เรียนรู้

การจัดระบบและจัดจำแนกรูปแบบธารน้ำในธรรมชาติ

ระบบธารน้ำ

เนื่องจากธารน้ำในธรรมชาติจะประกอบด้วยธารน้ำสาขาจำนวนมากที่ไหลลงมารวมกัน ดังนั้นเพื่อให้มีการทำความเข้าใจตรงกันในการสื่อสารในการบริหารจัดการน้ำ นักอุทกวิทยาจึงมีหลักการในการ ลำดับธารน้ำ (stream order) อย่างเป็นระบบ เรียกว่า ระบบธารน้ำ (drainage system) โดยกำหนดให้ธารน้ำที่ไหลออกจากต้นน้ำหรือแหล่งกำเนิด เรียกว่า ธารน้ำสาขาที่ 1 (1st order stream) ซึ่งต่อมาเมื่อไหลมาบรรจบกับธารน้ำอื่น รวมเรียกว่า ธารน้ำสาขาที่ 2 (2nd order stream) และจะมีการรวมกันของธารน้ำและเพิ่มลำดับของธารน้ำไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงปลายน้ำ

ระบบธารน้ำ (drainage system)

ดังนั้นหากมีฝนตกบริเวณภูเขา น้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ แอ่งรับน้ำ (drainage basin หรือcatchment area) หรือ ลุ่มน้ำ (watershed) ซึ่งในแต่ละแอ่งจะถูกแบ่งโดย สันปันน้ำ (drainage divide) โดยลุ่มน้ำนั้นอาจเรียกแบบแบ่งย่อยหรือรวมกันเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ได้ ขึ้นอยู่กับการใช้ลำดับธารน้ำในการพิจารณา เช่น ลุ่มน้ำของธารน้ำสาขาที่ 1 จะมีขนาดเล็กและเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำของธารน้ำสาขาที่ 2 หรือ 3

ภาพถ่ายมุมสูงแสดงกิ่งก้าน สาขาของธารน้ำ

รูปแบบธารน้ำ

นอกจากนี้ จากการศึกษาธารน้ำในธรรมชาติ นักธรณีวิทยาพบว่าทิศทางการไหลของธารน้ำขึ้นอยู่กับภูมิประเทศที่เป็นผลมาจากลักษณะทางธรณีวิทยาในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิด รูปแบบธารน้ำ (drainage pattern) ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน

รูปแบบธารน้ำ (drainage pattern) เป็นหนึ่งในข้อมูลที่สำคัญในการจำแนกชนิดของหินและโครงสร้างทางธรณีวิทยาในพื้นที่ต่างๆ

รูปแบบธารน้ำ (Christopherson, 1994)

1) รูปแบบกิ่งไม้ (dendritic pattern) เป็นรูปแบบที่พบมากและโดดเด่นที่สุด เกิดบริเวณที่มีหินชนิดเดียวกันหรือหินมีเนื้อแน่น มีมุมของธารน้ำที่ไหลมาเชื่อมกันเป็นมุมแหลม

2) รูปแบบตั้งฉาก (rectangular pattern) เป็นรูปแบบที่เกิดจากธารน้ำไหลในบริเวณที่มีรอยแตกหินตัดตั้งฉากกัน โดยธารน้ำจะไหลขนานกันมาตามแนวรอยแตกเป็นมุมฉากโดยส่วนใหญ่

3) รูปแบบเถาองุ่น (trellis pattern) เป็นรูปแบบที่พบในพื้นที่ซึ่งมีการสลับชั้นกันระหว่างชั้นหินแข็งและอ่อน

4) รูปแบบรัศมี (radial pattern) เป็นรูปแบบที่เกิดจากภูเขาลูกโดด ธารน้ำไหลจากยอดเขาไหลแผ่กระจายไปทุกทิศทางลงมาด้านล่าง

5) รูปแบบขนาน (parallel pattern) เป็นรูปแบบที่โดยส่วนใหญ่พบในบริเวณที่มีรอยแตกของหินชัดเจนเพียงทิศเดียว

6) รูปแบบวงแหวน (annular pattern) เป็นรูปแบบที่พบในพื้นที่ที่มีโครงสร้างทางธรณีวิทยาแบบ โดม (dome) หรือ แอ่งกะทะ (basin) และมีการกัดกร่อนจนเป็นตัวควบคุมการไหลของน้ำ

แบบจำลองแสดงชั้นหินคดโค้งแบบโดมและแอ่ง
ภาพถ่ายจากมุมสูงแสดงชั้นหินคดโค้งแบบ (ซ้าย) โดม และ (ขวา) แอ่ง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในแต่ละลุ่มน้ำนั้นอาจจะมีโครงสร้างทางธรณีวิทยาหรือชนิดหินที่หลากหลาย ทำให้ในแต่ละพื้นที่หรือลุ่มน้ำอาจประกอบด้วยรูปแบบธารน้ำหลากหลายชนิดอยู่ร่วมกันได้

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: