สำรวจ

3 ทศวรรษ พัฒนาการแผนที่รอยเลื่อนมีพลังของไทย

ปฐมบทการศึกษาแนวรอยเลื่อนในประเทศไทยถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในรูปของแผนที่รอยเลื่อนมีพลังของแสงอาทิตย์ เชื้อวิโรจน์ (2534) ซึ่งได้ลากเส้นรอยเลื่อนเอาไว้ชัดเจนพอสมควรในพื้นที่ประเทศไทย และแบ่งรอยเลื่อนออกเป็นกลุ่มๆ ตามความต่อเนื่องและลักษณะทางธรณีวิทยา ซึ่งต่อมาก็ยังมีนักวิจัยอีกหลายคน ที่ได้นำเสนอกลุ่มรอยเลื่อนในประเทศไทยและพื้นที่ข้างเคียง เช่น Hinthong (1995) โดยได้มีการปรับเพิ่มเสริมแต่ง พัฒนากันมาเรื่อยๆ ตามแนวคิดหรือข้อมูลที่นักวิจัยแต่ละท่านมีอยู่ในมือ จนปันจุบันทำให้เราได้เห็นแผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ซึ่งศึกษาและสรุปไว้ในรูปด้านล่าง โดยจะเห็นว่ารอยเลื่อนส่วนใหญ่จะวางตัวเฉียงซ้ายเบี่ยงขวากระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งก็คือรอยร้าวภายในแผ่นเปลือกโลกที่เกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกในอดีต และล่าสุดกรมทรัพยากรธรณี แบ่งกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยออกเป็น 13 กลุ่ม เช่น กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ปัว เถิน อุตรดิตถ์ เมย ศรีสวัสดิ์ เจดีย์สามองค์ ระนอง คลองมะรุ่ย แม่จัน แม่ทา แม่ฮ่องสอน แม่อิง แม่… ฯลฯ

ส่วนกลุ่มรอยเลื่อนอื่นๆ ที่อยู่นอกประเทศ มีผู้ศึกษาเอาไว้บ้าง ได้แก่ งานวิจัยของอาจารย์ปริญญา นุตาลัย และคณะ (1985) ที่ได้นำเสนอกลุ่มรอยเลื่อนสำคัญๆ ทางภาคตะวันออกของพม่า เช่น กลุ่มรอยเลื่อนพานหลวง ตองยี ผาปูน ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ใช่รอยเลื่อนสัญชาติไทย แต่เราก็ไม่ควรมองข้าม เพราะการมาของแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว มันไม่มีพรมแดนขวางกัน

(ซ้าย) กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย (กรมทรัพยากรธรณี, 2006) (ขวา) กลุ่มรอยเลื่อนสำคัญทางภาคตะวันออกของพม่า (Nutalaya และคณะ, 1985)

ต่อมา Pailoplee และคณะ (2009) ทำการแปลความหมายจากภาพถ่ายดาวเทียมชนิดต่างๆ โดยอ้างอิงรอยเลื่อนแต่ละตัวจากที่นักวิจัยท่านก่อนๆ เคยนำเสนอเอาไว้ โดยพยายามลากเส้นขึ้นมาใหม่ให้ละเอียดขึ้น ตรงตำแหน่งมากขึ้น และเพิ่มเติมบางส่วนที่ยังไม่มีใครเคยพูดถึง แต่ก็เห็นได้ชัดจากภาพถ่ายดาวเทียม โดยสภาพภูมิประเทศประหลาดๆ จากหลายพื้นที่ ซึ่งบ่งชี้ว่าหน้าตาแบบนี้คือรอยแตกหรือรอยเลื่อนแสดงตัวอย่างดังรูป

ภาพถ่ายดาวเทียมรุ่นต่างๆ แสดงบางส่วนของรอยเลื่อนที่พบเห็นในประเทศไทยและบ้านใกล้เรือนเคียง (1) รอยเลื่อนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ (2) รอยเลื่อนสะกาย ในพม่า และ (3) รอยเลื่อนปัว จังหวัดน่าน

หมายเลข 1 ในรูป เป็นภาพจาก Google Earth ที่ถ้าผู้อ่านเข้าไปเปิดดูแถวจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะเห็นรอยบากยาวเหมือนวงพระจันทร์บนหน้าเปาบุ้นจิ้น พาดตลอดแนวเทือกเขาทางตะวันออกของเชียงใหม่ ส่วนหมายเลข 2 เห็นได้ชัดว่าแนวเทือกเขาตอนกลางของพม่านั้นมีเส้นคมๆ ลากยาวจากเหนือจรดใต้พาดผ่านกลางประเทศ ส่วนหมายเลข 3 เป็นภาพถ่ายดาวเทียมแลนด์แสท แสดงภูมิประเทศแบบผาสามเหลี่ยม ทอดยาวทางตะวันออกของ จังหวัดน่าน

นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ Pailoplee และคณะ (2009) แปลความรอยเลื่อนจากข้อมูลพื้นฐานที่เรียกว่า แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model : DEM) ซึ่งผลการแปลความตรวจพบรอยเลื่อนเพิ่มเติมจากภาพถ่ายดาวเทียมในบางส่วน และส่วนใหญ่ช่วยยืนยันผลการแปลความหมายรอยเลื่อนจากภาพถ่ายดาวเทียมได้เป็นอย่างดี

แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model : DEM) แสดงบางส่วนของรอยเลื่อนที่พบเห็นในประเทศไทยและบ้านใกล้เรือนเคียง (1) รอยเลื่อนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ (2) รอยเลื่อนเมย แถบตอนล่างของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก (3) รอยเลื่อนเถินและรอยเลื่อนแพร่ จังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่ (4) รอยเลื่อนเดียนเบียนฟู ทางตอนเหนือของประเทศลาว

เห็นเส้นยุบยับๆ ในรูป เป็นผลการแปลส่วนที่คาดว่าหนังหน้าโลกมีการแตก หรือ รอยเลื่อน (fault) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นรอยเลื่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวในทุกๆ เส้น ทั้งนี้ก็เพราะหลายเส้นในรูปยังไม่ได้มีการขุดเพื่อพิสูจน์ประวัติความเป็นมาว่าเคยเลื่อนหรือดุแค่ไหน ดังนั้น Pailoplee และคณะ (2009) จึงให้คำนิยามเส้นที่เห็นในรูปด้านล่างว่าเป็น รอยเลื่อนที่มีโอกาสมีพลัง (possible active fault) ซึ่งก็ยังไม่น่าไว้วางใจ

(ซ้าย) แผนที่กลุ่มรอยเลื่อนในประเทศไทยและพื้นที่ข้างเคียง ที่มีโอกาสปล่อยแผ่นดินไหว กรอบสี่เหลี่ยมสี่ดำ ขยายให้เห็นได้ชัดไว้ในรูปขวา (ขวา) รูปขยายในกรอบเล็กๆ จากรูปซ้าย ซ้อนทับด้วยแบบจำลองระดับสูงเชิงเลข เพื่อยืนยันการแปลแนวเส้น (Pailoplee และคณะ, 2009) หมายเลขต่างๆ ที่ใส่ไว้ประกอบอยู่ในแต่ละรอยเลื่อน เทียบได้กับคอลัมน์ “ลำดับ” ในตารางด้านล่าง
บรรยากาศ การขุดร่องสำรวจแผ่นดินไหวในทางธรณีวิทยา เพื่อศึกษาลำดับชั้นตะกอน กำหนดอายุรอยเลื่อน และประเมินอัตราการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน

ชื่อและรายละเอียดของกลุ่มรอยเลื่อนที่ลากเอาไว้ในรูป Pailoplee และคณะ (2009) สรุปไว้ในตาราง ซึ่งก็คงโต้รุ่ง ซอดแจ้งแน่ๆ ถ้าจะให้เล่ากันทีละตัว จึงขอแนะนำให้รู้จักมักคุ้นกันแค่บางตัวพอเป็นกระสัย ตัวที่เด่นๆ เลยก็หมายเลข 45 เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน ซึ่งเป็นรอยชนกันของยูเรเซียกับแผ่นอินโด-ออสเตรเลีย ตัวนี้สำคัญเพราะถ้าเป็นสถานะในครอบครัว ตัวนี้ก็เรียกว่า “ตัวพ่อ” ถ้าเป็นเรื่องธรณีแปรสัณฐานก็เป็นขอบของแผ่นเปลือกโลก ใหญ่ไม่ใหญ่ก็เคยปล่อย 9.0 มาให้ชมเป็นขวัญตามาแล้ว ถือเป็นแผ่นดินไหวที่ใหญ่อันดับ 3 ของโลกที่เคยมีการบันทึกไว้ จะเป็นรองก็แค่แผ่นดินไหวที่ชิลีขนาด 9.6 และแผ่นดินไหว 9.2 ที่เคยเกิดขึ้นที่รัฐอลาสกา สหรัฐอเมริกา ก็เท่านั้น

ส่วนรอยเลื่อนสัญชาติไทย ที่น่ากลัวที่สุดตามความเห็นของผู้เขียนคือ หมายเลข 19 กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน เพราะดูจากลักษณะภูมิประเทศ ดูเหมือนว่ารอยเลื่อนนี้จะคมชัดมากที่สุด ซึ่งนั่นหมายถึงถ้าไม่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยๆ ก็ต้องเกิดมาใหม่ๆ เพราะถ้าอยู่มานานหรือว่าไม่ค่อยเคลื่อนตัว เหลี่ยมคมก็คงโดนลูบโดนลบไปบ้างจากกระบวนการผุพังตามธรรมชาติ ถัดมาที่ผู้เขียนคิดว่าไม่ควรมองข้าม ก็คือ กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ (หมายเลข 44) และกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ (หมายเลข 49) เพราะประวัติการเพาะพันธ์แผ่นดินไหวก็มีโชกโชน ไม่ธรรมดา

(ล่าง) ภูมิประเทศในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอเชียงแสนและอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย แสดงแนวการวางตัวเป็นระยะๆ ของกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน สี่เหลี่ยม คือ ตำแหน่งทะเลสาบเชียงแสน ที่คาดว่าเป็น เมืองโยนกนาคนคร หรือเวียงหนองหล่ม (ขวาบน) ภาพดาวเทียมแสดงทะเลสาบเชียงแสนและเกาะแม่ม่าย

วกกลับมาที่ตาราง ตัวเลขหลายตัวที่ใส่ไว้ให้ในตาราง เป็นตัวเลขที่ Pailoplee และคณะ (2009) วิเคราะห์และสรุปเอาไว้ เพื่อสื่อถือความดุ ของรอยเลื่อนแต่ละตัวได้เป็นอย่างดี นอกจาก “ชื่อรอยเลื่อน” ที่ได้มาจากแหล่ง “อ้างอิง” ต่างๆ ที่แนบไว้ตอนท้าย ตาราง ยังได้บอกถึง “ชนิดรอยเลื่อน” หรือพฤติกรรมการเลื่อนตัวเอาไว้ด้วย “อัตราการเลื่อนตัว” ก็เป็นอีกค่าหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่สนใจจะเอาไปใช้ใน การประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหว (seismic hazard analysis, SHA) ส่วน “ขนาดสูงสุด2” หมายถึง ขนาดแผ่นดินไหวที่เคยเกิดและบันทึกไว้ได้จากเครื่องมือตรวจวัดซึ่งตั้งมาประมาณ 40-50 ปี ส่วน “ขนาดสูงสุด1” เป็นขนาดที่ประเมินจากความยาวของรอยเลื่อน (Well และ Coppersmith, 1994)

ที่มาที่ไปก็เนื่องมาจากในอดีตเมื่อเกิดแผ่นดินไหว นักแผ่นดินไหวจะวัดและเก็บข้อมูลความยาวรอยแตกที่โผล่ให้เห็นบนพื้นผิว และเก็บข้อมูลขนาดแผ่นดินไหวที่ประเมินได้จากเครื่องมือวัด นานวันเข้านักแผ่นดินไหว (Well และ Coppersmith, 1994) จึงได้เอาข้อมูลพวกนี้มาหาความสัมพันธ์ และคิดย้อนกลับว่าถ้าความยาวรอยเลื่อนขนาดนี้ แผ่นดินไหวสูงสุดที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จะใหญ่ขนาดไหน เพราะแนวคิดในปัจจุบันเชื่อว่า ยากที่รอยเลื่อนจะปริแตกไปเกินกว่าความยาวที่มีอยู่ (แต่ก็มีให้เห็นอยู่บ้างน้อยกรณีที่แตกลั่นไปต่อกับรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้เคียง อย่างในกรณีของ แผ่นดินไหวขนาด 9.0 ที่ ภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku) ทางเหนือของ เกาะฮอนชู (Honshu) ประเทศญี่ปุ่น)

จากตาราง จะเห็นได้ว่าถึงแม้ขนาดแผ่นดินไหวในแต่ละรอยเลื่อนที่เคยบันทึกได้จากเครื่องมือตรวจวัด จะมีค่าน้อยกว่าผลการประเมินขนาด จากความยาวของรอยเลื่อน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการประเมินจากความยาวนั้นผิด แต่ติดตรงที่เครื่องมือตรวจวัดนั้นเริ่มติดตั้งช้าเกินไป ช้ากว่าที่นิสัยลึกๆ ของรอยเลื่อนจะโผล่ออกมาให้เห็น ดังนั้นไม่ใช่มันจะต้องเกิดตามตัวเลข “ขนาดสูงสุด1” แต่ว่าถ้ามันจะเกิดได้สูงที่สุดก็มีขนาดเท่า “ขนาดสูงสุด1” นี่แหละครับ…ไม่ขาดไม่เกิน

และทั้งหมดนี้ ก็คือ 30 ปี ที่มีการศึกษารอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ขาดตกบกพร่องกระการใด เรียนเชิญกูรูทักหลังไมค์มาเพิ่มเติมกันได้นะครับ 🙂

ลำดับชื่อรอยเลื่อนชนิดรอยเลื่อนความยาว (กม.)ขนาดสูงสุด1ขนาดสูงสุด2อัตราเลื่อนตัว (มม./ปี)อ้างอิง
1ชาวบาง-เทียนเยนS2877.95.4Cuong และคณะ (2006)
2เชียงรายS286.85.5Pailoplee และคณะ (2009)
3ชองชานS2988.06.15.00Akciz และคณะ (2008)
4เดียนเบียนฟูS1307.56.92Zuchiewicz และคณะ (2004)
5ดองตริวS,N1877.75.4Charusiri และคณะ (2002)
6เกาลิกงชานS4078.175.00Akciz และคณะ (2008)
7แสนหวี-นานติงS3598.05.41.00Lacassin และคณะ (1998)
8จิงหงS537.15.7Lacassin และคณะ (1998)
9คาวตวง366.96.2Pailoplee และคณะ (2009)
10คลองมะรุ่ยS296.86.20.10Wong และคณะ (2005)
11กุงยาอุนเกลS256.76.24.00Wong และคณะ (2005)
12ลำปาง-เถินS,N286.85.30.83Charusiri และคณะ (2004)
13ลาเชียวS507.06.21.00Lacassin และคณะ (1998)
14วังเหนือ316.85.3Pailoplee และคณะ (2009)
15ลินฉาง1077.47.4Lacassin และคณะ (1998)
16เลย-เพชรบูรณ์S597.15.5Lepvrier และคณะ (2004)
17ลองลิง-รุยลิS707.275.00Bai และ Meju (2003)
18แม่แจ่ม216.65.8Pailoplee และคณะ (2009)
19แม่จันS997.46.63.00Fenton และคณะ (2003)
20แม่ฮ่องสอน-ตากS376.96.2Charusiri และคณะ (2004)
21แม่อิงS386.96.6Fenton และคณะ (2003)
22แม่ทาS477.05.80.8Rhodes (2004)
23แม่ยมS226.630.8Charusiri และคณะ (2004)
24เม็งเจรียนS1177.57.10.50Lacassin และคณะ (1998)
25เม็งซิงS757.36.44.80Lacassin และคณะ (1998)
26เมย-ตองยีS2597.96.20.73Pailoplee และคณะ (2009)
27น้ำมาS1777.75.92.40Morley (2007)
28น้ำเป็งS517.15.6Charusiri และคณะ (1999)
29เซียนชุยS5058.28.515.00Eleftheria และคณะ (2004)
30ผาปูนS1437.66.2Nutalaya และคณะ (1985)
31พานหลวงS2197.85.5Nutalaya และคณะ (1985)
32พะเยาS,N206.65.50.10Fenton และคณะ (2003)
33แพร่S286.85.30.10Fenton และคณะ (2003)
34ปัวN296.850.60Fenton และคณะ (2003)
35เคียวหู1457.65.9Lacassin และคณะ (1998)
36ระนองS467.06.21.00Wong และคณะ (2005)
37แม่น้ำแดงS8128.55.64.00Duong และ Feigl (1999)
38สะกาย-สุมาตราS9588.57.523.00Bertran และ Rangin (2003)
39ฉานS667.26Pailoplee และคณะ (2009)
40แม่น้ำคาS2257.85.3Takemoto และคณะ (2005)
41แม่น้ำเชS,N557.15.82.00Cuong และ Zuchiew (2001)
42แม่น้ำดาS467.05.7Phoung (1991)
43แม่น้ำมาS727.26.9Phoung (1991)
44ศรีสวัสดิ์S437.06.52Charusiri และคณะ (2004)
45เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันR33889.2947.00Paul และคณะ (2001)
46ทวายS326.84Wong และคณะ (2005)
47เทนาสสริมS507.06.24.00Wong และคณะ (2005)
48ท่าแขกS2507.95.8DMR (2006)
49เจดีย์สามองค์S1417.66.52.00Fenton และคณะ (2003)
50อุตรดิตถ์S276.75.60.10Fenton และคณะ (2003)
51วันนาออน697.25.6Pailoplee และคณะ (2009)
52วันดิงS1997.76.51.90Morley (2007)
ชื่อและรายละเอียดของกลุ่มรอยเลื่อนที่มีโอกาสมีพลังในประเทศไทยและพื้นที่ข้างเคียง ไล่เรียงตามเบอร์ในรูปด้านบน (Pailoplee และคณะ, 2009) หมายเหตุ: ตัวฝรั่ง S คือ รอยเลื่อนระนาบ (strike-slip fault) ส่วน N คือรอยเลื่อนปกติ (normal fault)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: