สำรวจ

ย้อนรำลึกแผ่นดินไหวโทโฮคุ 9.0 : ทำไมวันนั้นกำแพงกันคลื่นถึงเอาไม่อยู่

11 มีนาคม พ.ศ. 2554 หรือเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.0 ที่ ภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku) ทางเหนือของ เกาะฮอนชู (Honshu) ประเทศญี่ปุ่น และ ผลจากการเลื่อนตัวในแนวดิ่งของแผ่นเปลือกโลกที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวในครั้งนั้น ยังทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เข้าปะทะตลอดแนวชายฝั่งแปซิฟิกของประเทศญี่ปุ่น ผลทั้งจากแรงสะเทือนแผ่นดินไหวและสึนามิทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20,000 คน รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนเป็นที่หวาดวิตกของชาวโลกในช่วงนั้น

ภัยพิบัติสึนามิ ภูมิภาคโทโฮคุ เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

ภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku) คือ ภูมิภาคที่อยู่ทางเหนือของ เกาะฮอนชู (Honshu) ประกอบด้วย 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอะโอโมริ (Aomori) จังหวัดอะคิตะ (Akita) จังหวัดอิวะเตะ (Iwate) จังหวัดมิยะงิ (Miyagi), จังหวัดยะมะงะตะ (Yamagata) และจังหวัดฟุคุชิมะ (Fukushima)

จริงๆ แล้วจะว่าไป ประเทศญี่ปุ่นก็ถือได้ว่ายืนหนึ่งในเรื่องของการศึกษาด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิมาตลอด แต่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.0 ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2554 ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดญี่ปุ่นถึงได้สูญเสียขนาดนั้น เกิดอะไรขึ้นกันแน่ ? ทั้งที่แทบตลอดแนวชายฝั่งแปซิฟิกของประเทศญี่ปุ่น มีการสร้าง กำแพงกันคลื่นสึนามิ (tsunami sea wall) ไว้อย่างเรียบร้อย สุดสมบูรณ์แบบเท่าที่มนุษย์บนโลกจะสามารถคาดการณ์และป้องกันได้ จากองค์ความรู้การประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิที่มีอยู่ในมือ

ภาพมุมสูงและด้านข้างแสดงกำแพงกันคลื่นสึนามิ ที่มีเกือบตลอดแนวชายฝั่งแปซิฟิกของประเทศญี่ปุ่น

จากการถอดบทเรียนและศึกษาวิจัยในเวลาต่อมา พบว่าเรื่องของเรื่องเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวที่ใหญ่เกินคาด เกินที่นักวิจัยญี่ปุ่นเคยคาดคะเนเอาไว้ ทั้งนี้ก็เพราะด้วยแนวคิดหรือทฤษฎีการประเมินขนาดแผ่นดินไหวในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าพื้นที่ที่มีการปริแตกจะสัมพันธ์กับขนาดแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวขนาดเล็กจะมีพื้นที่ปริแตกและเลื่อนตัวน้อย ในขณะที่แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ก็จะมีพื้นที่การปริแตกใหญ่ตามไปด้วยเป็นเหงาตามตัว

ภาพจำลองอย่างง่ายแสดงความสัมพันธ์ระว่าง พื้นที่-ระยะเลื่อนตัว และ ขนาดแผ่นดินไหว

ซึ่งด้วยแนวคิดและทฤษฎีที่มีอยู่ในขณะนั้นรวมถึงปัจจุบันนี้ นักแผ่นดินไหววิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่า พื้นที่ยึดติดของระนาบรอยเลื่อน (asperity) สามารถประเมินได้และเชื่อว่าในแต่ละพื้นที่ยึดติดนั้นมีโอกาสน้อยมากหรือแทบจะไม่มีโอกาสเลยที่จะเกิดการปริแตกต่อเนื่องหรือเชื่อมกัน

พื้นที่ยึดติดของระนาบรอยเลื่อน (asperity) เป็นแหล่งสะสมความเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic stress) มีโอกาสปริแตก เลื่อนตัวและสร้างแผ่นดินไหว (Pailoplee, 2013)

ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2554 นั้น นักวิจัยญี่ปุ่นได้ร่วมกันประเมินพื้นที่ยึดติดตลอดแนว ร่องลึกก้นสมุทรญี่ปุ่น (Japan Trench) ด้วยวิธีและเทคนิคทางแผ่นดินไหววิทยา ซึ่งผลการประเมินพบว่ามีหลายหลายพื้นที่ที่แสดงการยึดติดของแผ่นเปลือกโลกเอาไว้ กระจายตัวอยู่ตามแนวร่องลึกก้นสมุทรดังกล่าว ซึ่งเมื่อนักวิจัยประเมินขนาดของพื้นที่ยึดติดได้ ก็จะสามารถประเมิน ขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ (Maximum Credible Earthquake, MCE) ได้ รวมทั้งเมื่อประเมินขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ ก็จะสามารถสร้างแบบจำลองการเกิดสึนามิ และประเมินความสูงของสึนามิเมื่อเข้าซัดชายฝั่งในแต่ละพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน

แต่ก็อย่างว่า กระดุมมันถูกติดผิดเม็ดตั้งแต่เม็ดแรก จากการรวบรวมข้อมูล พื้นที่ปริแตก (rupture area) ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น (รูป ก) หรือเทียบเคียงถัวๆ ได้กับ พื้นที่ยึดติดของระนาบรอยเลื่อน ประเมินได้ว่าแผ่นดินไหวในแถบร่องลึกก้นสมุทรญี่ปุ่น ไม่น่า ไม่ควรใหญ่เกิน 8.6 (ถ้าเชื่อว่าระบบการแตกเป็นของใครของมัน ไม่หน้ามึนลั่นข้ามระบบ) ลามไปจนถึงการสร้างแบบจำลองและประเมินความสูงสึนามิ และสร้างกำแพงกันคลื่นสึนามิเผื่อเอาไว้ให้เหนือระดับคลื่นที่ประเมินได้ ตามสมมาพาควรกับงบประมาณที่ต้องใช้

(ก) รวมพื้นที่ปริแตกของเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นบริเวณร่องลึกก้นสมุทรญี่ปุ่น (Lay, 2018) (ข) พื้นที่ปริแตก รูปแบบการเลื่อนตัว และ (ค) วิวัฒนาการการปริแตก ของแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ภูมิภาคโทโฮคุ เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 (Tohoku) (Lee, 2012)

อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวโทโฮคุ 9.0 ในครั้งนี้ พบว่าหลาย พื้นที่ยึดติดของระนาบรอยเลื่อน เกิดการปริแตกและลั่นไปยังพื้นที่ยึดติดอื่นๆ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นกว่าที่คาด (รูป ข-ค) ซึ่งตัวเลข 9.0 นี้ทำให้ขึ้นแท่นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 4 เท่าที่มนุษย์เคยมีบันทึกมา เป็นรองจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.6 ของประเทศชิลี ในปี ค.ศ. 1960 แผ่นดินไหวในรัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา ขนาด 9.2 ในปี ค.ศ. 1964 รวมทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 บริเวณหัวเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) ที่ทำให้เกิดสึนามิที่บ้านเรา

ก็นั่นแหละครับ หลายอย่างมันผสมโรงรวมกัน เพราะญี่ปุ่น (รวมทั้งทั่วโลก) ใช้แนวคิดการไม่แตกลั่นข้ามห้วยของรอยเลื่อน ในการประเมินขนาดแผ่นดินไหวและความสูงของสึนามิที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ แล้วก็คาดการณ์ได้ดีมาตลอด ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงเชื่อมั่นใน กำแพงกันคลื่นสึนามิ ซึ่งภาพข่าวในวันนั้นจะพบว่ามีหลายๆ ซีน ที่เรายังเห็นรถกำลังวิ่งอยู่หลังกำแพงกันคลื่นใกล้พื้นที่ชายฝั่ง ถึงแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 9.0 มาซักระยะก็ตาม

และนี่ก็คือบทสรุปที่ว่าเหตุใดประเทศญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศมือวางอันดับหนึ่งในเรื่องการศึกษาแผ่นดินไหวและสึนามิจึงต้องเจ็บช้ำมากขนาดนี้ โลกยังมีอีกหลายอย่างที่มนุษย์ยังเข้าไม่ถึง และก็เพราะบทเรียนจากโทโฮคุ ปัจจุบันนักวิจัยทั่วโลกก็เริ่มให้ความสนใจและกำลังศึกษาเกี่ยวกับ พฤติกรรมการปริแตกและลั่นข้ามไปยังพื้นที่ยึดติดข้างเคียง ก็ได้แต่หวังว่าวันนึง เราจะสามารถบอกได้ว่าโอกาสที่พื้นที่จะปริแตกจริงๆ รวมทั้งขนาดแผ่นดินไหวใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ นั้นจะเป็นเท่าไหร่

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share:
Slot Toto Slot Gacor Maxwin slot thailand slot toto slot resmi slot thailand slot qris slot gacor maxwin slot gacor maxwin Slot Gacor Maxwin Slot Gacor Maxwin 2024 Situs Slot Gacor 777 Situs Slot Gacor Toto Slot Gacor 2024 Maxwin Slot Gacor Terbaik Slot Gacor 4D Slot Gacor Terpopuler slot gacor maxwin slot toto gacor scatter hitam slot thailand slot777 slot maxwin slot thailand slot toto gacor slot gacor 777 Slot Gacor Thailand slot88 maxwin slot thailand 2024