เรียนรู้

ก่อนจะเดทกับแผ่นดินไหว ควรแต่งเนื้อแต่งตัวยังไงดี

ว่ากันจริงๆ ก็เกือบจะทุกพื้นที่บนโลกที่มีโอกาสได้ออกเดทกับแผ่นดินไหว ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ก็ทำให้เรารู้ว่าแผ่นดินไหวไม่ใช่ว่านึกอยากจะมาก็จะมา เพราะแผ่นดินไหวส่วนใหญ่มักจะมาตามนัด อย่างที่เราเรียกกันว่า คาบอุบัติซ้ำ (return period) ซึ่งพวกเราก็พอจะคาดจะเดากันได้

แต่ก็อีกนั่นแหละ เทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็ยังไม่ได้เทพถึงขั้นบอกได้ว่าแผ่นดินไหวจะมาวันพรุ่งนี้ช่วงบ่ายๆ ดังนั้นการแต่งเนื้อแต่งตัวเพื่อรอรับนัดแผ่นดินไหวจึงเป็นเรื่องที่ควรทำ ทั้งนี้ก็เพื่อลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวให้ได้มากที่สุด เมื่อถึงวันนั้น

วางแผนและทำข้อตกลงร่วมกัน

  • ในระหว่างที่แผ่นดินไหวเค้ายังเดินทางมาไม่ถึง สิ่งที่พวกเราควรทำเป็นอันดับแรกคือควรมีการพูดคุย ซักซ้อมและจ่ายงานกัน ทั้งในครอบครัว โรงเรียน หรือที่ทำงาน รวมทั้งระดับหมู่บ้าน อำเภอ เพราะการเตรี๊ยมกันตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้พวกเราไม่ตกใจ หรือตื่นสนามมากนัก เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง
การพูดคุยกันในครอบครัวเพื่อซักซ้อมและทำข้อตกลงร่วมกันเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
  • ควรทำแผนหนีภัยอย่างละเอียดทั้งกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งประเด็นที่ควรพิจารณา คือ ส่วนใดของหรือที่อยู่อาศัยของเราที่ปลอดภัยที่สุด เส้นทางการอพยพยู่ที่ไหน มีการเก็บอุปกรณ์การหนีภัยฉุกเฉินไว้ตรงที่ใดบ้าง เป็นต้น
  • ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวในพื้นที่ ว่าบ้านหรือที่ทำงานของเรามีโอกาสได้รับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวในระดับใด จะได้กำหนดชะตาชีวิตหรือนึกสภาพของตัวเองได้ถูก เมื่อภัยพิบัติมา
แผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวของประเทศไทย (ที่มา : http://www.dmr.go.th)
  • ทำบัตรประจำตัวผู้อพยพพกติดตัวตลอดเวลา โดยในบัตรควรมีรายละเอียดที่จำเป็นหากผู้ถือบัตรต้องการความช่วยเหลือ เช่น หมายเลขติดต่อของหน่วยงานรับผิดชอบ หรือข้อมูลที่เอื้อต่อผู้ช่วยเหลือหากผู้ถือบัตรหมดสติ เช่น ชื่อ ที่อยู่ กรุ๊ปเลือด เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
  • แบ่งหน้าที่รับผิดชอบให้แก่สมาชิกในครอบครัวหรือองค์กร ให้รับรู้ตรงกันชัดๆ ไปเลยว่า แต่ละคนจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในกรณีฉุกเฉิน
  • นอกจากนี้ ควรต้องคิดแผนพิเศษสำหรับอพยพเด็กและผู้สูงอายุไว้ด้วยถ้ามีในครอบครัวหรือองค์กร เพราะคนกลุ่มนี้มีที่จะช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หากวางแผนได้ไม่ดี อาจกลายเป็นการเพิ่มภาระในการอพยพ
  • ควรเข้าร่วมฝึกอบรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการหนีภัยหรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  • ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว บางครั้งการสื่อสารอาจถูกตัดขาด จึงควรมีตกลงกับสมาชิกว่าหากเกิดแผ่นดินไหว ทุกคนในบ้านจะไปพบกันได้ที่ใด
  • ควรวางแผนและวาดแผนที่เส้นทางหนีภัยเผื่อไว้หลายๆ เส้นทาง เพราะบางครั้งเส้นทางปกติอาจไม่สามารถใช้ได้หลังจากเกิดแผ่นดินไหว และที่สำคัญคือไม่ควรวางสิ่งของขวางทางเส้นทางหนีภัยในที่อยู่อาศัยของตัวเอง
ซักซ้อมและศึกษาเส้นทางการอพยพอย่างละเอียด และหมั่นทบทวน

เตรียมอาหารและสิ่งของจำเป็น

  • ควรมีการเตรียมอาหารและน้ำดื่ม สำหรับสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 2-3 วัน และหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุของอาหารเป็นประจำ (ใกล้หมดอายุก็เอาออกมากิน และซื้ออันใหม่ไปเปลี่ยนเรื่อยๆ)
  • เตรียมสิ่งของจำเป็นอื่นๆ เช่น ชุดปฐมพยาบาล เสื้อผ้า ไฟฉาย วิทยุ และสิ่งของเฉพาะที่จำเป็นต่างกันในแต่ละครอบครัว
เตรียมทุกอย่างให้พร้อมแบบในรูปนี้ รับรองว่าหลับฝันดี ไม่มีสะดุ้งตื่นกลางดึก
  • เก็บของทั้งหมด ไว้ในเป้แบบสะพายหลังเพียงใบเดียวต่อคน เนื่องจากสะดวกในการหยิบและอพยพ
    วางเป้ไว้ใกล้เตียงนอนหรือทางเดินในการหนีภัย เอาแบบว่าหยิบฉวยได้เร็วที่สุด จะได้ไม่ต้องวิ่งออกจากบ้านแบบกางเกงในตัวเดียว
หวังเป้ไว้ในที่ที่พร้อมหยิบฉวยได้ทันทีเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

การป้องกันอัคคีภัย

  • หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ส่วนใหญ่มักเกิดไฟไหม้ตามมาด้วยเสมอ ดังนั้นทุกๆ บ้านควรมีอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ในบ้าน ฝึกการใช้งาน และหมั่นตรวจความพร้อมเป็นประจำ
  • สมาชิกทุกคนในบ้านควรรู้ตำแหน่งและรู้จักวิธีปิดวาล์วน้ำ ก๊าซหุงต้ม และอุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้า
  • ป้องกันสิ่งที่ติดไฟง่ายไม่ให้อยู่ใกล้ และไม่ให้มีโอกาสล้มลงมาเจอกับเตาได้ระว่างเกิดแผ่นดินไหว
  • หลีกเลี่ยงการวางน้ำไว้ใกล้แหล่งไฟฟ้า เพราะแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว อาจทำให้น้ำหกใส่ปลั๊กไฟ เกิดการช๊อตและไฟลุกไหม้ได้

สร้าง-ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง

  • การก่อสร้างอาคารควรศึกษาและปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในการก่อสร้างอาคาร (Building Code) อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่สำคัญ เช่น โรงไฟฟ้า การประปา หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อให้การสื่อสารไม่ติดขัด และไม่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้า น้ำกินน้ำใช้ หลังจากแผ่นดินไหวผ่านพ้นไป
  • กำแพงหรือรั้วอาจพังทลายและปิดกั้นถนน ขัดขวางการหนีภัย หรือเป็นอุปสรรคต่อการเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือ ดังนั้นหากเป็นไปได้เลือกใช้รั้วต้นไม้ (กินได้ยิ่งดี) แทนรั้วที่สร้างด้วยหินหรือปูน
สภาพความเสียหายของรั้วบ้านที่กีดขวางการอพยพ หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.8 ที่ประเทศชิลี (ที่มา : www.chinadaily.com)
รั้วดอกเข็ม สวยงามและปลอดภัยจากแผ่นดินไหว
  • วางสิ่งของที่มีน้ำหนักมากในที่ต่ำ ป้องกันอันตรายจากการหล่นทับ
  • เลือกใช้หลอดไฟที่สว่างมากเพื่อลดจำนวนหลอดไฟ เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหว หลอดไฟอาจหล่นลงมาแตกกระจายอยู่ทั่วพื้น เป็นอุปสรรคต่อการอพยพ
  • เสริมความปลอดภัยของประตูกระจก ด้วยการติดฟิล์มเพื่อป้องกันการแตกของกระจกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

ทั้งหมดทั้งมวลก็จะประมาณนี้แหล่ะครับ สำหรับการเตรียมเนื้อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่แผ่นดินไหวจะมา ก็อย่างที่บอกว่าแผ่นดินไหวเขาจะมาแบบปุ๊บปั๊บ ดังนั้นความพร้อมในการตั้งรับจึงเป็นสิ่งสำคัญ เตรียมการให้พร้อมๆ นะครับ พวกเราจะได้อยู่ด้วยกันไปนานๆ

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: