เรียนรู้

กลวิธีชี้เป้า (แผ่นดินไหว)

ด้วยความที่ช่างเจริญพันธุ์ของคลื่นไหวสะเทือนนี้ ทำให้แม้เกิดแผ่นดินไหวเพียงครั้งเดียว จะมี ลูกๆ หลานๆ คลื่น 4 ชุด วิ่งตามกันมา จวบจนเมื่อครอบครัวคลื่นวิ่งมาชนเครื่องวัดแผ่นดินไหวที่เราวางดักไว้ คลื่นไหวสะเทือนจะถูกลอกลายลงบนกราฟบันทึกแผ่นดินไหวให้เราเห็นอย่างในรูปล่าง

ลำดับเวลาการเดินทางไปถึงที่ต่างๆ ของคลื่นไหวสะเทือนหรือคลื่นแผ่นดินไหวในแต่ละชนิด

ด้วยความที่เกิดก่อน คลื่นรุ่นลูกอย่างพี่ปฐมจะวิ่งเข้าเส้นชัยถึงเครื่องวัดแผ่นดินไหวเป็นคลื่นแรก จากนั้นก็ตามมาด้วยน้องทุตยที่วิ่งช้ากว่า ส่วนคลื่นเลิฟจริงๆ ก็มีฝีเท้าพอๆ กับพี่ปฐม แต่เพราะเกิดมาทีหลังเป็นรุ่นหลาน เลยต้องวิ่งกวดตามมาทีหลังเป็นอันดับ 3 ปิดท้ายด้วยคลื่นเรลีย์ ที่วิ่งช้ากว่าน้องทุติยนิดหน่อย (0.9 เท่า) เลยคว้าที่โหล่ รับตำแหน่งเป็นตัวปิดขบวนคลื่น…ตามระเบียบ

หรือถ้าลองจับคลื่นทั้ง 4 มาเรียงแถวหน้ากระดานตามลำดับไหล่ จะพบว่า คลื่นรุ่นลูกนั้นเตี้ยแคระ พี่ปฐมจะเล็กที่สุดตามด้วยน้องทุตย ส่วนคลื่นรุ่นหลานก็ไม่รู้ว่าพันธ์เดิมมันดีหรือโด๊ปอาหารเสริม ทั้งสองตัวถึงสูงใหญ่อย่างเห็นได้ชัด

จากกฎเหล็กที่พี่ต้องวิ่งนำน้อง ทำให้ตลอดชีวิตของน้องทุติยจึงเหมือนถูกสาปให้ต้องตามตูดพี่ปฐมอยู่ร่ำไป และยิ่งต้องเดินทางไกลมากขึ้นเท่าใด พี่ปฐมก็ยิ่งไร้เยื่อใย ทิ้งน้องทุติยห่างไปทุกทีๆ

คลื่นไหวสะเทือนที่วัดได้จากแผ่นดินไหวเพียง 1 เหตุการณ์ (บน) กรณีที่สถานีตรวจวัดอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว (ล่าง) กรณีที่สถานีตรวจวัดอยู่ไกลจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

ซึ่งจากอาการวิ่งไม่รอกันของคลื่นสองพี่น้องนี้ นักแผ่นดินไหวจึงได้โอกาส หยิบมาใช้ประโยชน์ในการสะกดรอยคลื่น สืบดูว่ามันมาจากไหน โดยใช้สมการการเคลื่อนที่แบบง่ายๆ อย่างที่เห็นในสมการ 1

สมการ 1

สมมุติให้ V คือ ความเร็วคลื่น ส่วน S คือระยะทางที่คลื่นวิ่งได้ และ T คือเวลาที่คลื่นใช้ในการเดินทาง ดังนั้นความแตกต่างของเวลาที่มาถึงสถานีตรวจวัดระหว่างพี่ปฐมและน้องทุติยจึงเขียนได้คล้ายๆ กับสมการ 2

สมการ 2

จากสมการ 2 เราก็รู้อยู่แล้วว่าทั้งสองพี่น้องนั้นวิ่งด้วยความเร็วเท่าไหร่ (Vp และ Vs) ส่วนเวลาที่ต่างกันในการมาถึงสถานี (Tp-Ts) ก็วัดกันตรงๆ จากกราฟแผ่นดินไหวใน ซึ่งถ้าลองคำนวณกลับไปกลับมา อาศัยกระดาษทดซักหน้าสองหน้า เราก็น่าจะประเมินค่า S ได้ไม่ยาก

โดยความหมาย ถ้าเราเก็บค่า S เอาไว้ดูคนเดียว เราก็คงรู้แค่ว่าแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวมันน่าจะอยู่ตรงไหนซักที่ ที่ห่างจากสถานีตรวจวัดของเราด้วยระยะทาง S กิโลเมตร แต่ถ้าบังเอิญเพื่อนเราวัดคลื่นได้ด้วย ต่างคนต่างคิด แล้วมานั่งทายกันเรื่องค่า S เอาซัก 3 ค่าขึ้นไป ก็จะมีเพียงจุดเล็กๆ จุดเดียวเท่านั้น ที่ทุกคนเฉลยค่า S ออกมาแล้วไม่มีใครผิด ซึ่งจุดนั้นคือ ตำแหน่งที่มาของแผ่นดินไหว

หลักการประเมินจุดศูนย์เกิดแผ่นดินไหว (ซ้าย) เมื่อต้องนั่งคุยกันเรื่องศูนย์กลางแผ่นดินไหวกันอย่างน้อย 3 คน (ขวา) การเรียกชื่อตำแหน่งแผ่นดินไหว

ตำแหน่งต้นเหตุของแผ่นดินไหว ในทางวิชาการเรียกว่า จุดศูนย์เกิดแผ่นดินไหว (hypocenter หรือ focus) โดยแสดงรายละเอียดของตำแหน่งแผ่นดินไหวทั้ง 1) ละติจูด 2) ลองจิจูด และ 3) ความลึก ของแผ่นดินไหวแผ่นดินไหว นอกจากนี้ในกรณีของการนำเสนอข้อมูลตำแหน่งแผ่นดินไหวบนแผนที่ ซึ่งเป็นภาพ 2 มิติ โดยไม่พิจารณาค่าความลึก นักวิทยาศาสตร์เรียกการบอกตำแหน่งแผ่นดินไหวในรูปแบบนี้ว่า จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว (epicenter)

สรุปง่ายๆ ปิดท้าย คือ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา 1 เหตุการณ์ ถ้าเราสามารถตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนได้อย่างน้อย 3 สถานีขึ้นไป เราก็สามารถหาจุดศูนย์เกิดแผ่นดินไหวได้ โดยใช้ สมการ v = s/t ที่เราเรียนกันตอนมัธยม เห็นไหมครับ การชี้เป้าแผ่นดินไหว ง่ายนิดเดียว

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: