
การปะทุของภูเขาไฟถือเป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สามารถสร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิตให้กับมนุษย์ ซึ่งจากสถิติที่มีการบันทึกไว้พบว่าในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา มนุษย์เสียชีวิตจากภัยพิบัติภูเขาไฟมากกว่า 275,000 คน เช่น ปี พ.ศ. 2426 ภูเขาไฟกรากะตัวทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เกิดปะทุขึ้นและมีผู้เสียชีวิต 36,000 คน หรือในปี พ.ศ. 2358 มีผู้เสียชีวิตมากถึง 92,000 คนจากการปะทุของภูเขาไฟแทมโบร่า ในประเทศอินโดนีเซีย
หากมองกันแค่ผิวเผิน ภาพจำของคนส่วนใหญ่จะมองว่าลาวาที่ไหลออกมาจากภูเขาไฟเป็นภัยพิบัติที่ร้อนแรงและน่ากลัว แต่จากผลกระทบจากภูเขาไฟที่เคยประทุผ่านๆ มา เราพบว่าความสูญเสียส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากลาวาที่ไหลมาเผาไหม้ แต่ยังมีภัยพิบัติอีกหลากหลายรูปแบบที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟแล้วทำให้ความเสียหายรุนแรงกินวงกว้าง ซึ่งจากหลากหลายกรณีศึกษาที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้สรุปและจำแนกภัยพิบัติภูเขาไฟออกเป็น 8 รูปแบบแตกต่างกัน
1) ลาวาไหลหลาก
ลาวาไหลหลาก (lava flow) เป็นภัยพิบัติรูปแบบแรกๆ ที่พวกเรามักจะนึกถึงเมื่อได้ยินข่าวว่าเกิดการปะทุของภูเขาไฟ โดยปกติการไหลหลากของลาวา มักจะเกิดจากแมกมาบะซอลต์ซึ่งมีความหนืดต่ำหรือเหลวมากกว่าแมกมาชนิดอื่นๆ (แมกมาไรโอไลต์และแมกมาแอนดีไซต์) ทำให้เมื่อถูกขับขึ้นมาบนพื้นผิวโลกแมกมาบะซอลต์จะไหลหลาก ล้อไปตามภูมิประเทศที่ต่ำกว่าเหมือนกับการบีบหรือหยดน้ำผึ้งลงพื้น

ลาวาไหลหลากโดยส่วนใหญ่สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินมากกว่าชีวิต เนื่องจากเคลื่อนที่ส่วนใหญ่จะออกแนวคืบคลานอย่างช้าๆ มากกว่าการไหลหลากเหมือนกับน้ำในแม่น้ำ นอกจากนี้ในปัจจุบัน มนุษย์สามารถจำกัดขอบเขตความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติลาวาไหลหลากได้ เช่น กรณีของลาวาไหลหลากจากภูเขาไฟไฮแม ในประเทศไอซ์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2516 ประชาชนใช้น้ำทะเลฉีดให้ลาวาชุดแรกแข็งตัว กลายเป็นแนวกำแพงเบี่ยงเบนลาวาชุดต่อมาให้ไหลลงทะเลได้ ดังนั้นในบรรดาภัยพิบัติทั้งหมดที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ ลาวาไหลหลากจึงถือเป็นภัยพิบัติที่มีความน่ากลัวน้อยที่สุด
2) ธุลีหลาก
ธุลีหลาก (nuée ardente) เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟแบบ พลิเนียน หรือ วัลเคเนียน ทำให้เกิดเถ้าผสมของกรวดภูเขาไฟและก๊าซร้อนแรงดันสูง ไหลลงตามความชันของภูเขาไฟด้วยความเร็วสูง โดยธุลีหลากเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การถล่มของโดมภูเขาไฟที่ภูเขาไฟอันเซน ปี พ.ศ. 2534 การถล่มของกรวดภูเขาไฟที่ทับถมกันบนภูเขาไฟวีสซูเวียน ปี พ.ศ. 79 หรือการระเบิดในแนวราบของภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้น

ซึ่งในกรณีการปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียส นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจเป็นภัยพิบัติธุลีหลากที่รุนแรงที่สุดในโลก เนื่องจากทำให้เมืองโบราณปอมเปอี รวมทั้งประชาชนกว่า 2,000 คน ถูกฝังทั้งเป็น ด้วยกรวดภูเขาไฟหนากว่า 2 เมตร

3) ลาฮาร์
ลาฮาร์ (lahar) เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของภัยพิบัติภูเขาไฟที่เกิดจากกรวดภูเขาไฟไหลปะปนกันมากับน้ำ ทำให้เกิดลักษณะคล้ายกับ โคลนไหลหลาก (mud flow)
ที่มาของน้ำอาจเป็นไปได้จากหลายกรณี เช่นเกิดฝนตกหลังจากการปะทุของภูเขาไฟวีสซูเวียส พ.ศ. 622 เกิดไต้ฝุ่นหลังจากการปะทุของภูเขาไฟพินาตูโบ พ.ศ. 2534 และการปะทุของภูเขาไฟเซนต์เฮเลน พ.ศ. 2523 หรือกรณีของภูเขาไฟเคลลูท (Kelut) ในประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ. 2129 แมกมาแทรกดันทะเลสาบกลางปล่องภูเขาไฟ ทำให้เศษกรวดภูเขาไฟจากการระเบิดครั้งก่อนปนมากับน้ำ


4) เถ้าหล่น
เถ้าหล่น (ash fall) หรือ เทฟ่า (tepha) เกิดจากการปะทุของแมกมาไรโอไรต์ ทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง เช่น การปะทุของภูเขาไฟพินาตูโบ พ.ศ. 2534 เกิดเมฆของเถ้าภูเขาไฟครอบคลุมพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตร โดยผลกระทบที่เกิดจากเถ้าหล่น ได้แก่ หากเถ้าสะสมบนหลังคาในปริมาณมาก น้ำหนักของเถ้าอาจทำให้โครงสร้างถล่มได้ หากเถ้าหล่นในพื้นที่การเกษตรก็ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย และที่สำคัญเถ้าสามารถลอยหมุนวนอยู่ในอากาศได้นานเป็นสัปดาห์ ทำให้การจราจรทางอากาศในบริเวณนั้นต้องหยุดชะงัก เนื่องจากเป็นอันตรายต่อเครื่องยนต์ เช่น กรณีของสายการบิน British Airway เที่ยวบิน 9 ปี พ.ศ. 2525 ซึ่งบินจากประเทศมาเลเซียไปประเทศออสเตรเลีย ระหว่างบินผ่านกลุ่มเถ้าภูเขาไฟที่ลอยอยู่ในอากาศจากการปะทุของภูเขาไฟกาลังกัง (Galunggung) เครื่องยนต์ทั้งหมดหยุดการทำงาน โดยเมื่อเครื่องบินลดระดับลงพ้นจากกลุ่มเถ้าภูเขาไฟ เครื่องยนต์จึงใช้งานได้อีกครั้ง

5) ก๊าซพิษ
ก๊าซพิษ (toxic gas) ในระหว่างที่ภูเขาไฟปะทุ จะมีการปล่อยก๊าซซึ่งเป็นพิษต่อมนุษย์ ออกมาหลายชนิด เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีหลายกรณีของการเสียชีวิตจากภูเขาไฟ มีสาเหตุเนื่องจากการสูดดมก๊าซพิษมากเกินไป เช่น การปะทุของภูเขาไฟลาไค (Laki) ในประเทศไอซ์แลนด์ ปี พ.ศ. 2326 ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้สัตว์เลี้ยง 75% และประชาชน 24% ของทั้งหมดในพื้นที่โดยรอบเสียชีวิต
นอกจากนี้กรณีทะเลสาบกลางปล่องภูเขาไฟนีออส ในประเทศคาเมรูน ซึ่งที่ผ่านมามีการรั่วซึมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากปล่องใต้ทะเลสาบอยู่ตลอดเวลา แต่ถูกกดทับให้อยู่ใต้ก้นทะเลสาบด้วยมวลน้ำด้านบน จนกระทั่ง พ.ศ. 2529 เกิดการระเบิดของก๊าซ มวลน้ำที่ปนเปื้อนด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไหลลงสู่หมู่บ้านด้านล่าง ประชาชน 1,700 คน และวัวควาย 3,000 ตัว ที่อาศัยอยู่ในหุบเขาด้านล่างเสียชีวิต

6) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
เนื่องจากเถ้าภูเขาไฟและก๊าซสามารถอยู่ได้ในชั้นบรรยากาศนานเป็นหลักปี และบดบังแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก ทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกลดลง เช่น การปะทุของภูเขาไฟแทมโบร่า ในประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ. 2358 อุณหภูมิโลกลดลง 3 องศาเซลเซียส และในปีต่อมาเกิดหิมะตก ฤดูกาลปลูกพืชสั้นลง พืชหลายชนิดตายเพราะความหนาว ประชาชนเกิดสภาวะอดอาหารและเสียชีวิตมากกว่า 80,000 คน
7) ดินถล่มและสึนามิ
จากกรวดภูเขาไฟจำนวนมากที่ทับถมบริเวณไหล่เขาความชันสูง ทำให้ในพื้นที่รอบภูเขาไฟมีโอกาสเกิดดินถล่ม หรือบางครั้งภูเขาไฟปะทุใต้น้ำก็อาจทำให้เกิดสึนามิได้ เช่น การปะทุของภูเขาไฟกรากะตัว ในประเทศฟิลิปปินส์ ปี พ.ศ. 2426 เกิดสึนามิและมีผู้เสียชีวิต 36,000 คน ส่วนกรณีภูเขาไฟอันเซน ในประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2335 เกิดแผ่นดินไหวทำให้โดมภูเขาไฟถล่ม กรวดภูเขาไฟที่ตกทับถมอยู่ไหลหลากลงทะเลและทำให้เกิดสึนามิ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 15,000 คน

8) ความอดอยาก
ความอดอยาก (famine) ค.ศ. 1815 ภูเขาไฟแทมโบร่า อินโดนีเซีย ประทุรุนแรงที่สุดในรอบ 200 ปี มีผู้เสียชีวิต 117,000 คน 10% เสียชีวิตเพราะภูเขาไฟประทุ แต่อีก 90% เสียชีวิตเพราะอดอยากและโรคระบาด

ถึงแม้ว่าการปะทุของภูเขาไฟนั้นจะไม่สามารถยุดยั้งได้ แต่ประชาชนสามารถลดอันตรายจากภัยพิบัติภูเขาไฟได้ หากมีการเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้มีการเฝ้าระวังภูเขาไฟในพื้นที่ต่างๆ ที่ยังมีพลังอยู่ โอยอาศัยการตรวจวัด สัญญาณบอกเหตุ (precursor) การปะทุของภูเขาไฟ ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น 1) ตรวจวัดแผ่นดินไหว ปกติก่อนการปะทุ บริเวณภูเขาไฟจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กจำนวนมาก เนื่องจากการแทรกดันของแมกมาใต้พื้นผิวโลกที่กำลังจะปะทุ 2) ตรวจวัดความเอียงของภูเขาไฟ ก่อนการเกิดการปะทุของภูเขาไฟ รูปร่างของภูเขาไฟจะเปลี่ยนไปมีลักษณะโป่งนูนขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากการแทรกดันของแมกมา และ 3) ตรวจวัดก๊าซพิษจากภูเขาไฟ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ บ่งชี้ว่าแมกมากำลังจะปะทุ

ดังนั้นหากมองในแง่ของความวูบวาบพของภัยพิบัติ ภูเขาไฟก็ยังถือว่ามีสัญญาณหรือแสดงอาการให้เห็นก่อนที่จะเอาจริง ไม่เหมือนกับแผ่นดินไหวที่นึกจะมาตอนไหนก็มา นึกอยากจะไปก็ไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่พวกเรามักจะตั้งตัวไม่ค่อยทัน
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth