วิจัย

ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว : ความเงียบที่รอวันระเบิดกับการวิเคราะห์เชิงสถิติ

หลักคิด

เพื่อที่จะศึกษาพฤติกรรมการปริแตกของหินหรือรอยเลื่อนก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวในธรรมชาติ Sobolev (1995) ได้จำลองการเกิดแผ่นดินไหวจากการลองบีบอัดหินและตรวจวัดจำนวนเสียงปริแตกของหิน ซึ่งคล้ายกับการทดสอบของ Main และคณะ (1989) ในการวิเคราะห์ค่า b จากสมการความสัมพันธ์ FMD แต่ผลการทดสอบของ Sobolev (1995) ตรวจพบเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมการปริแตกของหิน และอธิบายว่าในระยะเริ่มต้นบีบอัดหินจำนวนเสียงปริแตกจะเพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มแรงบีบอัดมากขึ้น อย่างไรก็ตามจำนวนเสียงปริแตกจะลดลงเนื่องจากรอยแตกของหินเริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุล จนกระทั่งในระยะสุดท้ายหินจะปริแตกอย่างรุนแรง เกิดเสียงปริแตกเพิ่มขึ้นอีกครั้งและเกิดการแตกหักของหินในเวลาต่อมา

ซึ่งจากการทดลองดังกล่าว Sobolev (1995) สรุปว่าหากพื้นที่ใดๆ ได้รับความเค้นทางธรณีแปรสัณฐานเพิ่มขึ้น อัตราการเกิดแผ่นดินไหวจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เรียกว่า ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว (seismic quiescence) และหลังจากนั้นอัตราการเกิดแผ่นดินไหวจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เรียกว่า ภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว (seismic activation) ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา และจากแนวคิดดังกล่าว Sobolev และ Tyupkin (1997; 1999) ได้นำเสนอวิธีการทางสถิติ เรียกว่า ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน (Region-Time-Length, RTL algorithm) เพื่อตรวจวัดและจับสัญญาณของภาวะเงียบสงบและภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว โดยให้คะแนนตัวแปรที่เกี่ยวข้อง 3 ตัวแปร จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นรอบพื้นที่ย่อยที่พิจารณา ดังแสดงใน 3 สมการด้านล่าง

กำหนดให้ R(x,y,z,t) คือ ฟังก์ชั่นความสัมพันธ์ระหว่างระยะทางจากพื้นที่ย่อยที่ต้องการวิเคราะห์ถึงจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว i ที่พิจารณา (ri) ซึ่งมีคะแนนมาก/น้อยเมื่อระยะทางระหว่างพื้นที่ย่อยและจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวสั้น/ยาว ในขณะที่ T(x,y,z,t) คือ ฟังก์ชั่นความสัมพันธ์ระหว่างช่วงเวลาที่ต้องการวิเคราะห์ (t) และเวลาเกิดแผ่นดินไหวที่พิจารณา (ti) ซึ่งมีคะแนนมาก/น้อย เมื่อช่วงเวลาระหว่างช่วงเวลาวิเคราะห์และเวลาเกิดแผ่นดินไหวสั้น/ยาว และ L(x,y,z,t) คือ ฟังก์ชั่นแสดงความยาวรอยแตกของรอยเลื่อน (li) เนื่องจากแผ่นดินไหวขนาด Mi ที่พิจารณา ซึ่งมีคะแนนมาก/น้อยเมื่อรอยแตกยาว/สั้น ในขณะที่ฟังก์ชั่น Rbg(x,y,z,t) Tbg(x,y,z,t) และ Lbg(x,y,z,t) คือ ค่าภูมิหลัง (background) ของฟังก์ชั่น R(x,y,z,t) T(x,y,z,t) และฟังก์ชั่น L(x,y,z,t) ตามลำดับ โดยในการคัดเลือกข้อมูลแผ่นดินไหว i เพื่อวิเคราะห์ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน ต้องเป็นแผ่นดินไหวที่มีคุณสมบัติครบตาม 3 เงื่อนไข ดังนี้ เงื่อนไข 1) Mi ≥ Mmin เงื่อนไข 2) ri ≤ 2r0 และ เงื่อนไข 3) ti ≤ 2t0

แบบจำลองแสดงขั้นตอนการวิเคราะห์ภาวะเงียบสงบหรือภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหวด้วยระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน (Sobolev และ Tyupkin, 1997; 1999)

กำหนดให้ Mmin หมายถึง ขนาดแผ่นดินไหวเล็กที่สุดที่จะพิจารณา ซึ่งงานวิจัยในอดีตส่วนใหญ่กำหนดให้มีค่าเท่ากับ ขนาดแผ่นดินไหวเล็กที่สุดที่เครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวสามารถตรวจวัดได้อย่างสมบูรณ์หรือค่า Mc ส่วนในกรณีของ r0 และ t0 คือ ตัวแปรอิสระในการวิเคราะห์ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ศึกษา (Huang และคณะ, 2001)

จากรูปด้านล่าง รูป ก แสดงตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาในแต่ละฟังก์ชั่น R(x,y,z,t) T(x,y,z,t) และฟังก์ชั่น L(x,y,z,t) วิเคราะห์ตามสมการ R-T-L (Huang และ Sobolev, 2002) ซึ่งจากสมการดังกล่าว Sobolev และ Tyupkin (1997; 1999) นำเสนอผลรวมของทั้ง 3 ฟังก์ชั่น ดังแสดงในสมการด้านล่าง (ดูข ประกอบ)

กราฟแสดง การเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาของฟังก์ชั่น R(x,y,z,t) T(x,y,z,t) และฟังก์ชั่น L(x,y,z,t) วิเคราะห์ ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 6.8 Mw ที่เกิดในเดือนมกราคม ค.ศ. 2000 บริเวณอ่าวเนมูโระ (Nemuro Peninsula) ประเทศญี่ปุ่น ผลกรวมของฟังก์ชั่น R(x,y,z,t) T(x,y,z,t) และฟังก์ชั่น L(x,y,z,t) แสดงการเปลี่ยนแปลงเชิงเวลา ซึ่งตรวจพบภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวในปี ค.ศ. 1996 ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 Mw ดัวกล่าว ประมาณ 4 ปี (Huang และ Sobolev, 2002) แถบสีเทา คือ ช่วงเวลาเกิดภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว

กำหนดให้ VRTL(x,y,z,t) คือ ผลรวมของฟังก์ชั่น R(x,y,z,t) T(x,y,z,t) และฟังก์ชั่น L(x,y,z,t) โดยปรับเทียบมาตราส่วนกับค่า VRTL(x,y,z,t) สูงที่สุดที่วิเคราะห์ได้ตลอดช่วงเวลาการวิเคราะห์ของทั้ง 3 ฟังก์ชั่นดังกล่าว (Rmax(x,y,z,t) Tmax(x,y,z,t) และฟังก์ชั่น Lmax(x,y,z,t)) ดังนั้น VRTL(x,y,z,t) จึงมีความแปรผันอยู่ระหว่าง -1 ถึง 1 เรียกว่า คะแนน RTL (RTL score) ซึ่งในทางวิทยาคลื่นไหวสะเทือน คะแนน RTL < 0 หมายถึง ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว และคะแนน RTL > 0 หมายถึง ภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว

สืบเนื่องจากการวิเคราะห์คะแนน RTL ดังที่อธิบายในข้างต้น เป็นการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาเฉพาะพื้นที่ศึกษาย่อยใดๆ ดังนั้นเพื่อที่จะสร้างแผนที่แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของภาวะเงียบสงบและภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว Huang (2004) นำเสนอการวิเคราะห์คะแนน RTL เฉลี่ยในช่วงเวลาใดๆ ดังแสดงในสมการด้านล่าง(ดู ประกอบ)

กำหนดให้ i คือ ข้อมูลคะแนน RTL จำนวน m ข้อมูล ที่อยู่ในช่วงเวลา (t1, t2) ที่พิจารณา ซึ่งค่า Q(x,y,z,t1,t2) จากทุกพื้นที่ย่อย (x,y,z) ครอบคลุมพื้นที่ศึกษา สามารถนำมาสร้างแผนที่เส้นชั้นความสูง (contour map) แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของภาวะเงียบสงบและภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหวได้

ขั้นตอนการวิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของคะแนน RTL (Huang, 2004)

หลังจาก Sobolev และ Tyupkin (1997; 1999) และ Huang (2004) ได้นำเสนอวิธีการวิเคราะห์ภาวะเงียบสงบและภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว นักแผ่นดินไหวหลายกลุ่มจึงประยุกต์ใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคตในแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวสำคัญทั่วโลก

ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน (RTL Algorithm) เป็นอีกหนึ่งวิธีการทางสถิติที่ใช้ตรวจวัดภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว โดยการให้คะแนนตัวแปรที่เกี่ยวข้อง 3 ตัวแปร จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นรอบพื้นที่ศึกษาและประมวลผลออกมาในรูปแบบของคะแนน RTL (RTL score)

ภาวะเงียบในรัสเซีย

Sobolev และ Tyupkin (1997) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาของคะแนน RTL ที่สัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ในพื้นที่เมืองคัมชัตกา (Kamchatka) ประเทศรัสเซีย โดยใช้ข้อมูลแผ่นดินไหวขนาด ≥ 3.0 Mw ในช่วงปี ค.ศ. 1962-1997 และใช้สมการความสัมพันธ์ของ Riznichenko (1976) ในการปรับเทียบขนาดแผ่นดินไหว (Mi) (หน่วย Mw) ในแต่ละเหตุการณ์เป็นความยาวรอยแตกของรอยเลื่อน (li) (หน่วย กิโลเมตร)

 รูปด้านล่าง แสดงการเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาของคะแนน RTL วิเคราะห์ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw จำนวน 3 เหตุการณ์ บ่งชี้ว่าแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw มักจะเกิดขึ้นหลังจากตรวจพบภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว (แถบสีเทา) และภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว โดยภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวเกิดขึ้นประมาณ 1.5-3.5 ปี ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw และภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหวเกิดขึ้นประมาณ 0.5-1.5 ปี ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw

กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาของคะแนน RTL วิเคราะห์ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว 3 เหตุการณ์ ในพื้นที่เมืองคัมชัตกา ประเทศรัสเซีย แผ่นดินไหวขนาด 7.1 Mw วันที่ 2 เดือนมีนาคม ค.ศ. 1992 แผ่นดินไหวขนาด 7.1 Mw วันที่ 13 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1993 และ แผ่นดินไหวขนาด 7.4 Mw วันที่ 8 เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1993 (Sobolev และ Tyupkin, 1997)

นอกจากนี้ ในรูป ค ยังแสดงภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวในช่วงเวลาสั้นๆ ในปี ค.ศ. 1999 ซึ่งในเวลาต่อมา เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 Mw ดังนั้น Sobolev และ Tyupkin (1997) จึงสรุปว่านอกจากภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวที่ตรวจพบได้อย่างชัดเจนก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อนยังสามารถตรวจพบภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 5.9 Mw ได้เช่นกัน

ภาวะเงียบสงบในญี่ปุ่น

Huang และคณะ (2001) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 Mw ในพื้นที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 เดือนมกราคม ค.ศ. 1995 โดยประยุกต์ใช้ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อนมาวิเคราะห์ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency, JMA) โดยผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคะแนน RTL เชิงเวลาในช่วงปี ค.ศ. 1980-1995 ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวดังกล่าว แสดงการลดลงอย่างชัดเจนของคะแนน RTL ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1993 ถึงปลายปี ค.ศ. 1994 โดย Huang และคณะ (2001) สรุปว่าเป็นภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว และหลังจากนั้นจึงเกิดภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหวยาวนานประมาณ 7 เดือน ก่อนที่แผ่นดินไหวขนาด 7.2 Mw จะเกิดขึ้นในพื้นที่เมืองโกเบ

กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาของคะแนน RTL ในช่วงปี ค.ศ. 1980-1995 วิเคราะห์ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 7.2 Mw เมืองโกเบ (Huang และคณะ, 2001) แถบสีเทา คือ ช่วงเวลาเกิดภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว ลูกศร คือ เวลาเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 Mw รวมทั้งแผ่นดินไหวขนาด 5.9 Mw ที่เกิดในปี ค.ศ. 1985 และแผ่นดินไหวขนาด 5.6 Mw ที่เกิดในปี ค.ศ. 1987

นอกจากนี้ Huang และคณะ (2001) วิเคราะห์คะแนน RTL ครอบคลุมพื้นที่ประเทศญี่ปุ่น และสร้างแผนที่แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของภาวะเงียบสงบและภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว ซึ่งผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าในบริเวณจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 7.2 Mw เมืองโกเบ พบภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว และภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว ในเวลาต่อมา ตามลำดับ และตรวจพบเฉพาะพื้นที่โดยรอบจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวดังกล่าว Huang และคณะ (2001) จึงสรุปว่าภาวะเงียบสงบและภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากการวิเคราะห์คะแนน RTL สามารถใช้เป็นสัญญาณบอกเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้

แผนที่ประเทศญี่ปุ่นแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของ ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว วิเคราะห์จากคะแนน RTL ในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1993-เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1994 ภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว วิเคราะห์จากคะแนน RTL ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ค.ศ. 1994 (Huang และคณะ, 2001) ดาวสีดำ คือ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 7.2 Mw เมืองโกเบ ดาวสีเทา คือ แผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ที่เกิดในช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม ค.ศ. 1995

Huang และ Sobolev (2002) ประยุกต์ใช้ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน มาวิเคราะห์ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวของหน่วยงาน JMA เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณอ่าวเนมูโระ ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลการศึกษาพบภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวเริ่มเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1995 บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันออกของเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น และคะแนน RTL ลดลงต่ำที่สุดในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1996

ต่อมาในช่วงต้นปี ค.ศ. 1997 เกิดภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหวยาวนานประมาณ 8 เดือน ในบริเวณเดียวกันกับที่เกิดภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว และหลังจากนั้นประมาณ 4 ปี เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 Mw ในบริเวณที่เคยตรวจพบความผิดปกติของคะแนน RTL ดังกล่าว ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2000

นอกจากนี้ในกรณีของแผนที่แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว พบภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหวในพื้นที่เกาะอิซุ (Izu Island) นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของเมืองโตเกียว ซึ่งในเบื้องต้น Huang และ Sobolev (2002) สรุปว่าพื้นที่ดังกล่าว อาจเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต อย่างไรก็ตามจากการศึกษาข้อมูลแผ่นดินไหวในรายละเอียดพบว่าภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดจากกระจุกแผ่นดินไหว ก่อนการประทุของภูเขาไฟในบริเวณเกาะอิซุ

แผนที่ประเทศญี่ปุ่นแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของ ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว วิเคราะห์ในปี ค.ศ. 1996 ภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว วิเคราะห์ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ค.ศ. 1996 ถึงต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1997 ก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.8 Mw บริเวณอ่าวเนมูโระ (Huang และ Sobolev, 2002) ดาวสีดำ คือ แผ่นดินไหวขนาด 6.8 Mw ที่เกิดในเดือนมกราคม ค.ศ. 2000 ดาวสีเทา คือ แผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw จำนวน 4 เหตุการณ์ ที่เกิดในช่วงเดือนมกราคม ค.ศ. 1997 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2000

Huang (2004) ประยุกต์ใช้ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 Mw ที่เมืองต็อตโตริ (Tottori) ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ข้อมูลแผ่นดินไหวจากหน่วยงาน JMA ซึ่งผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาของคะแนน RTL พบความผิดปกติของคะแนน RTL เริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ค.ศ. 1999 และ ลดลงต่ำที่สุดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2000 ซึ่งหลังจากนั้น 5 เดือน เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 Mw ที่เมืองต็อตโตริ

ภาวะเงียบสงบในไต้หวัน

นอกจากนี้ Chen และ Wu (2006) พบว่าระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อนสามารถตรวจวัดภาวะเงียบสงบและภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหวก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 Mw ที่เมืองชีชี (Chi-Chi) ประเทศไต้หวัน โดยพบภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1996 ตามด้วยภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหวในปี ค.ศ. 1997 หลังจากนั้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 1999 จึงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 Mw ดังกล่าว

กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาของคะแนน RTL วิเคราะห์ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวขนาด 7.3 Mw เมืองต็อตโตริ ประเทศญี่ปุ่น (Huang, 2004) แผ่นดินไหวขนาด 7.6 Mw เมืองชีชี ประเทศไต้หวัน (Chen และ Wu, 2006) แถบสีเทา คือ ช่วงเวลาเกิดภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว

ภาวะเงียบในอินเดีย

Shashidhar และคณะ (2010) วิเคราะห์พฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw ในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศอินเดีย โดยใช้ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน ผลการวิเคราะห์พบการลดลงของคะแนน RTL อย่างผิดปกติก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw ดังกล่าว ดังนั้น Shashidhar และคณะ (2010) จึงสรุปว่านอกจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อนสามารถตรวจพบภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวของแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw ได้เช่นกัน

แผนที่ทางตะวันตกของประเทศอินเดียแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของคะแนน RTL วิเคราะห์ในช่วงปี ค.ศ. 2007-2008 วงกลมสีเหลือง คือ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw สีดำ/เทา หมายถึง เลื่อนตัวมาก/น้อย กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาของคะแนน RTL วิเคราะห์ที่ตำแหน่ง (1) (2) (3) และ (4) ลูกศร คือ เวลาเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw (Shashidhar และคณะ, 2010) แถบสีเทา คือ ช่วงเวลาเกิดภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว

สรุปการพบภาวะเงียบสงบทั่วโลก

จากการประมวลผลงานวิจัยในอดีต ดังที่อธิบายในข้างต้น Puangjaktha และ Pailoplee (accepted) พบช่วงเวลาระหว่างเวลาที่ตรวจพบความผิดปกติของคะแนน RTL (ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว) และเหตุการณ์เแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดตามมา อยู่ในช่วงเวลา 1.0-5.0 ปี ดังนั้น Puangjaktha และ Pailoplee (accepted) จึงสรุปว่าระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อนสามารถตรวจพบภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวซึ่งเป็นสัญญาณบอกเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้

กราฟแสดงช่วงเวลาระหว่างเวลาที่พบภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว (คะแนน RTL) ถึงเวลาเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จากงานวิจัยในอดีต (Puangjaktha และ Pailoplee, accepted)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: