วิจัย

โอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่กว่า 7.0 ตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย

ตลอดแนวหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย ในทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ถือเป็นขอบของการชนกันระหว่าง 1) แผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย และ 2) แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Krabbenhoeft และคณะ, 2010) เรียกอย่างเป็นทางการว่า เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย (Indonesian Island Chain) ซึ่งด้วยความที่เป็นขอบการชนกันของแผ่นเปลือกโลก ทำให้พื้นที่แถบนี้เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ

ดังนั้น เพื่อที่จะประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ในบริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย Pailoplee (2014d) ได้พยายามวิเคราะห์เพื่อหาพื้นที่ที่มีแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐานที่สูงกว่าปกติ ผ่านการวิเคราะห์ ค่า b จากสมการความสัมพันธ์ การกระจายตัวความถี่-ขนาดแผ่นดินไหว (Frequency-Magnitude Distribution, FMD) หรือที่นักแผ่นดินไหวบางกลุ่มวิจัย เรียกว่า สมการกูเต็นเบิร์ก-ริกเตอร์ (Gutenberg-Richter Relationship) โดยในการวิเคราะห์นี้ Pailoplee (2014d) ได้ใช้ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงฐานข้อมูลแผ่นดินไหวจนมีความสมบูรณ์ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งในขั้นตอนแรกของการวิเคราะห์มุ่งเน้นทดสอบและศึกษารูปแบบการเปลี่ยนแปลงค่า b ที่สัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw โดย Pailoplee (2014d) แบ่งข้อมูลแผ่นดินไหวออกเป็น 2 ชุดข้อมูล ตามช่วงเวลาการเกิดแผ่นดินไหว คือ ข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี 1) ค.ศ. 1980-2000 และ 2) ค.ศ. 1980-2005 ซึ่งผลการวิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b โดยใช้ข้อมูลแผ่นดินไหวที่อยู่ใกล้แต่ละพื้นที่ย่อยมากที่สุด 50 เหตุการณ์ (Nuannin และคณะ, 2005)

การทดลองกับแผ่นดินไหวใหญ่ในอดีต

จากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1980-2000 (รูป ก) พบว่ามีพื้นที่แสดงค่า b ต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียงอย่างชัดเจน (b = 0.5-0.7) เช่น พื้นที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกในบริเวณนอกชายฝั่งเมืองปาดัง-เมืองจาการ์ตา (Padang-Jakarta Segment) นอกจากนี้ยังพบพื้นที่ขนาดเล็กที่มีค่า b ต่ำ กระจายตัวอยู่ทางตะวันออกของแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย (รูป ก) ซึ่งในเวลาต่อมาเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw อย่างน้อย 5 เหตุการณ์ ในบริเวณที่มีค่า b ต่ำ ดังกล่าว

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซียแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b วิเคราะห์จากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี (ก) ค.ศ. 1980-2000 และ (ข) ค.ศ. 1980-2005 (Pailoplee, 2014d) ดาวสีแดง คือ แผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ที่เกิดขึ้นภายใน 5 ปี หลังจากช่วงเวลาของฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ใช้ในการวิเคราะห์

นอกจากนี้ Pailoplee (2014d) วิเคราะห์ค่า b จากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1980-2005 (รูป ข) พบว่าพื้นที่แสดงค่า b ต่ำ จากรูป ก มีความชัดเจนมากขึ้น และเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw เพิ่มขึ้นอีก 4 เหตุการณ์ หลังจากปี ค.ศ. 2005 (รูป ข) บ่งชี้ว่าสมมุติฐานของ Nuannin และคณะ (2005) ใช้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคตตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซียได้

ประเมินพื้นที่เสี่ยงจากการวิเคราะห์ข้อมูล ณ ปัจจุบัน

ดังนั้นเพื่อที่จะประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคตตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซีย Pailoplee (2014d) ประยุกต์ใช้สมมุติฐานของ Nuannin และคณะ (2005) เพื่อวิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b กับข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1980-2010 โดยแบ่งข้อมูลแผ่นดินไหวออกเป็น 2 ชุดข้อมูล ตามความลึกของแผ่นดินไหว คือ 1) ความลึก ≤ 40 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดระหว่างแผ่นเปลือกโลกและภายในแผ่นเปลือกโลก ซึ่งมีโอกาสเป็นทั้งแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวและสึนามิ และ 2) ความลึก > 40 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากแผ่นเปลือกโลกส่วนที่มุดลงไปใต้พื้นโลก

ในกรณีของแผ่นดินไหวระดับตื้นที่เกิดระหว่างและภายในแผ่นเปลือกโลก (รูป ก) พบพื้นที่แสดงค่า b ต่ำ 8 พื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับเมืองสำคัญของประเทศอินโดนีเซีย เช่น เมืองปาเล็มบัง พรายา บาจาวา (Bajawa) และเมืองอัมบน เป็นต้น สืบเนื่องจากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 2010-2013 บ่งชี้ว่าไม่มีแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw เกิดขึ้น Pailoplee (2014d) จึงสรุปว่าพื้นที่ดังกล่าวมีโอกาสเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต (รูป ก)

แผนที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกตามแนวหมู่เกาะอินโดนีเซียแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า b วิเคราะห์จากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 1980-2010 ที่เกิดในความลึก (ก) ≤ 40 กิโลเมตร และ (ข) > 40 กิโลเมตร (Pailoplee, 2014d) ดาวสีแดง คือ แผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ที่เกิดขึ้นภายใน 5 ปี หลังจากช่วงเวลาของฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ใช้ในการวิเคราะห์

ในส่วนของแผ่นเปลือกโลกส่วนที่มุดลงไปใต้พื้นโลก พบพื้นที่ขนาดเล็กแสดงค่า b ต่ำ จำนวน 8 พื้นที่ เช่น ตอนใต้ของเมืองจาการ์ตา (Jakarta) ตอนเหนือและตอนใต้ของเมืองยอร์กจาการ์ตา (Yogyakarta) รวมทั้งตอนเหนือของเมืองบาจาวา (รูป. ข) ซึ่งจากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 2010-2013 บ่งชี้ว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 2 เหตุการณ์ ในพื้นที่แสดงค่า b ต่ำ ในพื้นที่ทางตอนเหนือของเมืองดิลีและเมืองอัมบน ดังนั้น Pailoplee (2014d) จึงสรุปว่าพื้นที่แสดงค่า b ต่ำ และยังไม่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เหลืออีก 6 พื้นที่ มีโอกาสเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: