วิจัย

สรุปหน่วยวัดแผ่นดินไหว กับข้อคิดการดับทุกข์

หากพูดถึงกระบวนการสื่อสาร โดยเฉพาะบทสนทนาที่ว่าด้วยปริมาณ ประโยคจะสมบูรณ์จบลงได้ก็ควรจะต้องมีหน่วยชั่ง-ตวง-วัดเข้ามากำกับ

“ป้าครับ !!! ขอนม 1 ขวด แก้ว 1 ใบ แล้วก็เพื่อนข้างกายซัก 1 คน”

ขวดใบคน คือ หน่วยวัดสำคัญที่จะทำให้เครื่องรับและเครื่องส่งประมวลผลการสื่อสารไปในทิศทางเดียว เรื่องของแผ่นดินไหวก็เช่นกัน หน่วยวัดปริมาณต่างๆ ก็ได้ถูกกำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจนเป็นมาตรฐานสากล แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ พวกเรามักติดกับคำว่า ริกเตอร์ และนำไปใช้กันอย่างสับสน ไม่ได้เดือดร้อนแทนครูภาษาไทย แต่ผู้เขียนแค่ห่วงใยว่าเราอาจสื่อสารกันผิด ซึ่งถ้าคุยกันในวันเบาๆ ก็พอจะจับเข่านั่งอธิบายกันได้ แต่ถ้าต้องสื่อสารช่วงเทศกาลแผ่นดินไหว กลัวว่าจะโกลาหลกันไปใหญ่ ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงอยากจะรณรงค์ สร้างความเข้าใจใหม่ร่วมกันในการสื่อสารด้านแผ่นดินไหว ซึ่งก็หวังว่าบทความนี้น่าจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น

ขนาดแผ่นดินไหว

  • ขนาดแผ่นดินไหว (earthquake magnitude) คือ ระดับพลังงาน ที่โลกปลดปล่อยออกมาจากจุดศูนย์เกิดแผ่นดินไหวในรูปของแรงสั่นสะเทือน ซึ่งนำเสนอครั้งแรกในปี พ.ศ. 2478 โดย ชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ (Richter C.F.) นักแผ่นดินไหวชาวเยอรมัน
  • ขนาดแผ่นดินไหว ไม่สามารถแปลงไปลงตรงอื่นได้ เวลาเราพูดเรื่องขนาดแผ่นดินไหว จะหมายถึง เรานินทาขนาดของเขาที่จุดศูนย์เกิดเท่านั้น เช่น เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ที่เกาะสุมาตรา แล้วที่กรุงเทพฯ คิดเป็นขนาดเท่าไหร่ อย่างนี้ ไม่ด้ายยยยย
  • ขนาดแผ่นดินไหวใหญ่เกิน 10.0 ได้ สูตรคำนวณไม่ได้ปิดกั้น แต่ในช่วงที่เรามีชีวิตอยู่ ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ยังทำได้ไม่เคยถึง ถ้าลองได้มีอุกาบาตโหม่งโลกจังๆ โอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 10.0 ก็มี
  • ขนาดแผ่นดินไหวติดลบก็ได้ ด้วยความละเอียดของเครื่องเมือตรวจวัดในปัจจุบัน เราสามารถตรวจวัดแอมพลิจูดคลื่นไหวสะเทือนได้ละเอียดถึง 0.01 มิลลิเมตร ซึ่งอาจเกิดจากก้อนอิฐหล่นจากโต๊ะลงพื้น และถ้าคำนวณขนาดแผ่นดินไหวจะมีขนาด -2 (จากสูตร log (0.01) = -2)
เปรียบเทียบแผ่นดินไหวที่สำคัญของโลกในรูปแบบพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจากจุดศูนย์กลาง

TOP 3 : แผ่นดินไหวใหญ่ที่สุดที่มีการบันทึกไว้คือแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2503 ที่ชิลี มีขนาด 9.5 รองลงมาคือแผ่นดินไหวขนาด 9.2 ที่รัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2507 และแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ที่เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย พ.ศ. 2547 ตามลำดับ

  • ปัจจุบันเราเลิกใช้คำว่า ริกเตอร์ (Richter) หลังขนาดแผ่นดินไหว เพราะตัวเลข 7.5 8.1 ฯลฯ นั้นเป็น สเกล ที่ไม่ต้องมีหน่วยวัดมาห้อยท้าย และ ริกเตอร์ ก็เป็นชื่อคน ไม่ใช่หน่วยชั่ง-ตวงวัด เช่น สเต็กจานนี้สุกระดับ rare หรือ medium rare หรือ well done หรือจะเป็นความแข็งของแร่ ที่อ้างอิงตาม มาตราโมส์ (Mohs’ scale) เพชรแข็ง 10 คอรันดัม แข็ง 9 ควอซ์ต แข็ง 7 เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นสเกลเหมือนๆ กัน
  • เมื่อก่อนที่ใช้ ริกเตอร์ ห้อยท้าย เพราะให้เกียรติความเป็นคนแรกๆ ที่คิดวิธีวัดและคำนวณขนาดแผ่นดินไหวออกมาเป็นตัวเลข แต่ปัจจุบันมีอีกหลายวิธีคำนวณที่คิดมาจากนักแผ่นดินไหวหลายๆ คน แล้วก็ใช้ได้ดีไม่แพ้สูตรของริกเตอร์ เช่น มาตรา mb Ms Mw ดังนั้นเพื่อกันความสับสนว่าริกเตอร์เป็นหน่วย และให้เกียรตินักแผ่นดินไหวท่านอื่นๆ การรายงานขนาดแผ่นดินไหวในปัจจุบันจึงตัดคำว่า ริกเตอร์ ทิ้งไป
  • พอได้ตัดคำว่า ริกเตอร์ ทิ้งไป บางท่านก็เกรงว่าการรายงานขนาดแผ่นดินไหวจะฟังโล้นๆ จึงนำคำว่า แมกนิจูด (magnitude) มาห้อยท้ายตัวเลขแทน ซึ่งก็ไม่ได้อีกเหมือนเดิม เพราะ (โปรดฟังอีกครั้งหนึ่่ง) ตัวเลขขนาดแผ่นดินไหวนั้นเป็น สเกล ไม่มีหน่วยวัดห้อยท้าย และ แมกนิจูด จริงๆ แล้วก็เป็นแค่คำทับศัพท์ ที่แปลได้ว่า ขนาด (ของเหตุการณ์ใดๆ) ดังนั้นลองนึกภาพตาม “แผ่นดินไหวขนาด 7.0 แมกนิจูด” แปลไทยเป็นไทยอีกที “แผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขนาด” ฟังแล้ว วริ๊งงงงงเลย ไม่ดีๆๆ 🙂
สรุปความแข็งของแร่ตามมาตราโมส์ และวัสดุที่สามารถใช้ทดสอบระดับความแข็ง (ที่มา : www.wikipedia.org)

ขนาด (size) คือ ขนาดวัตถุ เช่น กล่องใบนี้มีขนาด (size) ใหญ่ ส่วน ขนาด (magnitude) คือ ขนาดเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ดินถล่มครั้งนี้มีขนาด (magnitude) ใหญ่ โดยที่ ขนาด หรือ แมกนิจูด (magnitude) ใช้กับภัยพิบัติอื่นๆ ก็ได้ เขาใช้กัน แต่ส่วนใหญ่มักนิยมใช้กับแผ่นดินไหว จนหลายคนคิดว่า แมกนิจูด เป็นเรื่องของแผ่นดินไหว

รายละเอียดเพิ่มเติม : ขนาดแผ่นดินไหว : ความหลากหลาย และ การปรับเทียบ

แรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว

  • แรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว (earthquake ground shaking) เป็นผลมาจากพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจากจุดศูนย์เกิดแผ่นดินไหว โดยแรงสั่นแผ่นดินไหวมี ความเร่ง (accerelation) เทียบเท่ากับแรงกระชากหรือแรงเหวี่ยง ซึ่งแรงกระชากแผ่นดินไหวมาหาเราแบบทุกทิศทาง
แรงสั่น (กระชาก) จากแผ่นดินไหว 6.8 โกเบ ญี่ปุ่น 17 มกราคม ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538)

ในช่วงที่รถและเครื่องบินออกตัว เกิดแรงกระชาก เกิดอาการหลังติดเบาะ คนยืนเฉยๆ ไม่อยู่ แต่เมื่อรถและเครื่องบินทำความเร็วได้ที่และคงที่ จะกลายเป็นแรงดึง แรงลาก เหมือนเรายืนบนผ้าห่ม แล้วให้น้องลาก เรายืนอยู่ ทรงตัวได้

  • แผ่นดินไหวใหญ่ จะสั่นแรงและสั่นนาน แผ่นดินไหวเล็กแรงสั่นจะเบาและแป๊บเดียว
  • บริเวณใกล้จุดศูนย์เกิดจะสั่นแรง ห่างจุดศูนย์เกิดไปเรื่อยๆ ก็จะสั่นเบาลง คนที่อยู่คนละที่ก็ได้รับแรงสั่นสะเทือนไม่เท่ากัน เมื่อพูดถึงแรงสั่นสะเทือนจึงพูดได้หลายค่า ไม่เหมือนกับขนาดแผ่นดินไหวที่เหตุการณ์เดียว จะมีขนาดเดียว
  • ถ้าคลื่นไหวสะเทือนวิ่งผ่านหินแข็ง แรงสั่นสะเทือนจะลดลงเมื่อคลื่นเดินทางไกลออกไป แรงสั่นจะลดทอนเร็วหรือช้า ก็ขึ้นกับสภาพทางธรณีวิทยาใต้ดินที่คลื่นวิ่งผ่าน
  • ถ้าคลื่นวิ่งผ่านตะกอนนุ่มนิ่ม เช่น โคลนดิน ซึ่งคล้ายกับเจลลี่หรือพุดดิ้งที่มีความตึ๋งหนืด สามารถทำให้แรงสั่นหรือแอมพลิจูดคลื่นขยายเพิ่มสูงขึ้นได้ (soil amplification)
แผ่นดินไหว 8.1 นอกฝั่งเม็กซิโก 19 กันยายน ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) (Murillo และ Manuel, 1995) แรงสั่นช่วงแรกลดทอนลงปกติ แต่เมื่อคลื่นวิ่งผ่านชั้นดินอ่อนใต้กรุงเม็กซิโกซิตี้ คลื่นไหวสะเทือนขนาดใหญ่ขึ้น อาคาร 5,700 หลัง พัง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 9,000 คน

หน่วยของแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวมีได้ 3 แบบ ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นหน่วยทั่วๆ ไปทางวิทยาศาสตร์ที่พอจะนำมาจับแรงสั่นสะเทือนได้ เช่น การเลื่อนที่ อัตราเร็ว อัตราเร่ง โดยจะใช้ลูกคลื่นตัวที่มีแอมพลิจูดสูงสุดเป็นตัวแทนของค่าระดับแรงสั่นสะเทือนเหตุการณ์นั้นๆ

  • การเลื่อนที่สูงสุดบนพื้นดิน (Peak Ground Displacement, PGD) บอกแรงสั่นสะเทือนว่ามีการเลื่อนที่สูงสุดไปเท่าใด มีหน่วยเป็น ระยะทาง เช่น เซนติเมตร มิลลิเมตร
  • อัตราเร็วสูงสุดบนพื้นดิน (Peak Ground Velocity, PGV) บอกแรงสั่นสะเทือนทำให้วัตถุตัวกลางนั้นมีการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าใด มีหน่วยเป็น ระยะทาง/เวลา เช่น เซนติเมตร/วินาที
  • อัตราเร่งสูงสุดบนพื้นดิน (Peak Ground Acceleration, PGA) บอกแรงสั่นสะเทือนว่ามีการเปลี่ยนแปลงความเร็วเท่าใด มีหน่วยเป็น ระยะทาง/เวลา2 เช่น เซนติเมตร/วินาที 2

แต่บางครั้งวิศวกรอาจแทนหน่วย PGA ด้วยคำเรียกสั้นๆ ว่า gal ซึ่ง 1 gal = 1 เซนติเมตร/วินาที2 หรืออาจใช้เป็นหน่วย g ซึ่งก็คือค่าอัตราเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก ที่นิวตันได้นำเสนอไว้หลังจากโดนลูกแอบเปิ้ลหล่นใส่หัว โดย 1g = 980 เซนติเมตร/วินาที2 หรือเท่ากับ 980 gal

รายละเอียดเพิ่มเติม : แรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว : หน้าตา นิสัย และหน่วยวัด

ความรุนแรงแผ่นดินไหว

  • ความรุนแรงแผ่นดินไหว (earthquake intensity) หมายถึง ระดับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนที่มีต่อคน สิ่งของ อาคารและสภาพแวดล้อม
  • รูปแบบการนำเสนอนิยมใช้เลขโรมันเป็นตัวแทนและอธิบายแต่ละระดับเป็นคำพูดที่เข้าใจง่ายๆ แต่แฝงไว้ด้วยคีย์เวิร์ดที่จะสามารถจำแนกระดับได้
  • หลายประเทศมีมาตราความรุนแรงแผ่นดินไหวเป็นของตัวเอง และใช้แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เช่น 1) มาตราภูมิภาคยุโรป (European Macroseismic Intensity หรือ EMS-98 scale) 2) มาตรากรมอุตุนิยมวิทยา ญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency Seismic Intensity หรือ JMA scale) 3) มาตราเมดเวเดพ-สปอนฮอเออร์-คาร์นิก (Medvedev-Sponheuer-Karnik Intensity หรือ MSK-64 scale) 4) มาตรารอสซึ่-ฟอเรล (Rossi and Forel หรือ R.F. scale) และ 5) มาตราเมอร์คัลลี่แปลง (Modified Mercalli Intensity หรือ MMI scale)
  • MMI scale แบ่งระดับความรุนแรงแผ่นดินไหวไว้ 12 ระดับ ซึ่งช่วงแรกใช้กันเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมากลายเป็นมาตราที่แพร่หลายและนิยมใช้กันทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็ใช้มาตรานี้
ระดับผลกระทบPGA (g)
Iคนไม่รู้สึก ตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวเท่านั้น
IIรู้สึกบางคนที่อยู่ในที่สงบนิ่ง โดยเฉพาะในอาคารสูง
IIIคนอยู่บนอาคารสูงรู้สึกชัดขึ้น เหมือนรถบรรทุกวิ่งผ่าน
IVคนส่วนใหญ่รู้สึก ถ้วยชามขยับ หน้าต่างประตูสั่น ผนังมีเสียงลั่น รถยนต์ที่จอดอยู่สั่นไหวชัดเจน0.015-0.02
Vเกือบทุกคนรู้สึก ถ้วยชามตกแตก ของในบ้านแกว่ง ของตั้งไม่มั่นคงล้ม นาฬิกาลูกตุ้มหยุดเดิน0.03-0.04
VIรู้สึกทุกคน บางคนตกใจวิ่งออกจากบ้าน ของหนักในบ้านบางชิ้นเคลื่อนไหว ปูนฉาบผนังร่วงหล่น0.06-0.07
VIIทุกคนตกใจ สิ่งก่อสร้างเริ่มปรากฏความเสียหาย อาคารก่อสร้างดีเสียหายเล็กน้อย อาคารปกติเสียหายปานกลาง อาคารคุณภาพต่ำเสียหายมาก0.10-0.15
VIIIสิ่งก่อสร้างที่ออกแบบไว้ดีเป็นพิเศษเสียหายเล็กน้อย อาคารที่ออกแบบไว้ดีเสียหายค่อนข้างมาก บ้าน อนุสาวรีย์ กำแพงพัง0.25-0.30
IXสิ่งก่อสร้างที่ออกแบบดีเป็นพิเศษ เสียหายมาก โครงสร้างของสิ่งก่อสร้างที่ออกแบบไว้ดีเสียศูนย์หมด ตัวอาคารเคลื่อนออกจากฐานรากเดิม ระบบท่อใต้ดินแตกหัก
Xอาคารไม้ที่สร้างไว้อย่างดีเสียหาย โครงสร้างอาคารพังพลาย รางรถไฟโค้งงอ พื้นดินแตก แผ่นดินถล่มหลายแห่ง ทรายและโคลนพุ่งกระฉูดจากพื้นดิน> 0.60
XIสิ่งก่อสร้างถูกทำลายเป็นส่วนใหญ่ สะพานถูกทำลาย ทางรถไฟบิดเบี้ยวมาก
XIIเสียหายทั้งหมด แนวพื้นดินเดิมบิดเบี้ยว วัตถุกระเด็นกระดอน มองเห็นเป็นคลื่นบนแผ่นดิน
มาตราเมอร์คัลลี่แปลง (Modified Mercalli Intensity)
สรุปเปรียบเทียบความแตกต่างคร่าวๆ ของมาตราความรุนแรงแผ่นดินไหวในบางมาตรา

รายละเอียดเพิ่มเติม : รู้จัก “ความรุนแรงแผ่นดินไหว” ซึ่งไม่ใช่แรงสั่นสะเทือน

แรงสั่นสะเทือน vs ความรุนแรง

จากนิยาม แรงสั่นสะเทือน และ ความรุนแรง ของแผ่นดินไหว จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ค่าปัจจัย ดูเหมือนจะล้อไปตามกัน แต่ก็ไม่ได้ส่งผลสะท้อนต่อกันแบบ 1:1 เหมือนกับที่เราส่องกระจก เพราะบางครั้งแผ่นดินไหวขนาดเท่ากัน ส่งแรงสั่นสะเทือนพอๆ กัน แต่ในแต่ละที่กลับรุนแรงเสียหายแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ Pailoplee (2012) จึงพยายามที่จะศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่าง แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว (หน่วย PGA) กับ ความรุนแรงแผ่นดินไหว (มาตรา MMI) ในพื้นที่ประเทศไทยและพม่า โดยมุ่งหวังว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวและสถานีตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนได้ เราจะสามารถประเมินความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ของบ้านเราได้อย่างคร่าวๆ

จาก แผนที่ความรุนแรงแผ่นดินไหวเท่า (isoseismal map) ที่เคยมีการจัดทำและรายงานไว้ในพื้นที่บ้านเรา ประกอบกับการประเมินค่าแรงสั่นสะเทือน (หน่วย PGA) จากแบบจำลองการลดทอนที่เหมาะสมกับพื้นที่ Pailoplee (2012) สรุปและประเมินความสัมพันธ์ระหว่าง PGA-MMI ได้ตามรูปด้านล่าง

กราฟความสัมพันธ์ระหว่าง แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว (หน่วย PGA) และ ความรุนแรงแผ่นดินไหว (มาตรา MMI) วิเคราะห์จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศไทยและพม่า จำนวน 10 เหตุการณ์ (สัญลักษณ์จุดต่างๆ)

รายละเอียดเพิ่มเติม : แผนที่ความรุนแรงแผ่นดินไหวเท่า : การสำรวจและประโยชน์ของแผนที่

นอกจากนี้จากการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ PGA-MMI ของพื้นที่บ้านเรา (เส้นกราฟหนาในรูปด้านล่าง) กับความสัมพันธ์ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเนปาล อินเดีย ประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมทั้งสหรัฐอเมริกา (เส้นกราฟบางต่างๆ ในรูปด้านล่าง) พบว่าในกรณีของความรุนแรงแผ่นดินไหว 6 (VI) ขึ้นไป ซึ่งเป็นความรุนแรงแผ่นดินไหวที่มีผลต่อโครงสร้างของอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ประเทศไทยและพม่ามี ความอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือนมากกว่าพื้นที่เปรียบเทียบอื่นๆ หรือมีนัยว่า ที่ระดับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวเท่าๆ กัน ประเทศไทยและพม่าแสดงความรุนแรงแผ่นดินไหว หรือเสียหายมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ดังนั้นถ้าหากอยากจะเข้มแข็งขึ้นในด้านความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหว ไทยและพม่าควรยกระดับหรือปรับปรุงมาตรฐานการก่อสร้าง (building code) ให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

กราฟความสัมพันธ์ระหว่าง แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว (หน่วย PGA) และ ความรุนแรงแผ่นดินไหว (มาตรา MMI) เปรียบเทียบกันระหว่าง พื้นที่ประเทศไทย-พม่า (เส้นหนา) และพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก (เส้นบาง)

ความทุกข์ก็เช่นกัน

หลังจากได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหน่วยวัดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยวัดแรงสั่นสะเทือนและความรุนแรงของแผ่นดินไหว สิ่งที่พอจะจับสังเกตได้คือ แรงสั่นสะเทือนเป็นเรื่องของโลก ส่วนความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องของเรา อีกประเด็นที่น่าคิด ความรุนแรงหรือสภาพความเสียหาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวเสมอไป

ด้วยระดับแรงสั่นสะเทือนพอๆ กัน บางที่เสียหายยับเยิน แต่บางที่แทบไม่รู้สึกรู้สา หรือนั่นจะบอกเป็นนัยว่า เราสามารถลดความเสียหายหรือความรุนแรงได้ด้วยตัวของเราเอง โลกจะสร้างและส่งแรงสั้นสะเทือนมาให้เราแรงเบาแค่ไหน เราก็ไม่อาจกำหนด สั่งเพิ่มสั่งลดได้ แต่สิทธิ์ที่เราพอจะมีอยู่ในมือ คือการเตรียมพร้อมตั้งรับกับแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นอีก

ความทุกข์ก็คงเช่นกัน นับตั้งตั้งแต่เราเกิดมาบนโลกใบนี้ มีหลายเรื่องราวที่ทำให้เราต้องทุกข์ บางทุกข์ให้เวลาเยียวยา 2-3 วันก็คลาย แต่ก็มีทุกข์อีกมากมาย ที่เจ้าของทุกข์แทบจะยืนไม่อยู่ รับไม่ไหว

บางเวลาผู้เขียนก็เคยแอบนั่งนึก ว่าความทุกข์หน้าตามันเป็นยังไง มันจะมีแขนมีขา หรือมีหางเหมือนแมวเหมือนหมาไหม แล้วถ้ามันมีอยู่จริง ช่วงที่เรามีทุกข์มากๆ ทำไมคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ไม่เห็นจะเป็นเดือดร้อนเหมือนกับเรา ซึ่งถ้ามองอย่างแผ่นดินไหว อย่างน้อยๆ คนที่อยู่ใกล้ๆ ก็ควรรับทุกข์ลดหลั่นกันไปตาม แบบจำลองการลดทอน (attenuation) ซิ จริงไหม

อีกตัวอย่างสมมุติที่น่าสนใจคือ ถ้าคน 2 คน บ้านถูกไฟไหม้คนละหลังเท่าๆ กัน หนึ่งคนอาจจะร้องไห้ฟูมฟายเป็นวรรคเป็นเวร แต่อีกคนกลับยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น คิดหาวิธีแก้ไขและเดินผ่านมันไป หรือว่าความจริง ความทุกข์มันไม่มีอยู่จริง แต่เป็นเพราะตัวเราต่างหากที่กวักมือ เรียกเรื่องราวมาเป็นเรื่องเรา และนิยามเรื่องเหล่านั้นว่า มันคือทุกข์

แชร์ไอเดียกันครับ !!! แนวทางแบบบ้านๆ ที่ผู้เขียนชอบใช้กำกับ กำชับหรือดับทุกข์คือ การปัดป้อง (ชิ่ง) และปล่อยวาง จะกี่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ถ้าแยกแยะดูดีๆ มันก็มีอยู่แค่ 2 เรื่อง คือ เรื่องของเรา และเรื่องที่ไม่ใช่ของเรา

ชิ่งที่ 1 ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ผู้เขียนจะโยนเรื่องราวที่เข้ามาใส่ลงในตะกร้า เรื่องที่ไม่ใช่ของเรา ให้มากที่สุด ชิ่งที่ 2 ถ้าหลบไม่พ้นจริงๆ ยังไงก็เป็นเรื่องของเรา ผู้เขียนจะเลือกมองเรื่องราวนั้นในมุมที่ทำให้ตัวเองสบายใจ อย่าไปติดตามนิสัยตั้งชื่อให้มันใหม่ว่า เรื่องนั้นชื่อปัญหา หรือเรื่องนี้ชื่อทุกข์

ไม่คิด ก็ไม่ทุกข์ (หลวงปู่ชา สุภัทโท) แต่ถ้าอดไม่ได้ยังไงก็จะคิด การเลือกมองเลือกคิดแต่มุมดีๆ จึงจะถือว่า ค่อยคุ้มค่าคิด ลองทำดูครับ พูดกับตัวเองว่า “ก็ดีเนาะ” บ่อยๆ เดี๋ยวมันจะดีเอง ของแบบนี้มันฝึกกันได้ทุกคน

คนอ่อนแอ จะแก้แค้น

คนเข็มแข็ง จะให้อภัย

คนฉลาด จะไม่ใส่ใจ

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: