สำรวจ

ภูมิศาสตร์โบราณคดี พนมรุ้ง บุรีรัมย์

ในมิติการท่องเที่ยวคีย์เวิร์ด พนมรุ้ง คงหมายเพียงถึงปราสาทสวยๆ หลังเดียว ที่อยู่บนยอดภูเขาไฟพนมรุ้ง แต่จากข้อมูลโบราณคดีในพื้นที่พบว่า มีตัวละครอีกมากมายอยู่รายรอบแลนด์มาร์คเขาพนมรุ้งลูกนี้ จนทำให้ภาพอารยธรรมในพื้นที่มีความหลากหลายและร้อยเรียงกันอยู่อย่างละมุล หากไม่คิดเรื่องห้วงเวลาและความต่างของยุคสมัย กิจกรรมมากมายเคยเกิดขึ้นที่นี่ ตลอดระยะเวลากว่าพันปี งานสถาปนิก-วิศวกรรมในการก่อสร้างอาคารและประสาท งานโลจิสติกส์การขนถ่ายวัตถุดิบจากแหล่งผลิตสู่จุดหมาย งานเกษตรกรรมที่มีนวัตกรรมอยู่มากมาย ตลอดจนงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ก็มากมี ณ ดินแดนแห่งนี้ วนัมรุง

ปราสาทหินพนมรุ้ง

วนัมรุง เป็นคำเขมรโบราณของ พนมรุ้ง โดยคำว่า วนัม คือ พนม แปลว่าภูเขา ส่วน รุง แปลว่า กว้างใหญ่ คำว่า วนัมรุง หรือชื่อ พนมรุ้ง จึงแปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่

1) ภูมิศาสตร์ (Geography)

พื้นที่โดยรอบเขาพนมรุ้ง ที่คาดว่าน่าจะมีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันในทางโบราณคดี ถูกตีกรอบพื้นที่อย่างคร่าวๆ ดังแสดงในรูปด้านล่าง ซึ่งอยู่ภายใต้ขอบเขตการปกครองของ จังหวัดบุรีรัมย์ ทางตอนใต้ของ ที่ราบสูงโคราช (Korat Plateau) หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ในปัจจุบัน

ภูมิประเทศ – ภูมิประเทศภาพรวมของพื้นที่เป็นพื้นที่สูงทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ความสูงลดหลั่นตามความลาดชันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางใต้สุดของพื้นที่มี เทือกเขาพนมดงรัก (mountain range) ทอดยาวในแนวตะวันตก-ตะวันออก เป็นปราการทางธรรมชาติที่ขั้นกลางระหว่าง 1) ประเทศไทย-กัมพูชา ในมิติขอบเขตการปกครอง หรือ 2) ที่ราบสูงโคราช-ที่ราบลุ่มเขมร ในมิติภูมิลักษณ์ (landform) หรือ 3) เขมรสูง-เขมรต่ำ ในมิติทางวัฒนธรรมโบราณ

สภาพภูมิประเทศบริเวณภูเขาพนมรุ้ง และพื้นที่ข้างเคียง สี่เหลี่ยมขาว – โบราณสถาณและประสาทสำคัญ เช่น พนมรุ้ง เมืองต่ำ และบ้านมีไฟต่างๆ, สี่เหลี่ยมเหลือง – ปราสาทขนาดเล็ก, วงกลมเขียว – แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา อ. บ้านกรวด, วงกลมเขียว – แหล่งถลุงเหล็ก อ. บ้านกรวด

นอกจากนี้ยังมีภูเขาลูกโดดกระจายตัวอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่อีก 2-3 ลูก ได้แก่ เขาอังคาร เขาพนมรุ้ง และ เขาปลายบัด ซึ่งพื้นที่ที่ถัดจากทั้งเขาพนมดงรักและเขาลูกโดดต่างๆ เป็นพื้นที่ราบลูกฟูก หรือเนินหลังเต่า หรือเนินลูกระนาด ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมตัวของ ตะกอนเชิงเขา (colluvium) หรือล้อไปกับหินฐานธรณีเดิม และถัดลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและที่ราบน้ำท่วมถึง อันเนื่องมาจากการกัดก่อนและสะสมตัวของตะกอนทางน้ำ

ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth แสดงภูมิลักษณ์ (landform) ของเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟลูกโดด อยู่กลางที่ราบ

ลำน้ำ – ในทางอุทกศาสตร์ พื้นที่ประกอบด้วย 3 ลุ่มน้ำ ทอดตัวยาวจากทิศใต้ไปทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ (ชื่อลุ่มน้ำตั้งขึ้นเองในบทความนี้ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ)

1) ลุ่มน้ำลำปะเทีย มี ลำปะเทีย เป็นธารน้ำสายหลัก ไหลจากเทือกเขาพนมดงรัก ไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ราบระหว่างเขาอังคารและเขาพนมรุ้ง ปัจจุบันมีการสร้าง อ่างเก็บน้ำลำปะเทีย เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ต้นน้ำ

2) ลุ่มน้ำคลองปูน มี คลองปูน ซึ่งเป็นคลองโบราณคนขุด ต้นน้ำเริ่มไหลจากเขาปลายบัด ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ และเมื่อไหลเข้าสู่ อ. ประโคนชัย เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า คลองระเวี้ย และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งว่า คลองตะแบก เมื่อไหลออกจากตัว อ. ประโคนชัย มุ่งหน้าไหลลงไปรวมกับ ลำชี เพื่อไหลลงสู่ แม่น้ำมูล แม่น้ำสายหลักของภูมิภาคนี้

3) ลุ่มน้ำห้วยเสว ประกอบด้วยลำน้ำหรือห้วย 2 สาย ไหลอยู่ในพื้นที่ อ. บ้านกรวด ได้แก่ 1) ห้วยเสว และ 2) ห้วยทำนบ โดยมีต้นน้ำอยู่ที่ 1) อ่างเก็บน้ำห้วยเมฆา และ 2) อ่างเก็บน้ำห้วยตะโก ตามลำดับ ซึ่งลำน้ำทั้ง 2 สาย จะไหลลงสู่ลำชีเช่นเดียวกับลำน้ำในลุ่มน้ำคลองปูน และไหลลงสู่แม่น้ำมูล ในท้ายที่สุด

เพิ่มเติม : How to ดู : คลองคนขุดโบราณ

สภาพภูมิประเทศบริเวณภูเขาพนมรุ้ง และพื้นที่ข้างเคียง เส้นม่วง – ลุ่มน้ำลำปะเทีย, เส้นเหลือง – ลุ่มน้ำคลองปูน, เส้นแดง – ลุ่มน้ำเสว, สี่เหลี่ยมขาว – โบราณสถาณและประสาทสำคัญ เช่น พนมรุ้ง เมืองต่ำ และบ้านมีไฟต่างๆ, สี่เหลี่ยมเหลือง – ปราสาทขนาดเล็ก, วงกลมเขียว – แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา อ. บ้านกรวด, วงกลมเขียว – แหล่งถลุงเหล็ก อ. บ้านกรวด, พื้นที่สีดำบนเขาพนมดงรัก – แหล่งตัดหินทราย บ้านสายตรี 3 อ. บ้านกรวด, เส้นสีดำแนวเส้นทางการขนหินจากแหล่งตัดหินไปสู่เขาพนมรุ้ง ผ่านเข้าคอก และปราสาทเมืองต่ำ

2) ธรณีวิทยา (Geology)

ในมิติธรณีวิทยา พื้นที่ประกอบด้วยเหตุการณ์ทางธรณีวิทยา 2 ห้วงเวลา ได้แก่

1) มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) มีการสะสมตัวของตะกอนบกและกลายเป็นชุดของ หินตะกอน (sedimentary rock) ที่เรียกกันในทางธรณีวิทยาว่า กลุ่มหินโคราช (Khorat Group) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น หินทราย (sandstone) หินทรายแป้ง (siltstone) และ หินดินดาน (shale) บางส่วน ซึ่งถ้าแบ่งกลุ่มหินโคราชแบบเต็มรูปแบบจะประกอบไปด้วย 9 หมวดหิน (formation) ไล่จากแก่ไปอ่อน ได้แก่ หมวดหิน 1) ห้วยหินลาด 2) น้ำพอง 3) ภูกระดึง 4) พระวิหาร 5) เสาขัว 6) ภูพาน 7) โคกกรวด 8) มหาสารคาม และ 9) ภูทอก ตามลำดับ

ในเวลาต่อมา กระบวนการทาง ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ยกตัวกลุ่มหินโคราชเหล่านี้จนกลายเป็นเทือกเขาพนมดงรัก โดยมีการเอียงเทของชั้นหินไปทางทิศเหนือ ดังนั้นหากไล่ลำดับชั้นหินตะกอนจากใต้ไปเหนือของพื้นที่ ชั้นตะกอนอายุแก่กว่าจะอยู่ทางตอนใต้ และไล่อายุอ่อนขึ้นไปทางตอนเหนือ

(ซ้าย) แผนที่ธรณีวิทยาจังหวัดบุรีรัมย์ (ขวา) ภาพตัดขวางการวางตัวของชั้นหินในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ไล่จากซ้าย – เทือกเขาพนมดงรักทางทิศใต้ ไปจนถึง ขวา – ทิศเหนือของตัวจังหวัด

เพิ่มเติม : ธรณีกาล : กาลเวลาทางธรณีวิทยา

ซึ่งหากไล่ตั้งแต่สันปันน้ำที่ไหลลงมาฝั่งไทย กลุ่มหินโคราชที่เริ่มโผล่ให้เห็นในพื้นที่ ไล่จากใต้ขึ้นเหนือจะประกอบไปด้วยหมวดหิน 5) เสาขัว 6) ภูพาน 7) โคกกรวด และ 8) มหาสารคาม ตามลำดับ ซึ่งมีรายละเอียดของหินในแต่ละหมวด ดังนี้

  • หมวดหินเสาขัว (Sao Khua Formation) หินดินดาน หินทรายแป้งสีน้ำตาลแดง หินทรายเนื้อละเอียดสีน้ำตาลแดง หนา 200-760 เมตร
  • หมวดหินภูพาน (Phu Phan Formation) หินทรายขนาดปานกลาง หินทรายปนกรวด หนา80-140 เมตร
  • หมวดหินโคกกรวด (Khok Kruat Formation) หินทรายแป้ง หินดินดานสีแดง หินทรายสีน้ำตาลแดง หนา 430-700 เมตร
  • หมวดหินมหาสารคาม (Maha Sarakham Formation) หินดินดาน ชั้นเกลือหิน หนา 610-1,000 เมตร

กลุ่มหินโคราชที่พบในเขาพนมดงรัก ฝั่งสันปันน้ำทางกัมพูชา จะเป็นหมวดหินที่มีอายุแก่กว่าที่พบบนเขาพนมดงรักในฝั่งไทย โดยไล่จากตีนเขาฝั่งกัมพูชาไปจนถึงยอดสันปันน้ำ ได้แก่ หมวดหิน 1) ห้วยหินลาด 2) น้ำพอง 3) ภูกระดึง และ 4) พระวิหาร

2) มหายุคซีโนโซอิกตอนปลาย (Late Cenozoic Era) หรือ ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) พื้นที่เกิดการประทุของภูเขาไฟยุคใหม่ เมื่อประมาณ 1,000,000 ปีที่ผ่านมา ได้เป็น เขาอังคาร เขาพนมรุ้ง เขาปลายบัด และ เขาคอก ซึ่งเกิดในยุคเดียวกับ เขากระโดง ภูเขาไฟที่อยู่ใกล้กับตัวเมืองบุรีรัมย์ เหตุจากการประทุของ แมกมาสีเข้ม (mafic magma) ทำให้ลาวาที่ไหลลากออกมาเมื่อเย็นตัวกลายเป็นหินบะซอบต์ (basalt)

นอกจากนี้ ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) จนถึงปัจจุบัน กระบวนการผุพัง (weathering) และ กระบวนการทางน้ำ (river process) ก็ช่วยกัดกร่อน ทำให้หินในพื้นที่กลายเป็นตะกอน และสะสมตัวอยู่ในพื้นที่จำแนกได้ 2 รูปแบบ คือ 1) ตะกอนเชิงเขา (colluviam sediment) ที่สะสมตัวตามเชิงเขาพนมดงรักและโดยรอบภูเขาไฟลูกต่างๆ และ 2) ตะกอนทางน้ำ (fluvial sediment) ที่สะสมตัวอยู่ตามลำห้วยหรือธารน้ำต่างๆ ในพื้นที่

3) เกษตรกรรม (Agriculture)

อย่างที่เล่าให้ฟังในตอนต้น พื้นที่ประกอบไปด้วย 3 ลุ่มน้ำ ไล่จากซ้ายไปขวาของพื้นที่ ได้แก่ 1) ลุ่มน้ำลำปะเทีย 2) ลุ่มน้ำคลองปูน และ 3) ลุ่มน้ำห้วยเสว ซึ่งในส่วนของ ลุ่มน้ำลำปะเทีย ทางซ้ายของพื้นที่ ด้วยความที่ลำปะเทียเทียไหลแทรกกลางอยู่ระหว่างเขาอังคารและเขาพนมรุ้ง ทำให้ลุ่มน้ำดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบแคบๆ ไม่ค่อยมีการสะสมตัวของตะกอนที่เหมาะแก่การทำการเกษตรมากนัด เกษตรกรรมในพื้นที่นี้จึงไม่เด่นชัดในมิติของภูมิศาสตร์และโบราณคดี อีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าจะสนับสนุนว่าลุ่มน้ำลำปะเทีย ไม่ค่อยพร้อมต่อการเกษตร คือจากสภาพปัจจุบัน จะเห็นว่ามีการขุดบ่อน้ำจำนวนมาก นั่นสื่อเป็นนัยว่าระดับน้ำใต้ดินในพื้นที่ต่ำกว่าลุ่มน้ำอื่นๆ ดินแห้งแล้งกว่าอื่นๆ

ส่วน ลุ่มน้ำห้วยเสว ทางขวาของพื้นที่ ถึงแม้จะมีพื้นที่ราบมากกว่าลำปะเทีย แต่ด้วยความที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นหินทรายเป็นหลัก ทำให้ดินในแถบนี้เป็นดินเหนียวปนทรายเด่นๆ สิ่งที่เห็นในปัจจุบันคือปลูกมันมากกว่าปลูกข้าว นั่นก็เพราะธาตุอาหารคงไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าวในพื้นที่

ลุ่มน้ำคลองปูน จากแผนที่ภูมิประเทศจะเห็นว่าลุ่มน้ำนี้มีที่ราบกว้างกว่าลุ่มน้ำข้างเคียง ทำให้ลำน้ำมีโอกาสตวัดกวาดแกว่ง และสะสมตะกอนที่เหมาะแก่การปลูกข้าวได้มากกว่าลุ่มน้ำอื่นๆ อีกทั้งหากมองในแผนที่จะพบว่าลุ่มน้ำคลองปูนเป็นลุ่มน้ำเดียว ที่มีต้นน้ำหรือต้นสายของตะกอนมาจากภูเขาไฟ ดังนั้นลุ่มน้ำนี้จึงเรียกได้ว่า ลุ่มน้ำดินภูเขาไฟ ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าอุดมไปด้วยธาตุอาหารเหมาะแก่การเกษตรกรรมอย่างยิ่งยวด

การลำดับชั้นดินและหินบนผนังข้างบ่อน้ำ ที่สำรวจพบบริเวณลุ่มน้ำคลองปูน ชั้นดินด้านบน คือ ดินภูเขาไฟ ที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารของพืช ส่วนชั้นดินและหินที่ถัดลงมาคือ หินทรายในหมวดหินโคกกรวด ที่แสดงการผุพังไปในบางส่วน และกลายเป็น ดินเกาลิน

4) เหมืองศิลาแลง (Laterite Mine)

ในมิติของวัสดุหรือหินก่อสร้างนอกเหนือจากอิฐที่มีใช้ในการสร้างบางประสาท วัสดุหลักที่ใช้ในการสร้างปราสาทในแถบนี้มี 2 ประเภท คือ 1) ศิลาแลง และ2) หินทราย

ในทางธรณีวิทยา ศิลาแลง (laterite) มีสถานะเป็น ดิน (soil) ประเภทหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการสารละลายแร่เหล็ก ที่ละลายมากับน้ำใต้ดิน เข้ามาเคลือบเม็ดตะกอนที่ยังไม่แข็งตัว จากการสังเกตุการเกิดศิลาแลงในพื้นที่ทั่วไปพบว่า ศิลาแลงมักจะเกิดบริเวณ ตะกอนเชิงเขา (colluviam sediment) ซึ่งเมื่อมีน้ำใต้ดินที่มีสารละลายแร่เหล็กในพื้นที่ แร่เหล็กจะไปเคลือบเม็ดตะกอนกลายเป็นดินแลง ที่สามารถขุดตัดขึ้นมา ผึ่งแดดจนทำให้แข็งเหมือนหิน หรือศิลาจำแลงได้

ด้วยเหตุนี้ ทางตอนใต้ของพื้นที่ บริเวณรอยต่อระหว่างที่ราบและเชิงเขาพนมดงรัก ที่เป็นแหล่งสะสมตัวของ ตะกอนเชิงเขา (colluviam sediment) จึงอุดมไปด้วยดินแลง เหมืองศิลาแลงที่พบในพื้นที่มี 2 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านบาระแนะ อ. ละหารทราย และ 2) บ้านเขาดินใต้ อ. บ้านกรวด ซึ่งหากมองในทางภูมิศาสตร์ ก็มีความเป็นไปได้ ที่ศิลาแลงจากบาระแนะถูกขนถ่ายเลาะมาตามลำปะเทีย และขนขึ้นทางซีกเขาฝั่งตะวันตกของเขาพนมรุ้งหรือเขาปลายบัด ส่วนแหล่งศิลาแลงบ้านเขาดินใต้ ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำห้วยเสว ข้อมูลภูมิศาสตร์ยืนยันค่อนข้างชัดเจนว่า ถูกลำเลียงมาสู่เขาพนมรุ้งและเขาปลายบัด โดยทางบก ทั้งนี้เนื่องจากห้วยหรือธารน้ำต่างๆ ในลุ่มน้ำนี้ ไหลไปในทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด

เพิ่มเติม : ศิลาแลง – ดิน เบื้องต้น

สภาพภูมิประเทศบริเวณภูเขาพนมรุ้ง และพื้นที่ข้างเคียง เส้นม่วง – ลุ่มน้ำลำปะเทีย, เส้นเหลือง – ลุ่มน้ำคลองปูน, เส้นแดง – ลุ่มน้ำเสว, สี่เหลี่ยมขาว – โบราณสถาณและประสาทสำคัญ เช่น พนมรุ้ง เมืองต่ำ และบ้านมีไฟต่างๆ, สี่เหลี่ยมเหลือง – ปราสาทขนาดเล็ก, วงกลมเขียว – แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา อ. บ้านกรวด, วงกลมเขียว – แหล่งถลุงเหล็ก อ. บ้านกรวด, พื้นที่สีดำบนเขาพนมดงรัก – แหล่งตัดหินทราย บ้านสายตรี 3 อ. บ้านกรวด, เส้นสีดำแนวเส้นทางการขนหินจากแหล่งตัดหินไปสู่เขาพนมรุ้ง ผ่านเข้าคอก และปราสาทเมืองต่ำ

นอกจากนี้ จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ ทำให้มีเบาะแสว่า บ้านโนนศิลา ต. เขาคอก อ. ประโคนชัย ในอดีตเคยมีทุ่งที่เต็มไปด้วยก้อนศิลาแลงอยู่ท้ายหมู่บ้าน หาก ประเมินในทางธรณีวิทยา บ้านโนนศิลาก็เป็นอีกหนึ่งในพื้นที่ ที่สามารถเกิดศิลาแลงได้เช่นกัน อันเนื่องมาจากตะกอนที่เกิดจากการผุพังของเนินเขาเล็กๆ ที่วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ คั่นระหว่างลุ่มน้ำคลองปูน-ลุ่มน้ำเสว ซึ่งหากวิเคราะห์ในมิติภูมิศาสตร์ หากว่าโนนศิลาเป็นแหล่ง หรือเหมืองศิลาแลงจริง จะเป็นแหล่งศิลาแลงที่อยู่ใกล้เขาพนมรุ้งและปลายบัดมากที่สุด และขนย้ายไปก็ทำได้ง่ายที่สุดเช่นกัน

ซากศิลาแลงบริเวณเหมืองศิลาแลง บ้านบาระแนะ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ (ที่มา : เพจปราสาทหินถิ่นแดนไทย)

5) เหมืองหินทราย (Sandstone Mine)

เมื่อเปรียบเทียบแผนที่ธรณีวิทยา ที่สำรวจและรายงานโดยกรมทรัพยากรธรณี พบว่าพื้นที่ประกอบไปด้วยกลุ่มหินโคราชเพีง 3 หมวดหิน ได้แก่

1) หมวดหินเสาขัว (Sao Khua Formaion) ประกอบไปด้วย หินดินดาน หินทรายแป้งสีน้ำตาลแดง หินทรายเนื้อละเอียดสีน้ำตาลแดง ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า หมวดหินเสาขัว กระจายตัวอยู่แถบ ต้นน้ำของลำปะเทีย ซึ่งลักษณะหินในทางธรณีวิทยา ไม่เหมือนกับหินที่นำมาใช้สร้างตัวประสาทส่วนหน้าของพนมรุ้ง แต่มีความเป็นไปได้ว่า หินที่ใช้สร้างส่วนโคปุระด้านหลังของตัวปราสาท อาจเป็นหมวดหินเสาขัว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง การขนส่งหินจากแหล่งตัดหิน (ซึ่งยังไม่มีรายงานค้นพบ) สามารถเดินทางมาได้ทั้งทางน้ำและทางบก แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาขนาดของลำปะเทียพบว่า ตัวคลองมีความกว้างไม่มากนัก อีกทั้งการคดเคี้ยวของลำปะเทียมีสูง จึงแทบเป็นไปไม่ได้ว่า จะใช้วิธีการต่อแพล่องมากับน้ำ แต่หากขนส่งทางบกโดยเรียบมาตามลำน้ำ มีความเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งเมื่อมาถึงเขาพนมรุ้งสามารถนำหินขึ้นได้ทางฝั่งตะวันตก และทางฝั่งใต้ของเขา

(ซ้าย) แผนที่ธรณีวิทยาจังหวัดบุรีรัมย์ (ขวา) ภาพตัดขวางการวางตัวของชั้นหินในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ไล่จากเทือกเขาพนมดงรักทางทิศใต้ ไปจนถึงทิศเหนือของตัวจังหวัด

2) หมวดหินภูพาน (Phu Phan Formaion) ประกอบไปด้วย หินทรายหินกรวดมน จากการสำรวจของนักโบราณคดี พบว่าหมวดหินภูพานกระจายตัวอยู่บริเวณเชิงเขาในเขต อ. บ้านกรวด เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งมีการสำรวจพบแหล่งตัดหิน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1000 ไร่ บริเวณ บ้านสายตรี 3 อ. บ้านกรวด ประกอบกับการเปรียบเทียบในเชิงธรณีวิทยาของหินที่แหล่งตัดหิน และหินที่ใช้สร้างปราสาทพนมรุ้ง และประสาทอื่นๆ ในละแวก สรุปได้อย่างชัดเจนว่า หมวดหินภูพาน เป็นหมวดหินหลักที่ถูกใช้

ในกรณีของการขนถ่ายหินจากตัวเหมือง บ้านสายตรี 3 ไปสู่ปราสาทพนมรุ้ง เมื่อพิจารณาในทางภูมิศาสตร์ คลองปูนและคลองเสว ล้วนแต่ไหลไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่ทิศทางของแหล่งตัดหินไปตัวปราสาท อยู่ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้มั่นใจว่าการขนหินจากบ้านสายตรี 3 ไปสู่ปราสาทหินพนมรุ้งนั้น เป็นการขนส่งทางบก โดยเมื่อจำลองเส้นทางที่เป็นไปได้จากข้อมูลภูมิประเทศ โดยใช้เทคนิค ภูมิสารสนเทศ (GIS) พบว่าขนหินจากเชิงเขา เดินทางตัดข้ามลุ่มน้ำห้วยเสวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และเข้าร่องเนินหรือช่องเขาบริเวณ บ้านเขาคอก เพื่อข้ามไปสู่ลุ่มน้ำคลองปูน จากนั้นจึงขนขึ้นสู่เขาพนมรุ้ง ในทางตะวันตกเฉียงใต้หรือตะวันตกของตัวเขา

ร่องรอยการตัดหินในหมวดหินภูพาน บริเวณวัดป่าลานหินตัดบ้านสายตรี 3 อ. บ้านกรวด

3) หมวดหินโคกกรวด (Khok Kruat Formaion) หินทรายแป้ง หินดินดานสีแดง หินทรายสีน้ำตาลแดง หนา 430-700 เมตร ถึงแม้จะเป็นหมวดหินชั้นบนสุดของพื้นที แต่โดยส่วนใหญ่หมวดหินโคกกรวด จะถูกปกคลุมด้วยตะกอน ยุคควอเทอนารี (Quaternary) โดยที่ไม่มีหินโผล่อยู่ตามภูเขา บวกกับธรรมชาติของหมวดหินโคกกรวด ที่เป็นหินทรายแป้งและหินดินดานสีแดง ทำให้มีความคงทนต่ำ ผุพังได้ง่าย นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ไม่มีการนำหินจากหมวดหินโคกกรวด มาใช้ในการสร้างปราสาทพนมรุ้งหรือปราสาทอื่นๆ ในพื้นที่

จากการสำรวจในหลายๆ ปราสาทพบว่า ปราสาทหินพนมวัน ใน จ. นครราชสีมา มีการนำหินจากหมวดหินโคกกรวด มาใช้ในการสร้างประสาท และในปัจจุบันก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหินผุพังอย่างมาก

หินที่ใช้สร้างปราสาทหินพนมวัน มีความหลากหลาย และหนึ่งในนั้นคือหินจากหมวดหินโคกกรวด ที่ปัจจุบันผุพังอย่างเห็นได้ชัด

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: