เรียนรู้

ภัยพิบัติการทรุดตัวของพื้นดิน

การทรุดตัว (subsidence) เกิดขึ้นได้ทั้งเร็วและช้า และมีสาเหตุทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งบางครั้งการทรุดตัวอาจครอบคลุมพื้นที่กว้างและทำให้เกิดภัยพิบัติ รูปแบบและสาเหตุการทรุดตัวจำแนกได้ 3 รูปแบบ

1) หลุมยุบ

หลุมยุบ (sink hole) เป็นการทรุดตัวเนื่องจากการถล่มของโพรงใต้ดินอย่างทันทีทันใด ซึ่งโพรงเกิดขึ้นได้ทั้งจากธรรมชาติ เช่น การกัดเซาะหินปูนของน้ำใต้ดินจนกลายเป็นโพรงหรือถ้ำใต้ดิน โพรงภายในท่อลาวา หรือเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเหมืองใต้ดิน เหมืองเกลือ การสูบน้ำหรือน้ำมันจากใต้ดินขึ้นมา โดยปกติหลุมยุบที่เกิดจากน้ำใต้ดินกัดเซาะหินปูนจะไม่ยุบเมื่อมีระดับน้ำใต้ดินสูง แต่เมื่อน้ำใต้ดินลดต่ำลง ไม่มีน้ำพยุงโครงสร้างของโพรงใต้ดิน อาจเกิดการถล่มได้ หรือหากมีการกระตุ้น เช่นแผ่นดินไหวก็สามารถทำให้โพรงใต้ดินถล่มได้ง่ายขึ้น

ภาพมุมสูงแสดงหลักฐานการเกิดหลุมยุบในรัฐฟรอริดาร์ สหรัฐอเมริกา

หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.2 ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ. 2547 เกิดหลุมยุบมากกว่า 30 ครั้ง ในช่วง 4-5 เดือน บริเวณภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย

แหล่งกำเนิดของโพรงใต้ดินที่ทำให้เกิดหลุมยุบ

2) การอัดตัวของตะกอน

การอัดตัวของตะกอน (soil compaction) ตะกอนขนาดโคลนเมื่อมีน้ำเป็นองค์ประกอบจะเกาะกันอย่างหลวมๆ แต่เมื่อมีการนำน้ำออกไป โคลนถูกกดทับจากน้ำหนักของตัวเอง ทำให้โคลนนั้นทรุดลงอย่างช้าๆ เช่นการ ทรุดตัวเนื่องจากการสูบน้ำใต้ดินมาใช้มากเกินไปในพื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี พ.ศ. 2468-2518 ทำให้พื้นที่มากกว่า 5,000 ตารางกิโลเมตรทรุดตัวมากกว่า 9 เมตร

การทรุดตัวของพื้นดินในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการสูบน้ำใต้ดินมาใช้มากเกินไป

3) การขยายตัวของดิน

การขยายตัวของดิน (expansive soil) หากมวลที่มีแร่องค์ประกอบหลักเป็นแร่ดิน จะสามารถขยายตัวในช่วงเวลาที่เปียกและหดในระหว่างที่แห้งได้ ทำให้เกิดรอยแตกของผิวดิน ซึ่งสังเกตดินประเภทนี้ได้จากการมีอยู่ของ ดินที่มีลักษณะคล้ายกับ ข้าวโพดขั้ว (popcorn-like texture) ซึ่งจะเป็นดินที่มีความอ่อนยวบไม่เสถียร และสร้างความเสียหายได้หลายรูปแบบ เช่น การทรุดตัวแบบยุบยับทำให้ถนนไม่ราบเรียบ ซึ่งอาจจะส่งผลเล็กน้อยหากเป็นถนนโดยทั่วไป แต่ถือว่าอันตรายมากหากเกิดกับทางด่วน รันเวย์สนามบินหรือฐานรากของอาคารสูง

ลักษณะการขยายตัวของดิน
ผลกระทบที่เกิดจากการขยายตัวของดิน

กรุงเทพมหานคร และจังหวัดข้างเคียง เคยประสบปัญหาเกี่ยวกับการทรุดตัวของระดับพื้นดินเนื่องจากการสูบน้ำใต้ดินมาใช้มากเกินไป โดยสังเกตุเห็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2503 มีอัตราการทรุดตัวประมาณ 5-10 เซ็นติเมตร/ปี แต่หลังจากออกมาตรการควบคุมการใช้น้ำใต้ดิน อัตราการทรุดตัวของพื้นดินในปัจจุบันลดลงเหลือ 1 เซ็นติเมตร/ปี

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: