1) ชุดความเชื่อ
ณ แม่น้ำโขง นอกจากปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ที่มักจะขึ้นมาให้ชมในวันออกพรรษาของทุกปี อีกปรากฏการณ์ที่มักจะสร้างความฮือฮาให้กับชาวบ้านริมฝั่งโขงอยู่บ่อยๆ คือ 1) เกิดน้ำแตกฟอง น้ำวนบิดเกลียว ในช่วงน้ำหลาก 2) ในช่วงน้ำลด พบหินฐานท้องน้ำเป็นรูเป็นหลุมรูปทรงกลม จำนวนมาก รวมทั้ง 3) พบหินก้อนขนาดเท่ากำมือ ทรงกลมดิ๊ก หล่นอยู่ในบางหลุม
จากทั้ง 3 ปรากฏการณ์กึ่งประหลาด บวกกับความศรัทธาพื้นฐานในพื้นที่ เรื่องพญานาค ทำให้เอื้อต่อการเล่าเรื่องราว สนับสนุนการมีกายหยาบอยู่จริง ของนาคในน้ำโขง หลุมรูปหม้อ ก็พูดต่อได้ว่าเป็นรังพญานาค ส่วนหินก้อนกลมในหลุม ก็เชื้อชวนให้จินตนาการว่า คล้ายไข่ที่พญานาคฝากเอาไว้ สองเรื่องนี้ยังเชื่อกันประปราย แต่ที่หนักที่สุด คือการเห็นน้ำบิดเป็นเกลียว แล้วเลี้ยวมาลงที่พญานาคเล่นน้ำ หรือบางแห่งเห็นน้ำวนก็เคลมว่าเป็น สะดือแม่น้ำโขง คุ้งน้ำวน ชุมชนชาวนาค ตามแต่จะจินตนาการ
สตอรี่ทั้งหมดทั้งมวล ผู้เขียนไม่ขอก้าวล่วง เพราะเคารพต่อความเชื่อหรือความสุนทรียรมณ์ในการเล่าเรื่องในแต่ละท้องที่ แต่ก็ด้วยหลักการทาง ธรณีวิทยา (geology) ที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ได้อย่างสิ้นสงสัย บทความนี้จึงอยากจะบันทึกเอาไว้ ให้เป็นทางเลือกใหม่ เผื่อท่านใดสะดวกหรือสนใจ ในมิติธรณีวิทยา
2) การเกิดแก่ง
ไล่เคลียร์กันไปทีละประเด็น ประเด็นแรกคือ การที่ท้องน้ำในบางพื้นที่เป็นหินฐานไม่รายเรียบ โดยปกติ แม่น้ำทั่วไปจะไหลล้อตาม ร่องเขา (valley) ด้วยความที่ไม่ต้องสู้รบตบมือกันมากนัก ระหว่างสายน้ำกับภูเขา ทำให้ท้องน้ำทั่วไป ที่เกิดจากแม่น้ำไหลใน ร่องเขา (valley) เต็มไปด้วยเศษตะกอน ที่ช่วยฉาบท้องน้ำให้ราบเรียบ
ในทางตรงกันข้าม กรณีของน้ำไหลตัดแนวเขา หินฐานหรือภูเขาที่ยกตัวขึ้นมา จากแรงทาง ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ก็จะถูกกัดกร่อนด้วยแรงน้ำอยู่ตลอดเวลา กลายเป็น ภูมิลักษณ์ (landform) ที่เรียกว่า หุบเขาทางน้ำ (water gap) หรือ หุบเขาทางลม (wind gap) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของ แก่ง (rapids) หรือ โขดหินฐานที่โผล่ตามท้องน้ำแบบตะปุ่มตะป่ำ เป็นท้องน้ำที่ไม่ราบเรียบ
ในกรณีศึกษาแม่น้ำโขง จะเห็นได้ว่าช่วงต้นน้ำของแม่น้ำโขงในประเทศจีน น้ำโขงจะไหลสอดคล้องล้อไปกับ ร่องเขา (valley) (รูป ก) ทำให้เมื่อมองจากภาพถ่ายดาวเทียมจะเห็นว่า เป็นร่องน้ำปกติทั่วๆ ไป ซึ่งแปลความว่าท้องน้ำจะราบเรียบเต็มไปด้วยตะกอน
เพิ่มเติม : ฮาวทูเดา อายุภูเขา แบบถัวๆ
ส่วนแม่น้ำโขงแถบจังหวัดเลยของไทย จะสังเกตเห็นว่าเขาทางตอนเหนือและตอนใต้ของแม่น้ำโขง มีความเป็นแนวเดียวกัน เหมือนจะเคยต่อเนื่องกันมาก่อน (รูป ข-ค) แต่ปัจจุบันมีแม่น้ำโขงตัดผ่าน ผ่ากลางแนวเขา ก่อให้เกิด หุบเขาทางน้ำ-ทางลม ซึ่งแปลความได้ว่า ในพื้นที่แถบนั้นมีการต่อสู้กันระหว่าง 1) การยกตัวของภูเขาหรือหินฐานด้านใต้ และ 2) การกัดกร่อนของแม่น้ำโขง ที่ไหลตัดขวางแนวเขา ผลที่ได้ในแต่ละห้วงเวลาคือ เกิดเกาะแก่งมากมายตามท้องน้ำ แตกต่างจากแม่น้ำที่ไหลตามร่องน้ำทั่วไป
3) วังน้ำวน
ประเด็นต่อมา การเกิดปรากฏการณ์น้ำวน หรือน้ำบิดเป็นเกลียว ในทางธรณีวิทยาอธิบายได้ด้วยเรื่องของ ความหยาบธารน้ำ (stream roughness) เพราะโดยปกติตลอดลำน้ำจะมีความหยาบไม่เท่ากัน เช่น ช่วงต้นน้ำมีตะกอนขนาดใหญ่ตกทับถมอยู่มาก ท้องน้ำหยาบมากกว่าปลายน้ำ หรือในบางพื้นที่ท้องน้ำเป็นหินฐานไม่ใช่ตะกอนบริเวณนั้นก็จะมีความหยาบของธารน้ำมากกว่าห้องน้ำที่เป็นตะกอน ซึ่งบริเวณใดมีท้องน้ำที่ราบเรียบ มวลน้ำก็จะ ไหลแบบราบเรียบ (laminar flow) ส่วนบริเวณที่มีท้องน้ำหยาบ มวลน้ำก็จะ ไหลแบบปั่นป่วน (turbulent flow)
ซึ่งจากการไหลของน้ำในธารน้ำธรรมชาติที่ไม่มีความสม่ำเสมอและความหยาบของธารน้ำ ส่งผลให้การไหลของน้ำในธรรมชาติจึงเป็นแบบปั่นป่วนเป็นส่วนใหญ่ และในบางครั้งทำให้เกิดการไหลของน้ำแบบ กระแสตวัดน้ำย้อนกลับ (eddies current) หรือ กระแสน้ำวน (whirlpool)
4) หลุมหม้อ – หินลับ
ต่อเนื่องจาก กระแสตวัดน้ำย้อนกลับ (eddies current) และ กระแสน้ำวน (whirlpool) จากความแรงและความปั่นป่วนของกระแสน้ำแบบนี้ สามารถชอนไชและควักหินที่อาจมีรอยแตกให้หลุดออกจากหินฐานหรือแก่งใต้น้ำได้ ทำให้เกิดเป็นรูหรือหลุมใต้ท้องน้ำ ซึ่งในเวลาต่อมา หากมีเศษกรวดบังเอิญไหลลงไปอยู่ในหลุมเหล่านั้น กรวดจะกลิ้งวนอยู่ในหลุมตามกระแสน้ำวนที่ไหลผ่าน เกิดการขัดสีและกัดกร่อนรอบหลุมอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งพัฒนาเป็นหลุมทรงกลมหลากหลายขนาดอยู่ใต้น้ำ ซึ่งในทางวิชาการธรณีวิทยา เรียกว่า กุมภลักษณ์ หรือ หลุมหม้อ (pothole) หรือ โบก ในภาษาอีสาน
และในส่วนของเศษหินที่หล่นลงไป ซึ่งเดิมคงเป็นหินที่มีเหลี่ยมมีมุมมาก แต่ผลจากการขัดสีหม้อจนกลายเป็นหลุม ตัวหินเองก็ถูกขัดสีเช่นเดียวกัน จนกลายเป็นก้อนหินที่มีความกลมมนอย่างสมบูรณ์แบบ สวยงาม และมีชื่อเรียกเฉพาะตัวว่า หินกวนหลุม (grinder)
4) สามพันโบก
จากการสำรวจและค้นพบทางธรณีวิทยา ปัจจุบันพบกลุ่ม กุมภลักษณ์ หรือ หลุมหม้อ (pothole) กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ตัวอย่างเช่น กลุ่มกุมภลักษณ์ที่เกิดขึ้นในหินทราย ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก (ขอบที่ราบสูงโคราชทางด้านใต้) แถบ จ. สุรินทร์และบุรีรัมย์ รวมทั้งกลุ่มกุมภลักษณ์ในพื้นที่ จ. นครราชสีมาและชัยภูมิ ตามแนวเทือกเขาสันกำแพง ซึ่งเป็นขอบที่ราบสูงโคราชทางตะวันตก และที่มากมาย สวยงาม และเด่นชัดมากที่สุด คือ กลุ่มกุมภลักษณ์ ที่เกิดขึ้นกลางลำน้ำโขง บริเวณ จ. อุบลราชธานี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อุทยานธรณี ผาชัน-สามพันโบก
ในทางธรณีวิทยา ผลจากแรงทางธรณีแปรสัณฐาน ทำให้ชั้นหินทรายที่พบได้โดยทั่วไปในภาคอีสาน เกิดการคดโค้งโก่งงอ เป็น โครงสร้างทางธรณีวิทยา (geological structure) ที่ยกตัวขึ้น คร่อมระหว่างชายแดนไทย-ลาว โดยมีแม่น้ำโขงซึ่งเป็นขอบเขตประเทศทางธรรมชาติ ไหลขวางตัดผ่านตรงกลางของโครงสร้างธรณีวิทยาดังกล่าว
ผลจากการกัดกร่อนของแม่น้ำโขง สู้กับการยกตัวของโครงสร้างทางธรณีวิทยาในพื้นที่ ทำให้ท้องน้ำบริเวณนี้ กลายเป็น เกาะแก่ง (rapids) ซึ่งหากสังเกตภาพถ่ายดาวเทียมในรายละเอียด จะพบว่ามี แนวรอยแตกของหิน (joint set) กินพื้นที่บริเวณกว้างอย่างเป็นระบบ ซึ่งแนวรอยแตกดังกล่าว เป็นสาเหตุตั้งต้น ทำให้เศษหินที่ไหลลงมาตามแม่น้ำโขง เข้าไปอัด ยัดอยู่ในรอยแตก และเมื่อมีการกวนน้ำอยู่ตลอดเวลา หินขัดสีหิน กลายเป็น กุมภลักษณ์ หรือ หลุมหม้อ (pothole) ในปัจจุบัน ณ อุทยานธรณี ผาชัน-สามพันโบก จ. อุบลราชธานี
และนี่ก็คืออีกหนึ่งบทบาทของศาสตร์ที่เรียกว่า ธรณีวิทยา (GEOLOGY) ที่สามารถนำมาอธิบาย สภาพแวดล้อมกึ่งประหลาดของโลก ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth