
รำลึกมหาอุทกภัยปี 2554 – ถอดบทเรียนเพื่อป้องกันภัยตามแนวคิดทางธรณีสัณฐานวิทยา
ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ภาคกลางอาจเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่อยู่กับน้ำ ริมน้ำ ริมคลอง ที่คุ้นชินกับการท่วมเกือบทุกปี แต่สำหรับแหล่งชุมชนเมือง อุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว การท่วมจากแม่น้ำที่ไม่เป็นธรรมชาติ ย่อมทำให้เกิดความเสียหายมากมาย กรณีมหาอุทกภัยปี 2554 เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการประเมินธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดทางกายภาพหลายประการในการระบายน้ำ และความล้มเหลวในความพยายามที่จะควบคุมธรรมชาติ ในบทความนี้ผู้เขียนได้ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นช่วงกลางถึงปลายปี พ.ศ. 2554 รำลึกและวิเคราะห์สาเหตุ ผลกระทบที่เกิดจากข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ในมุมมองของนักธรณีสัณฐานวิทยา เพื่อให้เห็นว่าปัญหาทางกายภาพเป็นอย่างไร ทั้งนี้ผู้เขียนมุ่งหวังเพียงเพื่อนำเสนอข้อมูล แนวคิด และแนวทางที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ธรณีสัณฐานวิทยาที่ข้อมูลบางอย่างไม่เคยได้ถูกนำมาช่วยในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาอุทกภัยมาก่อน ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์หากนำข้อมูลนี้มาใช้ประกอบการวางแผนป้องกันอุทกภัยในอนาคต
เหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 (2011 Thailand mega-flood ) จัดว่าเป็นพิบัติภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จุดเริ่มต้นนั้นเกิดจากปัจจัยธรรมชาติในช่วงเดือนมิถุนายน 2554 จนกระทั่งมวลน้ำได้ไหลเข้ามาประชิดพื้นที่กรุงเทพมหานครในเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งหากสรุปสาเหตุหลักของมหาอุทกภัยครั้งนี้ จัดได้ว่าเกิดจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทางธรรมชาติ (พายุ และปริมาณน้ำฝน) และปัจจัยจากมนุษย์ (การบริหารจัดการน้ำ และโครงสร้างทางชลศาสตร์ที่มนุษย์สร้างขึ้น)
ปัจจัยทางธรรมชาติ
ปัจจัยทางธรรมชาติที่สำคัญ คือ พายุ และลมมรสุม ที่ทำให้เกิดปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติซึ่งเริ่มเข้ามาในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคมของปี 2554 มีทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่ พายุไหหม่า พายุนกเตน พายุไห่ถาง พายุเนสาด และพายุนาลแก ที่ส่งผลตามลำดับเวลาดังแสดงในตาราง 1
ตารางที่ 1 แสดงลำดับเวลาและผลกระทบของพายุที่พัดผ่านมายังประเทศไทยช่วงปี 2554
พายุ | วันที่ | ผลกระทบ |
ไหหม่า | 24-26 มิ.ย. | เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่ จังหวัดแพร่ น่าน ภาคเหนือ |
นกเตน | 31 ก.ค. | เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ พัดมายังภาคเหนือ |
ไห่ถาง | 27 ก.ย. | เป็นดีเปรสชั่น พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ |
เนสาด | 30 ก.ย. | เป็นโซนร้อน พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ |
นาลแก | 6-8 ต.ค. | เป็นโซนร้อน ส่งผลต่อพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน |
จากการที่มีพายุและลมมรสุมพาดผ่านประเทศไทยข้างต้นนั้น ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมเพิ่มขึ้นมากโดยพบว่าปี 2554 เป็นปีที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในรอบ 20 ปี (รูป 1) ซึ่งปริมาณน้ำฝนในแต่ละเดือนก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของพายุ เช่น เป็นพายุโซนร้อน ดีเปรสชั่น หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ

ปัจจัยจากมนุษย์
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ เขื่อน ฝายกั้นน้ำ คลองชลประทาน ซึ่งโครงสร้างทางชลศาสตร์เหล่านี้สร้างไว้เพื่อวัตถุประสงค์หลักคือ การบริหารจัดการน้ำ และการควบคุมน้ำให้เป็นไปตามปริมาณที่ต้องการที่ต้องยอมรับว่ามีประโยชน์อย่างแท้จริงเพื่อการเกษตรกรรม แต่ใน ปี 2554 โครงสร้างที่มนุษย์ทำขึ้นมานี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อระดับความเสียหาย และความรุนแรงของอุทกภัยเช่นกัน ในกรณีการเกิดอุทกภัยปี 2554 อาจถือได้ว่าเป็นบทเรียนสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย โดยสามารถลำดับเหตุการณ์ได้ดังต่อไปนี้ (ตาราง 2 และ 3)
ตาราง 2 ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดกับโครงสร้างทางชลศาสตร์เดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม 2554
วันที่ | เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงสร้างหลักทางชลศาสตร์ | ปริมาณน้ำ (ลบ.ม.) | พายุ/ลมมรสุม |
5 พ.ค. 54 | เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 45 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 50 ของความจุอ่าง | ||
ปลายเดือน มิ.ย. 54 | เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 55 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 54 ของความจุอ่าง | ไหหม่า (เหนือ) | |
2 ก.ค. 54 | เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 58 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 64 ของความจุอ่าง | ไหหม่า (เหนือ) | |
29 ก.ค. 54 | เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 63 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 77 ของความจุอ่าง | นกเตน (เหนือ/กลาง) | |
8 ส.ค. 54 | เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 69 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 85 ของความจุอ่าง | 10,436 ล้าน 8,920 ล้าน | นกเตน (เหนือ/กลาง) |
25 ส.ค. 54 | เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 93 เริ่มระบายน้ำออกวันละ 7.35 ล้านคิว เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 75 ของความจุอ่าง |
ตาราง 3 ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดกับโครงสร้างทางชลศาสตร์เดือนกันยายน ถึงตุลาคม 2554
วันที่ | เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงสร้างหลักทางชลศาสตร์ | ปริมาณน้ำ (ลบ.ม.) | พายุ/ลมมรสุม |
13 ก.ย. 54 | เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ วันละ 3,013 ลบ.ม./วินาที | ||
14 ก.ย. 54 | ประตูระบายน้ำบางโฉมศรีแตก | ||
17 ก.ย. 54 | เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำเกินกักเก็บร้อยละ 105 ของความจุอ่าง และเริ่มระบายน้ำออก | ||
30 ก.ย. 54 | เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 98 ของความจุอ่าง ทำให้เริ่มมีการระบายน้ำออก เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 99 ของความจุอ่าง | 12,481 ล้าน 9,404 ล้าน | ไห่ถาง เนสาด(ตะวันออกเฉียงเหนือ) |
3 ต.ค. 54 | เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำเกินกักเก็บร้อยละ 100 ทำให้น้ำล้นออกมาทางน้ำล้น 35 ลบ.ม./วินาที | ||
5 ต.ค. 54 | หยุดระบายน้ำออกจากเขื่อนสิริกิติ์ | ||
10 ต.ค. 54 | คันดินกั้นแม่น้ำปิงในจังหวัดนครสวรรค์แตก | นาลแก (เหนือ/กลาง) | |
11 ต.ค. 54 | ทำนบกั้นน้ำในจังหวัดปทุมธานีพังเสียหาย | ||
13 ต.ค. 54 | คันกั้นน้ำคลองบ้านพร้าว จังหวัดปทุมธานีแตก | ||
14 ต.ค. 54 | คันกั้นน้ำเขตเทศบาลเมืองบางบัวทองแตก | ||
18 ต.ค. 54 | พนังดินสูง 1.8 เมตร กั้นคลองระพีพัฒน์แตก | ||
20 ต.ค. 54 | คันกั้นคลองประปาแตก | ||
22 ต.ค. 54 | คันกั้นน้ำย่านบางกระบือแตก | ||
27 ต.ค. 54 | ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นข้ามตลิ่ง | ||
28 ต.ค. 54 | เกิดน้ำทะเลหนุนทำให้ระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงเกินคันกั้นน้ำ | ||
30 ต.ค. 54 | เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา |
เมื่อวิเคราะห์จากลำดับเหตุการณ์ในตารางพบว่าตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2554 ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ที่เป็นโครงสร้างหลักสำหรับรับน้ำจากทางภาคเหนือของประเทศไทย แต่เนื่องด้วยอิทธิพลของพายะและมรสุมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงข้อจำกัดของการพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้า ที่ทำนายได้ล่วงหน้าเพียงระยะเวลาอันสั้น ได้ส่งผลต่อความกังวลเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเกษตรในช่วงฤดูแล้ง จึงทำให้ไม่มีการระบายน้ำออกตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนกันยายน จึงได้เริ่มทยอยระบายน้ำในเขื่อนออกตามลำดับ เนื่องจากในเขื่อนมีปริมาณเกินความจุของอ่างเก็บน้ำ ดังนั้น เมื่อมีการระบายน้ำออกในปริมาณที่มากและรวดเร็วก็ยิ่งเป็นการเพิ่มให้มีปริมาณน้ำรวมถึงการไหลที่เร็วมากขึ้นในแม่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา
หากพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งของเขื่อนหลักแล้ว (รูป 2) จะเห็นว่าการระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาสั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดอุทกภัยอย่างฉับพลันในพื้นที่จังหวัดที่อยู่บริเวณท้ายเขื่อน ซึ่งมวลน้ำปริมาณมากได้ไหลลงมาตามทางน้ำตามความลาดชันอย่างรวดเร็ว เรื่อยมาจนถึงพื้นที่ความลาดชันต่ำ ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี จนถึงกรุงเทพมหานคร การระบายน้ำออกจากเขื่อนหลักพร้อมกัน ทำให้เกินความจุของแม่น้ำและคลอง น้ำเกิดล้นตลิ่งอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะในตำแหน่งที่มีประตูระบายน้ำด้วยแล้ว มวลน้ำที่มีปริมาณและแรงดันมหาศาล สามารถทลายสิ่งกีดขวางได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือประตูน้ำบางโฉมศรีที่แตก ก่อให้เกิดการท่วมของพื้นที่โดยรอบอย่างไม่ทันตั้งตัว จากตารางจะเห็นว่าตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเรื่อยมา น้ำที่ระบายออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่องรวมถึงน้ำทุ่งที่สะสมตัวท้ายเขื่อนในขณะฝนตกอย่างหนักช่วงพายุและมรสุมเข้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงสร้างที่เป็นประตูระบายน้ำทยอยพัง ควบคุมไม่ได้ จนถึงช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ความพยายามในการควบคุมน้ำไม่เป็นผลอีกต่อไป จนน้ำเริ่มเข้าสู่พื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพมหานครช่วงวันที่ 18-20 ตุลาคม 2554

สรุปปัญหาและข้อเสนอแนะ
จากการวิเคราะห์ภาพรวมเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 พบว่า สาเหตุไม่ได้มาจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำไม่ประสบความสำเร็จ แต่สาเหตุหลักอีกประการคือ ความสับสนของข้อมูลจริง ณ ห้วงเวลานั้น (real-time) ทำให้การประเมินปริมาณน้ำเชิงตัวเลขและเชิงพื้นที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้การบริหารจัดการไม่สำเร็จตามไปด้วย ผู้เขียนได้สรุปปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะในมุมมองนักธรณีสัณฐานวิทยา ดังมีรายละเอียดดังนี้
ปัญหาด้านกายภาพ
1.1. ฐานข้อมูลกายภาพของประเทศไม่ครบถ้วน
การขาดข้อมูลทางกายภาพที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลความสูงต่ำของพื้นที่ระดับรายละเอียด ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการการคำนวณและคาดการณ์ปริมาณน้ำและพื้นที่รับน้ำทั้งหมด ที่เป็นโจทย์แรกที่ต้องแก้ไขให้ได้ก่อน เช่น สำรวจสภาพภูมิประเทศปัจจุบันใหม่โดยเฉพาะความสูงต่ำของพื้นที่ อาจต้องลงทุนทำข้อมูลไลดาห์ (LIDAR) โดยกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพที่รับผิดชอบข้อมูลนี้ให้ชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อน
ในระยะยาว ต้องมีจัดทำข้อมูลพื้นฐานทางธรณีสัณฐานวิทยาระดับรายละเอียดโดยเฉพาะในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง ได้แก่ กำหนดขอบเขตของที่ราบน้ำท่วมถึงที่ประเมินจากปริมาณน้ำที่จะเข้าสู่ระบบทางน้ำ เนื่องจากขอบเขตน้ำท่วมในแต่ละปีไม่เท่ากัน ประเด็นนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการธรณีสัณฐานของแม่น้ำ ต้องถ่ายทอดความเข้าใจและข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ชุมชน โดยแต่ละชุมชนควรเรียนรู้ลักษณะทางกายภาพทั้งเรื่องขอบเขตน้ำท่วมและตำแหน่งระดับสูงต่ำของพื้นที่ของตนเอง สามารถสำรวจและเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อทำเป็นแผนที่ในระดับท้องถิ่น (local map)
1.2. ขาดความเข้าใจในระบบธรรมชาติของแม่น้ำ
ทิศทางการไหลของลำน้ำสาขาในธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่ยากในการทำความเข้าใจ แต่ทิศทางที่เปลี่ยนไปโดยสิ่งก่อสร้างหรือโครงสร้างทางชลศาสตร์ที่สร้างขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ยากในการทำความเข้าใจ ซึ่งหากการก่อสร้างไม่ครอบคลุมทุกบริบทด้านกายภาพ ย่อยส่งผลให้น้ำไหลไม่เป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสำรวจว่าระบบการไหลของน้ำในแม่น้ำมีความผิดเพี้ยนไปในบริเวณใด เช่น ปกติบริเวณโค้งนอกของแม่น้ำจะมีการไหลที่รุนแรงส่งผลทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งจนลำน้ำขาดออกจากกัน (cut-off) ต้องมีการประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ในกรณีน้ำมาก น้ำน้อย อย่างเป็นระบบและครอบคลุมพื้นที่รับน้ำทั้งหมด แม้ว่าต้องใช้เวลาในการประเมิน แต่ในระยะยาวถือว่าคุ้มค่า อีกประเด็นที่ชัดเจน คือ อาคารบ้านเรือนที่ยื่นออกไปในทางน้ำไหลได้ส่งผลให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางการไหลไม่เป็นไปตามธรรมชาติได้ รวมถึงการสำรวจแนวถนนที่สร้างขวางทางเดินน้ำ เช่น สำรวจถนนสายเอเชียหมายเลข 32 ตั้งแต่จังหวัดปทุมธานีถึงนครสวรรค์ ว่ามีจุดใดบ้างที่ขวางทางน้ำ หรือมีระดับที่ต่ำกว่าระดับน้ำท่วม บริเวณไหนมีวัชพืชที่ขวางการไหลของน้ำ เป็นต้น
1.3. ขาดการสำรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ควรมีการคำนวณพื้นที่เสี่ยงภัย ในทุกระดับมาตราส่วน ตั้งแต่ระดับลุ่มน้ำ (watershed) จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยทำการแยกเขตกั้นของ sub-reservoir แต่ละแห่ง ให้เป็น block เพื่อคำนวณพื้นที่และปริมาณน้ำในแต่ละ block จำเป็นต้องสำรวจภาคสนามและคำนวณหาระดับความลึก ความสูงของถนนและทุ่งนาก่อน (relief) ทั้งนี้ การทำระดับความสูงควรที่จะมีการกำหนดจุดอ้างอิง (reference point) โดยใช้จุดตัดของถนนเป็นจุดอ้างอิงได้ กำหนดมีระยะห่างจากกันไม่มากนัก (รูป 3) เพื่อทำเป็นแผนที่ระดับน้ำท่วม ใช้ประโยชน์ในการวางแผนเส้นทางคมนาคม หากใช้แนวถนนเป็นแนวคันกั้นกักเก็บน้ำ (block reservoir) โดยเมื่อวัดระดับความสูงระหว่างถนนและทุ่งนาได้แล้วนั้นก็สามารถนำมาคำนวณปริมาณน้ำที่สามารถกักเก็บไว้ได้ ซึ่งให้แนวถนนเปรียบเสมือนเขื่อนกั้นขนาดย่อม (รูป 3)

H.1 = ระดับระหว่างที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ถึง ถนน (RL1)
H.2 = ระดับระหว่างที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ถึง ถนน (RL2)
H.3 = ระดับน้ำท่วมจากที่ราบน้ำท่วมถึง
ดังนั้น ปริมาตรน้ำที่ Block หนึ่งจะรับได้ = H.1 x area ทำให้ถนน RL1 ปลอดภัย
ความต่างระดับจากถนน RL2 กับ RL2 = H.2-H.1
ปริมาณน้ำที่ไหลท่วมล้นถนน = H.3-H.2
นอกจากนี้ ควรคำนวณจำนวนประชากรและที่อยู่อาศัยในแต่ละ sub-block รวมถึงแยกประเภทที่อยู่อาศัยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ บ้านชั้นเดียว และตึกอาคารหลายชั้น และควรมีการสำรวจตำแหน่งประตูน้ำรวมถึงประเมินประสิทธิภาพการใช้งานในปัจจุบันในทุกปี อีกทั้งควรมีการสำรวจความลึกร่องน้ำของแม่น้ำหลัก (channel profile) สำรวจปริมาณตะกอนท้องน้ำ (bedload) เพื่อใช้ในการตัดสินใจขุดลอกหากจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ร่องน้ำในการรับน้ำช่วงน้ำท่วมและเพิ่มศักยภาพในการรักษาปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองในช่วงแล้ง โดยต้องคำนึงถึงความสมดุลตลิ่งและเสถียรภาพของดินในทางธรรมชาติ รวมไปถึงหากขุดลอกควรเลือกบริเวณแม่น้ำโค้งตวัดหรือถูกกัดเซาะเกือบขาด (Meander neck) ต้องพิจารณาถึงอัตราการไหลและระยะเวลาการไหล กล่าวคือ หากต้องการชะลอน้ำเพื่อรักษาบริเวณโค้งน้ำไว้ไม่ให้ตัดขาด สามารถเบี่ยงการไหลเพื่อส่งน้ำออกทางส่วนที่แคบที่สุดของโค้งน้ำที่น่าจะตัดขาดโดยธรรมชาติ (neck cut-off) เช่นเดียวกับคลองลัดโพธิ์ที่รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวคิดและออกแบบให้เป็นต้นแบบของการคืนธรรมชาติการไหลของน้ำให้ควรจะเป็นไปตามธรรมชาติไว้ให้แล้ว ส่วนปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นจากภาวะแล้ง น้ำน้อย ทำให้ตลิ่งพัง และหากมีน้ำมากโดยไม่เป็นธรรมชาติ คือ ไม่ปล่อยให้น้ำเข้าสู่อนุภาคของดินและตะกอนตามธรรมชาติก็จะเกิดการ collapse ของตลิ่งได้
นอกจากนี้ควรต้องประเมินสภาพภูมิประเทศในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากการใช้ที่ดิน ซึ่งในทางเทคนิคสารสนเทศภูมิศาสตร์สามารถวิเคราะห์ได้ไม่ยาก รวมถึงการทำข้อมูลระดับความสูงพื้นที่โดยละเอียด ก็สามารถใช้เทคโนโลยีจากข้อมูล LIDAR แม้ว่าค่าใช้จ่ายสูงแต่คุ้มค่ามาก สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกประการ คือ การสำรวจสภาพพื้นที่จริงปัจจุบันอย่างต่อเนื่องทุกปี แยกพื้นที่ระดับเดิมออกมาจากระดับพื้นที่เกิดจากการถมที่ออกมาให้ได้ การเปลี่ยนแปลงระดับความสูงของพื้นที่มีความสำคัญในการคำนวณปริมาณน้ำ และคำนวณพื้นที่เสี่ยง เพื่อทำการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ที่ควรได้รับการป้องกันให้ได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน อุโมงค์ ซึ่งการทำแผนที่ และการวัดระดับ ปัจจุบันสามารถใช้เครื่องมือที่มีความละเอียดสูงที่หาได้ไม่ยาก ได้แก่ Differential GPS หรือเทคนิคด้านวิศวกรรมสำรวจโดยภาพดาวเทียม
อีกปัญหาหนึ่งที่พบ คือ การไม่ปล่อยน้ำเข้าทุ่งที่เป็น floodplain ธรรมชาติเดิม หรือแก้มลิง โดยเหตุผลเพียงเพื่อกลัวความเสียหายด้านเกษตรกรรม ทำนา ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างจากการทำการสำรวจโดยผู้วิจัยในพื้นที่ทุ่งบางบาล ทุ่งผักไห่ พบว่า มีการทำนานอกฤดู พบบ่อทรายมากมาย ที่สมมติได้ว่าอาจเป็นเงื่อนไขของการไม่ปล่อยน้ำเข้าทุ่งก็เป็นได้ ทำให้น้ำมาเอ่อล้นตามริมน้ำโดยเฉพาะเกือบทุกริมน้ำมีถนนสร้างเป็นแนวกั้นน้ำ (man-made natural levee) ทำให้บ้านเรือนประชาชนริมน้ำถูกน้ำท่วมขังตลอดโดยคาดการณ์ไม่ได้ว่า ระดับน้ำจะขึ้นหรือลง ด้วยอัตราเท่าใด ความเสียหายเกิดกับแหล่งที่อยู่อาศัยอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
ปัญหาด้านการจัดการ
ปัญหาด้านการจัดการในกรณีนี้คือ ความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2554 จะเห็นว่ามีทั้งสื่อมวลชน รัฐบาล นักวิชาการ ที่นำเสนอสถานการณ์ในเนื้อเรื่องที่แตกต่างกันออกไปโดยไม่ได้มีการกลั่นกรองหรือไตร่ตรองข้อมูลอย่างถูกต้องชัดเจน ดังนั้น ควรที่จะมีการปลูกฝังจิตสำนึกให้รู้จักยอมรับความจริงและซื่อสัตย์ต่อประชาชนประเทศชาติ รวมถึงให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม โดยต้องคำนึงถึงแนวคิด Protection hierarchy อันได้แก่
2.1. รักษาชีวิตของประชาชน
ควรจัดลำดับให้ ชีวิตและที่อยู่อาศัยของประชาชน เป็น first priority ในการปกป้องจากภาวะน้ำท่วม เมื่อใดก็ตามที่ปริมาณน้ำเริ่มมากและจำเป็นต้องปล่อยให้น้ำให้เข้าทุ่งนาที่เป็นที่ราบน้ำท่วมถึง หรือ floodplain เพื่อปล่อยให้เป็นไปตามระบบธรรมชาติก็ต้องทำ หลายครั้งบางหน่วยงานมักจะอ้างเรื่องการปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่นา แต่ข้อเท็จจริงคือ ในภาคกลาง การทำนารอบที่ 3 ก็เป็นการฝืนธรรมชาติ และไม่เป็นไปตามการรณรงค์ห้ามให้ทำนาอยู่แล้ว แนวความคิดในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบเรื่องชีวิตของประชาชนเข้ามาใช้ในการวางแผนป้องกันน้ำท่วมจึงควรกระทำอย่างจริงจัง เว้นแต่ในบางพื้นที่ที่ประชาชนยินยอมที่จะถูกน้ำท่วมโดยรักษาที่นาไว้ ก็ต้องมีการพูดคุยและตกลงกันในแต่ละท้องที่ให้ชัดเจน
2.2. รักษาระบบขนส่งหลัก
ในปี 2554 การรักษาเส้นเลือดใหญ่ในเรื่องระบบขนส่งหลักเกิดขึ้นหลังจากเกิดภาวะน้ำท่วมที่ยาวนานและน้ำท่วมขึ้นถึงระดับที่ไม่สามารถป้องกันระบบขนส่งหรือถนนสายหลักได้แล้ว จะเห็นได้ว่า การวางแผนเรื่องการรักษาระบบขนส่งหลักมีปัญหาและไม่ได้ให้ความสำคัญในการวางแผนล่วงหน้า
2.3. รักษาระบบการไหลของน้ำ
มหาอุทกภัยปี 2554 เห็นได้ว่าการไปฝืนธรรมชาติการไหลของน้ำเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล การไม่ปล่อยให้น้ำไหลไปตามธรรมชาติของความลาดชัน อาจด้วยเหตุผลเพื่อรักษาพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น การไม่ปล่อยให้น้ำหรือหน่วงน้ำเพื่อผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครเพื่อระบายน้ำลงทะเล ความพยายามในการเบี่ยงน้ำออกแนว floodway ซึ่งก็ไม่สามารถเป็น floodway ได้มานานแล้วเพราะการปล่อยปละละเลยในเรื่องผังเมืองโดยการให้สร้างเป็นเขตที่อยู่อาศัยขวางแนวการไหลของน้ำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้การท่วมขังเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานในหลายพื้นที่ที่ไม่ควรจะท่วมขัง โดยเฉพาะจะเห็นว่าปริมาณน้ำที่ไม่สามารถไหลตามระบบได้เดินทางสู่ที่ต่ำโดยใช้ถนนเป็นเส้นทางแทนทางน้ำ เหตุการณ์เช่นนี้เป็นบทเรียนที่มีคุณค่ามากที่จะต้องมาทบทวนอย่างหนักสำหรับการฝืนธรรมชาติของระบบการไหลของน้ำ หากไม่แก้ไขหรือศึกษาให้ถ่องแท้ เหตุการณ์ดังเช่น ปี 2554 ก็อาจเกิดซ้ำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีปริมาณน้ำมากมายเหมือนปี 54 ก็เป็นได้
2.4. เลือกผลกระทบ
เห็นได้ชัดว่ามหาอุทกภัยปี 2554 การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมต่อการจัดการปัญหามีน้อยมากตั้งแต่เริ่มเกิดภาวะน้ำมาก การออกคำสั่งหรือแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องบริหารจัดการน้ำยังสับสนมาก ไม่รู้ว่าใครมีหน้าที่อะไร ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนในการออกแบบป้องกันพื้นที่ตัวเองสูญเสีย รวมถึงภาคอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรมใหญ่ อาทิ เขตอุตสาหกรรมสหรัตนะนคร เขตอุตสาหกรรมโรจนะ ไฮเทค บางปะอิน บางกะดี ได้รับความเสียหายอย่างหนักโดยบางแห่งไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าในการป้องกันได้เลย จึงสะท้อนให้เห็นว่า การเลือกผลกระทบและการจัดลำดับการรักษาพื้นที่สำคัญนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะนอกจากจะสร้างผลกระทบโดยตรงด้านชีวิตที่อยู่อาศัย ยังส่งผลแหล่งงานและภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างชัดเจน
จากการขาดแคลนฐานข้อมูลด้านกายภาพรวมไปถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับลักษณะของที่ราบลุ่มภาคกลางอย่างแท้จริงแล้วนั้น ทำให้ไม่สามารถเข้าใจถึงคำว่า “ธรรมชาติของน้ำ” ส่งผลให้เกิดความรุนแรงของอุทกภัยได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประเทศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านสังคมที่เกิดจากความไม่เข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่มีความแตกต่างกันออกไป ไม่ร่วมมือกันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากมีการสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่อย่างถ่องแท้ สร้างความเข้าใจในธรรมชาติ และนำไปปฏิบัติด้วยสติและปัญญาอย่างแท้จริง ก็จะเกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ผู้เขียนเห็นว่า ควรเริ่มกระบวนการคิดและปฏิบัติในเรื่องการจัดการ การวางแผนบรรเทาอุทกภัย ด้วยแนวคิดที่ว่า เริ่มคิดจากฐานขึ้นสู่ยอดปิรามิด เปรียบได้กับฐานข้อมูลต้องแน่นก่อนประเมินและวางแผน และต้องอยู่บนฐานความคิดที่ว่า “ต้องคืนธรรมชาติให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด” ควรรู้จักปรับตัวรู้จักธรรมชาติเพื่อที่จะอยู่อย่างสมดุลและปลอดภัย (ตาราง 4 และรูป 4)
ตาราง 4 ตัวอย่างงานวิจัยและข้อมูลกายภาพ (ด้านธรณีสัณฐานวิทยาและธรณีวิทยา) และสิ่งที่สังคมควรสร้างและทำความเข้าใจก่อนการวางแผนป้องกันบรรเทาอุทกภัย
ข้อมูลกายภาพ | การเรียนรู้และความเข้าใจ |
ทำแผนที่ธรณีสัณฐานทั้งระบบ โดยแยกลักษณะธรณีสัณฐานในพื้นที่ ได้แก่ Avulsion plain หรือ Meander belt โดยสำรวจลานตะพัก (terrace) ลำน้ำที่ถูกตัดขาด (cut-off) และร่องรอย (meandered scar) เช่น pond oxbow-lake | 1. ศึกษาเรียนรู้แนวคิดการวางผังเมืองสมัยโบราณที่เคยถูกออกแบบให้เป็นเมืองคูคลอง เช่น เมืองอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เกาะเมืองอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน |
แบ่งประเภทพื้นที่ธรณีสัณฐานที่เปลี่ยนไป โดยธรรมชาติ และมนุษย์ออกจากกัน เพื่อวิเคราะห์และออกแบบการป้องกัน | 2. ศึกษาเรียนรู้ระบบคูคลองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างเข้าใจ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ |
ให้ชุมชนร่วมมือกันศึกษาเรียนรู้ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ตนเอง และร่วมวางแผนป้องกันให้ที่ดีสุด |

คำขอบคุณ
ข้อมูลบางส่วนนำมาจากรายงานวิจัยเรื่อง การประเมินความเสี่ยงต่อพิบัติภัยทางธรณีวิทยา ที่ผู้เขียนได้รับทุนสนับสนุนจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและได้รับรองรายงานฉบับสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วสามารถนำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้อ่านทั่วไปได้ ขอบคุณภาพประกอบจากเวปไซต์ต่างๆ เพื่อเป็นการรำลึกเหตุการณ์มหาอุทกภัย 2554 ที่เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth