วิจัย

ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ลาว-พม่า

1) แผ่นดินไหว x ลาว

ในทางธรณีแปรสัณฐาน ประเทศลาวตั้งอยู่ห่างไกลจาก เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน แต่ความเค้นทางธรณีแปรสัณฐานที่เกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียและแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ถ่ายเทเข้ามาภายในแผ่นเปลือกโลก ทำให้เกิดรอยเลื่อนจำนวนมากวางตัวอยู่ในประเทศลาวและพื้นที่ข้างเคียง เช่น รอยเลื่อนเดียนเบียนฟู รอยเลื่อนแม่อิง (Mae Ing Fault; Fenton และคณะ, 2003) รอยเลื่อนน้ำมาและรอยเลื่อนแม่น้ำแดง (Red River Fault; Duong และ Feigl, 1999) เป็นต้น และจากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1980-2015 (30 ปี) บ่งชี้ว่าในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวระดับตื้นจำนวนมากในประเทศลาวและพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะบริเวณตอนเหนือของประเทศลาว โดยมีแผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw จำนวน 17 เหตุการณ์ เช่น แผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw และ 7.7 Mw ที่เกิดในปี ค.ศ. 1988 และแผ่นดินไหวขนาด 6.8 Mw ที่เกิดในปี ค.ศ. 2011 ดังนั้นประเทศลาวจึงมีโอกาสได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว (Pailoplee และ Charusiri, 2017)

จากการศึกษางานวิจัยในอดีต พบว่ามีการประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศลาวเพียง 1 งานวิจัย โดยสำนักงานประสานงานด้านมนุษยธรรม สหประชาชาติ (United Nations Office for Coordination of Humanitarian Affairs หรือ OCHA) ประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศลาว และสร้างแผนที่แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของความรุนแรงแผ่นดินไหว ตามมาตรามาตราเมอร์คัลลีแปลง ที่มีคาบอุบัติซ้ำการเกิด 250 ปี ดังนั้น Pailoplee และ Charusiri (2017) จึงประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวในรูปแบบของแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวในประเทศลาว เพื่อให้พี่น้องชาวลาวได้นำไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในอนาคต

1) พฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว (earthquake activity) สืบเนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่ศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวเทือกเขาสูงที่ห่างไกล ทำให้งานวิจัยในอดีต เกี่ยวกับการประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศลาว มีจำกัด ดังนั้น Pailoplee และ Charusiri (2017) จึงประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวจากการวิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของ ค่า a และค่า b จากสมการความสัมพันธ์ FMD โดยใช้ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงฐานข้อมูลแผ่นดินไหว ให้สื่อถึงพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐานอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามเนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตอนใต้ของประเทศลาว เวียดนามและประเทศกัมพูชา มีข้อมูลแผ่นดินไหวไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์สมการความสัมพันธ์ FMD อย่างมีนัยสำคัญ Pailoplee และ Charusiri (2017) จึงไม่นำเสนอผลการวิเคราะห์ค่า a และค่า b ในพื้นที่ดังกล่าว

แผนที่ประเทศลาวและพื้นที่ข้างเคียงแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของ (ก-ข) ค่า a และค่า b จากสมการความสัมพันธ์ FMD (ค-ง) คาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw และ 6.0 Mw ตามลำดับ (Pailoplee และ Charusiri, 2017)

ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่ามี 2 พื้นที่แสดงค่า a สูงอย่างชัดเจน (a = 3.0-5.0) (รูป ก) ได้แก่ พื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศลาวและบริเวณชายแดนประเทศเวียดนาม-ตอนใต้ของประเทศจีน ในขณะที่กลุ่มรอยเลื่อนบริเวณชายแดนภาคเหนือของประเทศไทย-ลาว-พม่าและกลุ่มรอยเลื่อนบริเวณชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย-พม่ามีค่า a ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ข้างเคียง ดังที่อธิบายในข้างต้น (a = 0.5-1.0) และสืบเนื่องจากค่า a ในทางวิทยาคลื่นไหวสะเทือน คือ อัตราการเกิดแผ่นดินไหว โดยรวมจากทุกขนาดแผ่นดินไหว Pailoplee และ Charusiri (2017) จึง สรุปในเบื้องต้นว่าพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศลาวและบริเวณชายแดนประเทศเวียดนาม-ตอนใต้ของประเทศจีนเป็นพื้นที่ซึ่งมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวสูง

ในกรณีของค่า b ผลการประเมินบ่งชี้ว่าพื้นที่ศึกษามีค่าอยู่ในช่วง 0.4-1.4 (รูป ข) และมีการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b คล้ายกับการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า a ซึ่งในทางวิทยาคลื่นไหวสะเทือน พื้นที่แสดงค่า b ต่ำ มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ในสัดส่วนสูงกว่าพื้นที่แสดงค่า b สูง ดังนั้นในการประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว จึงจำเป็นต้องพิจารณาร่วมกันทั้งค่า a และค่า b โดย Pailoplee และ Charusiri (2017) ประเมินคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw และ 6.0 Mw ซึ่งพิจารณาทั้ง ค่า a และค่า b ใน การประเมินคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว (Yadav และคณะ, 2011)

จากรูป ค บ่งชี้ว่าพื้นที่ศึกษาส่วนใหญ่มีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw < 10 ปี โดยทางตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ศึกษามีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw อยู่ในช่วงเวลา 20-50 ปี (รูป ค) ในขณะที่หากพิจารณาคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 Mw (รูป ง) พบว่าในแต่ละพื้นที่แสดงพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวแตกต่างกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ข้างเคียง บริเวณชายแดนประเทศพม่า-ตอนใต้ของประเทศจีนมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวสูง โดยมีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 Mw < 10 ปี ส่วนพื้นที่ซึ่งมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ คือ พื้นที่ทางตะวันออกของชายแดนประเทศเวียดนาม-ตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งมีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 Mw > 40 ปี ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ผลการประเมินบ่งชี้ว่ามีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 Mw อยู่ในช่วง 10-30 ปี (รูป ง)

2) การจำแนกเขตกำเนิดแผ่นดินไหว (Seismic Source Zonation) ในการประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหว จำเป็นต้องจำแนกรูปร่างแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว และประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว ของแต่ละแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว ซึ่งต้องพิจารณาข้อมูลร่วมกันทั้งข้อมูลธรณีแปรสัณฐาน ข้อมูลธรณีวิทยาแผ่นดินไหว บันทึกประวัติศาสตร์รวมทั้งข้อมูลแผ่นดินไหวที่ได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ ข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวในประเทศลาวและพื้นที่ข้างเคียงมีความสมบูรณ์ไม่เพียงพอ โดยจากการศึกษางานวิจัยในอดีต เช่น กรมทรัพยากรธรณี (2548) Nutalaya และคณะ (1985) และ Pailoplee และ Choowong (2013) ซึ่งจำแนกเขตกำเนิดแผ่นดินไหวโดยรวมในระดับภูมิภาคอาเซียน กำหนดให้ประเทศลาวและพื้นที่ข้างเคียงเป็นเขตกำเนิดแผ่นดินไหวเดียวกัน ดังนั้น Pailoplee และ Charusiri (2017) จึงจำแนกแหล่งแผ่นดินไหวในประเทศลาวและพื้นที่ข้างเคียงขึ้นใหม่ในรายละเอียด โดยพิจารณาจากแผนที่แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 Mw (รูป ง) โดยแบ่งเขตกำเนิดแผ่นดินไหวออกเป็น 5 เขตกำเนิด (A-E) ตามช่วงเวลาของคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว (ตาราง)

ลำดับ เขตกำเนิดแผ่นดินไหว คาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว (ปี) MCE a b
1. A 0-10 7.7 3.91 0.71
2. B 10-20 7.1 3.96 0.73
3. C 20-30 6.5 3.58 0.75
4. D 30-40 6.8 2.46 0.55
5. E 40-50 6.8 2.94 0.75

หมายเหตุ: MCE คือ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต (หน่วย Mw)

เพื่อที่จะประเมินตัวแปรด้านแผ่นดินไหว ที่จำเป็นต่อการประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหว Pailoplee และ Charusiri (2017) วิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวที่อยู่ในแต่ละเขตกำเนิดแผ่นดินไหวดังกล่าว โดยสร้างกราฟแสดงความสัมพันธ์ FMD และวิเคราะห์ค่า a และค่า b ดังแสดงในตาราง และเนื่องจากไม่มีข้อมูลธรณีวิทยาแผ่นดินไหวที่เพียงพอ Pailoplee และ Charusiri (2017) จึงประยุกต์ใช้ค่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวเป็นค่า MCE ในแต่ละแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว (ตาราง)

เพิ่มเติม : การประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหว (Seismic Hazard Analysis)

3) การประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวด้วยวิธีกำหนดค่า (Deterministic Seismic Hazard Analysis) Pailoplee และ Charusiri (2017) แบ่งเขตกำเนิดแผ่นดินไหวและพื้นที่ประเทศลาวออกเป็นพื้นที่ย่อยขนาด 25 x 25 ตารางกิโลเมตร และประเมิน DSHA โดยประยุกต์ใช้แบบจำลองการลดทอนแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวของ Sadigh และคณะ (1997) โดยผลการประเมิน DSHA แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า PGA สูงที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศลาว ผลการประเมิน DSHA บ่งชี้ว่าประเทศลาวมีโอกาสได้รับค่า PGA อยู่ในช่วง 0-0.40g โดยพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศลาวมีภัยพิบัติแผ่นดินไหวสูงที่สุด เนื่องจากมีรอยเลื่อนกระจายตัวอยู่จำนวนมาก (Pailoplee และคณะ, 2009a) และเมื่อพิจารณาเมืองสำคัญของประเทศลาวพบว่าเมืองหลวงน้ำทา (Luang Namtha) มีโอกาสได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวสูงที่สุด โดยมีค่า PGA = 0.4g

แผนที่ประเทศลาวแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า PGA (หน่วย g) จากการประเมิน DSHA (Pailoplee และ Charusiri, 2017)

ในขณะที่เมืองซำเหนือ (Sam Neua) หลวงพระบาง วังเวียง (Vang Vieng) และเมืองเวียงจันทน์ (Vientiane) มีโอกาสได้รับค่า PGA อยู่ในช่วง 0.27-0.32g ส่วนตอนใต้ของประเทศลาวครอบคลุมเมืองท่าแขก (Thakhek) สุวรรณเขต (Savannakhet) จำปาสัก (Champasak) และเมืองโขง (Khong) Pailoplee และ Charusiri (2017) ประเมินเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวต่ำที่สุด โดยมีโอกาสได้รับค่า PGA < 0.08g

4) การประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวด้วยวิธีความน่าจะเป็น (Probabilistic Seismic Hazard Analysis) สืบเนื่องจากตัวแปรด้านแผ่นดินไหวดังแสดงในตาราง Pailoplee และ Charusiri (2017) ประเมิน PSHA และแสดงผลการประเมินในรูปแบบของ กราฟภัยพิบัติแผ่นดินไหว (seismic hazard curve) ของ 11 เมืองสำคัญ ในประเทศลาว โดยผลการประเมินบ่งชี้ว่าเมืองหลวงพระบาง หลวงน้ำทา และเมืองปากลาย ตั้งอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวสูง ในขณะที่เมืองเวียงจันทน์และเมืองซำเหนืออยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวต่ำ

กราฟภัยพิบัติแผ่นดินไหว (seismic hazard curve) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความน่าจะเป็นและระดับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ประเมินที่บางจังหวัดของประเทศลาว (Pailoplee และ Charusiri, 2017)

นอกจานี้ Pailoplee และ Charusiri (2017) แสดงผลการประเมินในรูปแบบของแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า PGA (หน่วย g) ที่มีโอกาส 2% POE และ 10% POE ในอีก 50 ปี พบว่าการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของผลการประเมิน PSHA คล้ายกับการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของผลการประเมิน DSHA

แผนที่ประเทศลาวแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า PGA (หน่วย g) ที่มีโอกาส (ก) 2% POE (ข) 10% POE ในอีก 50 ปี (Pailoplee และ Charusiri, 2017)

อย่างไรก็ตามผลการประเมิน PSHA มีภัยพิบัติแผ่นดินไหวต่ำกว่าผลการประเมิน DSHA ในแต่ละพื้นที่ย่อย เช่น ในกรณีของโอกาส 2% POE ในอีก 50 ปี (รูป ก) แสดงค่า PGA อยู่ในช่วง 0.24-0.27g ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศลาวโดยเฉพาะเมืองหลวงน้ำทา หลวงพระบาง วังเวียง ปากลายและเมืองซัมเหนือ ในขณะที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเชียงขวาง (Xieng Khouang) และเมืองเวียงจันทน์ มีโอกาสได้รับค่า PGA = 0.12-0.21g ซึ่งจำแนกเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวปานกลางเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศลาว

ในขณะที่พื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวต่ำที่สุด คือ พื้นที่ตอนใต้ของประเทศลาว เช่น เมืองท่าแขก สุวรรณเขต จำปาสักและเมืองโขง เป็นต้น โดยมีโอกาสได้รับค่า PGA < 0.12g ส่วนในกรณีของโอกาส 10% POE ในอีก 50 ปี แสดงพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวแตกต่างกัน 2 พื้นที่ โดยตอนเหนือของประเทศลาวมีโอกาสได้รับค่า PGA = 0.12-0.20g ในขณะที่พื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศลาวมีโอกาสได้รับค่า PGA < 0.008g ตามลำดับ (รูป ข)

นอกจานี้ Pailoplee และ Charusiri (2017) ประเมิน PSHA และแสดงผลการประเมินในรูปแบบของแผนที่การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของโอกาส (หน่วย %) ที่ความรุนแรงแผ่นดินไหว ≥ MMI IV-VII ในอีก 50 ปี โดยในกรณีของโอกาสที่ความรุนแรงแผ่นดินไหว ≥ MMI IV-V (รูป ก-ข) ผลการประเมินจำแนกพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่แตกต่างกัน 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศลาวซึ่งประเมินว่าไม่มีภัยพิบัติแผ่นดินไหวและพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศลาวซึ่งมีภัยพิบัติแผ่นดินไหวสูง (โอกาส > 90%) และหากพิจารณาโอกาสที่ความรุนแรงแผ่นดินไหว ≥ MMI VI (รูป ค) พบว่าพื้นที่ทางทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศลาวมีโอกาส > 70% ในขณะที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาวมีโอกาสประมาณ 40-60% (ค) นอกจากนี้ในกรณีของโอกาสที่ความรุนแรงแผ่นดินไหว ≥ MMI VII (รูป ง) ประเมินว่ามีโอกาส < 40% และ < 10% ทางตอนเหนือของประเทศลาว (รูป ง)

แผนที่ประเทศลาวแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของโอกาส (หน่วย %) ในอีก 50 ปี ที่ความรุนแรงแผ่นดินไหว ≥ MMI (ก) IV (ข) V (ค) VI และ (ง) VII ตามมาตราเมอร์คัลลีแปลง (Pailoplee และ Charusiri, 2017)

โดยสรุปผลการประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวและการประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศลาว Pailoplee และ Charusiri (2017) นำแนกประเทศลาวออกเป็น 3 พื้นที่ ตามระดับภัยพิบัติแผ่นดินไหว คือ พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศลาว (ภัยพิบัติแผ่นดินไหวสูง) พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว (ภัยพิบัติปานกลาง) และพื้นที่ตอนใต้ของประเทศลาว (ภัยพิบัติแผ่นดินไหวต่ำ)

2) แผ่นดินไหว x พม่า

1) การจำแนกเขตกำเนิดแผ่นดินไหว (Seismic Source Zonation) Somsa-Ard และ Pailoplee (2013) ประเมิน DSHA และ PSHA ในประเทศพม่า โดยพิจารณาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน และรอยเลื่อนที่กระจายตัวอยู่ในประเทศพม่าและพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะรอยเลื่อนสะกาย รอยเลื่อนบริเวณชายแดนภาคเหนือของประเทศไทย-ลาว-พม่า และรอยเลื่อนบริเวณชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย-พม่า ซึ่ง Somsa-Ard และ Pailoplee (2013) แบ่งออกเป็น 9แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว (ตาราง 7.6) โดยในแต่ละแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว Somsa-Ard และ Pailoplee (2013) ประเมินค่า a และค่า b จากสมการความสัมพันธ์ FMD โดยใช้ข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากทั้งเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว จากหลักฐานทางธรณีวิทยาแผ่นดินไหว รวมทั้งประมวลผลอัตราเลื่อนตัวของรอยเลื่อนจากงานวิจัยในอดีต (ตาราง)

ตัวแปรด้านแผ่นดินไหวของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่จำเป็นต่อการประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศพม่า (Somsa-Ard และ Pailoplee, 2013)

ลำดับ แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว MCE (Mw) SR (มม./ปี) a b อ้างอิง
1. ส่วนชนกันสุมาตรา-อันดามัน 9.0 47 5.50 1.07 Paul และคณะ (2001)
2. ส่วนมุดตัวสุมาตรา-อันดามัน 9.0 47 4.06 0.77 Paul และคณะ (2001)
3. รอยเลื่อนในเทือกเขาอาระกัน 8.0 25 4.21 0.77 Curray (2005)
4. รอยเลื่อนสะกาย 8.5 23 3.44 0.66 Bertrand และ Rangin (2003)
5. แสนหวี-นานติง 8.0 1 3.10 0.65 Lacassin และคณะ (1998)
6. รอยเลื่อนในภาคตะวันตกของไทย 7.9 2 3.29 0.71 Fenton และคณะ (2003)
7. รอยเลื่อนจิงหง-เม็งซิง 7.7 5 2.62 0.52 Lacassin และคณะ (1998)
8. รอยเลื่อนเดียนเบียนฟู 7.7 2 3.65 0.76 Zuchiewicz และคณะ (2004)
9. รอยเลื่อนแม่น้ำแดง 8.1 4 3.23 0.74 Duong และ Feigl (1999)

หมายเหตุ: 1) MCE คือ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต (หน่วย Mw) และ 2) SR คือ อัตราเลื่อนตัวของรอยเลื่อน (หน่วย มิลลิเมตร/ปี)

2) การประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวด้วยวิธีกำหนดค่า (Deterministic Seismic Hazard Analysis) Somsa-Ard และ Pailoplee (2013) แบ่งเขตกำเนิดแผ่นดินไหวและพื้นที่ประเทศพม่าออกเป็นพื้นที่ย่อยขนาด 25 x 25 ตารางกิโลเมตร และประเมิน DSHA โดยประยุกต์ใช้แบบจำลองการลดทอนแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวของ Crouse (1991) สำหรับเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน และ Boore และคณะ (1997) สำหรับรอยเลื่อนต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ในประเทศพม่าและพื้นที่ข้างเคียง

ผลการประเมิน DSHA แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า PGA สูงที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศพม่า บ่งชี้ว่าประเทศพม่ามีโอกาสได้รับค่า PGA สูงที่สุด 0.35-0.40g โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนว เทือกเขาอาระกัน (Aragan Yoma) ทางตะวันตกของประเทศพม่า ในขณะที่บริเวณตอนกลางของประเทศพม่า ผลการประเมิน DSHA แสดงค่า PGA อยู่ในช่วง 0.25-0.35g ในบริเวณใกล้เคียงรอยเลื่อนสะกาย และแสดงค่า PGA = 0.10-0.20g ในพื้นที่ทางตะวันออกและตอนใต้ของประเทศพม่า

3) การประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวด้วยวิธีความน่าจะเป็น (Probabilistic Seismic Hazard Analysis) สืบเนื่องจากตัวแปรด้านแผ่นดินไหวดังแสดงในตาราง Somsa-Ard และ Pailoplee (2013) ประเมิน PSHA และแสดงผลการประเมินในรูปแบบของ แผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า PGA (หน่วย g) ที่มีโอกาส 2% POE และ 10% POE ในอีก 50 ปี พบว่าการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของผลการประเมิน PSHA คล้ายกับการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของผลการประเมิน DSHA โดยมีภัยพิบัติแผ่นดินไหวสูงที่สุดทางตะวันตกของประเทศพม่า เช่น ในกรณีของโอกาส 2% POE ในอีก 50 ปี (รูป ก) แสดงค่า PGA อยู่ในช่วง 0.15-0.25g ในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศพม่า ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันออกของประเทศพม่าแสดงค่า PGA อยู่ในช่วง 0.05-0.10g อย่างไรก็ตามในพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศพม่าพบบางพื้นที่ใกล้รอยเลื่อนแสดงค่า PGA อยู่ในช่วง 0.15-0.25g เช่นเดียวกับพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศพม่า (รูป ก)

ส่วนในกรณีของโอกาส 10% POE ในอีก 50 ปี (รูป ข) พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศพม่าแสดงค่า PGA < 0.05g โดยเฉพาะเมืองตองยี ทางตะวันออกของประเทศพม่า ผลการประเมินบ่งชี้ว่าไม่มีภัยพิบัติแผ่นดินไหวหากพิจารณาที่โอกาส 10% POE ในอีก 50 ปี (รูป ข)

แผนที่ประเทศพม่าแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า PGA (หน่วย g) ที่มีโอกาส (ก) 2% POE (ข) 10% POE ในอีก 50 ปี (Somsa-Ard และ Pailoplee, 2013)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: