สำรวจ

เผยสูตรลับ ฐานรากอาคารโบราณ – กรณีศึกษา (บาง) ปราสาทหิน บุรีรัมย์

ทีมสำรวจ : เกชา-สุวภา-ชลิดา-วัชราภา เจริญศิริมณี

ปัจจุบันในวงการก่อสร้าง เพื่อให้ตัวอาคารมั่นคงในทางวิศวกรรม วิศวกรเลือกที่จะใช้การตอกเสาเข็ม ก่อนที่จะสร้างอาคารใดๆ อย่างไรก็ตาม ในสมัยโบราณที่เทคโนโลยีเสาเข็มยังไม่มีใช้ แต่เพื่อให้อาคารยังแข็งแรงตั้งอยู่ได้ การปรับปรุงและการสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานรากก่อนสร้างอาคารจึงมีความจำเป็น จากการสำรวจและประมวลถาพรวมในหลายๆ พื้นที่ พบว่าปราสาทในอารยธรรมเขมรโบราณ มักมีการปรับปรุงรากฐาน ก่อนที่จะนำหินทรายหรือศิลาแลงมาวางเป็นตัวประสาทต่อไป

อย่างที่เราทราบกันว่าในปัจจุบัน วัสดุที่นิยมนำมาใช้ในการปรับพื้นหรือฐานราก คือ หินปูน (limestone) ทั้งนี้เนื่องจากเขาและเหมืองหินปูน มีกระจายตัวอยู่แทบทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ตะวันตก ใต้และภาคกลาง ดังจะเห็นได้จากตัวอย่าง รางรถไฟทุกสายก่อนวางไม้หมอน จะปูพื้นรางด้วยหินปูนคลุก เพื่อช่วยให้รางรถไฟไม่มีการทรุดตัว

หินปูน (limestone) ที่ปัจจุบันนิยมนำมาเป็นหินคลุก เพื่อปูพื้นสร้างความแข็งแรงให้กับถนน

วิศวกรไม่นิยมใช้ หินแกรนิต (granite) ในการทำฐานราก เนื่องจากหินแกรนิตประกอบไปด้วย แร่เฟลด์สปาร์ (feldspar) ซึ่งผุพังได้ง่าย หากสัมผัสกับ กับ กรดคาร์บอนิค หรือ ฝนกร (acid rain) ดังนั้นโอกาสที่ฐานรากหรือพื้นจะทรุด อันเนื่องมาจากการผุพังของหินแกรนิต จึงเป็นไปได้ง่าย เพิ่มเติม : หินก้อนใหญ่ ผุพังได้ยังไง ไปดูกัน

1) ฐานราก ปราสาทหินพนมรุ้ง

จากการขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากร บริเวณปราสาทหินพนมรุ้ง อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ พบว่าการลำดับชั้นของพื้นดินใต้พนมรุ้ง ประกอบไปด้วย 1) ชั้นบนสุด คือ หินทราย (sandstone) และ/หรือ หินกรวดภูเขาไฟ (agglomerate) ที่ตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม 2) รองรับด้านล่างด้วยชั้น หินบะซอลต์ (basalt) และตะกอนทราย ที่นำมาจัดเรียงกันเป็นฐานรากอย่างตั้งใจ และ 3) ชั้นล่างสุด คือ หินบะซอลต์ธรรมชาติ ที่เกิดจากการประทุของภูเขาไฟพนมรุ้งในอดีต เมื่อกว่า 1,000,000 ปี ที่ผ่านมา แปลความในเบื้องต้นได้ว่า คนโบราณมีการปรับพื้นที่เพื่อทำฐานรากและใช้หินเสริมเพื่อให้ฐานรากแข็งแรง ก่อนที่จะก่อสร้างตัวปราสาทขึ้นมาด้วยหินทรายและศิลาแลง และเนื่องจากเป็นวัสดุที่หาง่ายในพื้นที่ ฐานรากของปราสาทหินพนมรุ้ง จึงถูกปูพื้นด้วย หินบะซอลต์ แทนที่จะเป็นหินปูน เหมือนกับที่เราใช้ในปัจจุบัน

ชุดภาพผลการขุดสำรวจทางโบราณคดี ในพื้นที่ปราสาทหินพนมรุ้ง อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ เผยให้เห็นลำดับชั้นของฐานรากในพื้นที่โบราณสถาน (ที่มา : สํานักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา, กรมศิลปากร) (ตำแหน่ง : https://goo.gl/maps/QbdF7GSUnS8ieSkA7)

2) ฐานราก ปราสาทโคกตะเคียน

ปราสาทโคกตะเคียน หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่า ปราสาทโคกกระนัง ตั้งอยู่ใน ต. บึงเจริญ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ ผลจากการสำรวจพื้นที่โดยรอบตัวปราสาท พบว่าเป็นประสาทขนาดเล็ก กว้าง x ยาว ไม่เกิน 10 × 10 เมตร สภาพปัจจุบันของตัวปราสาททรุดโทรมอย่างมาก คงเหลือแค่เศษชิ้นส่วนของตัวปราสาท ที่ทำด้วยหินทรายและศิลาแลง ถูกวางเรียงไว้ในพื้นที่ และที่น่าสังเกตในประเด็นนี้ คือ พบก้อนหินบะซอลต์ขนาดพอๆ กัน เท่ากำมือ กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ แปลความได้ว่า ปราสาทโคกตะเคียน หรือ โคกกระนัง อาจเคยถูกขุดค้นเพื่อหาวัตถุโบราณ จากชาวบ้านในพื้นที จนทำให้ฐานประสาทถูกขุดคุ้ยขึ้นมา และยังเป็นเครื่องยืนยันว่า ก้อนหินบะซอลต์ ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างปราสาท ซึ่งก็คงเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากการทำระบบฐานรากของตัวปราสาทโคกตะเคียน

เศษชิ้นส่วนของ ปราสาทโคกตะเคียน อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม แสดงให้เห็นว่าปราสาทสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง (ข-ง) รวมทั้งพบก้อนหินบะซอลต์ (ก) กระจายอยู่ในพื้นที่ (ตำแหน่ง : https://goo.gl/maps/Qd7QyWN5C89URpQS7)

นอกจากนี้ในมิติของแหล่งที่มา แหล่งหินบะซอลต์ที่ใกล้กับปราสาทโคกตะเคียนมากที่สุด คือ พื้นที่บริเวณเขาคอก ซึ่งเป็นภูเขาไฟขนาดเล็กที่ต่อเนื่องมาจากเขาพนมรุ้งและเขาปลายบัด โดยวัดระยะทางจากปราสาทโคกตะเคียน-เขาคอก ห่างกันประมาณ 5 กิโลเมตร บ่งชี้ถึงพฤติกรรมการก่อสร้างของคนโบราณได้ว่า ไม่ได้มักง่ายรักสบายเลือกใช้เฉพาะวัสดุที่อยู่ใกล้มือ แต่มีสูตรสำเร็จในการทำฐานราก ที่จะต้องไปตามหาวัสดุเหล่านั้นมาให้ได้ แม้จะอยู่ห่างจากพื้นที่ก็ตาม

สภาพภูมิประเทศบริเวณภูเขาพนมรุ้ง และพื้นที่ข้างเคียง เส้นม่วง – ลุ่มน้ำลำปะเทีย, เส้นเหลือง – ลุ่มน้ำคลองปูน, เส้นแดง – ลุ่มน้ำเสว, สี่เหลี่ยมขาว – โบราณสถาณและประสาทสำคัญ เช่น พนมรุ้ง เมืองต่ำ และบ้านมีไฟต่างๆ, สี่เหลี่ยมเหลือง – ปราสาทขนาดเล็ก, วงกลมเขียว – แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา อ. บ้านกรวด, วงกลมเขียว – แหล่งถลุงเหล็ก อ. บ้านกรวด, พื้นที่สีดำบนเขาพนมดงรัก – แหล่งตัดหินทราย บ้านสายตรี 3 อ. บ้านกรวด, เส้นสีดำแนวเส้นทางการขนหินจากแหล่งตัดหินไปสู่เขาพนมรุ้ง ผ่านเข้าคอก และปราสาทเมืองต่ำ

เกร็ดความรู้ข้างทาง : จากตำแหน่งของปราสาทโคกตะเคียน และผลการวิเคราะห์เส้นทางขนหินทราย จากแหล่งตัดหินโบราณ บ้านสายตรี ๓ อ. บ้านกรวด เพื่อไปสร้างปราสาทพนมรุ้ง (เส้นสีดำในแผนที่) บ่งชี้ว่า ปราสาทโคกตะเคียน (จุดสีเหลืองในแผนที่ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเขาคอก) เป็นหนึ่งในหมุดหมายปลายทาง ที่เส้นทางขนหินนั้น จะต้องเดินทางผ่าน

เพิ่มเติม : ภูมิศาสตร์โบราณคดี พนมรุ้ง บุรีรัมย์

3) ฐานราก ปราสาททอง

โบราณสถาน ปราสาททอง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบ้านกรวด อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ สภาพปัจจุบัน ตัวปราสาทผ่านการการบูรณะเสร็จสิ้น สวยงาม แต่จากภูมิหลังปราสาทที่ชาวบ้านเล่ามา ว่าก่อนหน้านี้ เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ตัวปราสาทเคยถูกขุดค้นโบราณวัตถุจากชาวบ้าน และพบเศษหินบะซอลต์ กระจายอยู่ในพื้นที่เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบัน ตัวอย่างหินบะซอลต์บางส่วน ได้ถูกเก็บรักษาไว้โดย อาจารย์สุรพงษ์ พิลาวุธ อดีตศึกษาธิการ อ. บ้านกรวด ดังนั้นจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า โบราณสถานปราสาททอง ก็เป็นอีกหนึ่งปราสาทในวัฒนธรรมเขมร ที่มีการสร้างฐานรากจากหินบะซอลต์ และก็เช่นเดียวกันที่ว่า ตัวปราสาททองอยู่ห่างจากเขาคอก แหล่งหินบะซอลต์ประมาณ 10 กิโลเมตร สื่อเป็นนัยถึงกรรมวิธีในการวางฐานรากปราสาท จะต้องมีการขนย้ายและเลือกใช้หินบะซอลต์ มาเป็นวัสดุฐานราก อย่างตั้งใจ

สภาพโบราณสถาน ปราสาททอง อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ หลังการบูรณะ (ตำแหน่ง : https://goo.gl/maps/vuWk4ZLRkrXRkHCj7)

4) ฐานราก ซากปราสาทบ้านสายโท ๔

ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2566 ที่สวนยางพาราแห่งหนึ่ง ในพื้นที่บ้านสายโท ๔ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ ชาวบ้านได้มีการใช้รถไถไถที่ดิน เพื่อปรับพื้นที่เตรียมทำเกษตรกรรม ด้วยความบังเอิญจึงพบเศษซากโบราณสถานไม่ทราบชื่อในพื้นที่ ซึ่งถูกขุดคุ้ยขึ้นมาจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างปราสาท ที่ประกอบไปด้วย ก้อนศิลาแลงขนาดใหญ่ เศษอิฐ เศษภาชนะ รวมไปถึงก้อนหินบะซอลต์ขนาดเท่ากำมือจำนวนมาก (ไม่พบหินทราย)

เศษซากโบราณสถานไม่ทราบชื่อ ในพื้นที่บ้านสายโท ๔ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ ที่ถูกขุดคุ้ยขึ้นมา จากการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมทำเกษตรกรรม (ตำแหน่ง : https://goo.gl/maps/zjB5H2dYynH9jJGM8)

จากหลักฐานวัสดุแปลกปลอมที่ไม่ใช่ธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าว ยืนยันว่านี่คือซากโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมร ซึ่งหนึ่งในวัสดุที่ใช้ คือ หินบะซอลต์ขนาดเท่ากำมือ สอดคล้องกับปราสาทอื่นๆ ที่กล่าวมาในตอนต้น ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสร้างฐานรากของตัวปราสาท เช่นเดียวเช่นเดิม จากตำแหน่งประสาทที่พบ อยู่ห่าง 15 กิโลเมตร จากเขาคอก แหล่งหินบะซอลต์ที่เป็นไปได้และใกล้ที่สุด ช่วยสรุปเจตนารมย์ของการทำฐานรากปราสาทว่า ไม่ใช่แค่คุ้ยเขี่ยหาวัสดุใกล้มือมาทำ แต่จำเป็นต้องใช้วัสดุที่มีการกำหนดไว้ เป็นสูตรสำเร็จ ห้ามผิดสูตร แม้จะไกลแค่ไหนก็ต้องขนมา

5) แล้วนี่หละ … ฐานราก ?

จากการสำรวจทางธรณีวิทยาโบราณคดี (geoarchaeology) ในหลายพื้นที่บน เขาเขาปลายบัด ทางตอนใต้ของเขาพนมรุ้ง นอกจากปราสาทเขาปลายบัด ๑ และ ๒ ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในแวดวงวิชาการแล้ว ผู้เขียนยังสังเกตพบกองหินบะซอลต์จำนวนมาก ที่ตั้งใจวางเรียงกันเป็นแนวยาวหลากหลายแนว และหนึ่งแนวในนั้นที่น่าสนใจ คือ แนวกองหินบะซอลต์ ที่มีความกว้างประมาณ 2-3 เมตร และยาวประมาณ 100 เมตร วิ่งตรงจากหน้าตัวปราสาทเขาปลายบัด ๒ ไปทางทิศตะวันออก จึงแปลความได้ว่า แนวกองหินบะซอลต์นี้ น่าจะทำหน้าที่เป็นทางเดิน หรือถนนที่ออกจากตัวปราสาทไป

เพิ่มเติม : ฤา หินบะซอลต์ เขาพนมรุ้ง-ปลายบัด จะเคยผ่านมือชาย

หินบะซอลต์ขนาดพอมือ ถูกวางจัดเรียงให้เป็นแนวอย่างไม่เป็นธรรมชาติ (ภาพ : อ. กังวล คัชชิมา)

แต่จากสภาพกองหินที่หลงเหลืออยู่ จะสังเกตได้ว่า มีความตะปุ่มตะป่ำอย่างมากๆๆๆ ไม่เหมาะกับการเดินเท้า และไม่เหมือนว่าเคยผ่านการใช้งาน เหยียบย่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนราบเตียน เหมือนกับ เส้นทางเดินโบราณบนเขาพนมรุ้ง ทั้งๆ ที่ทั้ง รูปร่าง แนวการวางตัว และตำแหน่งที่พบ บีบบังคับให้แปลความเป็นอะไรไปไม่ได้เลย นอกจากถนนที่เชื่อมต่อกับตัวปราสาทเขาปลายบัด ๒ จึงเป็นที่มาของ สมมุติฐานที่เสียงดังฟังชัดกว่า แนวกองหินเหล่านี้คือ ถนนโบราณที่วิ่งมาจากทิศตะวันออกมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวปราสาทเขาปลายบัด ๒

เพิ่มเติม : เส้นทางโบราณ ขึ้นเขาพนมรุ้ง

ณ ระหว่างเส้นทาง การสำรวจเส้นทางโบราณขึ้นเขาพนมรุ้ง (ซ้าย) สภาพเศษหินบะซอลต์ที่มีการอัดตัวกันแน่นและรายเตียน คล้ายกับถูกเหยียบย่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ข้างๆ ที่มีความสูงต่ำของเศษหินอย่างเป็นธรรมชาติ (ขวา) ตัวอย่างก้อนหินที่แสดงหลักฐานการฝนหรือขัดให้มีเหลี่ยมมีมุม ไม่เป็นธรรมชาติ

ด้วยความตะปุ่มตะป่ำของแนวถนน เหมือนไม่เคยถูกเหยียบย่ำโดยตรง ผู้เขียนจึงคาดว่า ในอดีตช่วงที่ปราสาทและถนนเส้นนี้ยังมีการใช้งานอยู่ น่าจะมีวัสดุประเภทอื่นคลุมฐานบะซอลต์อยู่อีกที เหมือนกับในกรณีของฐานรากตัวปราสาทพนมรุ้ง ในหัวข้อแรกของบทความนี้ ประกอบกับในระหว่างการเดินสำรวจยังพบ เศษเม็ดลูกรัง จำนวนมาก กระจายอยู่ในละแวกแนวถนนหินบะซอลต์ดังกล่าว ซึ่งในทางธรณีวิทยา บนยอดภูเขาไฟแบบนี้ ไม่เอื้ออย่างยิ่งต่อการเกิดศิลาแลงหรือลูกรัง จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ส่วนที่ปกคลุมด้านบนมีองค์ประกอบเป็นดินลูกรังที่ขนขึ้นมา เช่นเดียวกับที่เราใช้ทำถนนลูกรังในปัจจุบัน

และนี่คือความท้าทายบทใหม่ ที่จะต้องตามหาหลักฐานทางธรณีวิทยาโบราณคดี เพื่อไขข้อสงสัยถึง สูตรลับหรือสูตรสำเร็จ ของการสร้างแนวถนนเส้นนี้ ต่อไป 😊

ตัวอย่างเศษเม็ดลูกรัง ที่พบฝังอยู่ใน วัสดุแปลกปลอม ตามแนวกองหินบะซอลต์ เขาพนมรุ้ง บ้านใกล้เรือนเคียง เขาปลายบัด

เพิ่มเติม : วัสดุแปลกปลอม กลางป่าพนมรุ้ง

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: