เรียนรู้

บนโลกใบนี้ เศษตะกอนไปตกอยู่ตรงไหนได้บ้าง

เมื่อหินก้อนใหญ่ๆ ผ่าน กระบวนการผุพัง (weathering) เศษหินที่แตกหลุดออกมาจะถูกพัดพาจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำด้วยตัวกลางชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกเอง น้ำ ลม หรือธารน้ำแข็ง ซึ่งเมื่อตะกอนเดินทางไปสู่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมหรือตัวกลางการพัดพาอ่อนกำลังลง ตะกอนก็จะเริ่มตกสะสมตัว

การตกตะกอน (sedimentary deposition) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อปัจจัยการพัดพาชนิดต่างๆ ลดพลังงานลงถึงระดับที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตะกอนต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของตะกอนตามธารน้ำ ตะกอนแต่ละขนาดจะสัมพันธ์กับความเร็วของน้ำที่จะทำให้ตะกอนนั้น สามารถถูกพัดพาต่อไปได้หรือตกสะสมตัวที่แตกต่างกัน

แบบจำลองแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วของน้ำและการตกสะสมตัวของตะกอนขนาดต่างๆ

การตกตะกอนโดยส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียง เช่น แอ่ง ทะเลสาบ ร่องเขา เป็นต้น ซึ่งสภาพแวดล้อมการตกสะสมตัวของตะกอนนั้นมีหลายรูปแบบและในแต่ละสภาพแวดล้อมดังกล่าว ให้ตะกอนที่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ทั้งขนาด ความกลม ความมนและการคัดขนาด

สภาพแวดล้อมการตกตะกอน

การตกตะกอนบนบก

1) ตะกอนน้ำพา (alluvial) เป็นการสะสมตัวของตะกอนในบริเวณที่มีการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการพัดพาตะกอนจากร่องน้ำในหุบเขาสู่ที่ราบ ทำให้น้ำซึ่งเคยไหลเร็วอยู่ในร่องแคบๆ แผ่ซ่านและลดความเร็วลงอย่างรวดเร็ว ตะกอนตกทับถมบริเวณปลายร่องเขาแผ่กระจายทุกทิศทางในที่ราบคล้ายกับพัด เรียก เนินตะกอนรูปพัด (alluvial fan) โดยตะกอนที่ตกทับถมในช่วงต้นของเนินตะกอนรูปพัดจะมีขนาดใหญ่และมีการคัดขนาดแย่ (หลากหลายขนาดคละเคล้ากัน) แต่จะมีขนาดเล็กลงและคัดขนาดดีขึ้นบริเวณปลายเนินตะกอนรูปพัด

เนินตะกอนรูปพัดที่เกิดจากการที่น้ำหอบตะกอนออกมาจากร่องเขาและลดความเร็วน้ำอย่างรวดเร็วเมื่อถึงที่ราบ

2) ตะกอนธารน้ำ (fluvial) เป็นการสะสมตัวในตำแหน่งต่างๆ ตามธารน้ำ เช่น ร่องน้ำ (channel) โดยส่วนใหญ่เป็นแหล่งสะสมตัวของกรวดมน (gravel) เนินทรายริมตลิ่ง (point bar) และ ทะเลสาบรูปแอก (oxbow lake) ซึ่งเป็นเนินทรายริมตลิ่งเดิม เป็นแหล่งสะสมตะกอนขนาดทราย (sand) ในขณะที่ ที่ราบน้ำท่วมถึง (flood plain) และ คันดินธรรมชาติ (natural levee) เป็นแหล่งสะสมตัวของตะกอนทรายแป้ง (silt) หรือดิน (clay)

การสะสมตัวของตะกอนตามธารน้ำ
(ซ้าย) กรวดที่สะสมตัวตามท้องน้ำ (ขวา) ทรายที่สะสมตัวที่โค้งในของธารน้ำหรือเนินทรายริมตลิ่ง

3) ทะเลสาบ (lake หรือ lacustrine) เนื่องจากทะเลสาบมีระดับพลังงานในการพัดพาต่ำ ลมเอื่อย กระแสน้ำนิ่ง ตะกอนโดยส่วนใหญ่ที่ตกทับถมจึงมีขนาดเล็ก เช่น ทราย ดินหรือโคลน และเนื่องจากระดับพลังงานของการพัดพาคงที่ จึงมีการคัดขนาดดีมาก ยกเว้นในบางกรณีที่ผิดปกติ เช่น เกิดดินถล่ม ภูเขาไฟ ใกล้ทะเลสาบ อาจได้ตะกอนที่ปะปนกันในหลากหลายขนาด ในกรณีของ ทะเลสาบนํ้าเค็มบนพื้นทวีป (playa lake) ที่อยู่ในทะเลทราย อาจเกิดการระเหยของน้ำทำให้ได้ตะกอนเกลือ

(ซ้าย) สภาพแวดล้อมแบบทะเลสาบ (ขวา) ลำดับชั้นของตะกอนในแท่งตัวอย่างที่เจาะมาจากทะเลสาบ

นอกจากนี้การสะสมตัวในบริเวณพื้นที่ทวีปยังเกิดขึ้นได้อีกบางรูปแบบตามภูมิอากาศ เช่น ตะกอนธารน้ำแข็ง หรือ ทิลล์ (till) ในพื้นที่หนาวเย็นและ ดินลมหอบ (loess) ในพื้นที่ซึ่งมีความแห้งแล้ง เป็นต้น

(ซ้าย) ทิลล์ (ขวา) ดินลมหอบ

การตกตะกอนแถบรอยต่อบก-ทะเล

4) ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta) เป็นสภาพแวดล้อมการสะสมตัวของตะกอนธารน้ำบริเวณปากอ่าว ซึ่งเมื่อธารน้ำพบกับทะเล กระแสน้ำจะลดความเร็วลง ทำให้ตะกอนขนาดทรายตกทับถมก่อนและเล็กลงถึงขนาดดินเมื่อออกห่างจากฝั่ง คล้ายกับการสะสมตัวของตะกอนบริเวณเนินตะกอนรูปพัด เรียกว่า ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta) เช่นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในประเทศเวียดนามและกัมพูชา แม่น้ำไนล์ ในประเทศอียิปต์ และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแม่น้ำอิรวดี ในประเทศพม่า เป็นต้น

โดยธรรมชาติ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอินทรียวัตถุที่พัดพามาตลอดธารน้ำ ซึ่งเหมาะกับการปลูกพืช และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโบราณจะเป็นแหล่งสะสมปิโตรเลียมที่สำคัญ

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงการสะสมตัวดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์

เนินตะกอนรูปพัดและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ มีลักษณะการเกิดคล้ายกับกัน คือ ตะกอนตกทับถมเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหรือความเร็วของตัวนำพา (น้ำ) อย่างรวดเร็ว ทำให้ตะกอนตกทับถมแบบแผ่ซ่าน

5) หน้าหาด (beach) ด้วยความสมดุลของพลังงานหรือคลื่นในบริเวณชายฝั่ง ทำให้ตะกอนที่ถูกทับถมในบริเวณชายหาดนั้น โดยส่วนใหญ่โดยส่วนใหญ่เป็นตะกอนทรายที่คัดขนาดดี แต่ในบางกรณีบริเวณหาดก็สามารถเป็นแหล่งสะสมตัวของตะกอนขนาดดินได้เช่นกัน เช่น บริเวณปากแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล สภาพแวดล้อมการสะสมตัวของตะกอนในบริเวณนั้นก็จะเป็นแบบ ที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึง (tidal flat) ซึ่งตะกอนจะมีขนาดดินเป็นส่วนใหญ่

(ซ้าย) ที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึง (ขวาบน) หน้าหาด (ขวาล่าง) แนวปะการัง

การตกตะกอนในทะเล

6) บ่าทวีป (continental shelf) ตะกอนที่ตกทับถมในบริเวณบ่าทวีป โดยส่วนใหญ่เป็นตะกอนที่ถูกพัดพามาจากพื้นทวีปเป็นหลัก ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นตะกอนขนาดดิน บางครั้งหากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็สามารถเกิดแนวปะการังและให้หินปูนได้

แบบจำลองขอบทวีปสถิตแสดงหุบเขาใต้ทะเลและการตกสะสมตัวของตะกอนจากการถล่มของตะกอนจากไหล่ทวีปลงสู่ปลายของลาดทวีป
ปะการังซึ่งมักเกิด-ตาย และสะสมตัวอยู่บริเวณบ่าทวีปเกิดเป็นหินปูน

7) ไหล่ทวีป (continental slope) เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีความชันสูง ดังนั้นตะกอนโดยส่วนใหญ่โดยส่วนใหญ่ไม่สะสมในบริเวณนี้ ยกเว้นในบางกรณีที่มี หุบเขาลึกใต้มหาสมุทร (submarine canyon) ที่อาจเป็นแหล่งสะสมตัวของตะกอน หรือในกรณีของการเกิดดินถล่มใต้ทะเล ก็สามารถทำให้ตะกอนนั้นสะสมตัวในบริเวณ ลาดทวีป (continental rise) ซึ่งเป็นตอนปลายของ ไหล่ทวีป (continental slope)

8) ทะเลลึก (deep sea) โดยตะกอนที่สะสมตัวอยู่ที่พื้นทะเลลึกรวมเรียกว่า ตะกอนทะเลลึก (pelagic sediment) มีสีน้ำตาลเทาเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ เลนพื้นทะเล (ooze) ที่ ได้จากการสะสมตัวของเปลือกไดอะตอม ซึ่งเป็นซากสัตว์ขนาดเล็กที่มีเปลือกหุ้มเป็นเนื้อปูน หรือซิลิกา นอกจากนั้นยังสามารถพบ ก้อนกลมแมงกานีส (manganese nodule) ตามผิวด้านบนของตะกอนใต้ทะเล ซึ่งกระบวนการเกิดของก้อนกลมแมงกานีส นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าได้จากการตกตะกอนของน้ำทะเลโดยตรง

(ซ้าย) เลนพื้นทะเล (ขวา) ภาพขยายของไดอะตอม
ก้อนกลมแมงกานีส

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: