เรียนรู้

น้ำหนุน กรุงเทพ ฯ เกิดยังไง ?

นอกจากมวลน้ำทางตอนเหนือที่มีโอกาสไหลบ่าและท่วมพื้นที่ราบลุ่มตอนล่างของภาคกลาง ประเทศไทย กรุงเทพ ฯ และจังหวัดต่างๆ ทางตอนล่างที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านก็มีโอกาสได้รับภัยพิบัติทางน้ำ เพิ่มอีกหนึ่งรูปแบบ ซึ่งก็คือ น้ำล้นตลิ่ง หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า น้ำหนุน ซึ่งมักจะเกิดในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ปลายปี คือ พฤศจิกายน และธันวาคม และด้วยความที่สังคมออนไลน์ทุกวันนี้ค่อนข้างจะรวดเร็ว ทำให้เหตุการณ์น้ำหนุนล่าสุดในปี พ.ศ. 2564 เป็นที่จับตาของคนทั่วประเทศว่าตอนนี้ โลกกำลังวิบัติ เพราะน้ำทะเลกำลังสูงขึ้น และกรุงเทพฯ กำลังทรุดตัวลง ชาวกรุงเทพและปริมณฑลหลายท่านมีความกังวลถึงขนาดมีแนวคิดว่าจะไปหาพื้นที่ทางภาคเหนือหรือภาคอีสาน เป็นที่อยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิต แต่ก่อนที่จะเสียเงินเสียทอง หอบผ้าหอบผ่อนไปอยู่ที่อื่น ผู้เขียนอยากให้ชาวกรุงเทพที่ยังกังวลอยู่ ได้อ่านบทความนี้เสียก่อน เผื่อจะช่วยตัดสินใจได้ว่าสถานการณ์กรุงเทพในอีก 50 ปีหรือ 100 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

แรงดึงดูดระหว่างมวลที่ดึงดูดมวลน้ำให้ขึ้นสูง-ลงต่ำ จนเป็น กระแสน้ำขึ้น-น้ำลง (tidal current) เกิดจากสูตรนี้ ซึ่งมีตัวแปร ที่ส่งผลต่อความแรงในการขึ้น-ลงของน้ำ ดังนี้ 1) มวลของโลก 2) มวลของดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ และ 3) ระยะห่างจากโลกถึงดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์

1) น้ำขึ้น-น้ำลง

ผลจากการแย่งกันดึงมวลน้ำระหว่างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงในทุกๆ วัน ในระดับที่ขึ้น-ลงสูงบ้างและต่ำบ้าง ขึ้นอยู่กับการหักลบกลบหนี้ของการแย่งกันดึง แต่จะมีปรากฏการณ์เด่นๆ อยู่ 2 แบบ 2 ช่วงเวลา คือ

รูปแบบการเกิด น้ำขึ้น-น้ำลง ที่พบเห็นบนโลก
  • 1) น้ำใหญ่ หรือ น้ำเกิด (spring tide) คือ แรงจะมีมากที่สุดเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เมื่อโลก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ อยู่ในแนวเดียวกันหรือ ทุกๆ 2 อาทิตย์ คือ ขึ้น 15 ค่ำ และ แรม15 ค่ำ เช่นในช่วงดวงจันทร์เต็มดวงและมืดสนิท
  • 2) น้ำน้อย หรือ น้ำตาย (neap tide) คือ แรงที่ทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงจะน้อยที่สุด เกิดในรอบ 15 วัน เมื่อดวงอาทิตย์ โลก ดวงจันทร์ อยู่ในแนวตั้งฉากคือ วันแรมขึ้น 7 ค่ำ และ แรม 7 ค่ำ แรงนี้ที่เกิดจากดวงจันทร์แรงเป็น 2 เท่าของที่เกิดจากดวงอาทิตย์ เนื่องจากระยะห่างของดวงอาทิตย์จากโลกมาก ดังนั้น ในช่วง ขึ้น 15 ค่ำ และ แรม15 ค่ำ เวลาน้ำขึ้น น้ำก็จะขึ้นสูงสุด
แบบจำลองการเกิด (บน) น้ำเกิด และ (ล่าง) น้ำตาย

เพิ่มเติม : คลื่นกลางมหาสมุทร และกระแสน้ำริมฝั่ง

2) ดวงจันทร์ใกล้โลก

นอกจากนี้ในแต่ละช่วงเวลาของปี วงโคจรของดวงจันทร์รอบโลกก็ไม่ได้เป็นวงกลมห่างจากโลกเท่ากันเสมอไป บางช่วงดวงจันทร์อยู่ไกลกับโลก เราก็จะเห็นดวงจันทร์ขนาดเล็กกว่าปกติ (micro moon) เรียกปรากฏการณ์ อะโปจี (Apogee) (ดวงจันทร์ห่างจากโลก 406,000 กม.) ส่วนในช่วงเวลาที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้กับโลก เราก็จะเห็นดวงจันทร์ใหญ่กว่าปกติ (super moon) เรียกปรากฏการณ์ เปริจี (Perigee) (ดวงจันทร์ห่างจากโลก 357,000 กม.) ดังนั้น หากขึ้น 15 ค่ำ หรือ แรม 15 ค่ำ ในช่วง เปริจี (Perigee) ระยะห่างก็ยิ่งสั้น แรงดึงดูดก็ยิ่งสูง

3) ดวงอาทิตย์ใกล้โลก

นอกจากนี้การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีก็ทำให้ระยะห่างจากโลกและดวงอาทิตย์มีความแตกต่างกัน (147.1-152.1 ล้านกิโลเมตร) โดยดวงอาทิตย์และโลกจะอยู่ใกล้กันมากที่สุดในช่วงเดือน พฤศจิกายน-มกราคม ทำให้ในช่วงเวลานี้ อิทธิพลของแรงดึงดูดจากดวงอาทิตย์มีเพิ่มมากขึ้น

(ที่มา : www.NARIT.or.th)

4) ฤดูฝนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศไทยและเพื่อนบ้านในอาเซียน มีความแจ๊กพ็อตเรื่องน้ำอยู่นิดๆ คือ จะมีฤดูฝนอยู่ในช่วง กลางเดือนพฤษภาคม ถึง กลางเดือนตุลาคม ทำให้ในหลายๆ ปี ที่มีฝนมาก หลังจากตกฤดูฝนในช่วงเดือนตุลาคม จึงมักจะมีมวลน้ำค้างเติ่งอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทางตอนเหนือของที่ราบภาคกลางตอนล่าง ซึ่งมวลน้ำเหล่านี้ หากท่วมขัง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องระบายลงสู่ภาคกลางตอนล่างและอ่าวไทย
.
ดังนั้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความอ่อนไหวและท้าทายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะเร่งระบายน้ำทางตอนเหนือ ลงสู่อ่าวไทยและระหว่างที่น้ำทะเลเริ่มหมุน โดยเลี้ยงระดับน้ำไม่ให้ล้นตลิ่ง

5) ความปริ่มน้ำของภาคกลางตอนล่าง + กรุงเทพ

ที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง ที่มักจะมีมวลน้ำที่รอการระบาย อยู่แทบทุกปี ในช่วงปลายฝน-ต้นหนาว

ซึ่งถ้าหาก
1) ช่วงเดือน พ.ย. – ม.ค. ที่น้ำนอง +
2) ช่วง เปริจี (Perigee) ของดวงจันทร์ +
3) ขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ +
4) มีมวลน้ำค้างทุ่ง มาจากหน้าฝน และ +
5) กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ปริ่มน้ำ

โอกาสที่มวลน้ำเหนือ จะถูกน้ำทะเลหนุน แล้วล้นตลิ่งออกด้านข้างอย่างที่เห็น ก็เป็นไปได้สูง (ไม่ได้แปลก หรือ รุนแรงเพิ่มขึ้น จากในอดีต)

เพิ่มเติม : กรุงเทพฯ จมน้ำ : แน่ใจหรือ ว่าเราจะมีโอกาสเห็น

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: