สำรวจ

มัดรวมเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ไทยเคยโดน

 ประสบการณ์การด้านแผ่นดินไหวในบ้านเรา จริงๆ แล้วก็มีให้เห็นเป็นระยะๆ หลายคนเคยเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อโทรทัศน์ แต่คนที่จะได้รับประสบการณ์ตรงของแรงสั่นสะเทือนนั้นคงนับหัวได้ ดังนั้นคนไทยส่วนใหญ่จึงอาจจะคิดว่าแผ่นดินไหวเป็นเรื่องไกลตัว คิดไปก็ปวดหัวเปล่าๆ ก่อนที่ความรู้สึกแบบนี้จะฝังรากหยั่งลึก แนะนำให้ลองดูแผนที่ด้านล่างกันก่อน

ข้อมูลที่แสดงในแผนที่เป็นสถิติการเกิดแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดในช่วงปี พ.ศ. 2507-2554 ซึ่งคัดลอกมาจากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวของหน่วยงาน Incorporated Research Institutions for Seismology (IRIS) ประเทศสหรัฐอเมริกา จุดสีเทาที่แปะอยู่จนดูเหมือนแผนที่นั้นขึ้นรา คือ ตำแหน่งของแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่า 4.0 ซึ่งมีมากกว่า 100,000 จุด ส่วนสี่เหลี่ยมสีเขียว คือแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่า 7.0 ขณะที่สีฟ้านั้น ก็แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่า 7.0 เหมือนกัน แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อน ปี พ.ศ. 2507 ซึ่งรวบรวมมาจากบทความทางวิชาการและบันทึกเอกสารในประเทศพม่า

แผนที่ประเทศไทยและเพื่อนบ้านแสดงการกระจายตัวของแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดและข้อมูลการจดบันทึกทางเอกสาร วงกลมสีแดง คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญในประเทศไทยที่อยากจะเล่าให้ฟังในบทความนี้

เมื่อดูจากการกระจายตัวของจุดสีเทาบนแผนที่ในแผนที่ด้านบนก็พอจะเดาแนวโน้มได้ว่า แผ่นดินไหวส่วนใหญ่นั้นจะเกิดเบียดเสียด ยัดเยียดอยู่ตาม เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andmand Subduction Zone) ซึ่งทอดยาวจากเทือกเขาอาระกัน ทางตะวันตกของพม่า ลงสู่หมู่เกาะนิโคบาร์ และเลื้อยมาตามขอบด้านซ้ายของเกาะสุมาตรา ของประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นชุมชนแออัดแผ่นดินไหวเลยก็ว่าได้ เพราะดูแล้วแทบจะไม่มีช่องว่างให้วางแผ่นดินไหวลงไปได้อีก ยิ่งถ้าดูที่สี่เหลี่ยมเขียว ก็ยิ่งไม่ต้องสงสัยกันเลยครับว่า “ตัวนี้ตัวพ่อ” เพราะภายในระยะเวลาไม่ถึง 50 ปี (พ.ศ. 2507-2554) เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 7.0 ในแถบนี้ มากกว่า 20 ครั้ง แถมดาวแดง (แผ่นดินไหวขนาด 9.0 พ.ศ. 2547) ก็ยังเป็นเครื่องหมายการค้าชั้นดี การันตีคุณภาพที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกนี้ได้ตีตราฝากเอาไว้

วกเข้ามาที่บ้านเรา จากแผนที่ด้านบนจะเห็นว่าเมืองไทยยังถือว่าโชคดีที่รอยเลื่อนภายในประเทศดูจะไม่ค่อยดุร้ายเท่าไหร่นัก เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน การวางตัวของจุดสีเทาดูเบาบาง แต่ก็ยังพอมีให้เห็นบ้างในภาคเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งเท่าที่พอจะจำได้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวสำคัญที่เกิดประชิดหรืออยู่ในผืนแผ่นดินไทยก็เห็นจะมีซักกว่า 10 ครั้ง

โดยเมื่อประมาณ 35 ปีที่แล้ว 17 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 (Prachaub, 1990) ที่ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก (หมายเลข 1 ในแผนที่) ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการเลื่อนตัวของ กลุ่มรอยเลื่อนเมย-ตองยี ผลจากแผ่นดินไหวในครั้งนั้น ทำให้ จังหวัดตาก ถูกปะทะด้วยความรุนแรงแผ่นดินไหวในระดับ VI ตาม มาตราเมอร์คัลลี่แปลง (รูป ก) นั่นหมายถึงระดับที่คนตกใจวิ่งออกจากบ้าน และแรงสั่นสะเทือนยังแผ่กระจายไปทั่วตลอดทั้งภาคเหนือและภาคกลางรวมไปถึงกรุงเทพฯ ซึ่งโดนหางเลขไปเบาะๆ ระดับ V เพียงพอที่จะทำให้ถ้วยชามนั้นตกแตก

แผนที่แผ่นดินไหวเท่าแสดงระดับการสั่นสะเทือนตามมาตราเมอร์คัลลี่แปลง จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย (รูปจาก Pailoplee, 2012)

อีก 8 ปีต่อมา ประเทศไทยก็โดนแผ่นดินไหวอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 เดือนเมษายน พ.ศ. 2526 (Prachaub, 1990) คราวนี้มีขนาด 5.6 เกิดใกล้กับเขื่อนศรีนครินทร์ (หมายเลข 2 ในแผนที่) ซึ่งก็ยืนยันได้ว่า กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ นั้นคือต้นเหตุ แรงสั่นสะเทือนระดับ IV-VI กระจายไปทั่วภาคตะวันตกและภาคกลาง (แผนที่แผ่นดินไหวเท่า รูป ข) และเป็นเหตุการณ์ที่ยังคงหลอกหลอนคนไทยอยู่จนถึงทุกวันนี้ว่า “เขื่อนของไทย ยังวั๊ยมั๊ย…พ่อทิด”

หลังจากนั้นตลอดระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ. 2530-2550) ดูเหมือนว่าภาคเหนือจะครองความเป็นเจ้า จัดแสดงแผ่นดินไหวออกมาเป็นระยะๆ ทั้งแผ่นดินไหวขนาด 5.1 เมื่อวันที่ 11 เดือนกันยายน พ.ศ. 2537 ที่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย จนทำให้โรงพยาบาลประจำอำเภอนั้นแตกร้าว และอีกครั้งขนาด 5.2 ปี พ.ศ. 2538 ที่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (หมายเลข 3-4 ในแผนที่) และเกิดกระเจ๊าะกระแจ๊ะ (ขนาด 2.0-4.0) เสริมมาอีกเป็นระรอกๆ

ความเสียหายที่เกิดขึ้นในอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เนื่องจากแผ่นดินไหวขนาด 5.1 (http://202.28.24.131/web/6-2.htm)

ปิดท้ายก่อนอำนาจจะเปลี่ยนมือ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดแสดงแผ่นดินไหวอีกครั้งเพื่อสั่งลา วันที่ 12 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 เกิดแผ่นดินไหวด้วยขนาดพอประมาณ 5.1 (หมายเลข 5 ในแผนที่) ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจาก กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา (กรมทรัพยากรธรณี, 2549) เกิดความรุนแรงสูงสุดในระดับ VI ในพื้นที่ใกล้จุดศูนย์กลาง ทำให้ผนังบ้านเรือนร้าวใน จังหวัดเชียงใหม่ และส่งต่อไปถึง จังหวัดเชียงรายเกือบทั้งพื้นที่ที่ในระดับ II-IV (แผนที่แผ่นดินไหวเท่า รูป ค)

ในช่วงปี พ.ศ. 2549 มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ แผ่นดินไหวย้ายขุมกำลังลงสู่ปักษ์ใต้ วันที่ 8 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งอ่าวไทย ขนาด 5.0 (กรมชลประทาน, 2549) (หมายเลข 6 ในแผนที่) ส่งความรุนแรงสูงสุดถึงระดับ V ตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย (แผนที่แผ่นดินไหวเท่า รูป ง) ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะในอดีตนักแผ่นดินไหวไทยหลายคนเชื่อว่า ในอ่าวไทยไม่น่าจะมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่พอจะทำร้ายเราได้ แต่สุมาลี และคณะ (2552) ก็ยืนยันถึงตำแหน่งจุดศูนย์กลาง และยังสรุปเพิ่มเติมอีกว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนั้นเกิดจากการเลื่อนตัวตรงส่วนปลายสุดทางตอนเหนือของ กลุ่มรอยเลื่อนระนอง ซึ่งพาดผ่านตั้งแต่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงมาจนถึง จังหวัดชุมพร

หลังจาก พ.ศ. 2549 แผ่นดินไหวเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การแสดงส่วนใหญ่จึงตกไปอยู่แถบประเทศลาวหรือพม่าเป็นหลัก 16 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 มีศูนย์กลางในประเทศลาว (หมายเลข 7 ในแผนที่) ซึ่งเชื่อว่าเกิดบริเวณตอนกลางของ กลุ่มรอยเลื่อนน้ำมา (แนวเส้นสีเขียว หมายเลข 2 ในรูปด้านล่าง) และทำให้อาคารหลายหลังเสียหายรวมทั้งโรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อปี พ.ศ. 2550 (วงกลมแดง) และ 7.0 เมื่อปี พ.ศ. 2553 (วงกลมฟ้า) (1) กลุ่มรอยเลื่อนเม็งซิง (2) กลุ่มรอยเลื่อนน้ำมา (3) กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน

จากนั้นอีก 3 ปีถัดมา เมื่อวันที่ 25 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 (หมายเลข 8 ในแผนที่) กลุ่มรอยเลื่อนน้ำมา ได้สำแดงฤทธิ์เดชออกสู่สายตาประชาชนอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้จัดมาเต็ม 7.0 (วงกลมสีฟ้าในรูปด้านบน) พร้อมกับลูกสมุนอีกมากมายกระจายตัวตรงปลายสุดทางตอนใต้ของรอยเลื่อน ผลจากแผ่นดินไหวในครั้งนั้น สร้างความเสียหายอย่างมากต่อบ้านเรือนในพม่ามากกว่า 100 หลังคาเรือน และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 63 คน และส่งผลถึงพื้นที่ภาคเหนือของไทยที่ต้องโดนหางเลขไปด้วย เช่น โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พบรอยแตกร้าว ถือว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุด ที่ผมเคยเห็นกับตาในแถบบ้านใกล้เรือนเคียง

สภาพความเสียหายในประเทศพม่าจากแผ่นดินไหวขนาด 7.0 เมื่อวันที่ 25 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 (www.krqe.com)

อีกเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญ ที่น้อยคนนักจะจำได้คือแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ใกล้กับรอยเลื่อนปัว จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 13 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2468 (หมายเลข 9 ในแผนที่) แต่ด้วยความที่เกิดในช่วงยุคอนาล็อกและเกิดห่างไกลผู้คน ทำให้แผ่นดินไหวในครั้งนั้นไม่ได้เป็นที่สนใจมากนัก และไม่มีการรายงานความเสียหายให้เห็น

ปิดท้าย ด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีระบุว่าเกิดจาก กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวกระจายไปทั่วทั้งภาคเหนือของประเทศไทยและพม่า อาคารบ้านเรือนใกล้กับจุดศูนย์กลางได้รับความเสียหายอย่างหนัก ถนนบางสายทรุดตัว และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย นอกจากนี้ประชาชนที่อยู่บนอาคารสูงในกรุงเทพฯ ก็รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ รวมถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่าด้วย

สภาพความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนอันเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

และนี่ก็เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยและเพื่อนบ้าน ที่เพียงแค่ระยะเวลาเกือบ 50 ปี ที่เริ่มมีการตรวจวัดและเก็บข้อมูลสถิติการเกิดแผ่นดินไหว ก็ยังออกฤทธิ์ออกเดชมากขนาดนี้ ดังนั้นภัยพิบัติแผ่นดินไหวกับประเทศไทย จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว การปรับตนและปฏิบัติตัวให้พร้อมรับมือกับแผ่นดินไหว จึงเป็นสิ่งที่เราควรทำ เพราะจำเป็น

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: