สำรวจ

กรุงเทพฯ จมน้ำ : แน่ใจหรือ ว่าเราจะมีโอกาสเห็น

ประเด็นที่ว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกำลังจะจมน้ำ ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงและเป็นที่ถกเถียงกันมานานมากแล้ว และทุกครั้งที่ถกทั้งในวงแคบและวงกว้าง ก็มักจะทำให้เกิดความวิตกกังวลกับคนในพื้นที่ ถึงขนาดที่ว่าหนีไปซื้อที่ซื้อทางในภาคอื่นเอาไว้ก็มี เพราะกลัวว่าตอนแก่จะไม่มีที่อยู่ ซึ่งถ้าจะพูดถึงความเป็นไปได้ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะจม กลายเป็นเมืองบาดาล มีปัจจัยที่ควรถูกตีแผ่อยู่ 2 ประเด็นหลัก คือ 1) การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล และ 2) การทรุดตัวต่ำลงของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล

ในส่วนของความเป็นไปได้ที่จะมีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่ามี 3 สาเหตุ หลัก ที่จะทำให้น้ำทะเลมีโอกาสสูงขึ้นได้แบบถาวร ในระดับที่ส่งผลกระทบทั่วโลก (ไม่ใช่น้ำขึ้น-น้ำลง รายวัน) ได้แก่

สาเหตุที่ 1 อัตราการแยกตัวของแผ่นเปลือกโลก หรือ อัตราการสร้างแผ่นเปลือกโลกใหม่ในแต่ละช่วงเวลา โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าเมื่อมีการแยกตัวของแผ่นเปลือกโลกเร็วขึ้น จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น หลักฐานในช่วงตอนกลางของยุคครีเทเชียส (110-85 ล้านปีก่อน) เกิดการแยกตัวของแผ่นเปลือกโลกบริเวณสันเขากลางมหาสมุทรอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกนั้น สูงกว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบันประมาณ 200 เมตร เกิดการรุกล้ำของน้ำทะเลเข้าสู่พื้นทวีปครอบคลุมพื้นที่กว้าง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในครั้งนั้น ทำให้ความหลากหลายของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตบนบกลดลงอย่างมากและบางสายพันธ์เกิดการสูญพันธุ์

แบบจำลองความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการแยกตัวของสันเขากลางมหาสมุทรและระดับน้ำทะเล (ที่มา : www.slideplayer.com)

อย่างไรก็ตามโดยธรรมชาติที่พบเห็นในปัจจุบัน บ่งชี้ว่าการที่แผ่นเปลือกโลกจะเคลื่อนที่ช้าลงหรือเร็วขึ้นนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงกันได้ในช่วงข้ามคืน หรือภายในหลักสิบหลักร้อยปี แต่การเปลี่ยนแปลงอัตราการแยกตัวจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ช้าจนสรุปให้ได้เลยว่า พวกเราคงไม่มีโอกาสได้เห็นกัน ในชาตินี้

สาเหตุที่ 2 ธารน้ำแข็งละลายเพิ่มขึ้น ซึ่ง ธารน้ำแข็ง (glacier) คือ มวลน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่เกิดจากการสะสมตัวของหิมะบนแผ่นดิน และเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำแข็งภายใต้อากาศที่หนาวเย็นเพียงพอที่จะรักษาสภาพไม่ให้น้ำแข็งละลายในฤดูร้อน ซึ่งในโลกใบนี้ สถานที่ที่จะเกิดธารน้ำแข็งได้ มีอยู่ 2 แบบ แยกออกตามกระบวนการเกิด ได้แก่
1) ธารน้ำแข็งพื้นทวีป (continental glacier) เป็นธารน้ำแข็งที่เกิดบนพื้นราบทั่วไป แต่มีอุณหภูมิต่ำพอต่อการเกิดธารน้ำแข็ง ซึ่งที่ราบที่หนาวพอจะทำให้ได้ธารน้ำแข็งก็คือขั้วโลกทั้งเหนือและใต้ (95% ของธารน้ำแข็งทั่วโลก) เพราะถึงแม้จะเป็นที่ราบที่ควรจะมีอุณหภูมิปกติ แต่ด้วยความที่ขั้วโลกห่างจากดวงอาทิตย์มากพอ ก็เลยหนาวพอให้เกิดธารน้ำแข็ง เรียกว่า หนาวได้เพราะความห่าง (จากดวงอาทิตย์)
2) ธารน้ำแข็งภูเขา (mountain glacier) (5% ของธารน้ำแข็งทั่วโลก) เกิดเฉพาะบนเขาสูงเหนือ เส้นขอบหิมะ (snow line หรือ firm line) หรือระดับต่ำสุดที่หิมะปกคลุมตลอดปี เรียกว่า หนาวได้เพราะความสูง

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดง เกาะกรีนแลนด์ (ขั้วโลกเหนือ) และ ทวีปแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้)

อันที่จริงก็มีกลุ่มวิจัยหลายสำนักที่เคยลองคำนวณดูว่า ถ้าธารน้ำแข็งที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วโลกเกิดละลาย น้ำทะเลจะสูงแค่ไหน ผลการคำนวณสรุปว่าอาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 216 ฟุต หรือเกือบ 66 เมตร ซึ่งนั่นก็เป็นแค่กรณีรุนแรงเลวร้ายสุดๆ ที่นักวิทยาศาสตร์แค่นึกอยากจะตั้งโจทย์ปัญหา ขึ้นมาหาคำตอบกันเล่นๆ เพราะโอกาสจะเกิดแบบนั้นแทบจะไม่มี โดยเฉพาะในชาตินี้ เพราะกระบวนการที่จะทำให้น้ำแข็งเหล่านี้ละลายแบบหมดเกลี้ยงได้ ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยาก

ในกรณีของธารน้ำแข็งพื้นทวีป ที่อยู่ตามขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โอกาสที่จะทำให้น้ำแข็งตามขั้วโลกละลายได้ก็คือ 1) โลกขยับเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ซึ่งก็เป็นจินตนาการเพื่อให้เห็นภาพล้วนๆ หรือ 2) เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกพอที่จะให้โลกร้อนขึ้นพอสมควร ซึ่งอันนี้ก็น่าจะแล้วแต่มนุษย์อย่างพวกเราจะกำหนด เพราะถ้ายังทำทุกอย่างให้เอื้อกับการเกิดเรือนกระจก แนวโน้มการละลายของน้ำแข็งก็จะยิ่งสูงขึ้น หรือ 3) เกิดการแตกของแผ่นน้ำแข็งออกจากขั้วโลก แล้วลอยลงไปที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากขึ้น ซึ่งสาเหตุนี้ดูจะเป็นไปได้และใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด แต่ก็อย่างว่า กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้จริง แต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า ส่วนในกรณีของธารน้ำแข็งภูเขา สาเหตุที่จะทำให้ละลายได้ก็เป็นไปได้กับ 2 ข้อแรก ซึ่ง 1) โอกาสที่พวกเราจะได้เห็นในชาตินี้ ผู้เขียนขอให้ 0% และ 2) ขึ้นอยู่กับพวกเราชาวมนุษย์เอง

รอยร้าวธารน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ พร้อมที่จะหลุด (ที่มา : www.earth.com)

สาเหตุที่ 3 อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น อีกหนึ่งสาเหตุที่มีโอกาสทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นคือ การที่อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นซึ่ง อุณหภูมิของน้ำทะเลจะสูงขึ้นได้ ก็ต้องเกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ส่งผ่านพลังงานความร้อนมายังโลกและโลกไม่สะท้อนกลับหรือสะท้อนกลับได้น้อยลงจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

หลังจากที่เรารู้จัก ธารน้ำแข็ง (glacier) มาก่อนหน้านี้แล้ว ก่อนอื่นขอแนะนำน้ำแข็งจากธรรมชาติอีกชนิดที่เกิดขึ้นและพบเห็นได้บนโลก น้ำแข็งทะเล (sea ice) คือ แผ่นน้ำแข็งบางๆ ที่เกิดจากผิวน้ำทะเลแข็งตัวกลายเป็นน้ำแข็ง เกิดแถวๆ ขั้วโลก ซึ่งจะแตกต่างจาก ธารน้ำแข็ง ที่เกิดจากการหลอมละลายและเชื่อมประสานกันของมวลหิมะที่ตกลงมาจากฟ้า และทับถมกันเป็นชั้นหนา

เมื่อเปรียบเทียบในพื้นที่เท่าๆ กัน น้ำแข็งทะเลจะบางกว่าธารน้ำแข็ง จึงมีปริมาตรของน้ำแข็งน้อยกว่าธารน้ำแข็งมาก และด้วยน้ำแข็งทะเลก็อยู่และเป็นส่วนหนึ่งของระดับน้ำทะเลอยู่แล้ว การหลอมละลายของน้ำแข็งทะเล จึงไม่มีนัยสำคัญถึงขนาดทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เพราะก็เหมือนกับน้ำแข็งในแก้วละลาย น้ำก็ไม่ได้สูงขึ้นหรือล้นแก้ว ไม่เหมือนกับธารน้ำแข็งที่ละลายจากบนบก แล้วน้ำไหลเติมลงมาในมหาสมุทร

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่น้ำแข็งทะเลกินพื้นที่กว้างแถบขั้วโลก ปกคลุมประมาณ 7% ของผิวโลก และประมาณ 12% ของมหาสมุทร ในสภาวะปกติ น้ำแข็งทะเลจึงเป็นตัวช่วยสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ กระเด้งกลับไปไม่ให้ถูกเก็บไว้กับโลก ในรูปของอุณหภูมิที่สูงขึ้นของน้ำทะเล

(บน) สภาพการแตกหลุดและละลายของน้ำแข็งทะเล โดยรอบเกาะกรีนแลนด์ (ขั้วโลกเหนือ) (ที่มา : NASA/Linette Boisvert) (ล่าง) กราฟแสดงการลดของพื้นที่น้ำแข็งทะเลในทะเลอาร์กติก ในช่วงปี ค.ศ. 1979-2020 แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา (ที่มา : http://nsidc.org/)

แต่ก็ไม่รู้ว่าเพราะวัฏจักรทางธรรมชาติเองหรือกิจกรรมของมนุษย์ มองเผินๆ ในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าพื้นที่ปกคลุมของน้ำแข็งทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเวลาที่ดวงอาทิตย์ส่งพลังงานความร้อนมาให้ โลกเก็บไว้กับตัวได้ดีขึ้น จากเดิมที่มีน้ำแข็งสะท้อนเก็บไว้แค่ 10% แต่เมื่อน้ำแข็งทะเลหายไป โลกจะเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์เอาไว้มากถึง 94% ในแต่ละพื้นที่ ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น มวลน้ำจะขยายตัวขึ้น และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น เป็นเงาตามตัว

จากการพิจารณาปัจจัยการทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นทุกปัจจัยเท่าที่จะหามาได้ อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบในปัจจุบันจากการเฝ้าติดตามและเปรียบเทียบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 บ่งชี้ว่าโลกของเรามีการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลด้วยอัตรา 3.4 มิลลิเมตร/ปี (https://climate.nasa.gov) ซึ่งถ้าทอนกลับไปกลับมาก็พบว่า อีก 50 ปี น้ำทะเลจะสูงขึ้น 17 เซนติเมตร และอีก 100 ปี เพิ่มขึ้น 34 เซนติเมตร ถ้าเรายืนอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นนั้นคงที่ต่อเนื่องไป

การทรุดตัวต่ำลงของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

การทรุดตัว (subsidence) มีสาเหตุทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์และเกิดขึ้นได้ทั้งเร็วและช้า แบบเร็วก็เช่นการเกิด หลุมยุบ (sink hole) ซึ่งเป็นการทรุดตัวเนื่องจากการถล่มของโพรงใต้ดินอย่างทันทีทันใด โดยโพรงเกิดขึ้นได้ทั้งจากธรรมชาติ เช่น การกัดเซาะหินปูนของน้ำใต้ดินจนกลายเป็นโพรงหรือถ้ำใต้ดิน โพรงภายในท่อลาวา หรือเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเหมืองใต้ดิน เหมืองเกลือ

ภาพมุมสูงแสดงหลักฐานการเกิดหลุมยุบในรัฐฟรอริดาร์ สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ การทรุดตัวของพื้นดินยังสามารถเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปได้เช่นกัน การอัดตัวของตะกอน (soil compaction) โดยตะกอนขนาดโคลนเมื่อมีน้ำเป็นองค์ประกอบจะเกาะกันอย่างหลวมๆ แต่เมื่อมีการนำน้ำออกไป โคลนถูกกดทับจากน้ำหนักของตัวเอง ทำให้โคลนนั้นทรุดลงอย่างช้าๆ เช่นการทรุดตัวเนื่องจากการสูบน้ำใต้ดินมาใช้มากเกินไปในพื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี พ.ศ. 2468-2518 ทำให้พื้นที่มากกว่า 5,000 ตารางกิโลเมตร ทรุดตัวมากกว่า 9 เมตร

การทรุดตัวของพื้นดินในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการสูบน้ำใต้ดินมาใช้มากเกินไป

ที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งครอบคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในทางธรณีวิทยาเกิดขึ้นจากการสะสมตัวของตะกอนที่ไหลลงมาตามแม่น้ำ สะสมตัวอยู่บริเวณปากแม่น้ำ เรียกว่า ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta) ซึ่งเป็นการสะสมตัวของตะกอนขนาดเล็ก นุ่มนิ่ม นอกจากนี้ใต้พื้นที่ยังมีชั้นน้ำใต้ดินที่ไหลลงมาจากพื้นที่ข้างเคียงของที่ราบลุ่ม ทำให้พื้นที่ดังกล่าวในสภาพปกติทรงตัวอยู่ได้ อันเนื่องมาจากการตกสะสมตัวของตะกอนแบบหลวมๆ และพยุงปริมาตรเอาไว้ด้วยน้ำที่แทรกอยู่ระหว่างเม็ดตะกอน

ในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2526 พื้นที่แถบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็มีการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ตามปกติเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย แต่ที่ไม่เหมือนพื้นที่อื่นๆ คือ ผลจากการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้อย่างต่อเนื่องในอดีต ทำให้พื้นที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดการทรุดตัวอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในพื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี พ.ศ. 2468-2518 ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2526 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ กำหนดให้มีการควบคุมและงดเว้นการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ในพื้นที่ รวมทั้งให้มีการติดตามสำรวจระดับการทรุดตัวของพื้นดิน ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม

ผลจากการสำรวจตลอด 30 กว่าปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521-2554 พบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการทรุดตัวจริง แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ระหว่าง 10 -100 เซ็นติเมตร โดยมีอัตราการทรุดตัวมากกว่า 1 เมตร ในพื้นที่บางกะปิ และจังหวัดสมุทรปราการ และทรุดน้อยลงตามลำดับเมื่อไกลออกไปจากรุงเทพมหานคร บ่งชี้ว่าพื้นที่เมืองมีอัตราการทรุดตัวสูงสุด

หรือถ้าพิจารณาอัตราการทรุดตัวตามเวลา นับตั้งแต่ พ.ศ.2521-2554 พบว่าช่วงแรกมีการทรุดตัวสูง (ประมาณ 7 เซนติเมตร/ปี) และอัตราการทรุดตัวลดลงตามลำดับ นั่นแสดงว่ามาตรการเกี่ยวกับการงดใช้น้ำใต้ดินถือว่าได้ผลพอสมควร แต่ก็ยังมีการทรุดตัวของพื้นที่อยู่

อัตราการทรุดตัวของพื้นดินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (บน) การทรุดตัวเชิงพื้นที่ (ล่าง) อัตราการทรุดตัวเชิงเวลา (ที่มา : https://www.rtsd.mi.th)

ข้อสรุปจากการสำรวจของกรมแผนที่ทหาร บ่งชี้ว่าล่าสุด (พ.ศ. 2554) พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอัตราการทรุดตัวโดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 2 เซนติเมตร/ปี ในขณะที่พื้นที่ใกล้แนวชายฝั่งมีอัตราการทรุดตัวสูงกว่าที่ประมาณ 3 เซนติเมตร/ปี ซึ่งหากลองคิดคร่าวๆ ถึงปัจจัยของการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลที่มีรายงานสรุปผลไว้ และอัตราการทรุดตัวล่าสุดของกรมแผนที่ทหาร แล้วลองพิจารณาดูว่าอีก 50 ปี และ 100 ปีข้างหน้า ความแตกต่างระหว่างระดับน้ำทะเลและระดับความสูงของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีความแตกต่างกันอย่างไร

ผลความคร่าวบอกว่า ในอีก 50 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 0.17 เมตร ส่วนพื้นที่มีโอกาสทรุดตัวลงอีก 1.5 เมตร ดังนั้นอีก 50 ปีข้างหน้า ความต่างระหว่างระดับน้ำทะเลและความสูงของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะลดลง 1.67 เมตร

ส่วนในอีก 100 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลจะส่งขึ้น 0.34 เมตร และพื้นที่มีโอกาสทรุดตัวลง 3.0 เมตร ทำให้หากเชื่อว่าถ้าอัตราทุกอย่างนิ่งๆ เหมือนปัจจุบัน อีก 100 ปีข้างหน้า ความต่างระหว่างระดับน้ำทะเลและความสูงของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะลดลง 3.34 เมตร

ซึ่งถ้าลองมาปรับสเกลความแตกต่างกันของระดับน้ำทะเลและพื้นที่จะพบว่าแทบไม่มีพื้นที่ไหนเลยที่จะถูกน้ำทะเลกลืนเข้าไปอย่างเป็นจริงเป็นจรัง เพราะโดยภาพรวมพบแค่ว่ามีเพียงการขยายตัวของพื้นที่ที่มีระดับใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นไปทางตะวันออกของที่ราบลุ่มเท่านั้น ดังนั้นจึงพอจะเป็นไปได้ไหมที่จะสรุปว่า ในอีก 50-100 ปีข้างหน้า พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจจะมีพื้นที่ปริ่มน้ำมากขึ้น (0-2 เมตร จากระดับน้ำทะเล) ซึ่งก็คงทำให้การจัดการระบบการระบายน้ำอาจจะทำได้ยากและลำบากขึ้น เมื่อฝนตกหรือน้ำเหนือมา แต่ดูไปดูมา กรุงเทพฯ ก็เหมือนจะยังไม่จมทะเล แม้ในอีก 50-100 ปีข้างหน้า

แผนที่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แสดงการกระจายตัวของระดับความแตกต่างจากระดับน้ำทะเล

อย่างไรก็ตามบทความชิ้นนี้ยังไม่ได้พิจารณาปัจจัยที่เป็นไปได้อีกหนึ่งกรณี นั่นก็คือน้ำหนักหรือมวลของอิฐ หิน ปูน ทราย ที่พวกเราขนมาจากที่อื่น เพื่อสร้างบ้านสร้างตึกกันกลางพื้นที่ดินเหนียวอ่อนนุ่ม เพราะผมก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าน้ำหนักภูเขาหินปูนแถวสระบุรีหรือราชบุรีหลายๆ ลูก มาวางกองกันอยู่กลางดินโคลนเหนียวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มันจะหน่วง จะถ่วง จะกดกันได้แค่ไหน แต่ยังก็เชื่ออย่างลึกๆ ว่า นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการทรุดตัวของเมืองกรุง

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: