ในการศึกษา ภัยพิบัติแผ่นดินไหว (earthquake hazard) ปัจจุบันมีลีลาการศึกษาหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น 1) การประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว (earthquake activity) ว่าในแต่ละพื้นที่ มีโอกาสแผ่นดินไหวขนาดใหญ่แค่ไหนบ้าง หรือ 2) การประเมินพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต (prospective area) ที่อาศัยสัญญาณทางแผ่นดินไหววิทยาต่างๆ (เช่น ความเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว) มาช่วยในการพยากรณ์ นอกจากนี้อีกหนึ่งลีลาที่น่าสนใจในการศึกษาแผ่นดินไหว คือ 3) การประเมินรูปแบบการเกิดแผ่นดินไหว (seismic pattern) ว่าในแต่ละพื้นที่ 3.1) เกิดแผ่นดินไหวกระจุกกันเป็นกลุ่ม เหมือนกับการเกิดแผ่นดินไหวจากภูเขาไฟ (earthquake swarm) หรือ 3.2) เกิดหนาแน่นกันเป็นแนวเส้น ตามแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว หรือ 3.3) เกิดกระจายและกระเจิงเป็นพื้นที่ อันเนื่องมาจากแผ่นเปลือกโลกปริแตกไม่เป็นแนวชัดเจน แต่แตกร้าวเหมือนขนมโก๋
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ จะช่วยให้นักธรณีวิทยาและนักแผ่นดินไหววิทยา ประเมินรูปร่างของ แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว (earthquake source) ได้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น ช่วยให้ การประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหว (seismic hazard analysis) มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
ปัจจุบันนักแผ่นดินไหววิทยาสามารถประเมิน รูปแบบการเกิดแผ่นดินไหว (seismic pattern) ได้จากการใช้ ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว (earthquake catalogue) ที่มีบันทึกไว้และตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือตรวจวัด ซึ่งวิธีการที่ใช้ในการวิเคราะห์เป็นวิธีการทาง แผ่นดินไหววิทยาเชิงสถิติ (statistical seismology) ที่เรียกว่าการวิเคราะห์ มิติแฟร็กทัล (fractal dimension)
1) มิติแฟร็กทัล (ค่า Dc)
แฟร็กทัล (Fractal) เป็นคำนิยามในเชิงวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หมายถึง วัตถุทางเรขาคณิตที่มีคุณสมบัติ เหมือนกันในตัวเอง (self-similar) คือ ดูเหมือนกันหมดไม่ว่าจะดูที่ ระดับความละเอียด (scale) โดยแฟร็กทัลพบมากที่สุดกับวัตถุตามธรรมชาติ โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าวัตถุในธรรมชาติมักจะเกิดจากรูปแบบย่อยที่ซ้ำซ้อนกัน หรือที่เรียกว่ามี มิติแฟร็กทัล (fractal dimension)
ในทางแผ่นดินไหววิทยา (seismology) มิติแฟร็กทัลสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจวัดและจำแนกความเหมือนกันหรือรูปแบบของการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ศึกษา โดยวิเคราะห์จากระยะห่างระหว่างจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างมิติแฟร็กทัล (Dc) และ รูปแบบการเกิดแผ่นดินไหว (seismic pattern) ดังแสดงในสมการ (1-1.3) (Bhattacharya และ Kayal, 2003)
กำหนดให้ Cr คือ ฟังก์ชั่นสหสัมพันธ์ (correlation function) ซึ่งประเมินได้จากสมการ (2-1.3)
กำหนดให้ N คือ จำนวนแผ่นดินไหวที่ใช้ในการวิเคราะห์ N(R < r) คือ จำนวนแผ่นดินไหวที่ระยะทาง R < r R คือ ระยะห่างของเหตุการณ์แผ่นดินไหว 2 เหตุการณ์ที่พิจารณาซึ่งประเมินได้จากสมการ (3) theta คือ ละติจูดของคู่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่พิจารณา phi คือ ลองจิจูดของคู่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่พิจารณา ดังนั้นจากสมการ (1) หากสามารถสร้างกราฟความสัมพันธ์ระหว่างค่า Cr และ R ดังแสดงตัวอย่างใน ความชันของกราฟความสัมพันธ์ดังกล่าว หมายถึง มิติแฟร็กทัล (Dc)
ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ในเชิงสถิติ Aki (1981) พบว่าค่า Dc สามารถจำแนกและแปลความไปในทางรูปแบบการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ศึกษาได้ โดยหาก ค่า Dc มีค่าอยู่ในช่วง 0-1 แสดงถึงแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวดังกล่าวมีรูปแบบการเกิดแผ่นดินไหวและมีลักษณะเป็นแนวเส้น (line source) หากค่า Dc มีค่าอยู่ในช่วง 1-2 แสดงถึงแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวมีลักษณะเป็นระนาบ (area source) และค่า Dc มีค่าอยู่ในช่วง 2-3 แสดงถึงแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวมีลักษณะเป็นปริมาตร (volume source)
เพิ่มเติม : “ความเหมือนกันในตัวของตัวเอง” กับการศึกษารูปแบบการเกิดแผ่นดินไหว (ฮั่นแน่ งง ? ลองอ่านดู…งงยิ่งกว่าเดิม)
2) แรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน (ค่า b)
นอกจากค่า Dc จะมีประโยชน์ในการศึกษารูปแบบการเกิดแผ่นดินไหวหรือลักษณะการกระจายตัวของแผ่นดินไหวของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวต่างๆ นักแผ่นดินไหววิทยายังพบว่าค่า Dc นั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพยากรณ์พื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคตได้เช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากผลการศึกษาจากงานวิจัยในอดีตมากมายพบว่าค่า Dc มีความสัมพันธ์กันกับค่า b จาก สมการความสัมพันธ์ของการกระจายตัวความถี่-ขนาดแผ่นดินไหว (Frequency-Magnitude Distribution, FMD) หรือที่นักแผ่นดินไหววิทยาบางกลุ่มวิจัย เรียกว่า สมการกูเต็นเบิร์ก-ริกเตอร์ (Gutenberg-Richter Relationship) (Gutenberg และ Richter, 1944)
กำหนดให้ NM คือ อัตราการเกิดแผ่นดินไหวสะสมของแผ่นดินไหวขนาด ≥ M ส่วนค่า a และค่า b คือ ค่าคงที่ค่าบวก ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาและพื้นที่ใดๆ และเป็นตัวแปรสำคัญที่สื่อถึงพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวเฉพาะในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลกว่าค่า b ดังกล่าว มีนัยสำคัญสื่อถึงแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐานที่สะสมอยู่ในแต่ละพื้นที่ โดยค่า b ต่ำ/สูง หมายถึง แรงเค้นสูง/ต่ำ ซึ่งบริเวณที่มีการสะสมแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐานที่สูงมักจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา (Grunthal และคณะ, 1982)
โดยค่า Dc และค่า b มีลักษณะความสัมพันธ์ที่เฉพาะตัวในแต่ละพื้นที่โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 1) สัมพันธ์แบบแปรผันตามกัน คือ ความชันของกราฟมีค่าเป็น + และ 2) สัมพันธ์แบบแปรผกผันกัน คือความชันของกราฟมีค่าเป็น – ซึ่งก่อนที่จะนำแนวคิดมิติแฟร็กทัลมาวิเคราะห์หรือประเมินพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหว นักแผ่นดินไหววิทยาจำเป็นจะต้องวิเคราะห์ลักษณะความสัมพันธ์ของค่า Dc และค่า b ดังกล่าวในแต่ละพื้นที่ว่าสัมพันธ์กันหรือไม่และสัมพันธ์กันแบบแปรผันตามหรือแบบผกผัน ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการพยากรณ์แผ่นดินไหวต่อไป
3) ผลวิเคราะห์ ในอาเซียน
ในกรณีรูปแบบการเกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ Pailoplee และ Choowong (2014) ได้วิเคราะห์และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างค่า Dc และค่า b ใน ภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่ (Mainland Southeast Asia) โดยใช้ข้อมูลแผ่นดินไหวที่บันทึกไว้ในช่วงปี ค.ศ. 1974-2010 ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลแผ่นดินไหววิทยาและธรณีแปรสัณฐาน Pailoplee และ Choowong (2013) จำแนก เขตกำเนิดแผ่นดินไหว (seismic source zone) ในภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่ออกเป็น 13 เขต (A-M) โดยเชื่อว่าในแต่ละเขตกำเนิดแผ่นดินไหวดังกล่าว เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่มีพฤติกรรมเฉพาะตัว ภายในเขตกำเนิดแผ่นดินไหว
ในขั้นแรก Pailoplee และ Choowong (2014) ได้จัดกลุ่มข้อมูลแผ่นดินไหว ตามเขตกำเนิดแผ่นดินไหวดังกล่าว จากนั้นนำข้อมูลแผ่นดินไหวในแต่ละเขตมาวิเคราะห์และสร้างกราฟและประเมินค่า b จากสมการความสัมพันธ์ FMD ซึ่งจากกราฟบ่งชี้ว่าการกระจายตัวของความถี่-ขนาดแผ่นดินไหวที่ประเมินจากข้อมูลแผ่นดินไหวในแต่ละเขตกำเนิดแผ่นดินไหวมีความสอดคล้องกับสมการความสัมพันธ์ FMD โดยมีลักษณะเป็นเส้นตรง แต่มีพฤติกรรมโดยรวมที่แตกต่างกันในแต่ละเขตกำเนิดแผ่นดินไหว ดังจะเป็นได้จากค่า b ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละเขต และเนื่องจากข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวที่มีอยู่ในเขต H และเขต K มีจำนวนจำกัด Pailoplee และ Choowong (2014) จึงไม่สามารถประเมินสมการความสัมพันธ์ FMD ได้
อ้างอิงจาก Bayrak และ Bayrak (2012) ค่า b ที่ได้สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1: b < 0.7 กลุ่ม 2: 0.7 ≤ b < 0.8 กลุ่ม 3: 0.8 ≤ b < 0.9 และกลุ่ม 4: b ≥ 0.9 โดยแสดงจากสีที่แตกต่างกันใน โดยจากรูปแสดงให้เห็นว่าเขต F L และเขต M มีค่า b สูงสุด ส่วนกลุ่มที่สองได้แก่ เขต B และ C (b = 0.8-0.9) ส่วนเขต A I และเขต J มีค่า b อยู่ระหว่าง 0.7-0.8 และในกรณีที่เขต D E และเขต G มีค่า b < 0.7 ซึ่งหากพิจารณาในเชิงแผ่นดินไหววิทยาดังที่อธิบายในข้างต้น พบว่าเขตที่มีค่า b ต่ำ มีแนวโน้มที่จะสะสมแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐานสูง
เขตกำเนิดแผ่นดินไหว | a | b | Dc |
A: รอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน | 5.98 | 0.77 ± 0.05 | 1.91 ± 0.01 |
B: เขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน | 6.58 | 0.88 ± 0.05 | 2.03 ± 0.02 |
C: รอยเลื่อนสะกาย | 5.80 | 0.86 ± 0.10 | 1.61 ± 0.02 |
D: แอ่งตะกอนอันดามัน | 4.51 | 0.61 ± 0.05 | 2.17 ± 0.03 |
E: กลุ่มรอยเลื่อนสุมาตรา | 4.75 | 0.61 ± 0.06 | 1.96 ± 0.01 |
F: กลุ่มรอยเลื่อนแสนหวี-นานติง | 6.02 | 1.01 ± 0.30 | 1.48 ± 0.01 |
G: ภาคตะวันตกของประเทศไทย | 3.98 | 0.67 ± 0.20 | – |
H: ภาคใต้ของประเทศไทย | – | – | – |
I: กลุ่มรอยเลื่อนจิงหง-เม็งซิง | 4.87 | 0.71 ± 0.08 | 1.85 ± 0.01 |
J: ภาคเหนือของประเทศไทย-เดียนเบียนฟู | 4.72 | 0.73 ± 0.09 | 1.86 ± 0.04 |
K: กลุ่มรอยเลื่อนแม่น้ำมา-แม่น้ำดา | – | – | – |
L: กลุ่มรอยเลื่อนเซียฉุย | 6.14 | 0.92 ± 0.09 | 1.80 ± 0.02 |
M: กลุ่มรอยเลื่อนแม่น้ำแดง | 5.99 | 1.03 ± 0.10 | 1.48 ± 0.03 |
ค่าคงที่จากสมการความสัมพันธ์ FMD (ค่า a และค่า b) และค่ามิติแฟร็กทัล (Dc) ประเมินจากข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นภายในเขตกำเนิดแผ่นดินไหว 13 เขต (A-M) ในภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่ (Pailoplee และ Choowong, 2014)
ในการประเมินค่า Dc ข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในแต่ละเขตกำเนิดแผ่นดินไหวถูกนำมาสร้างกราฟความสัมพันธ์ระหว่าง Cr และ R (ดูรูปด้านบนประกอบ) จากนั้นจึงประเมินความชันของกราฟความสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งหมายถึงค่า Dc โดยผลการวิเคราะห์แสดงในสมการ 1 และ สืบเนื่องจากเขต G H และ K นั้นมีข้อมูลแผ่นดินไหวจำกัด Pailoplee และ Choowong (2014) จึงไม่สามารถประเมินค่า Dc ได้ เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ FMD ดังที่อธิบายในข้างต้น
จากสมการ 1 แสดงให้เห็นว่าค่า Dc ที่วิเคราะห์ได้นั้นแตกต่างกันในแต่ละเขตกำเนิดแผ่นดินไหวและอยู่ระหว่าง 2.17-1.48 โดยเขตที่มีค่า Dc ต่ำที่สุดคือเขต F และ M ในขณะที่เขตที่มีค่า Dc สูงที่สุดคือ เขต D (Dc = 2.17) ซึ่งจากนิยามและคำจำกัดความที่นำเสนอโดย Tosi (1998) ที่ระบุว่าเขตกำเนิดแผ่นดินไหวที่มีพลังจะมีค่า Dc อยู่ระหว่าง 0-2 ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่ เป็นเขตกำเนิดแผ่นดินไหวที่มีพลังในปัจจุบัน
ในการจัดแบ่งกลุ่มเขตกำเนิดแผ่นดินไหว ค่า Dc ถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่ม 1: Dc < 1.5 กลุ่ม 2: 1.5 ≤ Dc < 1.7 กลุ่ม 3: 1.7 ≤ Dc < 1.9 และกลุ่ม 4: Dc ≥ 1.9 อ้างอิงจากงานวิจัยที่เคยมีการนำเสนอไว้ของ Bayrak และ Bayrak (2012) ซึ่งผลจากการแบ่งกลุ่ม พบว่าเขตกำเนิดแผ่นดินไหวที่มีค่า Dc สูงสุด ได้แก่ เขต A B D และเขต E ส่วนเขตกำเนิดแผ่นดินไหวที่มีค่า Dc สูงเป็นอันดับสองได้แก่เขต I J และเขต L ส่วนในกรณีของค่า 1.5 ≤ Dc < 1.7 พบเฉพาะในเขต C เท่านั้น
4) นัยสำคัญทางธรณีแปรสัณฐาน
ในเชิงนัยสำคัญทางธรณีแปรสัณฐาน Bayrak และ Bayrak (2011; 2012) นำเสนอว่าหากค่า Dc มีค่าใกล้เคียง 1 หรือ 2 หมายความว่าการกระจายตัวของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวส่วนใหญ่กระจายเป็นเนื้อเดียวกันตามแนวเส้น หรือในพื้นที่เช่นระนาบรอยเลื่อน (2 มิติ) ตามลำดับ ดังนั้นจากผลการประเมินค่า Dc ที่ได้ Pailoplee และ Choowong (2014) สรุปว่าแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวส่วนใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่นั้นเกิดแผ่นดินไหวอยู่ตามระนาบรอยเลื่อน (รูปแบบพื้นที่) ยกเว้นเขตกำเนิดแผ่นดินไหวที่มีค่า Dc < 1.5 ได้แก่ เขต F และเขต M บ่งชี้ว่าแผ่นดินไหวเกิดบนรอยเลื่อนเป็นหลัก (รูปแบบเส้น)
สืบเนื่องจาก Bayrak และ Bayrak (2011; 2012) นำเสนอว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่า b และ Dc นั้นเป็นตัวบ่งชี้พิบัติภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นในการศึกษานี้ Pailoplee และ Choowong (2014) จึงได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างค่า b และ Dc เช่นเดียวกับที่ นำเสนอไว้ก่อนหน้านี้ในพื้นที่อื่นๆ (Legrand, 2002; Wyss และคณะ, 2004;. Bayrak และ Bayrak, 2012) ซึ่งจากกราฟ แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่า b และ Dc ในพื้นที่อาเซียนแผ่นดินใหญ่นั้นแสดงอยู่ในสมการ (5)
Dc = 2.80 – 1.22b
สมการ (5)
ซึ่งจากงานวิจัยในอดีตแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ Dc-b สามารถเป็นได้ทั้งความสัมพันธ์เชิงบวก (แปรผันตาม) เช่นกรณีการประเมินความสัมพันธ์ Dc-b ในพื้นที่รอยเลื่อนซานแอนเดรียส (San Andreas Fault) ในประเทศสหรัฐอเมริกา (Wyss และคณะ, 2004) และกลุ่มรอยเลื่อนในอินเดีย (Yadav และคณะ, 2012) หรือความสัมพันธ์เชิงลบ (แปรผกผัน) เช่น กลุ่มรอยเลื่อนในประเทศญี่ปุ่น ตุรกีและอิหร่าน (Barton และคณะ, 1999; Öncel และ Wilson, 2002; Poroohan และ Teimournegad, 2010)
สำหรับภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่ ความสัมพันธ์ Dc-b แสดงให้เห็นสมการถดถอยเชิงเส้นเชิงลบ ซึ่งหมายถึงการเพิ่มขึ้นของความเค้นสะสม (ค่า b) และการลดลงของการจัดกลุ่มแผ่นดินไหว (ค่า Dc) (Barton และคณะ, 1999; Öncel และ Wilson, 2002) ดังนั้น Pailoplee และ Choowong (2014) จึงสรุปว่าเขตกำเนิดแผ่นดินไหว D และเขต E เป็นพื้นที่ที่มีความเค้นสะสมสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่ในขณะที่เขต F และเขต M แสดงความเค้นสะสมต่ำ นอกจากนี้ยังมีเขต A B C I J และเขต L ในตอนกลางของกราฟที่มีค่า b อยู่ในช่วง 0.71-0.92 และค่า Dc ประมาณ 1.61-2.03
นอกจากนี้ Pailoplee และ Choowong (2014) ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง ค่า Dc-(a/b) ตาม Bayrak และ Bayrak (2012) โดยแสดงอยู่ในข ซึ่งแสดงความสัมพันธ์แบบแปรผันตามกันดังแสดงในสมการ (6)
Dc = 2.27(a/b) – 0.01
สมการ (6)
จากการเปรียบเทียบกัน แสดงให้เห็นว่าการกระจายตัวของทั้งความสัมพันธ์ Dc-b และ Dc-(a/b) นั้นไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในด้านการกระจายของข้อมูล อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ Dc-(a/b) แสดงความสัมพันธ์แบบแปรผันตาม ในขณะที่ความสัมพันธ์ Dc-b มีความสัมพันธ์แบบแปรผกผัน ซึ่งแม้ว่า Bayrak และ Bayrak (2012) สรุปผลการวิจัยว่าความสัมพันธ์ Dc-(a/b) มีความน่าเชื่อถือมากกว่าความสัมพันธ์ของ Dc-(a/b) แต่ในการศึกษาโดยในภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่ โดย Pailoplee และ Choowong ( 2014) สรุปว่าความสัมพันธ์ทั้งสองมีความถูกต้องใกล้เคียงกันจากค่า R2 ประมาณ 0.65-0.68
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth