สำรวจ

สืบเส้นทาง ม้าต่าง-วัวต่าง แห่งล้านนา

ก็ไม่แน่ใจว่าเด็กๆ ยุคใหม่ จะรู้จักกันมั่งไหม แต่ถ้าถามหญิงชายวัยกลางคน 40 อัพขึ้นไป เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักและเคยได้ยินตำนาน นายฮ้อย หรือ คาวบอยอีสาน ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มพ่อค้าวัว-ควาย ที่รอนแรมต้อนวัวต้อนควาย เดินทางไปทำมาค้าขายข้ามภูมิภาค มนต์เสน่ห์ของเรื่องเล่าระหว่างการเดินทางและความเก่งกล้าสามารถของนายฮ้อย ทำให้อาชีพนายฮ้อยมีหน้ามีตา และมีบทบาทมากบารมีในสังคมอีสานสมัยก่อน

ข้ามฟากมาอีกฝั่งของภูมิภาค หากอีสานมีตำนานนายฮ้อย ดินแดนล้านนาภาคเหนือ ก็มีเรื่องเล่า ม้าต่าง-วัวต่าง ไม่ต่างกัน จากงานวิจัยของท่าน อาจารย์ ชูสิทธิ์ ชูชาติ เปิดเผยว่า ในอดีต เมืองหรือชุมชนล้านนาที่อาศัยอยู่ตามแอ่งที่ราบต่างๆ ทางภาคเหนือ ไม่ได้อยู่กันอย่างโดดเดี่ยว แต่มีการเดินทางข้ามแอ่งไปมาหาสู่กันอยู่บ่อยๆ เพื่อค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าที่ตัวเองมี ซึ่งหัวเมืองสำคัญๆ ในแถบนี้ก็ได้แก่ เมืองเชียงรุ่ง เชียงตุง เมืองสิงห์ ในพม่า รวมทั้งหัวเมืองใหญ่ล้านนา ซึ่งก็คือ จังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือปัจจุบัน

ข้อมูลตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ หัวเมืองล้านนาที่สำคัญในอดีต

ลองจิจูดละติจูดเมืองลองจิจูดละติจูดเมือง
97.6416.45มะละแหม่ง99.5519.65แม่สรวย
97.9418.16แม่สะเรียง99.6221.28เชียงตุง
97.9418.83ขุนยวม99.7419.55พาน
97.9719.30แม่ฮ่องสอน99.8317.01สุโขทัย
98.2317.22ท่าสองยาง99.8319.91เชียงราย
98.3617.80อมก๋อย99.8620.14แม่จัน
98.3618.50แม่แจ่ม99.8920.43แม่สาย
98.4419.36ปาย99.9119.17พะเยา
98.5216.98แม่ระมาด99.9818.75งาว
98.5816.71แม่สอด100.0920.27เชียงแสน
98.6118.19ฮอด100.1017.63อุตรดิตถ์
98.6818.42จอมทอง100.1418.15แพร่
98.7418.85สะเมิง100.2616.82พิษณุโลก
98.9519.12แม่แตง100.2819.15ปง
98.9518.91แม่ริม100.3218.34ร้องกวาง
98.9918.79เชียงใหม่100.3516.44พิจิตร
99.0118.58ลำพูน100.4120.26เชียงของ
99.1316.88ตาก100.5321.24ยอง
99.1418.87ดอยสะเก็ด100.7218.32นาน้อย
99.2219.92ฝาง100.7518.57เวียงสา
99.3518.33ห้างฉัตร100.7722.00เชียงรุ่ง
99.4920.08ท่าตอน100.7718.77น่าน
99.5118.29ลำปาง100.9219.18ปัว
99.5119.35เวียงป่าเป้า101.1521.19สิงห์
99.5216.48กำแพงเพชร
แผนที่ภาคเหนือประเทศไทยและพื้นที่ข้างเคียง แสดงการกระจายตัวของหัวเมืองสำคัญล้านนา ที่เชื่อว่ามีการไปมาหาสู่ซึ่งกันระหว่างชุมชน เพื่อการค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากัน ผ่านเส้นทาง ม้าต่าง-วัวต่าง

1) ม้าต่าง-วัวต่าง

ด้วยความที่ภูมิประเทศของภาคเหนือและพื้นที่โดยรอบค่อนข้างจะหฤโหด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แม่น้ำสายหลักต่างๆ ก็มีเกาะแก่งมากมายยากต่อการสัญจรทางน้ำ และเส้นทางน้ำส่วนใหญ่ก็มักไหลจากเหนือลงใต้ ทำให้การเดินทางข้ามไปแอ่งข้างๆ ซ้าย-ขวา มักไม่ได้ดั่งใจหากต้องดีไซน์ที่จะไปทางน้ำ ด้วยเหตุนี้ การเดินทางส่วนใหญ่ในภาคเหนือจึงพึ่งพิงพึ่งพาอยู่กับ ลา ม้า วัว ควาย ที่ใช้บรรทุกของ แล้วจูงงกันเดินลัดเลาะไปตามหุบ ตามร่อง ตามเนินเขาต่างๆ จนเกิดเป็นตำนานกองคาราวาน ม้าต่าง-วัวต่าง ที่โด่งดังในดินแดนล้านนา

คำว่า ต่าง เป็นภาษาท้องถิ่น ที่หมายถึง ภาชนะทรงกระบอกขนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่สานมาจากไม้ไผ่หรือหวาย มีหูหิ้ว เอาไว้สอดไม้คาน เพื่อพาดไว้บนหลังสัตว์ และมักจะเรียกชื่อเฉพาะตามสัตว์ที่ใช้ เช่น วัวต่าง ม้าต่าง ลาต่าง (ที่มา : กรมศิลปากร) โดยปกติในการเดินทางแต่ละครั้ง ม้าต่าง-วัวต่าง มักจะไปกันเป็นกลุ่ม เป็นคาราวาน ที่ประกอบไปด้วยม้าต่าง-วัวต่างถัวๆ 30-300 ตัว เดินตามกันเป็นแถว โดยมีพ่อค้าคอยควบคุม 3-5 คน ซึ่งตามธรรมเนียม จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ไว้บนหลังม้าหรือวัวตัวแรกของขบวน เรียกว่า ผางลาง ซึ่งก็คือเครื่องทำเสียงสัญญาณให้สมาชิกในขบวนที่อยู่ถัดไป ตามได้ถูกทางและรู้ตำแหน่งของหัวแถว (ชูสิทธิ์ ชูชาติ, 2545)

(ก) พ่อค้าล้านนาในอดีตที่กำลังเตรียม วัวต่าง ก่อนจะออกเดินทาง (ที่มา : เพจเชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น) (ข) ต่าง(ค) ผางลาง (ที่มา : www.finearts.go.th) (ง-จ) คาราวานม้าต่าง-วัวต่าง (ที่มา : www.huglanna.com)

จากความน่าสนใจในความเป็นไปเป็นมา ประกอบกับเรื่องเล่าการรอนแรมของคาราวานม้าต่าง-วัวต่าง ทำให้เป็นที่น่าติดตามว่า จากเมืองการค้าสำคัญต่างๆ คาราวานม้าต่าง-วัวต่าง เขาเดินทางไปในเส้นทางไหนกันบ้าง บทความนี้ จึงมีวัตถุประสงค์หลัก ที่จะวิเคราะห์โครงข่ายเส้นทางการเดินทางของกองคาราวานม้าต่าง-วัวต่าง จากเมืองต่างๆ ที่ไปมาหาสู่กัน ซึ่งผลที่ได้จากการวิเคราะห์ น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการศึกษาตามรอยประวัติศาตร์ การเดินทางของม้าต่าง-วัวต่าง ต่อไปในอนาคต

2) ภูมิสารสนเทศ (GIS)

จาก ข้อมูลภูมิประเทศ (Digital Elevation Model, DEM) วิเคราะห์ด้วยศาสตร์ที่เรียกว่า ภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System, GIS) ผลการวิเคราะห์ได้เส้นทางการเดินทางที่เหมาะและสะดวกที่สุดระหว่างเมืองต่างๆ ตามแนว เส้นสีแดง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีเส้นทางที่น่าสนใจมากมาย ทั้งที่ซ้อนทับเส้นทางถนนในปัจจุบัน และเส้นทางที่ไม่ค่อยมีการใช้งานแล้วในทุกวันนี้

จากเอกสารที่มีการบันทึกไว้ว่าชุมชนล้านนามีการติดต่อค้าขายกับเมือง มะละแหม่ง หรือ เมาะลำเลิง ริมชายทะเลทางตอนใต้ของประเทศพม่า ซึ่งเป็นท่าเรือโบราณ ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าหากต้องการขนถ่ายสินค้าจากเมืองมะละแหม่ง เข้าสู่ดินแดนล้านนาหรือภาคเหนือของไทย สามารถข้ามเขาเข้าได้ 2 เส้นทาง คือ เข้ามาทาง อ. แม่สอด และ อ. แม่ระมาด และอีกหนึ่งเส้นทางสำคัญเมื่อเข้าสู่ดินแดนไทยก็คือเส้น อ. แม่สะเรียง และ เมืองแม่ฮ่องสอน (ดูรูปประกอบ)

มะละแหม่ง เมาะลำเลิง เมาะลำไย หรือ มอละมไยง์

คือ เมืองเดียวกัน

แผนที่ภาคเหนือของประเทศไทยและพื้นที่โดยรอบ แสดงการกระจายตัวของชุมชนโบราณในแถบล้านนา และโครงข่ายเส้นทางม้าต่าง-วัวต่าง ที่วิเคราะห์ได้จากเทคนิคภูมิสารสนเทศ (GIS) จุดสีต่างๆ หมายถึงตำแหน่งหมู่บ้านที่มีชื่อ หรือภูมิบ้านนามเมือง สัมพันธ์กับการเดินทางหรือเกวียน เช่น จุดฟ้า – ฮ่อม จุดเหลือง – ล้อ จุดเขียว – เกวียน (คำไทยทั่วไป) จุดแดง โสก (ภาษาอีสาน)

ซึ่งเมื่อเข้ามาสู่แอ่งที่ราบระหว่างหุบเขา ภาคเหนือของประเทศไทย โครงข่ายการเดินทางมักถูกควบคุมด้วยภูมิประเทศ และร่องเขาที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้โครงข่ายภายในส่วนใหญ่ สอดคล้องและซ้อนทับยู่กับเส้นทางถนนปัจจุบัน ซึ่งหากต้องการลงมาสู่ที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบน อย่างเมืองอุตรดิตถ์ สุโขทัย หรือพิษณุโลก คาราวานม้าต่าง-วัวต่าง สามารถลัดเลาะตามร่องเขาออกมาได้ 2 เส้นทาง คือ 1) จากจังหวัดลำปางลงมาสู่จังหวัดตาก ทับเส้นทางเดียวกันกับ ทางหลวงหมายเลข 1 : ถนนพหลโยธิน ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และ 2) จากจังหวัดแพร่ลงมาสู่สุโขทัย เป็นเส้นเดียวกันกับ ทางหลวงหมายเลข 11 : พิษณุโลก−เด่นชัย

อีกหนึ่งเส้นทางที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การค้าขายกันระหว่างหัวเมืองในภาคเหนือของไทยและเมืองสำคัญต่างๆ ที่ปัจจุบันอยู่ในดินแดนพม่า ได้แก่ เมืองเชียงรุ่ง เชียงตุง และเมืองยอง จะสังเกตเห็นว่าหากต้องการทำมาค้าขายกับเมืองเหล่านี้ เส้นทางที่จะไปได้ก็มีอยู่แค่ทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องขึ้นไปทาง อ. แม่สาย ของ จ. เชียงราย ในปัจจุบัน และลัดเลาะไปตามภูเขาเพื่อเข้าสู่เมืองต่างๆ ที่กล่าวมา

3) ภูมินาม (toponyms)

นอกเหนือจากการวิเคราะห์เส้นทางม้าต่าง-วัวต่าง จากข้อมูลภูมิประเทศด้วยเทคนิคภูมิสารสนเทศ ผู้วิจัยได้เลือกใช้ศาสตร์ที่เรียกว่า ภูมินามวิทยา (Toponymy) หรือ ศาสตร์การศึกษาชื่อของสถานที่ เกี่ยวกับที่มาและความหมาย เพื่อที่จะสืบหาร่องรอยชุมทาง หรือเส้นทางคมนาคมทางบกโบราณผ่านพาหนะ เกวียน โดยจากชื่อหมู่บ้านทั่วประเทศ ได้ถูกสืบค้นและคัดกรอง คำที่มีความหมายสัมพันธ์กับเกวียน ทั้งคำไทยทั่วไป และคำเฉพาะภาษาถิ่น ที่ถูกเรียกใช้ในแต่ละภูมิภาค เช่น ภาคกลาง เรียก เกวียน (วงกลมเหลือง) ภาคอีสาน เรียก โสกโสกทางไปนา โสกทางเกวียน หรือชาวอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เรียกว่า กรอก โกรก เช่น กรอกพ่อใหญ่เหงียม โกรกงัวตาย (ที่มา : Waranart Jongyotha) (วงกลมแดง) ภาคเหนือ เรียก ฮ่อม หรือ ล้อ (วงกลมเขียว) เป็นต้น

  • ฮ่อม 14 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้วยฮ่อม ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่, บ้านเด่นฮ่อม ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่, บ้านฮ่อม ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่, บ้านป่าเมี่ยงฮ่อมเฮี้ย ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่, บ้านฮ่อมต้อ ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน, บ้านห้วยป่าฮ่อม ตำบลทุ่งข้าวพวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, บ้านห้วยฮ่อม ตำบลทาแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน, บ้านห้วยป่าฮ่อม ตำบลทุ่งข้าวพวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, บ้านห้วยฮ่อมใน ตำบลทาแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน, บ้านปากห้วยฮ่อมล่าง ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่, บ้านห้วยฮ่อมบน ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่, บ้านห้วยฮ่อม ตำบลกกทอง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย, บ้านยางฮอม ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย, บ้านตำบลยางฮอม ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย
  • ล้อ 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านท่าล้อ ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่, บ้านกิ่วสามล้อ ตำบลสามหมื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก, บ้านท่าล้อ ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่, บ้านท่าล้อ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน, บ้านท่าล้อ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน, บ้านประตูล้อ ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย, บ้านท่าล้อ ตำบลแม่คำมี อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่, บ้านป้อล้อ ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก, บ้านท่าล้อ ตำบลแงง อำเภอปัว จังหวัดน่าน
  • โสก 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโสกเดื่อ ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์, บ้านโสกจักจั่น ตำบลลานบ่า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์, บ้านโสก ตำบลบ้านโสก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์, บ้านโสกเก่า ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, บ้านโสกใหม่ ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, บ้านโสกรัง ตำบลหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ, บ้านตำบลโสก ตำบลบ้านโสก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

ผลจากการคัดกรองชื่อหมู่บ้านในพื้นที่ พบว่าชื่อหมู่บ้านที่สัมพันธ์กับความ เกวียน ดังแสดงการกระจายตัวอยู่ในแผนที่ ซึ่งจากการเปรียบเทียบเส้นทางม้าต่าง-วัวต่าง ที่วิเคราะห์ได้กับตำแหน่งหมู่บ้าน ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการเดินทางหรือเกวียน พบว่าหมู่บ้านต่างๆ ที่มีชื่อเหล่านี้ เกือบทั้งหมดอยู่บนแนวเส้นสีแดง สอดคล้องอย่างยิ่งว่าแนวเส้นสีแดงดังกล่าว เป็น เส้นทางโบราณ หรือ เส้นทางของขบวนม้าต่าง-วัวต่าง มีเพียงบางตำแหน่งหมู่บ้านที่ไม่อยู่ในละแวกเส้นทางที่วิเคราะห์ได้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้วิเคราะห์เส้นทางที่เหลือเพิ่มเติม (เส้นสีเหลือง) เพื่อให้โครงข่ายม้าต่าง-วัวต่าง หรือเส้นทางเกรียน มีความสมบูรณ์และใกล้เคียงความถูกต้องมากยิ่งขึ้น

4) ชุมทาง (junction)

นอกจากนี้ เพื่อที่จะวิเคราะห์ความเป็น ชุมทาง (junction) หรือพื้นที่ที่มีความหนาแน่นในการเดินทาง ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ความหนาแน่น (density) ของเส้นทางการเดินทาง ที่เกิดจากการใช้ซ้ำ (วิเคราะห์เส้นโดยวิ่งหลายจุดแล้วดูจำนวนความซ้ำของเส้น) ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่า แม่สอด แม่ระมาด ฮอต ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย เชียงแสน และ แม่สาย มีความหนาแน่นของการเดินตัดไปตัดมาสูง เปรียบเป็นเหมือน ชุมทาง หรือ ฮับการเดินทาง ของขบวนคาราวานมาต่างกลัวต่างในอดีต จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เมืองต่างๆ เหล่านี้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีสถานะเป็นเพียงแค่อำเภอ แต่ก็เป็นเมืองที่มีชื่ออยู่ติดหูคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน

แผนที่ดินแดนล้านนา แสดงความหนาแน่นของเส้นทางการเดินทางไปมาหาสู่กันจากเมืองสู่เมือง แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งชุมทางหรือหัวเมืองสำคัญที่มีโอกาสที่จะเป็นจุดศูนย์กลาง หรือชุมทางการค้าขายสินค้าในอดีต

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: