สำรวจ

8 ลีลา คนโบราณ บริหารจัดการน้ำ

สันติ ภัยหลบลี้ และ ชวลิต ขาวเขียว

ภาพปก : วารสารเมืองโบราณ

น้ำ คือ ชีวิต ทั้งกินทั้งใช้ทั้งทำไร่ทำนา ต้องมีน้ำเข้ามาเอี่ยวเกี่ยวแทบทั้งสิ้น ในสมัยนี้การจัดการน้ำก็ยังดีหน่อย เพราะด้วยองค์ความรู้ที่มีและเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้คนรู้จักกักเก็บน้ำไว้ใช้ทั้ง น้ำผิวดิน (surface water) และ ใต้ดิน (ground water) แต่สมัยก่อนหากย้อนกลับไปซักหลักร้อยหลักพันปี ก็ใช่ว่าคนโบราณจะอยู่กับน้ำแบบตามยถากรรม เพราะจากหลากหลายหลักฐานทาง โบราณคดี (archaeology) ก็บอกเป็นนัยให้รุ่นหลานเหลนโหลน อย่างเรารู้ว่า บรรพบุรุษของเรานี้ ก็มีภูมิปัญญาการจัดการน้ำอย่างช่ำชอง มีลีลาแบบไหนมั่ง ลองไปดูกัน

1) คูน้ำรอบเมือง

การขุด คูน้ำล้อมเป็นวงปิด (moat) รอบชุมชนหรือเมืองโบราณ มีให้เห็นมานานทั้งไทยทั้งเทศ โดยเฉพาะในภาคอีสานของไทย Reilly และ Scott (2015) สำรวจพบคูน้ำรอบเมืองมากกว่า 300 แห่ง บางที่ขุดล้อมเป็นวงกลม บ้างก็สี่เหลี่ยม บ้างก็ล้อรูปร่างภูมิประเทศ บางเมืองก็ขุดรอบ 1 วง จบๆ แต่บางเมืองก็ซ้อนกัน 2 วง 3 วง ก็มี ซึ่งเชื่อว่าขุดไปเพื่อเก็บน้ำไว้กินไว้ใช้ให้เพียงพอตลอดปี หรือบางท่านบางทีแชร์ไอเดียว่า ก็ได้ใช้ป้องกันสัตว์ป่าและการรุกรานของข้าศึกไปด้วยในตัว ส่วนที่มาของน้ำ เมืองส่วนใหญ่ก็รอน้ำจากฟ้าในฤดูฝน แต่ก็มีบางเมือง ที่เลือกตั้งถิ่นฐานและขุดคูน้ำวงปิด ให้อิงแอบแนบกับลำน้ำ เพื่อผันน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เข้ามาเติมคูเมืองเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในธรรมชาติ และความตั้งใจในการจัดการน้ำ ของคนโบราณอยู่ไม่น้อย

เพิ่มเติม : มองชุมชนโบราณ ผ่านกูเกิ้ลเอิร์ธ

ตัวอย่างลักษณะของคูเมือง ที่มองเห็นได้ง่ายๆ จากภาพถ่ายดาวเทียมของโปรแกรมกูเกิ้ลเอิร์ธ (Google Earth)
แผนที่ภาคอีสานของไทย แสดงตำแหน่งของเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบ (จุดเหลือง) (ข้อมูลตำแหน่ง : O’Reilly และ Scott, 2015)

2) คันดินศรีเทพ ต้นตำหรับพินบอลคัดนำ้

นอกจากความน่าว๊าววว ที่มีคูน้ำล้อมรอบซ้อนกัน 2 วง และความที่กำลังเป็นว่าที่ “มรดกโลกแห่งใหม่” ของประเทศไทย เมืองโบราณศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ ยังมีความเท่ห์ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ เพราะจากการสำรวจและวิจัยในภาคสนาม ดร. อนุรักษ์ ดีพิมาย อาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำเสนอแนวคันดินจำนวนมาก ทางตอนเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือของคูเมืองศรีเทพ

ภาพการ์ตูนแสดงระบบคูน้ำล้อมรอบเมืองศรีเทพ และแนวคันดินทางตอนเหนือ เพื่อเบี่ยงน้ำในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ (ที่มา : วารสารเมืองโบราณ)

ซึ่งหากพิจารณาการวางตัวของคันดินและสภาพภูมิประเทศในละแวกศรีเทพ แปลความในทางภูมิศาสตร์ได้อย่างชัดเจนว่าชุดคันดินเหล่านี้ สร้างไว้เพื่อคอยตั้งรับ รวมมวลน้ำที่โดยธรรมชาติจะไหลแบบแผ่ซ่าน มาจากเทือกเขาและพื้นที่ลาดชันทางตะวันออกเฉียงเหนือ และเบี่ยงน้ำทั้งหมดที่รวมได้ให้ไหลมาเข้าระบบคูน้ำรอบเมือง เหมือนกับเกมส์ตู้พินบอลที่หลายคนเคยเล่นกันสมัยเด็กๆ

สภาพภูมิประเทศโดยรอบเมืองโบราณศรีเทพ แสดงให้เห็นแนวเทือกเขาทางตะวันออก และพื้นที่ลาดที่นำน้ำไหลแผ่ซ่านมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลงสู่เมืองโบราณศรีเทพ
หน้าปัดเกมส์ตู้พินบอล ที่จะมีคันหรือไม้คัด 2 ด้าน ซ้าย-ขวา ให้ลูกบอลไปตามที่ต่างๆ ที่เราต้องการ

3) น้ำทุกหยาดหยด ต้องไหลราดรดเมืองอู่ทอง

ณ เมืองโบราณอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ลีลาการบริหารจัดการน้ำของคนโบราณในย่านนี้ สำแดงให้เห็นตั้งแต่เรื่องทั่วไปอย่างคูน้ำล้อมรอบเมือง ที่สร้างชิดกับสายน้ำธรรมชาติอย่าง แม่น้ำจรเข้สามพัน เพื่อผันน้ำเข้า-ออก ให้ได้ดั่งใจต้องการ

สภาพภูมิประเทศโดยละเอียดวิเคราะห์จากข้อมูลไลดาร์ (แหล่งข้อมูล : GISTDA) แสดงให้เห็น พื้นที่โดยรอบคูเมืองอู่ทอง ที่ขุดขิดกับแม่น้ำธรรมชาติ (แม่น้ำจรเข้สามพัน)

นอกจากนี้ ภาพระดับความสูงภูมิประเทศ ที่สำรวจโดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่าเทคนิค ไลดาร์ (Lidar : Light Detection and Ranging) ยังเผยให้เห็นว่าอู่ทอง ยังมีเจตนาในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิผลสูงสุดอีกหลายลีลา เช่น คอกช้างดิน คือ หนึ่งในโบราณสถานทางโบราณคดี ที่ครั้งหนึ่ง คนในพื้นที่เคยเชื่อกันว่า เป็นคอกสำหรับเลี้ยงช้างสมัยโบราณ แต่ภาพจากไลดาร์ก็เผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โบราณสถานคอกช้างดิน คือ อ่างเก็บน้ำโบราณขนาดใหญ่ ที่ทำหน้าที่คอยรองรับมวลน้ำ ที่จะไหลลงมาจากเขาสูงทางทิศตะวันตก

เพิ่มเติม : ธรณีวิทยาโบราณคดี เมืองโบราณอู่ทอง

กลุ่มโบราณสถาน คอกช้างดิน ตั้งอยู่ริมเชิงเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง ใกล้กลับวัดเขาถ้ำเสือในปัจจุบัน (แหล่งข้อมูล : GISTDA)

4) คลองชลประทาน คันดินรวมรีดน้ำ

นอกจากการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ที่เล่าไปก่อนหน้านี้ ในบางพื้นที่ยังพบหลักฐานของ การจัดการน้ำเพื่อการเกษตรกรรม อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตัวอย่างเช่น พื้นที่แถบพนมรุ้ง-เมืองต่ำ อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ โดยจากการแปลความทางธรณีวิทยา ที่สรุปว่าลุ่มน้ำคลองปูน ซึ่งก็คือพื้นที่ราบระหว่างเขาพนมรุ้งและเขาปลายบัด นั้นเปรียบเสมือนอู่ข้าว-อู่น้ำ ของชุมชนโบราณในแถบพนมรุ้ง จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่จะพบหลักฐานของคนโบราณ ที่สื่อถึงเจตนาการจัดการน้ำเพื่อทำนาทำไร่อย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น

เพิ่มเติม : ภูมิศาสตร์โบราณคดี พนมรุ้ง บุรีรัมย์

สภาพภูมิประเทศบริเวณภูเขาพนมรุ้ง และพื้นที่ข้างเคียงแสดงลุ่มน้ำที่สำคัญในพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ สี่เหลี่ยมขาว – โบราณสถาณและประสาทสำคัญ เช่น พนมรุ้ง เมืองต่ำ และบ้านมีไฟต่างๆ, สี่เหลี่ยมเหลือง – ปราสาทขนาดเล็ก, วงกลมเขียว – แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา อ. บ้านกรวด, วงกลมเขียว – แหล่งถลุงเหล็ก อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์
  • คลองปูน ระบบคลองชลประทานโบราณที่ถูกขุดขึ้นเพื่อใช้ส่งน้ำไปตามพื้นที่เพาะปลูกต่างๆ ให้ทั่วถึงทั้งลุ่มน้ำคลองปูน (เพิ่มเติม : How to ดู : คลองคนขุดโบราณ)
ภาพถ่ายดาวเทียมมุมต่างๆ ของ คลองปูน ทางตะวันออกเฉียงใต้ ของเขาพนมรุ้ง แสดงแนวลำคลอง ที่คล้ายกับว่าจะเป็นแนวตรง เหมือนจะไม่ใช่ธรรมชาติ แต่ก็มีความคดสุดๆ ภายในตัว แปลความได้ว่าเป็น คลองคนขุดโบราณ หรือ ระบบชลประทานในอดีต
  • นอกจากนี้บริเวณที่ราบลุ่มตอนกลางของลุ่มน้ำคลองปูนต่อกับคลองละเวี้ย ยังมีการสร้างคันดินในสมัยโบราณขนาบซ้าย-ขวา ของที่ราบเพื่อกั้นโซนพื้นที่เกษตรกรรมอย่างชัดเจน
  • บริเวณปลายน้ำของลุ่มน้ำคลองปูน หรือทางตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ พบคันดินโบราณขนาดใหญ่ 3-4 แนว ที่สร้างขวางกั้นที่ราบเกษตรกรรมในพื้นที่ ซึ่งการแปลความในทางโบราณคดี คาดว่าน่าจะใช้ในการชะลอน้ำที่หลากมาในฤดูน้ำหลาก ในแต่ละโซนนิ่งของการเกษตร อีกทั้งยังช่วยรวมน้ำในแต่ละโซน ให้ไหลสู่สเต็ปต่อไป รีดน้ำเป็นเส้นให้อยู่ภายในคลองด้านท้ายน้ำ หรือท้ายคันดิน
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดง คันดินโบราณที่คาดว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำในการเกษตรกรรมในสมัยโบราณ ในพื้นที่ท้ายน้ำของลุ่มน้ำคลองปูน อ. พลับพลาชัย จ. บุรีรัมย์

5) อ่างเก็บน้ำ กลางปล่องภูเขาไฟ

ในทางธรณีวิทยา เขาพนมรุ้ง อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ มีศักดิ์ภูเขาไฟที่เกิดจากการประทุของลาวาเมื่อประมาณ 1 ล้านปีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นภูเขาไฟที่ยังใหม่มาก (ในทางธรณีวิทยา หรือ ธรณีกาล) ทำให้ ภูมิลักษ์ (landform) หรือรูปทรงของเขาพนมรุ้งยังคงความเป็นภูเขาไฟที่มี ปากปล่องภูเขาไฟ (crater) ให้เห็นอย่างชัดเจน

ซึ่งในมิติห้วงเวลาทางโบราณคดีในระหว่างที่เขาพนมรุ้งได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นชุมชนมีผู้คนอยู่อาศัยอยู่บนเขา ปล่องภูเขาไฟจึงถูกดัดแปลงมาเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับกินใช้ และด้วยความเป็นภูเขาลูกโดดกลางที่ราบ เมื่อผ่านกระบวนการผุพังและกัดก่อนทางธรณีวิทยา ทำให้เกิดระบบร่องน้ำ ที่ไหลจากจุดศูนย์กลางบนยอดเขา กระจายแผ่ออกเป็นรัศมี จากความเข้าใจภูมิประเทศของคนโบราณในแถบนี้ พื้นที่เชิงเขาตามร่องน้ำ จึงถูกสร้างคันดินเพื่อกั้นและกักเก็บน้ำเอาไว้โดยรอบริมเชิงเขาพนมรุ้ง นี่คืออีกหนึ่งภูมิปัญญาหรือลีลาการกักเก็บน้ำเอาไว้ จนได้ แม้กระทั่งอยู่บนภูเขา

แผนที่ภูมิประเทศ (ซ้าย) จังหวัดบุรีรัมย์ (ขวา) เขาพนมรุ้ง สีฟ้าอ่อน แหล่งน้ำโบราณทั้งนั้นครับ 🙂
ยอดเขาพระนมรุ้งแสดงตำแหน่งของปราสาทหินพนมรุ้ง ที่ตั้งอยู่บนขอบของปากปล่องภูเขาไฟ โดยมีบ่อน้ำทางตอนเหนือของตัวปราสาท 3 บ่อ ที่คนโบราณใช้ประโยชน์จากความเป็นแอ่งหรือปล่องภูเขาไฟพนมรุ้ง

6) ตระพังบาราย ภาชนะกักน้ำเขมรโบราณ

ตระพัง หมายถึง สระน้ำขนาดเล็กรูป 4 เหลี่ยมผืนผ้าเป๊ะๆ กว้างประมาณ 200-300 เมตร ยาวประมาณ 400-600 เมตร ซึ่งด้วยความที่ขนาดตระพังอยู่ในวิสัยที่พอขุดได้ การสร้างตระพังจึงเริ่มจากการขุดพื้นที่ให้ลึกลงไปจากระดับเดิม และนำดินที่ขุดได้มาโป๊ะเป็นคันดินโดยรอบสระ ในประเทศไทย โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน พบตระพังกระจายอยู่ทั่วไป และมักจะพบอยู่คู่กับปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณ นอกจากนี้ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ก็พบตระพังได้เช่นกัน เช่น ตระพังเงิน ตระพังทอง ตระพังสอ และตระพังตะกวน ของเมืองสุโขทัย เป็นต้น

(ก) ภาพถ่ายดาวเทียม แสดงตระพัง ทางตะวันออกของปราสาทพนมวัน (ข-ค) สภาพพื้นที่จริงของตระพัง

บาราย คือ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ของชุมชนในวัฒนธรรมเขมรโบราณ กว้าง x ยาว หลักสิบกิโลเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่มากเมื่อเทียบกับตระพัง และด้วยความใหญ่ ทำให้การสร้างไม่ได้มีการขุดพื้นที่ให้ลึกลงไป ใช้เพียงการขูดดินบางส่วน มาปั้นเป็นคันดิน ล้อมรอบพื้นที่ราบดั้งเดิม เพื่อกักเก็บน้ำ ดังนั้น ตระพัง และ บาราย แตกต่างกันทั้งในแง่ขนาด และระดับท้องน้ำภายในแหล่งน้ำ

ขนาดของบาราย กว้าง x ยาว (ตารางกิโลเมตร)

• ปราสาทแม่บุญตะวันตก กัมพูชา : 2.0 x 8.0 ตร.กม.

• ปราสาทแม่บุญตะวันออก กัมพูชา : 1.9 x 7.2 ตร.กม.

• ปราสาทนาคพัน กัมพูชา 0.89 : x 3.60 ตร.กม.

• ปราสาทหินพิมาย โคราช : 0.75 x 1.80 ตร.กม.

• ปราสาทบ้านถนนหัก โคราช : 0.50 x 1.20 ตร.กม.

• ปราสาทหินเมืองต่ำบุรีรัมย์ : 0.55 x 1.10 ตร.กม.

• ปราสาทหินพนมรุ้ง บุรีรัมย์ : 0.35 x 0.70 ตร.กม.

เพิ่มเติม : ปราสาทหินกลางน้ำ : ความน่าจะมี ในหลายที่ของไทย

ภาพมุมสูงแสดง บารายสำคัญๆ ในละแวกเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา (ก) บารายตะวันตก (ข) บางรายปราสาทพระขรรค์ (ค) บารายตะวันออก

7) ถนนพระร่วง – ท่อปู่พระยาร่วง สุโขทั

ในอดีต (พุทธศตวรรษที่ 18-22) พื้นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบนของไทย เคยเป็นศูนย์รวมของเมืองโบราณที่สำคัญอย่างน้อย 5 เมือง ไล่จากเหนือลงใต้ ได้แก่ 1) ศรีสัชนาลัย 2) บางขลัง 3) สุโขทัย 4) บางพาน และ 5) กำแพงเพชร ซึ่งสตอรี่การจัดการน้ำในย่านนี้ที่โด่งดัง คือ การมีอยู่ของ ถนนพระร่วง แนวคันดินที่ยาวกว่า 120 กิโลเมตร เชื่อมต่อเมืองหลัก 3 เมือง ศรีสัชนาลัย-สุโขทัยกำแพงเพชร

แนว ถนนพระร่วง โดยประมาณในปัจจุบัน ก็คือแนวเดียวกันกับ 1) ถนนทางหลวงหมายเลข 1113 สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย และ 2) ถนนทางหลวงหมายเลข 1272 สุโขทัย-กำแพงเพชร

ปัจจุบันยังเป็นที่ถกกันอยู่ว่า ถนนพระร่วง สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์อะไรเป็นหลักกันแน่ ถนน ? คลองชลประทาน ? หรือ คันกั้นน้ำ ? ซึ่งจากการวิเคราะห์ในมิติ ภูมิศาสตร์ (geography) และ ธรณีวิทยา (geology) มีความเป็นไปได้ว่า ถนนพระร่วง หรือ คันดินเชื่อมศรีสัชนาลัย-สุโขทัย–กำแพงเพชร ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ 1) ดักตะกอนดิน 2) ชะลอแรงน้ำทะลัก 3) รวบรวมมวลน้ำที่แผ่ซ่าน และ 4) รีดน้ำให้ไหลออกเป็นเส้น ตามแนว ท่อปู่พระยาร่วง สู่พื้นที่เกษตรกรรม

เพิ่มเติม : ทฤษฎีหวี : ชลประทานโบราณ สุโขทัย

แนวถนนพระร่วงโดยประมาณ ที่เชื่อมต่อเมือง ศรีสัชนาลัย-สุโขทัย–กำแพงเพชร (ที่มา : ThaiPBS)

8) สรีดภงส์ เขื่อนดินโบราณ

นอกจาก ถนนพระร่วง คนสุโขทัยโบราณยังมีการสร้าง สรีดภงส์ หรือ ทำนบพระร่วง ซึ่งก็คือทำนบกั้นน้ำ เอาไว้ที่เชิงเขาประทักษ์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสุโขทัย โดยปัจจุบันเชื่อว่า สรีดภงส์ ทำหน้าที่กักน้ำที่ไหลลงมาจากเขา และผันน้ำออกสู่ คลองเสาหอ ซึ่งยาวกว่า 2 กิโลเมตร เข้ามาเลี้ยงคูเมืองโดยรอบสุโขทัย

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า สรีดภงส์ อาจไม่ได้มีไว้เพื่อกักเก็บน้ำ เพราะครั้งแรกที่มีการค้นพบ รายงานว่าเป็นเพียงคันดิน ไม่ได้สูงเป็นสันเขื่อนขนาดนี้ (มีการต่อเติมในภายหลัง) (ที่มา : เพจเรื่องเล่าของรอยใบลาน) ดังนั้นสรีดภงส์ดั้งเดิม จึงน่าจะสร้างมาเพื่อทำหน้าที่รวมน้ำและรีดน้ำเป็นเส้น ให้ไหลออกรูเดียวผ่านคลองเสาหอ คล้ายกับลีลาการควบคุมน้ำของ ท่อปู่พระยาร่วง-ถนนพระร่วง

เพิ่มเติม : สรีดภงส์ “ทำนบพระร่วง” อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

สรีดภงส์ “ทำนบพระร่วง” อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ภาพถ่ายโดย ธวัชชัย รามนัฏ (ที่มา : www.silpa-mag.com) (ที่มา : เพจเรื่องเล่าของรอยใบลาน)

ก็ประมาณนี้แหล่ะครับ ข้อมูลที่มีอยู่ในมือ เดี๋ยวถ้ามีอะไรมาใหม่ จะมาเขียนเพิ่ม เติมต่อท้ายไปเรื่อยๆ นะครับ แต่เท่าที่มี เท่าที่เล่ามานี้ ทั้งการกักน้ำ การเบ้ทางน้ำ การรีดน้ำ ผู้เขียนก็พอจะสรุปได้ว่าคนโบราณแตกฉานในเรื่องภูมิประเทศในท้องถิ่นของตัวเองอย่างมากๆ และก็พูดเต็มปากเต็มคำได้ว่า

โคตรพ่อ-โคตรแม่ ของพวกเรา

โคตรเก๋า ในการจัดการน้ำ

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: