สำรวจ

4 รอยเลื่อน แห่งลุ่มน้ำโขง ที่ไทยควรเฝ้าระวัง

ภาพปก : https://pantip.com/topic/36696666

ปัจุบัน ผลจากการที่แผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย กำลังพุ่งชนและมุดเข้าไปใต้แผ่นยูเรเซีย นอกจากขอบการชนกันอย่าง เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman subduction zone) แรงส่งจากการบดขยี้กันของแผ่นทั้งสอง ยังทำให้ภายในแผ่นเปลือกโลกเกิดรอยแตกร้าวมากมาย อย่างที่เราเรียกกันติดปากว่า รอยเลื่อน (fault) ซึ่งทั้งเขตมุดตัวและรอยเลื่อน ถือเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวสำคัญและเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ

และเนื่องจากการบดอัดกันของอินเดีย-ยูเรเซีย ส่วนใหญ่เน้นลงแรงกันทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย แรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic stress) หรือพลังงานที่ถูกสะสมจึงไปกองสุมกันทางตอนเหนือ (การยกตัวของเทือกเขาหิมาลัย) และลดหลั่นแรงลงมาทางตอนใต้ ซึ่งหากมองถัวๆ ในภาพรวม กลุ่มรอยเลื่อนทางภาคใต้ของไทยจะดุร้ายน้อยกว่ารอยเลื่อนในภาคตะวันตกและภาคเหนือ ตามลำดับ

และหากโฟกัสที่ภาคเหนือซึ่งเป็นภูมิภาคที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยที่สุดของไทย มีรอยเลื่อนมากมายที่กรมทรัพยากรธรณีได้เข้าสำรวจและประกาศเอาไว้ เช่น กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา เวียงแห ลำปาง-เถิน พะเยา ปัว ฯลฯ ซึ่งรอยเลื่อนเหล่านี้ก็ปลดปล่อยพลังงาน สร้างแผ่นดินไหวมาเป็นระยะๆ ตามยี่ห้อที่ควรจะเป็น แต่ส่วนใหญ่มักเป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดไม่เกิน 4.0 ทั้งนี้ก็เพราะเหตุผลเดิมๆ คือรอยเลื่อนตามภาคเหนือตอนล่างและตอนกลางมักก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลางที่ไม่สร้างพิบัติภัย ส่วนทางตอนเหนือ แผ่นดินไหวโดยภาพรวมจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เข้าประเด็นกันแบบโต้งๆ เลยก็ได้ครับว่า ทางตอนเหนือสุดของประเทศไทย คือ พื้นที่เปลี่ยนผ่านจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวยิบย่อย ไปสู่ดินแดนแห่งโอกาส ของการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เป็นภัยพิบัติ และบริเวณชายแดนไทย-ลาว-พม่า ก็มีรอยเลื่อนที่น่ากลัวอยู่ 4 ตัว ดั่ง 4 พญานาค คอยคุ้ม คุมลุ่มน้ำโขงเอาไว้

แผนที่ชายแดนไทย-ลาว-พม่า แสดงแนวการวางตัวของรอยเลื่อนที่น่าจับตา 4 ตัว และการกระจายตัวของแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในอดีต (จุดสีขาว) (ที่มา : ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา) เส้นแดง คือ 1) รอยเลื่อนเม็งซิง (Mengxing Fault) เส้นเหลือง คือ 2) รอยเลื่อนน้ำมา (Nam Ma Fault) เส้นเขียว คือ 3) รอยเลื่อนแม่จัน (Mae Chan Fault) เส้นฟ้า คือ 4) รอยเลื่อนแม่อิง (Mae Ing Fault) เส้นหนาฟ้า คือ แม่น้ำโขง วงกลมเหลือง คือ แผ่นดินไหวขนาด 5.0 ขึ้นไป วงกลมแดง คือ แผ่นดินไหวขนาด 6.0 ขึ้นไป สี่เหลี่ยมขาว คือ เขื่อนในแม่น้ำโขง

1) รอยเลื่อนเม็งซิง (Mengxing Fault)

รอยเลื่อนเม็งซิง (Mengxing Fault) เป็นรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 75 กิโลเมตร พาดผ่านตอนเหนือของลาวและทางตะวันออกของพม่า ซึ่งจากการประเมิน ขนาดแผ่นดินไหวใหญ่ที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ (Maximum Credible Earthquake หรือ MCE) เคาะคร่าวๆ อยู่ที่ 7.3 โดยผลจากการสำรวจ ธรณีวิทยาแผ่นดินไหว (earthquake geology) ในรายละเอียดของ Lacassin และคณะ (1998) พบว่ารอยเลื่อนเม็งซิงมีอัตราการเลื่อนตัวประมาณ 4.8 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งก็ถือว่าใช่ย่อยเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับรอยเลื่อนอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ และถึงจะยังไม่เคยโชว์แผ่นดินไหวระดับจั๋งหนับๆ ในช่วงที่สื่อโซเชียลเบ่งบาน แต่จากความยาวของลำตัวและอัตราการเลื่อนสรุปว่า เม็งซิงไม่ใช่เพื่อนเล่น !!!

อัตราการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน (slip rate) แสดงถึงความบ่อย หรือ คาบอุบัติซ้ำ (return period) ของการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละขนาด รอยเลื่อนใดมีอัตราการเลื่อนตัวสูง แผ่นดินไหวในแต่ละขนาดที่สนใจจะเกิดบ่อย

รอยเลื่อนซานแอนเดรียส (San Andreas) ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เลื่อนตัว 20 มิลลิเมตรต่อปี

รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing) ตอนกลางของพม่า เลื่อนตัว 18 มิลลิเมตรต่อปี

รอยเลื่อนแพร่ (Phrae) จังหวัดแพร่ เลื่อนตัว 0.1 มิลลิเมตรต่อปี

รอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ (Three Pagoda Fault) จังหวัดกาญจนบุรี เลื่อนตัว 2 มิลลิเมตรต่อปี

รอยเลื่อนระนอง (Ranong) ภาคใต้ของไทย เลื่อนตัว 1 มิลลิเมตรต่อปี

2) รอยเลื่อนน้ำมา (Nam Ma Fault)

รอยเลื่อนน้ำมา (Nam Ma Fault) มีความยาว 177 กิโลเมตร ซึ่งหากมีการเลื่อนตัวตลอดแนว นักธรณีวิทยาประเมินว่าสามารถสร้างแผ่นดินไหวได้ถึงขนาด 7.7 โดยมีอัตราการเลื่อนตัวอยู่ที่ 2.4 มิลลิเมตรต่อปี (Morley, 2007) สถิติสูงสุดที่รอยเลื่อนน้ำมาเคยฝากผลงานเอาไว้ คือแผ่นดินไหวขนาด 6.9 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) ผลจากแผ่นดินไหวในวันนั้น ทำให้พื้นที่โดยรอบได้รับ ความรุนแรง (earthquake intensity) กันถ้วนหน้า ในละแวกรอยเลื่อนได้รับความรุนแรงสูงสุดในระดับ IX ตาม มาตราเมอร์คัลลี่แปลง (Modified Mercalli Intensity Scale)

เพิ่มเติม : รู้จัก “ความรุนแรงแผ่นดินไหว” ซึ่งไม่ใช่แรงสั่นสะเทือน

แผนที่แสดง ความรุนแรง (earthquake intensity) จากเหตุการณ์ (ซ้าย) แผ่นดินไหวขนาด 6.9 มีนาคม ค.ศ. 2011 เมืองทาร์เลย์ ประเทศพม่า (ขวา) แผ่นดินไหวขนาด 6.3 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 อำเภอแม่ลาว จังหวัดพะเยา

ผลจากแรงสั่นสะเทือน ทำให้เกิดดินถล่มตามพื้นที่สูงชันต่างๆ โดยรอบจุดศูนย์กลาง มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 150 คน (The Bangkok Post) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวพม่า เกิด แผ่นดินไหวตาม (aftershock) นับ 100 เหตุการณ์ ในเวลา 2-3 สัปดาห์ โดยแผ่นดินไหวตามที่สร้างภัยพิบัติมีขนาด 6.2 5.0 5.4 และ 4.8 ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาค ที่ตั้งแต่อยู่บนโลกนี้มาผู้เขียนก็เพิ่งจะเคยเห็น และแม้จะเกิดในดินแดนพม่า แต่แรงสะเทือนก็ส่งมาถึงไทยแบบไม่มีเคอะเขิน เพราะจริงๆ จุดศูนย์กลางก็แค่ขึ้นเหนือจากด่าน แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ไปนิดเดียว

สภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหว (ซ้าย) ทาร์เลย์ 6.9 (ขวา) แม่ลาว 6.3

3) รอยเลื่อนแม่จัน (Mae Chan Fault)

รอยเลื่อนแม่จัน (Mae Chan Fault) เป็นรอยเลื่อนที่พาดผ่านในพื้นที่ประเทศไทย โดยพาดจากซ้ายสุดที่อำเภอฝาง ของเชียงใหม่ ไปจนถึงอำเภอเชียงของ ของเชียงราย สิริความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร แปลงเป็นขนาดแผ่นดินไหวใหญ่สุดก็ได้ถึง 7.4 โดยมีอัตราการเลื่อนตัวอยู่ที่ 3.0 มิลลิเมตรต่อปี (Fenton และคณะ, 2003)

ถึงแม้ว่าลำตัวจะสั้นกว่ารอยเลื่อนเม็งซิงและน้ำมา แต่แม่จันก็เป็นอีกหนึ่งรอยเลื่อนที่น่าจับตา เพราะหน้าตาและสตอรี่ในอดีตไม่ธรรมดา 1) เป็นรอยเลื่อนที่แสดง ภูมิลักษณ์ความเป็นรอยเลื่อน (fault landform) ได้คมชัดที่สุดในบรรดารอยเลื่อนของประเทศไทยทั้งมวล 2) มีนิทานปรัมปราเกี่ยวกับ เวียงหนองหล่ม การล่มของเมือง ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับ 3) บันทึกทางประวัติศาสตร์ (historical earthquake record) ว่ารอยเลื่อนแม่จันเคยจัดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในอดีต

แรม 7 ค่ำ เดือนห้า จ.ศ. 376 ปีเถาะ (พ.ศ. 1557) โยนกนคร (ปัจจุบัน หลักฐานทางโบราณคดีเชื่อว่าน่าจะอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงราย

สุริยอาทิตย์ก็ตกไปแล้ว ก็ได้ยินเสียงเหมือนดั่งแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหวประดุจดังว่าเวียงโยนกนครหลวงที่นี้ จักเกลื่อนจักพังไปนั้นแล แล้วก็หายไปครั้งหนึ่ง ครั้งถึงมัชฌิมยามก็ซ้ำดังมาเป็นคำรบสองแล้วก็หายนั้นแล ถึงปัจฉิมยามก็ซ้ำดังมาเป็นคำรบสาม หนที่สามนี้ดังยิ่งกว่าทุกครั้งคราวที่ได้ยินมาแล้ว กาลนั้นเวียงโยนกนครหลวงที่นั้นก็ยุบจมลงเกิดเป็นหนองอันใหญ่ ยามนั้นคนทั้งหลายอันมีในเวียงนั้น มีพระมหากษัตริย์เป็นประธานก็วินาสฉิบหาย ตกไปในน้ำที่นั้นสิ้น ยังเหลืออยู่แต่เรือนยามแม่หม้ายเฒ่า หลังเดียวนั้นแล

ที่มา: พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 องค์การค้าของคุรุสภา : พระนคร, 2512, หน้า 44-48.
(ล่าง) ภูมิประเทศในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอเชียงแสนและอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย แสดงแนวการวางตัวเป็นระยะๆ ของกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน สี่เหลี่ยม คือ ตำแหน่งทะเลสาบเชียงแสน ที่คาดว่าเป็นเมืองโยนกนาคนคร หรือ เวียงหนองหล่ม (ขวาบน) ภาพดาวเทียมแสดงทะเลสาบเชียงแสนและเกาะแม่ม่าย

เพิ่มเติม : จากตำนาน “เวียงหนองหล่ม” สู่การตีความด้านแผ่นดินไหว

ถึงแม้ในวงการจะเคลมว่าแผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) เกิดจาก รอยเลื่อนพะเยา (Pha Yao Fault) ทางตอนใต้ของรอยเลื่อนแม่จัน แต่ในมุมของผู้เขียนก็อยากแอบให้เครดิตนิดๆ กับรอยเลื่อนแม่จัน เพราะในมิติธรณีวิทยาแผ่นดินไหว รอยเลื่อนสั้นๆ อย่างรอยเลื่อนพะเยา ไม่น่าจะมีศักยภาพในการกักตุนพลังงานมากๆ ได้ด้วยตัวเอง คาดว่าคงมีรอยเลื่อนแม่จันประกบคู่คอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ หรืออย่างน้อยๆ แผ่นดินไหวครั้งนี้ก็อยู่ไม่ไกลจากรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งความรุนแรงแผ่นดินไหวก็อยู่ในระดับ VI หรือเป็นระดับที่สามารถทำให้สิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายได้ สอดคล้องกับสภาพหน้างานในวันนั้น ที่บ้านหลายหลัง วัดร่องขุ่น ฯลฯ ได้รับผลกระทบโดยตรง รอยเลื่อนแม่จัน และ รอยเลื่อนพะเยา จึงถือว่าเป็นอีกรอยเลื่อนที่น่าจับตา

4) รอยเลื่อนแม่อิง (Mae Ing Fault)

รอยเลื่อนแม่อิง (Mae Ing Fault) เป็นรอยเลื่อนสุดท้ายที่บทความนี้อยากจะชี้ให้เฝ้าระวัง เพราะจากการวิเคราะห์ขนาดแผ่นดินไหวสามารถเกิดได้ถึง 6.9 และเป็นรอยเลื่อนที่ยังไม่เคยมีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก่อน ดังนั้นสถานการณ์แผ่นดินไหวของรอยเลื่อนแม่อิงจึงสามารถออกได้ทั้งสองหน้า ไม่ว่าจะเป็น ออกหัว) รอยเลื่อนแม่อิงหน่อมแน๊มตั้งแต่แรก เหมือนงูไม่มีพิษ หรือ ออกก้อย) แม่อิงกำลังสะสมพลังงานและรอวันปล่อยแบบจัดหนักในวันข้างหน้า

ซึ่งจากแนวคิดทางธรณีแปรสัณฐาน ศักดิ์ศรีในการเก็บสะสมพลังงานก็เทียบเท่ากับทั้ง 3 รอยเลื่อน ที่กล่าวมาในข้างต้น ในมุมของผู้เขียนจึงคิดว่า ออกก้อย น่าจะเป็นไปได้มากกว่สกับรอยเลื่อนแม่อิง

อ้างอิง

  • Fenton, C.H., P. Charusiri, and S.H. Wood, Recent paleoseismic investigations in Northern and Western Thailand, Ann. Geophys., 46(5), 957-981, 2003.
  • Lacassin, R., A. Replumaz, and P.H. Leloup, Hairpin river loops and strike-slip sense inversion of Southeast Asian strike-slip faults, Geology, 26, 703–706, 1998.
  • Morley, C.K., Variations in Late Cenozoic-Recent strike-slip and oblique-extensional geometries, within Indochina: The influence of pre-existing fabrics, J. Struct. Geol., 29, 36-58, 2007.

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: