่เราจะเกิดนั้นแผ่นดินไหวใหญ่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

บันทึกประวัติศาสตร์ (historical record)

ย้อนหลังกลับไปก่อนที่จะมีเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว ประเทศไทยและเพื่อนบ้านก็เคยมีบันทึกเอาไว้ว่าเคยมีแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหววิ่งผ่าน จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่าในปี พ.ศ. 2088 เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ใดไม่ทราบ แต่แรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนั้นทำให้ยอดของเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมสูงกว่า 80 เมตรพังทลายลงมา คงเหลือแต่ส่วนตัวและฐานของเจดีย์ ที่ยังเหลือไว้ให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยกราบไหว้กัน

(ซ้าย) เจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่วนยอดได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี ค.ศ. 1545 (ที่่มา : Damm H.) (ขวา) ภาพวาดเจดีย์หลวงเดิมซึ่มีความสูง 80 เมตร ส่วนบนของเส้นทึบสีดำ คือ ส่วนที่พังทลายหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว (Kazmer และคณะ, 2011)

สภาพเจดีย์ของพม่าก็ดูจะแย่ไม่แพ้เรา เพราะผลจากแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2473 ก็ส่งผลให้เจดีย์ชเวมอดอ (Shwemawdaw Paya) หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า เจดีย์มุเตา สูงกว่า 21 เมตร ก่อสร้างด้วยอิฐจากฝีมือและความศรัทธาของชาวมอญ ในเมืองหงสาวดีหรือ เมืองพะโค (Bago หรือ Pegu) ได้รับความเสียหายถึงขนาดที่ยอดเจดีย์ขนาดใหญ่หักโค่นลงอย่างที่เห็น

ปลียอดเดิมของเจดีย์ชเวมอดอร์ที่หักลงมาจากแผ่นดินไหวปี พ.ศ. 2473 (ที่มา : https://experitour.com)

นอกจากนี้ ผลจากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์จากศิลาจารึก บันทึกใบลาน จดหมายเหตุ พงศาวดาร หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ปัญญา จารุศิริ (2548) ได้พบข้อความที่สื่อได้ว่า ประเทศไทยเคยประสบกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวอย่างน้อย 125 ครั้งเมื่อนานมาแล้ว ตัวอย่างเช่น

  • 23 เดือนมีนาคม จังหวัดศ. 1201 ปีกุน (พ.ศ. 2382) กรุงเทพฯ แผ่นดินไหว 3 ถึงครั้ง น้ำในแม่น้ำคลองกระฉ่อน ต้นเดิมไหวในเมืองพม่า ที่มา: พงศาวดารเมืองน่าน ประชุมพงศาวดารเล่ม 10 พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2507 หน้า 296
  • ขึ้น 10 ค่ำ เดือนยี่ จังหวัดศ. 1163 (พ.ศ. 2344) เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ แผ่นดินก็ร้องครางสนั่นหวั่นไหวมากนัก แก้วอันในยอดพระธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้งนั้นก็พอสะเด็นตกลงมา ยอดพระธาตุเจ้าสุเทพเชียงใหม่และยอดพระธาตุเจ้าลำพูน และยอดพระธาตุเจ้าลำปาง นคร และยอดพระธาตุเจ้าฉ้อแฮ เมืองแพร่ และชื่อพระวิหารหลวงเมืองพะเยาที่พระเจ้าตนหลวงอยู่นั้นก็สะเด็นตกลงถ้ำเดียวกันในขณะนั้นเสี้ยวแลในเดือนเดียวนี้ ฮอดแรม 14 ค่ำ ก็ซ้ำไหวแถมทีหนึ่ง ที่มา: พงศาวดารเมืองน่าน ประชุมพงศาวดารเล่ม 10 พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2507 หน้า 35
  • แรม 7 ค่ำ เดือนห้า จังหวัดศ. 376 ปีเถาะ (พ.ศ. 1557) โยนกนคร ซึ่งปัจจุบัน คือ พื้นที่ จังหวัดเชียงราย สุริยอาทิตย์ก็ตกไปแล้ว ก็ได้ยินเสียงเหมือนดั่งแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหวประดุจดังว่าเวียงโยนกนครหลวงที่นี้ จักเกลื่อนจักพังไปนั้นแล แล้วก็หายไปครั้งหนึ่ง ครั้งถึงมัชฌิมยามก็ซ้ำดังมาเป็นคำรบสองแล้วก็หายนั้นแล ถึงปัจฉิมยามก็ซ้ำดังมาเป็นคำรบสาม หนที่สามนี้ดังยิ่งกว่าทุกครั้งคราวที่ได้ยินมาแล้ว กาลนั้นเวียงโยนกนครหลวงที่นั้นก็ยุบจมลงเกิดเป็นหนองอันใหญ่ ยามนั้นคนทั้งหลายอันมีในเวียงนั้น มีพระมถ้าษัตริย์เป็นประธานก็วินาสฉิบหาย ตกไปในน้ำที่นั้นสิ้น ยังเหลืออยู่แต่เรือนยามแม่หม้ายเฒ่า หลังเดียวนั้นแล ที่มา: พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 ประชุมพงศาวดาร 2512 หน้า 44-48

อย่างที่บอกไปในตอนต้น บันทึกในแต่ละประเภทจะมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น ในกรณีของบันทึกประวัติศาสตร์และข้อมูลธรณีวิทยาแผ่นดินไหวเป็นการบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ย้อนกลับไปได้ไกลถึง 800-100,000 ปี การศึกษาบันทึกประวัติศาสตร์หรือข้อมูลธรณีวิทยาแผ่นดินไหวจึงช่วยให้ นักวิทยาศาสตร์เข้าใจพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มี คาบอุบัติซ้ำ (return period) ของการเกิดแผ่นดินไหวที่ยาวนาน แต่ข้อจำกัดของบันทึกดังกล่าว คือ บันทึกส่วนใหญ่เป็นแบบการบรรยายหรือพรรณาเท่าที่ผู้ตรวจวัดรับรู้ได้ จึงต้องอาศัยการตีความจากวิจารณญาณของนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์สูง เพื่อวิเคราะห์จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว เวลาเกิดรวมทั้งขนาดแผ่นดินไหว

กราฟแสดงการเปรียบเทียบช่วงเวลาการบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวรูปแบบต่างๆ (สันติ ภัยหลบลี้, 2555a)

บันทึกจากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว (instrumental record)

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 ที่ ชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ (Richter C.F.) นักแผ่นดินไหววิทยาชาวอเมริกัน ได้ประดิษฐ์เครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวและนำเสนอ มาตราริกเตอร์ (Richter Scale) เพื่อใช้ระบุขนาดแผ่นดินไหว หลังจากนั้นจึงมีการตรวจวัดและบันทึกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับแผ่นดินไหวในเชิงตัวเลข โดยบันทึกทั้งจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว (ลองจิจูด ละติจูด และความลึก) เวลาเกิด (ปี เดือน วัน ชั่วโมงและนาที) และขนาดของแผ่นดินไหว ที่ตรวจวัดด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน (Mw mb และ Ms)

ลองจิจูดละติจูดความลึกปีเดือนวันชั่วโมงนาทีMwmbMs
93.7303.28182005072714054.65.0
92.6009.18412004123006384.74.9
94.0808.00122005013003444.75.0
96.0519.61162005020807204.75.2
94.3704.97332005021923454.74.9
94.1202.62122005022520404.75.14.3
91.3109.05292005030721324.74.94.5
94.5405.09362005033114274.75.04.2
ตัวอย่างฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว

สืบเนื่องจากบันทึกจากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวมีความต่อเนื่องและความแม่นยำในการตรวจวัดแผ่นดินไหว ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวจึงมีบทบาทสำคัญและจำเป็นต่อการศึกษาวิทยาคลื่นไหวสะเทือนในปัจจุบัน (Wiemer, 2001) ซึ่งจากการสืบค้นฐานข้อมูลแผ่นดินไหวพบว่าในปัจจุบันมีการตรวจวัดและบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานด้านแผ่นดินไหวต่างๆ ได้แก่ 1) หน่วยงาน National Earthquake Information(NEIC) 2) หน่วยงาน International Seismological Center (ISC) และ 3) หน่วยงาน Global CMT Catalogue (CMT)

ตัวอย่างเว็บไซต์ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานด้านแผ่นดินไหวต่างๆ ที่สามารถคัดลอกข้อมูลแผ่นดินไหวได้ ฟรี !!!

1) ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว National Earthquake Information (NEIC)

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 หน่วยงานในการกำกับดูแลของกรมทรัพยากรธรณี สหรัฐอเมริกา (USGS) ที่ชื่อ The National Earthquake Information Center (NEIC) ได้เริ่มเผยแพร่เอกสารทางวิชาการรายเดือน เพื่อรายงานจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น (Preliminary Determination of Epicenters, PDE) (Sipkin และคณะ, 2000) โดยที่ NEIC มีภารกิจที่จะต้องรายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั่วโลกในทันทีหรือหลังจากเกิดแผ่นดินไหวไม่นานนักต่อสาธารณะชน โดยรายละเอียดการรายงานจะประกอบไปด้วย ตำแหน่ง (ลองจิจูด ละติจูด และความลึก) เวลา ของการเกิดแผ่นดินไหว (วัน เดือน ปี ชั่วโมง นาที และวินาที) ขนาดแผ่นดินไหว (หน่วยตามมาตราที่ใช้คำนวณ เช่น Mw mb หรือ Ms) ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ ของการตรวจวัดแอมพลิจูดของคลื่นไหวสะเทือน

ข้อเด่นของฐานข้อมูลแผ่นดินไหว NEIC นั้นจะรายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุดเกือบทั้งหมดเนื่องจากมีระบบการคำนวณแบบอัตโนมัติ แต่เนื่องจากระบบการคำนวณนั้นเป็นการคำนวณในเบื้องต้นเพื่อต้องการความรวดเร็วในการรายงานต่อสาธารณะชน จึงทำให้ผลการคำนวณนั้นอาจคลาดเคลื่อนได้บ้าง และส่วนใหญ่เมื่อมีการเผยแพร่เรียบร้อยแล้ว จะไม่มีการนำไปคำนวณหรือประเมินใหม่ ทั้งตำแหน่ง เวลา หรือแม้กระทั่งขนาดของแผ่นดินไหว ทำให้ฐานข้อมูล NEIC นั้นมีข้อด้อยเรื่องความคลาดเคลื่อนของข้อมูลไปบ้าง แต่ก็ยังถือว่าเป็นฐานข้อมูลที่มีข้อมูลเหตุการณ์แผ่นดินไหวทันสมัยที่สุดในเวลาใดๆ เมื่อเทียบกับฐานข้อมูลอื่นๆ

2) ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว International Seismological Centre (ISC)

ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว The International Seismological Centre (ISC) เป็นอีกหนึ่งฐานข้อมูล ที่รายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวในระดับทั่วโลก โดย ISC นั้นจะเผยแพร่เหตุการณ์แผ่นดินไหวในรายเดือนเช่นเดียวกับฐานข้อมูลแผ่นดินไหว NEIC แต่เมื่อเปรียบเทียบที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวใดๆ ฐานข้อมูล ISC จะรายงานออกมาภายหลังที่ฐานข้อมูล NEIC นั้นรายงานออกมา โดยกระบวนการทำงานนั้นฐานข้อมูล ISC จะเลือกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รายงานในเบื้องต้นจากฐานข้อมูล NEIC หรือฐานข้อมูลในระดับท้องถิ่นอื่นๆ มาเพื่อทำการคำนวณรายละเอียดของแผ่นดินไหวในแต่ละเหตุการณ์ใหม่อีกครั้ง (International Seismological Centre, 2001) ตลอดจนรายงานข้อมูลในเชิงลึกอื่นๆ ที่อาจจำเป็นต่อการวิจัยในเชิงลึกด้าน แผ่นดินไหววิทยา (Seismology) หรืออาจมีการเพิ่มเติมการรายงานขนาดของแผ่นดินไหวตามมาตราอื่นๆ ที่ฐานข้อมูล NEIC นั้นยังไม่ได้รายงานไว้ โดยมีการเพิ่มข้อมูลการประมวลผลจากสถานีตรวจวัดที่มากขึ้นหรือทั้งหมดที่สามารถตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนของแผ่นดินไหวนั้นๆ ได้ ซึ่งจะแตกต่างจากฐานข้อมูล NEIC ที่อาจใช้ข้อมูลคลื่นจากบางสถานีตรวจวัดเพื่อให้รายงานในเบื้องต้นได้ก่อน แต่ไม่เน้นความแม่นยำมากนัก ดังนั้นถึงแม้ว่าฐานข้อมูล ISC จะรายงานช้ากว่า NEIC และบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดในปัจจุบันฐานข้อมูล ISC จะยังไม่มีการรายงาน แต่ก็ถือว่าภาพโดยรวมของฐานข้อมูลนี้ ส่วนใหญ่มีความถูกต้องมากกว่าฐานข้อมูล NEIC

3) ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว Global CMT Catalogue (CMT)

ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว The Global Centroid Moment Tensor (CMT) ในอดีตนั้นเป็นที่รู้จักในเครือข่ายการทำงานวิจัยด้านแผ่นดินไหวในนามของฐานข้อมูลแผ่นดินไหว Harvard CMT (HRV) โดยมีภารกิจหลักในการวิเคราะห์และรายงานค่า โมเมนต์เทนเซอร์ (Centroid moment tensor, CMT) ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่า 5.5 นับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1976 (Dziewonski และคณะ, 1981; Ekström และคณะ, 2005) โดยฐานข้อมูลนี้เป็นฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ใช้เวลาการวิเคราะห์ตัวแปรต่างๆ ด้านแผ่นดินไหวอย่างละเอียด ตลอดจนรายงานผลการวิเคราะห์ กลไกการเกิดแผ่นดินไหว (focal mechanism) โดยจะรายงานออกมาภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว หลังจากการรายงานทั้งจากฐานข้อมูล NEIC และ ISC แต่เป็นฐานข้อมูลที่มีรายละเอียดมากที่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ด้านแผ่นดินไหววิทยาในเชิงลึก

4) ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว Thai Meteorological Department (TMD)

ในกรณีของประเทศไทย เป็นฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่อยู่ในความดูแลของ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทย มีหน้าที่ตรวจวัดและบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดในประเทศไทยและพื้นที่ข้างเคียงนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1963 โดยในกรณีของพื้นที่ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ หน่วยงาน TMD สามารถตรวจวัดและบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้มากกว่าหน่วยงาน NEIC หน่วยงาน ISC และหน่วยงาน GCMT ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลแผ่นดินไหวในพื้นที่ประเทศไทย Pailoplee (2014c) พบว่าแผ่นดินไหวส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลาง ที่เครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวจากหน่วยงาน NEIC ISC และหน่วยงาน GCMT ไม่สามารถตรวจวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงสรุปว่าเครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวของหน่วยงาน TMD มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจวัดและบันทึกข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดในประเทศไทยและพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลาง ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว

บันทึกจากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในภูมิภาคอาเซียน

จากผลการคัดลอกและรวบรวมข้อมูลการบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวทั้ง 3 ฐานข้อมูลพบว่าฐานข้อมูลแผ่นดินไหวแต่ละแหล่งมีช่วงเวลาในการบันทึกและจำนวนเหตุการณ์ที่บันทึกได้แตกต่างกัน โดยฐานข้อมูลแผ่นดินไหว ISC และ CMT นั้นมีการบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วง 50 ปีย้อนหลังนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 โดยประมาณ ในขณะที่ฐานข้อมูลของ NEIC นั้นมีช่วงเวลาการบันทึกเพียง 22 ปี และจากการตรวจสอบ พบว่าฐานข้อมูลของต่างประเทศ จะแสดงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กระจายตัวอยู่ตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน ในขณะที่ฐานข้อมูลของ TMD นั้น มีการรายงานแผ่นดินไหวอย่างละเอียดในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคเหนือของไทย

กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเวลาเกิดและขนาดแผ่นดินไหว วิเคราะห์จากข้อมูลแผ่นดินไหวในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งตรวจวัดและบันทึกโดยหน่วยงานด้านแผ่นดินไหวต่างๆ ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว TMD = 14,286 เหตุการณ์ ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว ISC = 49,148 เหตุการณ์ ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว NEIC = 11,193 เหตุการณ์ ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว GCMT = 1,215 เหตุการณ์ และฐานข้อมูลแผ่นดินไหวรวม = 75,842 เหตุการณ์ (Pailoplee, 2009)

โดยสรุป ถึงแม้ว่าบันทึกจากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวจะมีช่วงเวลาการบันทึกสั้นกว่าบันทึกประวัติศาสตร์และข้อมูลธรณีวิทยาแผ่นดินไหว แต่จากความต่อเนื่องและความแม่นยำในการตรวจวัดแผ่นดินไหว ทำให้บันทึกดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งผลจากการตรวจวัดและบันทึกข้อมูลแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดชุดข้อมูลแผ่นดินไหวที่เรียกว่า ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว (earthquake catalogue)

ซึ่งนอกจากการนำข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้มาใช้ประโยชน์ในการศึกษากระจายตัวของแผ่นดินไหวเพื่อประเมินรูปร่างและการวางตัวของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวในเบื้องต้น นักแผ่นดินไหววิทยาในปัจจุบันยังสามารถนำข้อมูลแผ่นดินไหวดังกล่าวมาวิเคราะห์ในทางสถิติ เพื่อศึกษาพฤติกรรมและลักษณะเฉพาะของการเกิดแผ่นดินไหวในหลายรูปแบบ ได้แก่ 1) แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ (maximum magnitude) 2) คาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว (return period) 3) โอกาสเกิดแผ่นดินไหว (probability of occurrence) และ 4) พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต (prospective earthquake source) เป็นต้น ดังนั้น ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว (earthquake catalogue) จึงเป็นบันทึกแผ่นดินไหวที่เรียบง่ายที่สุด แต่มีประสิทธิภาพอย่างมากต่อการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม ความถูกต้องแม่นยำของการศึกษาวิจัยดังกล่าว ก็ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องในการตรวจวัดและสมบูรณ์ของฐานข้อมูลแผ่นดินไหวเช่นกัน

แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่แสดงการกระจายตัวของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีต ที่ตรวจวัดและบันทึกโดยหน่วยงานด้านแผ่นดินไหวต่างๆ (Pailoplee, 2014c) สามเหลี่ยมสีดำ คือ เครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวของหน่วยงาน TMD

อ้างอิง

  • Dziewonski, A.M., Chou, T.-A., and Woodhouse, J.H., 1981, Determination of earthquake source parameters from waveform data for studies of global and regional seismicity: J. Geophys. Res., v. 86, no. B4, p. 2825-2852.
  • Ekström, G., Dziewoński, A.M., Maternovskaya, N.N., and Nettles, M., 2005, Global seismicity of 2003: centroid–moment-tensor solutions for 1087 earthquakes: Phys. Earth Planet. In., v. 148, p. 327–351.
  • International Seismological Centre, 2001, On-line Bulletin, Internatl. Seis. Cent., Thatcham, United Kingdom: Thatcham, United Kingdom, Internatl. Seis. Cent., , v. 2008, no. March 12.
  • Sipkin, S.A., Person, W.J., and Presgrave, B.W., 2000, Earthquake bulletins and catalogs at the

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: